ข้ามไปเนื้อหา

นกกะรางหัวขวาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกกะรางหัวขวาน
เสียงร้อง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Coraciiformes
วงศ์: Upupidae
Leach, 1820
สกุล: Upupa
ลินเนียส, 1758
สปีชีส์: U.  epops
ชื่อทวินาม
Upupa epops
ลินเนียส, 1758
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์
    ทำรัง     ทั้งปี     ฤดูหนาว

นกกะรางหัวขวาน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Upupa epops) เป็นนกขนาดกลาง มีสีสวย มีลักษณะเด่นที่จำง่ายคือมีหงอน (หัวขวาน) คล้ายหมวกของพวกอินเดียแดง พบทั่วทั้งทวีปแอฟริกาและยูเรเชียพร้อมทั้งทั่วประเทศไทย เป็นชนิดเดียวของวงศ์ Upupidae ที่ยังหลงเหลืออยู่ มีชนิดย่อยเฉพาะเกาะเซนต์เฮเลนา (ในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้) ที่สูญพันธ์ไปแล้ว และเฉพาะเกาะมาดากัสการ์ที่บางครั้งจัดเป็นชนิดของตนเอง ชื่อสกุลภาษาละตินว่า Upupa คล้ายกับชื่อภาษาอังกฤษว่า "hoopoe" (อ่านว่า ฮูโพ) โดยเป็นชื่อเลียนเสียงร้องของนก นกกะรางหัวขวานเป็นนกประจำชาติของประเทศอิสราเอล เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[2]

อนุกรมวิธาน

[แก้]

นกกะรางหัวขวานจัดอยู่ใน clade ของอันดับนกตะขาบ ซึ่งรวมทั้งวงศ์นกกระเต็น วงศ์นกจาบคา และวงศ์นกตะขาบ[3] ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างนกพันธุ์นี้กับนกวงศ์ Phoeniculidae (อังกฤษ: woodhoopoe) เห็นได้ที่กระดูกรูปโกลน (คือ stapes ในหูชั้นกลาง) ที่ไม่เหมือนใครในวงศ์นกทั้งสอง[4] ในอนุกรมวิธานนกของ Sibley-Ahlquist (ซึ่งจัดอันดับตามผลงานศึกษาดีเอ็นเอ) นกพันธุ์นี้มีอันดับต่างหากเป็น Upupiformes (ไม่ใช่ Coraciiformes) และนักวิชาการบางท่านก็รวมนกวงศ์ Phoeniculidae เข้าไปในอันดับต่างหากนี้ด้วย[5]

หลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของนกพันธุ์นี้มีน้อยมาก โดยมีซากเก่าที่สุดมาจากยุคควอเทอร์นารี[6] ซึ่งมีอายุน้อยกว่าหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของนกชนิดที่เป็นญาติใกล้ชิดอื่น ๆ เช่น พบซากของ woodhoopoe จากสมัยไมโอซีน (5.322 ถึง 23.03 ล้านปีก่อน) และซากของวงศ์ญาติ Messelirrisoridae ที่สูญพันธ์ไปแล้ว จากสมัยอีโอซีน (33.9 ถึง 56 ล้านปีก่อน)[5]

เป็นนกชนิดเดียวที่เหลือในวงศ์ แม้ว่านักวิชาการพิจารณาชนิดย่อยของเกาะมาดากัสการ์ (U. e. marginata) และของแอฟริกา (U. e. africana) ให้เป็นชนิดต่างหาก ความแตกต่างทางสัณฐานระหว่างชนิดย่อยที่นิยมแยกที่สุดคือ U. e. marginata กับชนิดย่อยอื่น ๆ เล็กน้อยมากเพียงเสียงร้องเท่านั้นไม่เหมือนชนิดย่อยอื่น ๆ[7] ชนิดที่แยกออกมาจากความแตกต่างที่มากพอเป็นมติยอมรับคือ นกกะรางหัวขวานเกาะเซนต์เฮเลนา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Upupa antaios, อังกฤษ: Saint Helena hoopoe) แต่สูญพันธุ์ไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยสันนิษฐานจากสาเหตุการนำชนิดต่างถิ่นใหม่ ๆ เข้าไปบนเกาะ[6]

คาโรลัส ลินเนียสบัญญัติสกุล Upupa ในหนังสือ Systema naturae ในปี ค.ศ. 1758 ซึ่งในตอนนั้นรวมนกชนิดสามอย่างอื่นที่มีปากยาวโค้ง คือ[8]

