นกตะขาบอินเดีย
นกตะขาบอินเดีย | |
---|---|
นกตะขาบอินเดีย (C. benghalensis benghalensis) ที่พบในรัฐราชสถาน ประเทศอินเดีย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Coraciiformes |
วงศ์: | Coraciidae |
สกุล: | Coracias |
สปีชีส์: | C. benghalensis |
ชื่อทวินาม | |
Coracias benghalensis L., 1758 | |
นกตะขาบอินเดีย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Coracias benghalensis; อังกฤษ: Indian roller) เป็นนกประจำถิ่นที่พบในเอเชียตะวันตกและอนุทวีปอินเดีย ตั้งแต่บางส่วนทางตะวันออกของภูมิภาคตะวันออกกลางรอบอ่าวเปอร์เซีย ปากีสถาน อินเดีย จนถึงบังกลาเทศและศรีลังกา พบได้ทั่วไปตามต้นไม้ริมทางหรือสายไฟฟ้า ทุ่งนา ทุ่งหญ้า ป่าโปร่ง ในอดีตนกตะขาบทุ่ง (C. affinis) ที่พบในประเทศไทยถูกระบุเป็นชนิดย่อยของนกตะขาบอินเดีย (C. benghalensis) ซึ่งปัจจุบันแยกออกเป็นต่างชนิดกัน ลักษณะเด่นที่แตกต่างของนกตะขาบอินเดียคือ หน้าและคอสีน้ำตาลอ่อนอมชมพู ท้ายทอยสีน้ำตาลเทาหรือเขียวมะกอก มีริ้วขาวคาดตามยาวช่วงลำคอและอก[2] นกตะขาบอินเดียมีขนาดใกล้เคียงกับนกพิราบ ยาว 30–34 เซนติเมตร กินอาหารจำพวกแมลง สัตว์ขนาดเล็ก หรือกิ้งก่าในบางครั้ง เป็นนกที่ส่งเสียงร้องไม่มากนัก กระดกหางช้า ๆ เป็นบางครั้ง
อนุกรมวิธาน
[แก้]นกตะขาบอินเดียเป็นหนึ่งในนกหลายสายพันธุ์ที่กาโรลุส ลินเนียส ระบุชนิดไว้ในระบบธรรมชาติ (Systema Naturae) ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 10 ค.ศ. 1758 ในชื่อทวินาม Corvus benghalensis[3] ซึ่งตั้งตามคำอธิบายและภาพวาดแสดงลักษณะของนกเจย์ชนิดหนึ่งจากเบงกอล ในปี ค.ศ. 1731 โดยเอเลียซาร์ อัลบิน (Eleazar Albin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ซึ่งได้คัดลอกมาจากภาพวาดโดยโจเซฟ แดนดริดจ์ (Joseph Dandridge) นักวาดภาพประกอบ[4]
ในปี ค.ศ. 1766 ลินเนียสได้ระบุชนิดนกตะขาบอินเดียภายใต้ชื่อใหม่ Coracias indica[5] ตามคำอธิบายของจอร์จ เอ็ดเวิร์ด (George Edwards) จากตัวอย่างที่เก็บได้ในศรีลังกาในปี ค.ศ. 1764[6] ชื่อหลังนี้เป็นที่นิยมมากกว่าชื่อแรกและถูกใช้นานหลายปี ซึ่งพิศวมัย พิศวาส นักปักษีวิทยาชาวอินเดีย ให้ข้อสังเกตความนิยมที่สับสนนี้อาจเกิดจากหนังสือ ระบบธรรมชาติ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 12 ของลินเนียสเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการตั้งชื่อทวินามอย่างเป็นทางการ (ทำให้ชื่อหลังถูกใช้ แทนที่ควรเป็นชื่อที่ตั้งครั้งแรกในฉบับที่ 10) ต่อมาเอิรนส์ ฮาร์แทท (Ernst Hartert) นักปักษีวิทยาชาวเยอรมัน ระบุว่ามีชนิดย่อยทางตอนเหนือที่ระบุชนิดครั้งแรกควรใช้ชื่อ benghalensis แยกออกอย่างชัดเจนจากชนิดย่อยทางใต้ที่ระบุชนิดครั้งหลังควรใช้ชื่อ indica อย่างไรก็ตาม พิศวมัยตั้งข้อสังเกตว่าชนิดต้นแบบ (ที่ซึ่งเดิมพบตัวอย่างครั้งแรก) ของ benghalensis นั้นคือแคว้นมัทราส (Madras Presidency) ซึ่งอยู่ภายในขอบเขตพื้นที่กระจายพันธุ์ของชนิดย่อยทางใต้ จึงเสนอให้มีการคัดเลือกเก็บตัวอย่างชนิดต้นแบบใหม่ (neotype) จากภูมิภาคเบงกอล ที่ซึ่งเดิมลินเนียสเข้าใจอย่างคลาดเคลื่อนว่าเป็นพื้นที่ที่เก็บตัวอย่างต้นแบบ[7] แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับให้ดำเนินการจากคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการตั้งชื่อทางสัตววิทยาในปี ค.ศ. 1962[8]
นกตะขาบอินเดีย (Coracias benghalensis) เป็นนกในสกุลนกตะขาบทุ่ง (Coracias) ของวงศ์นกตะขาบ (Coraciidae)
ชนิดย่อย
[แก้]สองชนิดย่อยที่ได้รับการยอมรับ[9] คือ
- Coracias benghalensis benghalensis (Linnaeus, 1758) — พบในด้านตะวันออกของภูมิภาคตะวันออกกลางโดยรอบอ่าวเปอร์เซีย จนถึงทางตะวันออกเฉียงเหนือของอนุทวีปอินเดีย ตามแนวเทือกเขาวินทยา[10] อาจตลอดจนถึงบังกลาเทศ
- Coracias benghalensis indicus (Linnaeus, 1766) — กระจาบอยู่ทางใต้ของอินเดีย ไปจนถึงศรีลังกา[10] มีลักษณะที่แตกต่างคือ ปีกและหางสั้นกว่าเล็กน้อย กระหม่อมและสีแซมบนปีกสีน้ำเงินเข้มกว่า หลังด้านบนสีออกไปทางน้ำตาลกว่า รอบคอสีออกน้ำตาลแดง
