ข้ามไปเนื้อหา

หุ่นกระบอกไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
หุ่นกระบอกจากนาฏยศาลา หุ่นละครเล็ก
การแสดงหุ่นกระบอก

หุ่นกระบอกไทย ที่ใช้แสดงกันในปัจจุบัน สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นโดยอาศัยกรรมวิธีการสร้างหุ่นกระบอกตามแบบหุ่น ซึ่ง หม่อมราชวงศ์เถาะได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงขึ้น กล่าวคือ ตัวหุ่นกระบอกประกอบขึ้นด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่ ศีรษะหุ่น ลำตัว มือ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ หุ่นกระบอก ส่วนที่เลียนแบบอวัยวะของคนจริงๆ คือศีรษะและมือทั้ง 2 ข้าง เท่านั้น ส่วนลำตัวหุ่น เป็นกระบอกไม้ไผ่ทั้งปล้องสอดเข้าไปตรงลำคอ ศีรษะและลำตัวถอดออกจากกันได้ เมื่อไม่ใช้แสดงแล้วก็จะถอดออกและเก็บไว้แยกกัน โดยถอดส่วนศีรษะเก็บตั้งไว้บนฐานที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อตั้งศีรษะหุ่นกระบอก ลำตัวที่เป็นกระบอกไม่ไผ่เมื่อถอดออกแล้วจะนำแยกเก็บต่างหากจากตัวเสื้อที่มีลักษณะคล้ายถุงตัวเสื้อซึ่งมีมือติดอยู่ทั้ง 2 ข้าง พับเก็บใส่หีบ ศีรษะของหุ่นกระบอกส่วนมากจะทำด้วยไม้เนื้อเบาทั้งแท่ง เช่น ไม้ทองหลาง ไม้โมก ไม้สักทอง ไม้ที่นำมาใช้ควรเป็นไม้เนื้อดีไม่มีตรา แท่งไม้ควรมีขนาดกว้างประมาณ 12 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เมื่อได้ไม้แล้วช่างก็จะนำมาแกะให้เป็นรูปศีรษะ รูปหน้า และ ลำคอ ส่วนของรูปหน้าและศีรษะยาวประมาณ 10 - 12 เซนติเมตร ส่วนของลำคอยาวประมาณ 8 เซนติเมตร คว้านให้เป็นรูปกว้างพอที่กระบอกไม้ไผ่รวกจะสอดเข้าไปได้โดยสะดวก เหตุที่ต้องทำลำคอใหญ่ยาว เพราะจะใช้เป็นส่วนต่อกับกระบอกไม้ไผ่ที่เป็นส่วนลำตัวหุ่น เมื่อสวมเสื้อคลุมทับอีกชั้นหนุ่งก็จะได้รูปลำคอพอดี ขั้นต่อไป คือ ปั้นแต่งด้วยรักสมุกหรือดินให้เป็นจมูก ปาก คิ้ว หู ประเพณีนิยมเกี่ยวกับความเชื่อในการประดิษฐ์ศีรษะหุ่นกระบอกอย่างหนึ่ง คือ ต้องมีพิธีไหว้ครู พีธีเบิกเนตรหุ่น คล้ายกับการประดิษฐ์หัวโขนถือกันว่าเป็นสิ่งต้องกระทำ ฉะนั้น การเขียนดวงตาของหุ่นกระบอกจึงจะทำเป็นขั้นตอนสุดท้าย และต้องทำในพิธีด้วยลำตัวของหุ่นกระบอก ซึ่งก็คือ กระบอกไม้ไผ่รวก ยาวประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร กระบอกไม้ไผ่ที่จะทำเป็นลำตัวหรือแกนให้คนเชิดจับถือ ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 - 4 เซนติเมตร อวัยวะส่วนที่เป็นมือ มักแกะด้วยไม้ มีขนาดประมาณ 4 - 5 เซติเมตร ให้พอดีกับขนาดของตัวหุ่นหรือทำด้วยหนังตัดเป็นรูปมือมีนิ้ว และดัดให้อ่อนอย่างมือละคร โดยมือขวาของหุ่นตัวพระจะกำอาวุธไว้เสมอ จึงเจาะรูตรงกลางไว้สำหรับเสียบอาวุธซึ่งจะเปลี่ยนไปได้ตามเนื้อเรื่อง ถ้าในบทไม่กำหนดให้ถืออะไรก็ปล่อยไว้ให้กำมือเฉยๆเช่นนั้น มือซ้ายเป็นรูปมือแบตั้งวงรำ ถ้าเป็นมือตัวนางโดยมากจะตั้งวงรำทั้ง 2 ข้าง มือทั้ง 2 ข้าง จะตอกติดกับเรียวไม้ไผ่เล็กๆ 2 อัน ขนาดความยาวของเรียวไม้ไผ่เท่ากับปล้องไม้ไผ่ที่ทำเป็นลำตัวสำหรับจับเชิด ชาวหุ่นกระบอกเรียกเรียวไม้ไผ่ทั้ง 2 ข้าง ของหุ่นกระบอกคู่นี้ว่า ตะเกียบ

รางวัล

[แก้]
  • คว้า 3 รางวัล จากงาน เทศกาลหุ่นนานาชาติครั้งที่ 2 ณ ฮานอย ระหว่างวันที่ 4-9 กันยายน 2553 (The 2nd International Marionette Festival in Hanoi 2010) โดยคณะหุ่นกระบอกไทยประยุกต์ ฮอบบีฮัท คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ รางวัล “Silver Medal Award for Performance” ,รางวัล “Excellency of Puppet Design” และรางวัล “Excellency of Fine Arts Decoration”[1][2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-07. สืบค้นเมื่อ 2013-04-12.
  2. http://www.finearts.cmu.ac.th/%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AE%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%B5[ลิงก์เสีย]
  • นาย ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร์
  • ค.บ. (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ค.ม. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • Ph.D. (Department of Anthropology) University of Durham,U.K.
  • รองศาสตราจารย์ คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่ม 32