ชนิดย่อย

[แก้]
U. e. epops ในแคว้นกาลิเซีย ประเทศสเปน

ในหนังสือภาษาอังกฤษชุด คู่มือนกของโลก (Handbook of the Birds of the World)[9] ที่แสดงนกทุกชนิดในโลกที่รู้จัก มีชนิดย่อยของนกกะรางหัวขวาน 9 ชนิด แตกต่างกันส่วนมากโดยขนาด และโดยความเข้มสีขน หลังการพิมพ์หนังสือจากนั้น ก็มีชนิดย่อยอีก 2 อย่างที่ได้รับการเสนอคือ U. e. minor ในประเทศแอฟริกาใต้ และ U. e. orientalis ในประเทศอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือ

ชนิดย่อย[7] แหล่งที่อยู่[7] ลักษณะเฉพาะ[7]
U. e. epops
Linnaeus, 1758
แอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ กานาเรียส จากยุโรปไปถึงประเทศรัสเซียกลางตอนใต้ ประเทศจีนตะวันตกเฉียงเหนือ ประเทศอินเดียตะวันตกเฉียงเหนือจนถึงภาคใต้ พันธุ์ต้นแบบ (Nominate)
U. e. major
C.L. Brehm, 1855
แอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ต้นแบบ ปากยาวกว่า หางเรียวกว่า ด้านบนมีสีเทากว่า
U. e. senegalensis
William John Swainson, 1913
ประเทศเซเนกัล ไปจนถึง ประเทศเอธิโอเปีย ขนาดเล็กกว่าพันธุ์ต้นแบบ ปีกสั้นกว่า
U. e. waibeli
Reichenow, 1913
ประเทศแคเมอรูนจนถึงประเทศเคนยาตอนเหนือ เหมือนกับ U. e. senegalensis แต่มีขนเข้มกว่าและมีสีขาวมากกว่าบนปีก
U. e. africana
Johann Matthäus Bechstein, 1811
แอฟริกากลางจนถึงแอฟริกาใต้ มีสีแดง/น้ำตาลยิ่งกว่าพันธุ์ต้นแบบ
U. e. marginata (Madagascan Hoopoe)
Cabanis & Heine, 1860
เกาะมาดากัสการ์ ใหญ่กว่า แต่สีจางกว่า U. e. africana
U. e. saturata
Lönnberg, 1909
ประเทศญี่ปุ่น ไซบีเรีย จนถึง ทิเบตและประเทศจีนตอนใต้ เหมือนกับพันธุ์ต้นแบบ แต่มีขนคลุมตัวที่เทากว่า มีสีชมพูน้อยกว่าด้านล่าง
U. e. ceylonensis
Reichenbach, 1853
ประเทศอินเดีย ขนาดเล็กกว่าพันธุ์ต้นแบบ มีสีแดง/น้ำตาลยิ่งกว่า ไม่มีสีขาวที่หงอน
U. e. longirostris
Thomas C. Jerdon, 1862
เอเชียอาคเนย์ ขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ต้นแบบ สีจางกว่า

ลักษณะ

[แก้]
กล้ามเนื้อที่หัวทำให้สามารถเปิดปากได้เมื่อสอดเข้าไปในพื้น

นกกะรางหัวขวานเป็นนกขนาดกลาง ลำตัวเพรียวยาวประมาณ 25-32 ซ.ม. ปีกกว้างประมาณ 44-48 ซ.ม. หนักประมาณ 46-89 กรัม เป็นนกที่เด่นมาก มีลักษณะที่จำง่ายคือ มีหงอนคล้ายหมวกของชนพื้นเมืองในอเมริกาสมัยก่อน มีปากยาวที่ค่อย ๆ เรียวโค้งลงเป็นสีดำ ที่โคนปากมีสีน้ำตาลอ่อน ลำตัวมีลายขวางสีน้ำตาลอ่อน หรือขาวสลับดำ มีลักษณะเหมือนกันทั้งตัวผู้และตัวเมีย แต่ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า และสีจางกว่าตัวผู้เล็กน้อย