ความสัมพันธ์กับนกตะขาบทุ่ง
[แก้]
|
ในอดีตนกตะขาบทุ่ง (Coracias affinis) ที่พบในแถบอินโดจีนรวมทั้งประเทศไทยถูกระบุเป็นชนิดย่อยของนกตะขาบอินเดีย (C. benghalensis) (ในชื่อสามัญร่วมกันคือ นกตะขาบทุ่ง) จากหลักฐานการผสมข้ามพันธุ์ในเขตรอยต่อทับซ้อนในพื้นที่ตั้งแต่ตอนกลางของเนปาล บังกลาเทศ ไปจนถึงรัฐอัสสัมตะวันตก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนกตะขาบทุ่งแยกออกเป็นต่างชนิดกันกับนกตะขาบอินเดีย[11] จากการศึกษาระดับโมเลกุลของนิวเคลียร์และไมโทคอนเดรียดีเอนเอในปี ค.ศ. 2018 พบว่า นกตะขาบทุ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดกับนกตะขาบปีกม่วง (C. temminckii) (นกตะขาบทุ่งที่แยกออกนี้บางครั้งสามารถเรียกเป็น "นกตะขาบทุ่งอินโดจีน") ในขณะที่นกตะขาบอินเดีย (C. benghalensis) เป็นเพียงญาติระดับถัดไปซึ่งแยกออกจาก C. affinis และ C. temminckii
สายวิวัฒนาการ
[แก้]ความสัมพันธ์ทางสายวิวัฒนาการในสกุลนกตะขาบทุ่ง (Coracias) ถูกระบุจากการศึกษาระดับโมเลกุลที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2018[12]
สมาพันธ์นักปักษีวิทยานานาชาติได้กำหนดให้ชื่อ "นกตะขาบอินเดีย" (อังกฤษ: Indian roller) เป็นชื่อสามัญอย่างเป็นทางการของนกชนิดนี้[9] ในบริติชอินเดียเดิม เรียกว่า 'บลูเจย์' (blue jay; นกเจย์สีฟ้า)[13] และนกตะขาบอินเดียยังถูกเรียกว่า 'ราชาน้อย' (Little King) โดยชาวบ้านในจังหวัดคูเซสถานในประเทศอิหร่าน[14]
ชื่ออื่น
[แก้]ภาษาเบงกอล : বাংলা নীলকণ্ঠ (Bānlā nīlakaṇṭha, บานลา นิลกันฑา)
ภาษาฮินดี : Pal kuruvi (พาล คุรุวี)
ภาษามลยาฬัม : പനംകക്ക, പനങ്കാക്ക (panaṅkakka; พะนังคัคคา)
ภาษาทมิฬ : Panangadai (พะนังกะได)
ภาษาเปอร์เซีย : سبزقبای هندی
ลูกผสม
[แก้]พบลูกผสม นกตะขาบทุ่ง x นกตะขาบอินเดีย (Coracias benghalensis x affinis) ในพื้นที่กระจายพันธุ์ที่ทับซ้อนกันของนกตะขาบอินเดีย (C. benghalensis) กับ นกตะขาบทุ่ง (C. affinis) ในช่วงตอนกลางของประเทศบังกลาเทศ และตอนเหนือของรัฐเบงกอลตะวันตก โดยทั่วไปมีลักษณะขนสีฟ้าซีดและขนส่วนมากเป็นสีน้ำตาลทึมโดยเฉพาะส่วนท้องและบนกระหม่อมเกือบทั้งหมด ลำคออาจมีสีครามเล็กน้อยพร้อมกับริ้วขาวประปรายเล็กน้อย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของ C. affinis กับ C. benghalensis ตามลำดับ หรือไม่มีเลย (น้ำตาลอ่อนล้วน)[15]
ลักษณะ
[แก้]เป็นนกขนาดกลาง มีขนาดลำตัวประมาณ 30–34 เซนติเมตร[16][17][18] น้ำหนัก 166–176กรัม[19] ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน รูปร่างป้อมไม่เพรียวลม ลำตัวตั้งตรง คอสั้น หัวโต ปากสีดำด้าน ยาวปานกลาง สันปากบนโค้ง จะงอยเป็นตะของุ้ม หนังรอบตาสีส้มแก่ ม่านตาสีน้ำตาลเทา[17]
ปีกกว้างแต่ยาวและปลายปีกแหลม ปีกกว้าง 65–74 เซนติเมตร ปลายปีกมีขน 11 เส้น ขนปลายปีกเส้นที่ 11 สั้นกว่าขนเส้นอื่น ๆ จึงเห็นได้ชัดเพียง 10 เส้น ปลายหางเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือเว้ากลางเล็กน้อย
ขาและตีนเหลืองอมน้ำตาล ขาสั้น นิ้วตีนสั้นและไม่แข็งแรง เล็บโค้ง นิ้วตีนข้างละ 4 นิ้ว นิ้วที่ 2 และนิ้วที่ 3 เชื่อมติดกันตรงโคนนิ้ว เรียกตีนที่มีลักษณะดังกล่าวว่า นิ้วติดกันแต่กำเนิด (syndactyly foot) ความคล้ายคลึงกับนกกะรางหัวขวาน ในวงศ์ Upupidae
สีขน
[แก้]ขนที่หน้าผาก คาง และโคนจะงอยปากเป็นสีชมพูอมน้ำตาลอ่อน ขนปิดรูหูมีสีน้ำตาลแดงเข้มและมีริ้วสีชมพูหรือชมพูอ่อน คอสีน้ำตาลแดงหม่นและมีริ้วสีชมพูอ่อน กระหม่อมและต้นคอสีฟ้าเข้ม หลังและตะโพกสีเขียวมะกอก ท้องสีฟ้า ส่วนหางเป็นสีฟ้า ส่วนปลายสีครามถึงน้ำเงิน โคนหางโดยรอบเป็นสีครามเข้ม ขนปีกบนปีกมีสีม่วงน้ำเงินเหมือนกันกับขนที่หาง คาดด้วยแถบสีฟ้า ปลายสุดของขนปีกนอกที่หนึ่งถึงห้าหรือหกมีแถบสีน้ำเงิน ใต้โคนปีกและข้อพับสีฟ้า โคนปีกบนเป็นสีไล่จากนอกไปในคือฟ้าน้ำเงินไปจนสีเขียวหม่น (สีมะกอก) โคนหางด้านในสีฟ้าอ่อนมีปลายขนแซมสีมะกอกหรือคราม[17][18][19]
