บึงกะโล่
บึงกะโล่ หรือ บึงทุ่งกะโล่ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่เพื่อการเกษตรของจังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่บนพื้นที่สาธารณประโยชน์ ในเขตตำบลป่าเซ่า ครอบคลุมบางส่วนถึงตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 ประมาณ 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวมประมาณ 7,500 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ มีพื้นที่เก็บกักน้ำถูกขุดลอกเพื่อใช้ในภาคการเกษตรและอุปโภคบริโภคอยู่ด้านทิศตะวันออก
บึงกะโล่ ในอดีตก่อนการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ เป็นพื้นที่รองรับน้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำน่านไหลผ่านเข้ามาเก็บกักไว้ในช่วงหน้าฝน ปัจจุบันเป็นแหล่งที่พักอาศัยของนกน้ำประจำถิ่นและนกน้ำอพยพตามฤดูกาลจำนวนมาก และเป็นแหล่งดูนกหายากที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือ[1]
ในอนาคต ทางราชการมีโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบบึงแห่งนี้เพื่อขยายสถาบันการศึกษาและสร้างศูนย์ราชการแห่งใหม่ เนื่องจากพื้นที่ตัวเมืองอุตรดิตถ์เก่าเริ่มคับแคบและเสี่ยงต่อปัญหาอุทกภัย
ตำนานบึงทุ่งกะโล่
[แก้]บึงกะโล่มีตำนานเล่าขานมากมาย คนที่อาศัยอยู่โดยรอบแถบนี้ เช่น คนในแถบทุ่งบ้านคุ้งตะเภามีเรื่องเล่ากันมาว่าที่ตั้งบึงกะโล่เคยเป็นเมืองโบราณมาก่อนแต่เมืองล่มกลายเป็นบึงเมื่อใดไม่ปรากฏ และคนในหมู่บ้านห้วยบงซึ่งเป็นหมู่บ้านตั้งใหม่ไม่ถึงร้อยปีก็มีการกล่าวตำนานสนับสนุนสอดคล้องกับความเชื่อดังกล่าว โดยเล่าสืบมาว่าเคยมีคนในหมู่บ้านเข้าไปหาปลาในกลางบึงแต่ไปพบกับซากเมืองเป็นอิฐและสิ่งก่อสร้างโบราณมากมาย แต่เมื่อกลับมาบอกคนในหมู่บ้านให้เข้าไปดูก็ไม่สามารถหาซากเมืองดังกล่าวพบ[2] โดยในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2553 น้ำในบึงแห้งขอด ประกอบกับชาวบ้านได้จุดไฟเผาต้นกกและต้นอ้อที่ขึ้นปกคลุมบึงจนหมด ทำให้มีการค้นพบซากสิ่งก่อสร้างโบราณและโบราณวัตถุจำนวนมาก[3]
ปัจจุบันทางด้านทิศใต้ของบึงได้มีการสร้างศาลเจ้าพ่อกะโล่ไว้ด้วย โดยมีความเชื่อว่าเป็นเทวดาผู้รักษาคุ้มครองอาณาเขตรอบบึงแห่งนี้
การพัฒนาบึงทุ่งกะโล่
[แก้]เนื่องจากบึงกะโล่มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์และอยู่ใกล้กับเส้นทางคมนาคมสำคัญของจังหวัด ทำให้มีการริเริ่มโครงการพัฒนาบึงทุ่งกะโล่เพื่อเป็นอุทยานการศึกษาการกีฬาและนันทนาการ โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งได้เริ่มมีการขุดลอกคูคลองและตัดถนนจากทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 เข้าสู่บึง มีการสร้างศูนย์สินค้าโอท็อป (ปัจจุบันถูกทิ้งร้าง) และมีหน่วยงานราชการหลายหน่วยวางโครงการที่จะย้ายหรือสร้างศูนย์ราชการในบริเวณทุ่งกะโล่แห่งนี้[4]
และประกอบกับเหตุการณ์อุทกภัยและโคลนถล่ม 5 จังหวัดในเขตภาคเหนือตอนล่าง พ.ศ. 2549 ที่ทำให้น้ำท่วมเมืองอุตรดิตถ์ฝั่งขวาแม่น้ำน่านจนมีผู้สูญหายและเสียชีวิตจำนวนมากและได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเงินนับพันล้านบาท ได้ทำให้เริ่มมีผู้หันมาพัฒนาที่ดินที่อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านที่ไม่เคยประสบอุทกภัยมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินที่โดยรอบบึงกะโล่ เขตตำบลป่าเซ่าและตำบลคุ้งตะเภาที่อยู่ติดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 เส้นทางคมนาคมหลักและสำคัญที่สุดของจังหวัดอุตรดิตถ์และภาคเหนือซึ่งไม่เคยประสบอุทกภัยเลยมาตั้งแต่อดีต การเข้ามาพัฒนาที่ดินในบึงกะโล่ของทั้งราชการและเอกชนดังกล่าวอาจส่งผลให้บึงกะโล่กลายเป็นศูนย์กลางเจริญทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ได้ในอนาคต
ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานได้เข้ามาจัดสรรแบ่งพื้นที่และทำการก่อตั้งสิ่งก่อสร้างไว้บ้างแล้ว เช่น สถานที่ก่อสร้างของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์แห่งใหม่ (วิทยาเขตทุ่งกะโล่) ได้รับพื้นที่ประมาณเกือบ 2000 ไร่[5], วิทยาเขตของ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดอุตรดิตถ์ (และอนุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) รวมถึงพุทธมณฑลจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย[6] ข้อเท็จจริงเรื่องบึงทุ่งกะโล่ มีสภาพเป็นบึงน้ำตามธรรมชาติขนาดใหญ่ เนื้อที่ประมาณ 7500 ไร่ ประมาณปี พ.ศ. 2531-33 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จมาที่บึงทุ่งกะโล่และทรงปล่อยนกที่นี่ มีพระดำรัสกับประชาชนว่า บึงทุ่งกะโล่มีคุณค่าและความสำคัญมาก สามารถพัฒนาให้เป็นประโยน์แก่การเกษตรกรรมในท้องถิ่นนี้ได้เป็นอย่างดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 นายชัยวัฒน์ อรุโณทัยวิวัฒน์ ผู้วาราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ในสมัยนั้น ได้เริ่มโครงการขุดลอกเพื่อฟื้นฟูบึงทุ่งกะโล่ให้เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ใช้เวลา 2 ปี
ความคืบหน้าการพัฒนาบึงทุ่งกะโล่
[แก้]มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ วิทยาเขตบึงทุ่งกะโล่
- โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า (กำลังดำเนินการสร้าง)
- การปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่
วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุตรดิตถ์
- การปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่
สถานที่ใกล้เคียง
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ พื้นที่ชุ่มน้ำ...บึงกะโล่ จ.อุตรดิตถ์. [ออน-ไลน์]. (2551). แหล่งที่มา : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=nok-sukhothai&month=28-02-2008&group=1&gblog=6
- ↑ เทวประภาส มากคล้าย. (2551). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์: วัดคุ้งตะเภา.
- ↑ สำนักข่าวไทย. (2553). นักโบราณคดีพิสูจน์เครื่องปั้นดินเผาบึงกะโล่. [ออน-ไลน์]. แหล่งข้อมูล : http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/62967.html เก็บถาวร 2011-01-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ "อุตรดิตถ์กำหนดวางศิลาฤกษ์โครงการพัฒนาบึงกะโล่เพื่อเป็นอุทยานการศึกษาการกีฬาและนันทนาการใช้งบกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท," (2548, 28 กันยายน). สำนักประชาสัมพันธ์เขต 4 จังหวัดพิษณุโลก. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://region4.prd.go.th/pubnews/detail.asp?ID=1463[ลิงก์เสีย]
- ↑ "มรภ.อุตรดิตถ์เฮ-รับบึงกะโล่," (2549, 8 พฤศจิกายน). ข่าวสด. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://news.sanook.com/education/education_46983.php
- ↑ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์. (2552). โครงการจัดสร้างวัตถุมงคล “รูปจำลองพระฝาง”. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://utt.onab.go.th/
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ภาพถ่ายบึงทุ่งกะโล่[ลิงก์เสีย]. เว็บไซต์มองผ่านเลนส์-ชมรมนักถ่ายภาพจังหวัดอุตรดิตถ์
- ความเป็นมา สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุตรดิตถ์[ลิงก์เสีย]
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ บึงกะโล่
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์