กล้ามเนื้อที่แข็งแรงของหัวทำให้สามารถอ้าปากได้เมื่อสอดเข้าไปในดินเพื่อสำรวจหาเหยื่อ มีปีกที่กว้างและกลมรีที่ช่วยให้บินได้ดี ชนิดย่อยทางเหนือที่เป็นนกย้ายถิ่นมีปีกขนาดใหญ่เป็นพิเศษ มีลักษณะการบินเฉพาะตัวที่ขึ้นลง ๆ ดูคล้ายคลื่น ซึ่งเหมือนกับผีเสื้อยักษ์ เกิดขึ้นจากปีกที่หุบลงครึ่งหนึ่งเมื่อกระพือปีกแต่ละครั้ง หรือเมื่อกระพือปีกช่วงสั้น ๆ[7] (ดูภาพยนตร์) และสามารถบินได้เร็วถึง 40 กม./ชม.[10]

เสียงร้องปกติมีสามพยางค์คือ "ฮูป ฮูป ฮูป" หรือ "ฮูป ปู ปู" ซึ่งอาจเป็นต้นกำเนิดของทั้งชื่อภาษาอังกฤษและชื่อทางวิทยาศาสตร์ แต่การร้องเป็นสองพยางค์ หรือสี่พยางค์ ก็สามัญเหมือนกัน ส่วนต้นกำเนิดที่เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่งของชื่อภาษาอังกฤษและชื่อวิทยาศาสตร์ก็คือ มาจากชื่อภาษาฝรั่งเศสของนกคือ "Huppée" ซึ่งแปลว่ามีหงอน ในแถบเทือกเขาหิมาลัย เสียงนกอาจจะฟังคล้ายกับนกคัคคูพันธุ์หิมาลัย (Cuculus saturatus) แม้ว่านกคัคคูปกติมีเสียงร้องเป็นสี่พยางค์ เสียงร้องอื่น ๆ มีทั้งเสียงห้าวคล้ายกบหรือกาเมื่อตกใจ และเสียงฟู่ ตัวเมียจะส่งเสียงคล้ายกับสูดหายใจอย่างเหนื่อย ๆ ในระหว่างรับอาหารจากตัวผู้ในช่วงที่จีบกัน[11] ทั้งตัวเมียตัวผู้ เมื่อถูกกวน จะส่งเสียงหยาบ "การรรร" คล้ายกับเสียงเตือนของนกปีกลายสก็อต ส่วนเสียงขออาหารของลูกนกคล้ายกับเสียงของลูกนกนางแอ่นชนิด Apus apus

การกระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่

[แก้]

นกกะรางหัวขวานกระจายไปทั่วในยุโรป เอเชีย แอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้สะฮารา และมาดากัสการ์[7] นกส่วนมากที่อยู่ในยุโรปและเอเชียเหนืออพยพไปสู่เขตร้อนในฤดูหนาว[12] เมื่อเทียบกับนกในแอฟริกาซึ่งเป็นนกประจำถิ่น ที่อยู่ที่เดียวกันตลอดทั้งปี มีการพบนกชนิดนี้โดยเป็นนกจรจัดในรัฐอะแลสกา[13] คือพบชนิดย่อย U. e. saturata ที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำยูคอน ในปี ค.ศ. 1975[14] มีการพบนกที่อยู่เหนือเขตปกติในยุโรป[15] และในสหราชอาณาจักรตอนใต้ ในช่วงฤดูร้อนที่อุ่นและไม่มีฝน ที่มีตั๊กแตนและแมลงคล้ายกันอื่น ๆ มากเป็นอาหาร[16] แม้ว่า เริ่มตั้งแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 นกในยุโรปตอนเหนือเริ่มมีจำนวนลดลง ซึ่งอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ[15] ในประเทศไทย นกกะรางหัวขวานเป็นนกประจำถิ่นที่พบทั่วทั้งประเทศไทย

ที่อยู่ของนกต้องมีองค์ประกอบสองอย่าง คือ มีพื้นโล่งหรือมีใบและหญ้าน้อยเพื่อหาอาหาร และเวิ้งที่อยู่ที่พื้นผิวแนวตั้งต่าง ๆ เช่นต้นไม้ หน้าผา กำแพง กล่องที่ทำให้นกอยู่ กองฟาง หรือแม้แต่รังสัตว์ขุดในดินที่สัตว์เจ้าของทิ้งไปแล้ว[15] เนื่องจากว่า องค์เหล่านี้หาได้ในระบบนิเวศน์มากมาย ดังนั้น นกจึงสามารถเข้าไปอยู่ในที่ต่าง ๆ เช่น ทุ่งโล่ง ทุ่งหญ้าสเตปป์มีต้นไม้ ทุ่งหญ้าสะวันนา ป่าละเมาะ ที่โล่งในป่า และป่าเบญจพรรณ ชนิดย่อยในเกาะมาดากัสการ์ยังสามารถเข้าไปอยู่ในป่าใหญ่ที่ทึบกว่าอีกด้วย การปรับนิเวศน์ธรรมชาติเพื่อการเพาะปลูกเกษตรกรรม มีผลให้นกกะรางหัวขวานมีเพิ่มขึ้นในสวน ไร่ และนา ซึ่งการทำเกษตรกรรมอย่างกว้างขวางในพื้นที่มีผลต่อจำนวนประชากรนกที่ลดลง[7] การล่านกเป็นปัญหาในยุโรปตอนใต้และในเอเชีย[14]