สีขนโดยรวมดูหม่นซีดเมื่อนกเกาะอยู่กับที่ แต่ดูสดใสหลากสีมากขึ้นเมื่อกางปีกบิน[18] การผลัดขนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนสิงหาคมและสิ้นสุดระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนมีนาคม[17]
สีฟ้าของขนปีกนั้นประกอบขึ้นจากโครงสร้างระดับจุลภาคในหนามขนที่สร้างสีน้ำเงินจากการกระเจิง ซึ่งซี.วี.รามัน (นักฟิสิกส์ชางอินเดีย) ตั้งข้อสังเกตในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 ว่ามีความซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์ทินดอลล์ จากการศึกษาในปี ค.ศ. 2010 พบว่าหนามขนนกมีโครงสร้างเหมือนช่องที่มีแท่ง β-keratin เส้นผ่านศูนย์กลาง 100 นาโนเมตร สลับกับช่องว่างระหว่างเส้นขน
นกตะขาบอินเดียตัวผู้และตัวเมียที่โตเต็มวัยจะมีรูปร่างสัณฐานคล้ายคลึงกันและไม่มีการเปลี่ยนแปลงสีขนตามฤดูกาล[17] นกวัยรุ่นมีสีทึมกว่า ซีดกว่าและออกสีน้ำตาลมากกว่า[10] กระหม่อมสีเขียวหม่นและท้องสีฟ้าอมเขียวหม่นแต้มด้วยจุดประปรายสีน้ำตาลอ่อน จะงอยปาหมีสีน้ำตาลและมีโคนปากเป็นสีเหลืองแทนที่เป็นสีดำแบบตัวเต็มวัย[17]
เสียง
[แก้]นกตะขาบอินเดีย ส่งเสียงร้องแบบพยางค์เดี่ยว "จิด ๆ " แตกต่างกันไป ทั้งสั้น ยาว และกระแทกเสียง การร้องร้องเสียงดัง "ค๊าบ แค๊บ ค๊าบ" เกิดขึ้นในระหว่างการบินผาดแผลง และเพิ่มความถี่และระดับเสียงเมื่อนกบินเข้าหาผู้บุกรุก เมื่อเกาะอยู่ข้างกันในรัง ลูกนกส่งเสียงดังเมื่อเรียกหาอาหาร ในขณะที่ลูกนกจะแหกร้องดังหลังกิน นกตะขาบอินเดียวัยรุ่นมักทำเสียงเหมือนแมวขณะหาอาหาร[18]
ความแตกต่างจากนกตะขาบอื่น
[แก้]- นกตะขาบทุ่ง (C. affinis)—โดยรวมนกตะขาบทุ่งมีสีเข้มกว่า ขนาดใหญ่กว่า มีคาง คอ และหน้าอกสีครามและไม่มีริ้วลาย[10] หน้าผากสีเขียวอมฟ้า[18] ขนใต้ปีกเป็นสีน้ำเงินเข้มกว่า[20] เสียงเรียกมีเสียงแหลมสูงและมีเสียงจมูกมากกว่า[10]
- นกตะขาบยุโรป (C. garrulus)—ในระยะไกลอาจเข้าใจผิดว่านกตะขาบอินเดียเป็นนกตะขาบยุโรป[21] ซึ่งเป็นนกอพยพบางส่วนในของเขตการกระจายพันธุ์ของนกตะขาบอินเดีย นกตะขาบยุโรปมีคอและหางยาวกว่าขณะบิน เช่นเดียวกับขนปีกนอกสีดำและหัวสีน้ำเงินล้วน[18]
นกตะขาบอินเดีย (C. benghalensis) |
เปรียบเทียบกับชนิดอื่นที่คล้ายกันในสกุล (เฉพาะที่พบในเอเชีย) | ||
---|---|---|---|
นกตะขาบทุ่ง (C. affinis) |
นกตะขาบยุโรป (C. garrulus) |
นกตะขาบปีกม่วง (C. temminckii) | |
|
|
|
|
|
|
|
|
การกระจายพันธุ์
[แก้]มีเขตการกระจายพันธุ์ จากอิรัก โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอิหร่านในช่วงโดยรอบอ่าวเปอร์เซีย ผ่านอนุทวีปอินเดียได้แก่ อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อินเดีย, บังกลาเทศ บางส่วนของภูฏานและเนปาล รวมถึงศรีลังกา[23]
ในประเทศปากีสถานมีถิ่นที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชุ่มน้ำรอบ ๆ เขื่อนโชเทียรี (Chotiari Dam) ในแคว้นสินธ์ ในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งชีวานี ในบาโลลีสถาน และในแคว้นปัญจาบ ตามแนวเขื่อนกั้นน้ำทวนซา (Taunsa Barrage) และแม่น้ำจนาพ[24][25][26][27] ได้รับการบันทึกว่าเป็นนกอพยพในช่วงฤดูร้อนที่จะลาลาบาดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถาน[10] และเป็นนกพลัดหลงในซีเรีย ซาอุดีอาระเบีย เกาะมาซิราห์[18] กาตาร์ เยเมน โซโคตรา[28] บาห์เรน ซึ่งถูกพบเห็นในปี ค.ศ. 1996 และในปี ค.ศ. 2008[29] หมู่เกาะลักษทวีป หมู่เกาะมัลดีฟส์[10] และตุรกี[28] เป็นนกอพยพในฤดูหนาวในคูเวตบนเกาะกรีนและพื้นที่เกษตรกรรมใกล้กับอัลจาห์รา[30]
นกตะขาบอินเดียพบได้ทั่วไปในป่าเปิดที่มีต้นไม้ในสกุลอาเคเชีย และ Prosopis และปรับตัวได้ดีกับภูมิประเทศที่มนุษย์อาศัย เช่น สวนสาธารณะและสวน ทุ่งนา สวนอินทผาลัม และสวนมะพร้าว
ในภาคเหนือของโอมานมีชื่อเล่นว่า "นกวงเวียน" จากการที่นกมักอาศัยอยู่ในหย่อมสวนกลางวงเวียนจราจร[18] ในโอมาน เป็นเรื่องปกติในภูมิภาค Al Batinah และในพื้นที่เพาะปลูกทางตะวันออกของ Sharqiya Sands ที่ต่ำกว่าระดับความสูง 1,000 เมตร (3,300 ฟุต) ในอินเดีย มีการมองเห็นที่ระดับความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลในป่าชายเลนภิตารกานิกาและอ่าวมันนาร์ไปจนถึงประมาณ 2,100 เมตร (6,900 ฟุต) ในเทือกเขานิลคีรี[31][32][33]
พฤติกรรมและนิเวศวิทยา
[แก้]นกตะขาบอินเดียมักไม่อยู่รวมกันเป็นฝูง และมักพบอยู่ตามลำพังหรือเป็นคู่[17] เป็นนกหวงถิ่น แต่ในขณะอพยพอาจแสดงพฤติกรรมหาอาหารเป็นฝูงโดยไม่มีการรุกรานนกอื่น นกตะขาบอินเดียมักลาดตระเวนอาณาเขตของตนโดยบินบนยอดไม้หรือสูง 10–15 เมตร และเมื่อพบผู้บุกรุกจะทำการการบินม้วนตัวลงมายังผู้บุกรุกอย่างรวดเร็วเพื่อขับไล่ ความสามารถในการบินม้วนตัวกลางอากาศได้ ในภาษาอังกฤษจึงเรียกมันว่า "Roller" ซึ่งแปลว่า "ลูกกลิ้ง" หรือ"นักม้วนตัว"[34]
นกตะขาบอินเดียมักใช้ไซร้ขนประมาณสองสามนาทีแล้วจึงบินไปรอบ ๆ บริเวณที่หากิน มักชอบเกาะสายไฟฟ้าหรือสายโทรเลข มีการสังเกตการเกาะบนต้นไม้และพุ่มไม้มักอยู่ในระดับความสูง 3–9 เมตร จากจุดที่มันบินลงไปหาแมลงบนพื้น นอกจากนี้ยังเกาะบนยอดไม้ที่สูงกว่า[35] นกตะขาบอินเดียมักบินผาดแผลงด้วยการบินควงสว่านและบินหมุนตัว[10]
มักชอบบินโฉบเข้าหาพื้นที่ที่มีไฟป่าเนื่องจากควันเหล่านั้นช่วยไล่แมลงจำนวนมากให้ปรากฏตัว[18] มีการสังเกตพฤติกรรมการติดตามรถไถของนกตะขาบอินเดียในการหาเหยื่อจำพวกสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ถูกรถพลิกหน้าดินขึ้นมา ในแหล่งการเกษตรทางตอนใต้ของอินเดียพบว่าความหนาแน่นของนกที่มารวมกันตามรถไถประมาณ 50 ตัวต่อตารางกิโลเมตร[35][36][37]
นกตะขาบอินเดียที่สร้างรังมีกแสดพฤติกรรมก้าวร้าวต่อสัตว์ผู้ล่าที่เป็นไปได้ว่าเข้ามารบกวน เช่นไล่กาป่าอินเดีย (Corvus culminatus) ออกจากพื้นที่ทำรัง และได้รับการบันทึกหลายครั้งว่า สามารถบินไล่อีแร้งอียิปต์ (Neophron percnopterus) และบินโฉบไล่มนุษย์
จากการศึกษาตรวจพบปรสิตเซลล์เม็ดเลือดแดง Haemoproteus coraciae[38] และปรสิตในเลือด Leucocytozoon ในเนื้อเยื่อปอดของนกตะขาบอินเดีย[39] รวมทั้งพยาธิ Hadjelia srivastavai, Cyrnea graphophasiani[40], Habronema tapari [41]และ Synhimantus spiralis[42]
การอพยพ
[แก้]โดยทั่วไปไม่อพยพโดยเฉพาะประชากรที่อาศัยในช่วงทางตะวันออกของเขตการกระจายพันธุ์ รูปแบบการอพยพยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก ในโอมานมีการอพยพตลอดทั้งปี แต่ดูเหมือนจะพบได้บ่อยในฤดูหนาวมากกว่าฤดูร้อน[18]
การผสมพันธุ์
[แก้]ฤดูผสมพันธุ์ นกตัวผู้และตัวเมียโตเต็มวัยเริ่มจับคู่[18]ในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ซึ่งอาจเร็วกว่าเล็กน้อยในอินเดียตอนใต้[10] ในระหว่างการเกี้ยวพาน นกคู่รักจะแสดงการเกี้ยวพานทางอากาศซึ่งได้แก่ การบินขึ้นในมุมชัน, บินขึ้น ๆ ลง ๆ , ตีลังกา, บินปักหัวลงในแนวดิ่ง, โฉบ และบินควงสว่าน ซึ่งมาพร้อมกับการเปล่งเสียงร้อง จากนั้นทั้งคู่จะเกาะคอนและแสดงการเกี้ยวพานให้กันและกันด้วยท่าโก้งโค้ง ลู่ปีกลง และรำแพนหาง และอาจมีการไซร้ขนให้คู่ของตัว (allopreening)[10][17]
พื้นที่ทำรังมักจะเป็นรูโพรงที่มีอยู่แล้วของต้นไม้ ซากต้นปาล์ม หรือโพรงของอาคาร และแม้แต่รูในแอ่งโคลนหรือโพรงเก่าของนกอื่นเพื่อวางไข่ นกสามารถขุดโพรงได้หากเป็นวัสดุเนื้ออ่อน เช่น ไม้ผุ ปูรังบาง ๆ ด้วยฟางหรือหญ้าที่ด้านล่างของโพรง[17] ในอุทยานแห่งชาติ Bandhavgarh ได้รับการบันทึกว่า มีการสร้างรังที่ความสูง 3 เมตร ในต้นสาละ และสูง 7.5 เมตร เหนือพื้นดินในต้นหว้า[43]
แต่ละครอก อาจมีไข่ 3-5 ฟอง[44] ไข่มีสีขาวและทรงรี โดยมีขนาดเฉลี่ยยาว 33 มิลลิเมตร กว้าง 27 มิลลิเมตร ไข่ถูกฟักโดยตัวเมียเป็นหลักทันทีที่วางไข่ฟองแรก และผลัดกันฟัก (asynchronously hatching) หลังจากวันที่ 17 ถึง 19 นกตัวอ่อนเมื่อแรกฟักไม่มีขน เริ่มงอกขนเมื่อวันที่ 30 ถึง 35[17]
อาหารและการหาอาหาร
[แก้]นกตะขาบอินเดียบินลงมาที่พื้นเพื่อจับแมลงและแมงเช่น ตั๊กแตน, จิ้งหรีด, แมลงหางหนีบ, ผีเสื้อกลางคืน, บุ้ง, ต่อ, ด้วง, แมลงปอและแมงมุม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก[17][45] นกตะขาบอินเดียชื่นชอบฝูงแมลงเม่า (ปลวกมีปีก) ซึ่งบางครั้งสามารถพบเห็นนกตะขาบอินเดียหนาแน่นมากถึง 40 ตัวเกาะอยู่บนสายไฟที่ยาวเพียง 70 เมตร เพียงเพื่อกินแมลงเม่า[46]
อาหารโดยส่วนใหญ่คือ แมลงปีกแข็ว เช่น ด้วง เป็นประมาณร้อยละ 45 ของอาหารที่กินทั้งหมด รองลงมาเป็นตั๊กแตนและจิ้งหรีดประมาณร้อยละ 25[35]
โดยทั่วไปนกตะขาบ (ได้แก่นกตะขาบทุ่ง และนกตะขาบอินเดีย) นับว่าเป็นนกล่าเหยื่อที่พิเศษกว่านกล่าเหยื่ออื่น ๆ เช่น นกอีเสือ นกกระเต็น หรือนกแซงแซว จากการที่มันสามารถล่าเหยื่อที่นกชนิดอื่น ๆ ไม่กล้าแตะต้องเนื่องจากมีพิษได้ อย่างเช่น ตั๊กแตนหรือผีเสื้อกลางคืนที่มีสีเตือนภัย แมงป่อง ตะขาบหรืองูพิษเป็นต้น[44]
นกตะขาบอินเดียมักรวมฝูงกับนกบัสตาร์ดอินเดีย (Ardeotis nigriceps) เพื่อจับแมลงที่ถูกไล่ออกมาจากการขุดคุ้ยของนกบัสตาร์ดอินเดียซึ่งเป็นนกที่มีขนาดใหญ่มาก[47] ในรัฐทมิฬนาฑู พบว่าเป็นอาหารหลักโดยการจิกคุ้ยเหยื่อบนพื้นผิวต่าง ๆ (gleaning) ตามด้วยการหาอาหารบนพื้นดิน และในอากาศ นกตะขาบอินเดียอาจดำลงไปในน้ำเป็นครั้งคราวเพื่อจับกบและปลาขนาดเล็ก แบบเดียวกับนกกระเต็น[18][48] การหาอาหารอาจมีขึ้นแม้ในยามพลบค่ำ โดยอาจใช้ประโยชน์จากสิ่งช่วยต่างๆ เช่น แมลงที่ดึงดูดด้วยแสงไฟ[49] นกตะขาบอินเดียจะล่าเหยื่อตั้งแต่ตอนเช้าจนกระทั่งพลบค่ำ หรือแม้กระทั่งในเวลากลางคืน
การอนุรักษ์
[แก้]ในอินเดีย นกตะขาบอินเดียได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในปี ค.ศ. 1887 เมื่อการล่าสัตว์ถูกห้ามภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองนกป่าปี ค.ศ. 1887 และต่อมาภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองนกและสัตว์ป่า ค.ศ. 1912[50][51]
ในอิหร่าน นกตะขาบอินเดียได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอิสลาม[14] แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย[52]
เป็นนกประจำถิ่นของประเทศอินเดียและศรีลังกา มีสถานะมีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ โดยสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ในปี ค.ศ. 2016 นกตะขาบอินเดียถูกระบุว่าเป็นนกชนิดที่มีความกังวลน้อยที่สุด (LC) เนื่องจากมีช่วงการกระจายพันธุ์ที่กว้างและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ไม่ทราบขนาดประชากรทั้งหมดแต่ดูเหมือนว่าจะพบได้ทั่วไปในเกือบทุกช่วงการกระจายพันธุ์ ในปี ค.ศ. 2015 ในอิรักมีประชากรนกตะขาบอินเดียประมาณ 2,500 คู่ผสมพันธุ์อาศัย และ 15,000 คู่ผสมพันธุ์ในคาบสมุทรอาหรับ คาดว่าจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์[53]
ภัยคุกคาม
[แก้]จำนวนนกตะขาบอินเดียที่พบเห็นได้ตามทางหลวงระหว่างอลีครห์และนิวเดลีลดลงระหว่างกลางคริสต์ทศวรรษ 1960 ถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 เนื่องจากการจราจรเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานั้น[54] พฤติกรรมการกินอาหารริมถนนของนกบางครั้งทำให้รถหลบเลี่ยงและชนกัน[55][56][57]
พฤติกรรมการเกาะสายไฟทำให้เสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูดตาย ในรัฐราชสถาน พบว่าเป็นนกที่ถูกไฟฟ้าดูดมากที่สุดเป็นอันดับสองรองจากอีแก (Corvus splendens)[58]
ในวัฒนธรรม
[แก้]นกตะขาบอินเดียมีความเกี่ยวข้องกับตำนานศาสนาฮินดูในพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระวิษณุ มักถูกจับเพื่อให้คนนำไปปล่อยในช่วงเทศกาลเช่น วิชัยทัศมี (ดุสเสห์รา) หรือวันสุดท้ายของทุรคาบูชา[59] เชื่อกันว่าการใส่ขนที่สับละเอียดลงในอาหารสำหรับวัวนั้นจะเพิ่มผลผลิตน้ำนมของวัว ซึ่งมีชื่อภาษาเตลูกูว่า "ผาลละพิททา" แปลว่า "นกนม"[13] ชื่อในภาษาฮินดูสตานีคือ "นิลกัณฐ์" (ภาษาฮินดี: नीलकंठ; ภาษาอูรดู: نیل کنٹھ อักษรโรมัน: nīlkṇṭh) หมายถึง "ผู้มีคอสีน้ำเงิน" (ผู้มีคอสีดำ) ซึ่งเป็นชื่อที่เกี่ยวข้องกับพระอิศวรเนื่องจากพระองค์ได้พิษนาคไว้เมื่อครั้งกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤตเพื่อช่วยโลก[60] และพระศอเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน (ดำ)
ตามธรรมเนียมชาวโกลถือว่าการเห็นนกตะขาบอินเดียเป็นลางดี[61] เช่นเดียวกับชาวเบงกอลเมื่อเห็นนกนี้จะสวดมนต์เพื่อนมัสการแด่พระวิษณุ และมองหาทิศทางที่นกมองประหนึ่งทิศที่นำไปสู่พระวิษณุในเวลาที่พวกเขาใกล้ตาย[62] หมอดูของชนเผ่าเร่ร่อนจากวิสาขปัตนัม (Vishakapatnam) สวมขนนกตะขาบอินเดียบนหัวด้วยใช้ความเชื่อพื้นบ้านว่านกสามารถช่วยทำนายเหตุการณ์ได้[63]
นกตะขาบอินเดียเป็นนกประจำรัฐของรัฐโอริศา รัฐเตลังคานา[64][65] และรัฐกรณาฏกะ[66]ของอินเดีย
จุดสูงสุดของการค้าขนนกของอินเดียในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นกตะขาบอินเดียได้ถูกล่าเพื่อส่งออกและเป็นหนึ่งในนกที่ถูกฆ่าอย่างกว้างขวางที่สุดในอินเดีย[67]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ International), BirdLife International (BirdLife (2016-10-01). "IUCN Red List of Threatened Species: Coracias benghalensis". IUCN Red List of Threatened Species.
- ↑ "นกตะขาบอินเดีย - eBird". ebird.org.
- ↑ Linnaeus, C. (1758). "Corvus benghalensis". Systema Naturae per regna tria naturae, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis (ภาษาละติน). Vol. 1 (10th ed.). Holmiae (Stockholm): Laurentii Salvii. p. 106.
- ↑ Albin, E.; Derham, W. (1731). A Natural History of Birds : Illustrated with a Hundred and One Copper Plates, Curiously Engraven from the Life. Vol. 1. London: Printed for the author and sold by William Innys. p. 17, Plate 17.
- ↑ Linnaeus, C. (1766). "Coracias indica". Systema naturae : per regna tria natura, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis (ภาษาละติน). Vol. 1 (12th ed.). Holmiae (Stockholm): Laurentii Salvii. p. 159.
- ↑ Edwards, G. (1764). "The Blue Jay from the East Indies". Gleanings of Natural History. Vol. III. London: Printed for author at the Royal College of Physicians. pp. 247–248.
- ↑ Biswas, B. (1961). "Proposal to designate a neotype for Corvus benghalensis Linnaeus, 1758 (Aves), under the plenary powers Z.N. (S) 1465". Bulletin of Zoological Nomenclature. 18 (3): 217–219.
- ↑ China, W. E. (1963). "Opinion 663: Corvus benghalensis Linnaeus, 1758 (Aves): Designation of a neotype under the plenary powers". Bulletin of Zoological Nomenclature. 20 (3): 195–196.
- ↑ 9.0 9.1 Gill, Frank; Donsker, David; Rasmussen, Pamela, บ.ก. (January 2021). "Rollers, ground rollers, kingfishers". IOC World Bird List Version 11.1. International Ornithologists' Union. สืบค้นเมื่อ 5 April 2021.
- ↑ 10.00 10.01 10.02 10.03 10.04 10.05 10.06 10.07 10.08 10.09 Rasmussen, P. C.; Anderton, J. C. (2012). Birds of South Asia. The Ripley Guide. Vol. 2: Attributes and Status (Second ed.). Washington D.C. and Barcelona: Smithsonian National Museum of Natural History and Lynx Edicions. p. 270. ISBN 978-84-96553-87-3.
- ↑ "Avibase - ฐานข้อมูล World Bird". avibase.bsc-eoc.org.
- ↑ Johansson, U. S.; Irestedt, M.; Qu, Y.; Ericson, P. G. P. (2018). "Phylogenetic relationships of rollers (Coraciidae) based on complete mitochondrial genomes and fifteen nuclear genes". Molecular Phylogenetics and Evolution. 126: 17–22. doi:10.1016/j.ympev.2018.03.030. PMID 29631051.
- ↑ 13.0 13.1 Thurston, E. (1912). "The Indian roller (Coracias indica)". Omens and superstitions of southern India. New York: McBride, Nast and Company. p. 88.
- ↑ 14.0 14.1 Goodell, G. (1979). "Bird lore in southwestern Iran". Asian Folklore Studies. 38 (2): 131–153. doi:10.2307/1177687. JSTOR 1177687.
- ↑ "ลูกผสม นกตะขาบทุ่ง x นกตะขาบอินเดีย - eBird". ebird.org.
- ↑ Indochinese Roller
- ↑ 17.00 17.01 17.02 17.03 17.04 17.05 17.06 17.07 17.08 17.09 17.10 Cramp, S., บ.ก. (1985). "Coracias benghalensis Indian roller". Handbook of the Birds of Europe the Middle East and North Africa. The Birds of the Western Palearctic. Vol. IV: Terns to Woodpeckers. Oxford: Oxford University Press. pp. 778–783. ISBN 978-0-19-857507-8.
- ↑ 18.00 18.01 18.02 18.03 18.04 18.05 18.06 18.07 18.08 18.09 18.10 18.11 Fry, C. H.; Fry, K.; Harris, A. (1992). Kingfishers, Bee-eaters and Rollers: A Handbook. Helm Field Guides. London, New York, New Delhi, Sydney: Bloomsbury. pp. 289–291. ISBN 978-0713680287.
- ↑ 19.0 19.1 del Hoyo, J.; Elliott, A.; Sargatal, J., บ.ก. (2001). Handbook of the Birds of the World, Volume 6: Mousebirds to Hornbills. p. 371. ISBN 978-84-87334-30-6.
- ↑ Ali, S.; Ripley, S. D. (1983). Handbook of the Birds of India and Pakistan. Vol. 4 (Second ed.). Oxford University Press. pp. 116–120.
- ↑ Cramp, S., บ.ก. (1985). "Coracias benghalensis Indian roller". Handbook of the Birds of Europe the Middle East and North Africa. The Birds of the Western Palearctic. Vol. IV: Terns to Woodpeckers. Oxford: Oxford University Press. pp. 778–783. ISBN 978-0-19-857507-8.
- ↑ "นกตะขาบทุ่ง Indian Roller – ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย".
- ↑ International), BirdLife International (BirdLife (2016-10-01). "IUCN Red List of Threatened Species: Coracias benghalensis". IUCN Red List of Threatened Species.
- ↑ Rais, M.; Khan, M. Z.; Abbass, D.; Akber, G.; Nawaz, R. (2011). "A qualitative study on wildlife of Chotiari Reservoir, Sanghar, Sindh, Pakistan" (PDF). Pakistan Journal of Zoology. 43 (2): 237–247.
- ↑ Ali, Z.; Bibi, F.; Shelly, S. Y.; Qazi, A.; Khan, A. M. (2011). "Comparative avian faunal diversity of Jiwani Coastal Wetlands and Taunsa Barrage Wildlife Sanctuary, Pakistan" (PDF). Journal of Animal and Plant Sciences. 21 (2): 381–387.
- ↑ Altaf, M.; Javid, A.; Khan, A. M.; Khan, M. S. H.; Umair, M.; Ali, Z. (2018). "Anthropogenic impact on the distribution of the birds in the tropical thorn forest, Punjab, Pakistan". Journal of Asia-Pacific Biodiversity. 11 (2): 229–236. doi:10.1016/j.japb.2018.03.001.
- ↑ Bhatti, Z.; Ghufran, A.; Nazir, F. (2020). "Seasonal population fluctuations in some non-passeriformes at Marala Head, Pakistan". Journal of Bioresource Management. 7 (1): 53–56. doi:10.35691/JBM.0202.0120.
- ↑ 28.0 28.1 Porter, R.; Aspinall, S. (2019). "Indian roller Coracias benghalensis". Birds of the Middle East. Helm Field Guides (Second ed.). London: Bloomsbury Publishing. p. 204. ISBN 978-1-4729-7582-9.
- ↑ Balmer, D.; Murdoch, D. (2009). "Around the region" (PDF). Sandgrouse (1): 91–103. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-01-05. สืบค้นเมื่อ 2021-09-07.
- ↑ Bonser, R.; Al-Sirhan, A.; Crochet, P.-A.; Legrand, V.; Monticelli, D.; Pope, M. (2011). "Birding Kuwait". Birding World. 24: 1–18.
- ↑ Pandav, B. (1996). "The birds of Bhitarkanika Mangroves, eastern India". Forktail (12): 9–20.
- ↑ Balachnadran, S. (1995). "Shore birds of the Marine National Park in the Gulf of Mannar, Tamil Nadu". Journal of the Bombay Natural History Society. 92 (3): 303–313.
- ↑ Zarri, A. A.; Rahmani, A. R. (2005). "Annotated avifauna of the Upper Nilgiris, Western Ghats, India". Buceros. 10 (1): 1–60.
- ↑ นกตะขาบทุ่ง[ลิงก์เสีย], birdsofthailand.net
- ↑ 35.0 35.1 35.2 Sivakumaran, N.; Thiyagesan, K. (2003). "Population, diurnal activity patterns and feeding ecology of the Indian Roller Coracias benghalensis (Linnaeus, 1758)". Zoos' Print Journal. 18 (5): 1091–1095. doi:10.11609/jott.zpj.18.5.1091-5.
- ↑ Mathew, D. N.; Narendran, T. C.; Zacharias, V. J. (1978). "A comparative study of the feeding habits of certain species of Indian birds affecting agriculture". Journal of the Bombay Natural History Society. 75 (4): 1178–1197.
- ↑ Burton, P. K. J. (1984). "Anatomy and evolution of the feeding apparatus in the avian orders Coraciiformes and Piciformes". Bulletin of the British Museum (Natural History), Zoology Series. 47 (6): 331–443.
- ↑ Bishop, M. A.; Bennett, G. F. (1986). "Avian Haemoproteidae. 23. The haemoproteids of the avian family Coraciidae (rollers)". Canadian Journal of Zoology. 64 (9): 1860–1863. doi:10.1139/z86-277.
- ↑ De Mello, I. F.; Emidio, A. (1935). "Blood parasites of Coracias b. benghalensis with special remarks on its two types of Leucocytozoon" (PDF). Proceedings of the Indian Academy of Sciences, Section B. 2: 67–73. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 29 March 2012. สืบค้นเมื่อ 4 July 2009.
- ↑ Ilyas, R. (1981). "Redescription of Dispharynx pavonis Sanwal, 1951 and Cyrnea graphophasiani Yamaguti 1935". Rivista di Parassitologia. 42 (1): 179–183.
- ↑ Sanwal, K. C. (1951). "On a new avian nematode, Habronema thapari n.sp. (sub-fam. Spirurinae Railliet, 1915) from the blue jay, Coracias benghalensis (Linnaeus)". Indian Journal of Helminthology. 3 (2): 79–86.
- ↑ Junker, K.; Boomker, J. (2007). "A check list of the helminths of guineafowls (Numididae) and a host list of these parasites". Onderstepoort Journal of Veterinary Research. 74 (4): 315–337. doi:10.4102/ojvr.v74i4.118. PMID 18453241.
- ↑ Tyabji, H. N. (1994). "The birds of Bandhavgarh National Park, M.P." Journal of the Bombay Natural History Society. 91 (1): 51–77.
- ↑ 44.0 44.1 นกตะขาบทุ่ง (Indian Roller)[ลิงก์เสีย], chiangmaizoo.com
- ↑ Mason, C. W. (1911). "1022. Coracias indica". ใน Maxwell-Lefroy, H. (บ.ก.). Memoirs of the Department of Agriculture in India. Entomological Series. Vol. III. The Food of Birds in India. Pusa: Agricultural Research Institute. pp. 155–159.
- ↑ Bharos, A. M. K. (1990). "Unusually large congregation and behaviour of Indian Rollers Coracias benghalensis". Journal of the Bombay Natural History Society. 87 (2): 300.
- ↑ Rahmani, A. R.; Manakadan, R. (1987). "Interspecific behaviour the Great Indian Bustard Ardeotis nigriceps (Vigors)". Journal of the Bombay Natural History Society. 84 (2): 317–331.
- ↑ Ali, S.; Ripley, S. D. (1983). Handbook of the Birds of India and Pakistan. Vol. 4 (Second ed.). Oxford University Press. pp. 116–120.
- ↑ Bharos, A. M. K. (1992). "Feeding by Common Nightjars Caprimulgus asiaticus and Indian Roller Coracias benghalensis in the light of mercury vapour lamps". Journal of the Bombay Natural History Society. 89 (1): 124.
- ↑ Bainbrigge Fletcher, T.; Inglis, C. M. (1920). "Some common Indian birds. No. 1 – The Indian Roller (Coracias indica)". The Agricultural Journal of India. 15: 1–4.
- ↑ Bidie, G. (1901). The Protection of Wild Birds in India. Society for the Protection of Birds. No. 37.
- ↑ Almasieh, K.; Moazami, M. (2020). "Identifying avifauna and the presence time of migratory birds at a university campus in the southwest of Iran". Journal of Animal Diversity. 2 (1): 104–126. doi:10.29252/JAD.2020.2.1.4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 September 2021. สืบค้นเมื่อ 7 June 2021.
- ↑ Symes, A.; Taylor, J.; Mallon, D.; Porter, R.; Simms, C.; Budd, K. (2015). The conservation status and distribution of the breeding birds of the Arabian peninsula (PDF). Cambridge, UK; Gland, Switzerland; Sharjah, United Arab Emirates: IUCN and Environment and Protected Areas Authority. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 29 April 2019. สืบค้นเมื่อ 9 April 2021.
- ↑ Saiduzzafar, H. (1984). "Some observations on the apparent decrease in numbers of the Northern Roller or Blue Jay Coracias benghalensis". Newsletter for Birdwatchers. 24 (5&6): 4–5.
- ↑ Goenka, D. (1986). "Lack of traffic sense amongst Indian Rollers". Journal of the Bombay Natural History Society. 83 (3): 665.
- ↑ Sundar, K. S. G. (2004). "Mortality of herpetofauna, birds and mammals due to vehicular traffic in Etawah District, Uttar Pradesh, India". Journal of the Bombay Natural History Society. 101 (3): 392–398.
- ↑ Siva, T.; Neelanarayanan, P. (2020). "Impact of vehicular traffic on birds in Tiruchirappalli District, Tamil Nadu, India". Journal of Threatened Taxa. 12 (10): 16352–16356. doi:10.11609/jott.5532.12.10.16352-16356.
- ↑ Harness, R. E.; Javvadi, P. R. & Dwyer, J. F. (2013). "Avian electrocutions in western Rajasthan, India". Journal of Raptor Research. 47 (4): 352–364. doi:10.3356/JRR-13-00002.1.
- ↑ Kipling, J. L. (1904). "The Roller". Beast and Man in India; a Popular Sketch of Indian Animals in Their Relations with the People. London: Macmillan and Co. p. 33.
- ↑ จากพันทิปดอตคอม
- ↑ Griffiths, Walter G. (1946). "Luck and Omens". The Kol tribe of central India. Calcutta: The Asiatic Society. p. 196.
- ↑ Mitra, S. C. (1898). "Bengali and Behari Folklore about Birds. Part I". Journal of the Asiatic Society of Bengal. Part III. Anthropology and Cognate Subjects. 67 (2): 67–74.
- ↑ Thurston, Edgar (1909). Castes and Tribes of Southern India. Volume VI. Madras: Government Press. p. 262.
- ↑ "States and Union Territories Symbols". Know India. National Informatics Centre (NIC), DeitY, MoCIT, Government of India. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 November 2013. สืบค้นเมื่อ 26 June 2016.
- ↑ "State Symbols". Telangana State Portal. Government of Telangana. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 May 2017. สืบค้นเมื่อ 26 June 2016.
- ↑ Ilango, K. (2013). "An Overview". ใน The Director (บ.ก.). Fauna of Karnataka. State Fauna Series, 21. Kolkata: Zoological Survey of India. pp. 1–6.
- ↑ Watt, G. (1908). "Plumage-Birds". The Commercial Products of India. London: John Murray. p. 140.