นกกะรางหัวขวานบางพื้นที่อพยพเนื่องจากฝน เช่นในประเทศศรีลังกาและในเทือกเขาฆาฏตะวันตก ในประเทศอินเดียฝั่งตะวันตก[17] มีการพบเห็นนกบินย้ายถิ่นฐานข้ามเทือกเขาสูง เช่น ผู้ที่ปีนขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นคณะแรกเห็นนกที่ความสูง 6,400 เมตร เพื่อข้ามเทือกเขาหิมาลัย[11] และมีการติดตามนกอพยพข้ามเทือกเขาแอลป์ด้วยจีพีเอสอีกด้วย[10]

พฤติกรรม

[แก้]

เชื่อกันมานานแล้วว่าเป็นท่าทางป้องกันตัว นกกะรางหัวขวานอาบแดดโดยกางปีกและหางให้ต่ำใกล้กับพื้น แล้วเงยหัวขึ้น แต่บางครั้งก็พับปีกลงครึ่งหนึ่งแล้วเสยขนด้วยปากไปด้วย[18] บางครั้งก็ชอบอาบฝุ่นและทรายด้วย[19]

อาหาร

[แก้]

อาหารโดยมากของนกเป็นพวกแมลง บางครั้งกินสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก กบ และพืชเช่นเมล็ดและผลเบอรรี่ เป็นนกหากินตัวเดียวบนพื้น น้อยครั้งที่จะโฉบกินแมลงที่ออกมาเป็นฝูงในอากาศ มีปีกที่แข็งแรงและกลมรีที่ช่วยให้บินได้เร็วและคล่องแคล่ว วิธีหาอาหารทั่วไปคือ เดินก้าวยาว ๆ ไปตามพื้นที่ค่อนข้างโล่ง เดินส่ายหัวไปมา แล้วหยุดเป็นที่ ๆ เพื่อที่สำรวจหาอาหารในพื้น นกสามารถควานหาหนอนแมลง ดักแด้ และแมลงกระชอน ด้วยปากที่ยาว หรืออาจขุดออกด้วยเท้าที่แข็งแรง นอกจากนี้ยังกินแมลงที่เดินตามพื้น ในกองใบไม้ หรือแม้แต่จะใช้ปากงัดหินและใต้เปลือกไม้ แมลงที่กินโดยทั่วไป คือจิ้งหรีด, จักจั่น, ด้วง, แมลงหางหนีบ, ตั๊กแตน, แมลงวงศ์ Myrmeleontidae, แมลงอื่น ๆ ในอันดับ Hemiptera, และมด ซึ่งมักมีขนาดยาวประมาณ 10-150 มม ที่ชอบที่สุดยาวประมาณ 20-30 มม นกตีเหยื่อขนาดใหญ่ที่พื้นหรือที่หินเพื่อฆ่าเสียก่อนและเพื่อเอาส่วนที่ย่อยไม่ได้เช่นปีกและขาออกด้วย[7]

การสืบพันธุ์

[แก้]
ลูกนกกะรางหัวขวานกับนกที่โตเต็มที่แล้วในสวน รัฐดูไบ
ไข่นกกะรางหัวขวาน เมืองตูลูซ ประเทศฝรั่งเศส
นกกะรางหัวขวานที่อุทยานแห่งชาติ รัฐอุตตราขัณฑ์ ประเทศอินเดีย

นกกะรางหัวขวานเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว แม้ว่าเป็นเพียงแค่ฤดูเดียว และเป็นสัตว์ปกป้องอาณาเขต ตัวผู้ร้องบ่อย ๆ เพื่อประกาศอาณาเขตของตน การไล่และการต่อสู้ระหว่างคู่แข่งตัวผู้ และบางครั้งก็ตัวเมียด้วย เกิดบ่อย ๆ และอาจรุนแรง[7] นกแทงคู่ต่อสู้ด้วยปาก บางครั้งทำให้ตาบอด[20] รังเป็นโพรงในต้นไม้หรือกำแพง และมีทางเข้าเล็ก ๆ[19] อาจไม่ปูด้วยอะไร หรืออาปูด้วยวัสดุ[15] เช่นฟางและเศษขน รังนกกะรางหัวขวานเป็นรังที่สกปรกมาก มีทั้งเศษอาหารและมูลนก และตัวเมียเท่านั้นที่ฟักไข่ จำนวนไข่ที่วางขึ้นอยู่กับภูมิภาค นกในซีกโลกเหนือจะวางไข่มากกว่านกในซีกโลกใต้ และนกที่อยู่ในละติจูดที่สูงกว่าวางไข่มากกว่านกที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร วางไข่ประมาณ 12 ฟอง ในยุโรปเหนือ ยุโรปกลาง เอเชียเหนือ และเอเชียกลาง, 4 ฟองในเขตร้อน, และ 7 ฟองในกึ่งเขตร้อน ไข่มีรูปกลมและมีสีขุ่นออกฟ้า ๆ เมื่อวางใหม่ ๆ แต่สีหม่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความสกปรกของรังที่เพิ่มขึ้น[7] ไข่หนักประมาณ 4.5 กรัม[18] นกอาจวางไข่ชุดใหม่ถ้าชุดแรกเสียไป[15]

นกกะรางหัวขวานมีกลยุทธ์ป้องกันรังที่วิวัฒนาการมาอย่างดีเพื่อป้องกันสัตว์ล่าเหยื่อ ต่อมน้ำมัน (uropygial gland) ของแม่นกที่กำลังฟักไข่หรือกำลังเลี้ยงลูกจะผลิตน้ำมันที่มีกลิ่นหม็น และของลูกนกก็เช่นกัน โดยไซ้ให้เข้าไปในขน น้ำมันมีกลิ่นคล้ายกับเนื้อเน่า เชื่อว่าเพื่อป้องกันสัตว์ล่าเหยื่อ เพื่อช่วยสกัดพวกปรสิต และอาจเป็นสารปฏิชีวนะ[21] ต่อมจะหยุดผลิตน้ำมันก่อนที่ลูกนกออกจากรัง[18] นอกจากนั้นแล้ว ตั้งแต่อายุ 6 วันเป็นต้นไป ลูกนกยังสามารถยิงมูลไล่สัตว์ที่มาบุกรุก ส่งเสียงขู่ฟ่อ ๆ คล้ายงู[7] และอาจโจมตีสัตว์บุกรุกด้วยปากและปีกข้างหนึ่ง[18]

ช่วงเวลาวางและฟักไข่อยู่ที่ 15-18 วัน เป็นช่วงที่ตัวผู้เลี้ยงตัวเมีย การฟักตัว (incubation) เริ่มทันทีที่วางไข่ใบแรก ดังนั้นลูกนกจะออกจากไข่ไม่พร้อมกัน ลูกนกออกจากไข่โดยมีขนอ่อน ช่วงอายุ 3-5 วัน ก้านขนนกจะเริ่มงอกขึ้น กลายเป็นขนนกสมบูรณ์แบบ แม่นกกกไข่ (brood) ประมาณ 9-14 วัน[7] และในเวลาต่อ ๆ มา แม่นกจะเริ่มนำอาหารมาเหมือนกับพ่อนก[19] ลูกนกเริ่มหัดบินที่ประมาณ 26-29 วัน และอยู่กับพ่อแม่ต่อมาอีกประมาณ 1 อาทิตย์หลังจากนั้น[15]

ความสัมพันธ์กับมนุษย์

[แก้]
นกกะรางหัวขวานบนต้นไผ่ โดย Zhao Mengfu, ค.ศ. 1254-1322 ที่พิพิธภัณฑ์เซี่ยงไฮ้
นกกะรางหัวขวาน (ฮีบรู: דוכיפת) ในประเทศอิสราเอล เป็นนกประจำชาติของประเทศ

นกกะรางหัวขวานเป็นนกที่เด่นและมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในเขตที่มันอยู่ ถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในอียิปต์โบราณ โดย "มีภาพบนผนังของสุสานและวิหาร" และได้รับการยกย่องเช่นเดียวกันในอารยธรรมไมนวน[18]

ในคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมในหมวดเบญจบรรณเล่มที่ 3 (Leviticus 11:13-19[22]) นกกะรางหัวขวานเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่น่ารังเกียจ ไม่ควรรับประทาน และในเล่มที่ 5 (Deuteronomy 14:18) กำหนดว่า เป็นของที่ไม่สามารถกินได้ (not kosher)

นอกจากนั้นแล้ว ยังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน (ในซูเราะฮ์ Al-Naml 27:20-22) เป็นผู้นำข่าวจากพระราชินีแห่งชีบามาถวายให้พระเจ้าโซโลมอน นอกจากนั้นแล้ววรรณกรรมอื่นของอิสลามก็แสดงว่า นกได้ป้องกันโมเสสและลูกหลานของอิสราเอลจากยักษ์อ็อก[23][24] หลังจากที่ได้ข้ามทะเลแดงแล้ว[25]

นกเป็นสัญลักษณ์ของคุณธรรมในเปอร์เชีย และปรากฏในหนังสือกลอนของ Attar of Nishapur ว่าเป็นนกผู้นำ[26]

แต่ว่า นกกะรางหัวขวานเชื่อว่าเป็นขโมยเกือบทั่วทั้งยุโรป และเป็นลางสงครามในประเทศสแกนดิเนเวีย[27] ส่วนในประเพณีของชนประเทศเอสโตเนีย นกเกี่ยวข้องกับความตายและปรโลก เสียงร้องของมันเชื่อว่าเป็นลางมรณะของทั้งคนและปศุสัตว์[28]

นกกะรางหัวขวานเป็นพระราชาของพวกนกในละครตลกกรีกโบราณ "นก" ของอริสโตฟานเนส ส่วนในมหากาพเมทามอร์โฟซีสโดยนักเขียนโอวิด กษัตริย์ Tereus ถูกสาปให้กลายเป็นนกกะรางหัวขวาน หลังจากทรงข่มขืนพระภคินีของพระชายา และทรงพยายามสำเร็จโทษทั้งพระชายาและพระภคินี[29] หงอนของนกเป็นสัญลักษณ์แสดงเชื้อกษัตริย์ และปากแหลมยาวของนกแสดงความรุนแรง

นกกะรางหัวขวานได้รับเลือกเป็นนกประจำชาติของประเทศอิสราเอลในปี ค.ศ. 2008 ที่เป็นปีฉลองอายุ 60 ปีของประเทศ หลังจากได้สำรวจประชากร 155,000 คน ชนะนกปรอดหัวโขนก้นเหลือง[30][31] นกปรากฏในตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยโจฮันเนสเบิร์ก และเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของทีมกีฬาของมหาวิทยาลัย ส่วนเมือง Armstedt ในประเทศเยอรมนี มีนกในตราสัญลักษณ์ของเมือง

การอนุรักษ์

[แก้]

เนื่องจากว่า อาหารหลายชนิดของนกเป็นสัตว์ทำลายพืช[32] ดังนั้น ชนิดนี้จึงได้รับการป้องกันจากฎหมายในหลายประเทศ[7] ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 จึงห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรัง การห้ามการครอบครองและการค้ามีผลไปถึงไข่และซาก[2]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • ภาพยนตร์บีบีซีภาษาอังกฤษ (การกลับมาของพวกฮูพู) แสดงนกในไร่องุ่นประเทศออสเตรีย นกร้องหาคู่ นกผสมพันธุ์ นกในกล่องที่อยู่สร้างโดยมนุษย์ คนให้ที่อยู่นกเพื่อกำจัดแมลงทำลายพืช นกสู้กันแย่งที่อยู่ นกกกไข่ ตัวผู้เลี้ยงตัวเมีย งูกินไข่ที่แม่ทิ้ง นกหากินขุดทราย ลูกหมาจิ้งจอกเล่น ลูกนกออกจากไข่ คนเลี้ยงลูกนก ลูกนกร้องขออาหาร ลูกนกยิงอุจจาระใส่ลูกหมาจิ้งจอก ลูกนก(ขนฟูสวยมาก)ยืดปีกหัดบิน นกบินในอากาศเป็นรูปคลื่น เหยี่ยวเคสเตรลล่าหนู คนปล่อยลูกนก นกอพยพจากแอฟริกาไปทางยุโรปหลังหน้าหนาว[10]
  • Hoopoe- Species text in The Atlas of Southern African Birds.
  • Ageing and sexing (PDF; 5.3 MB) by Javier Blasco-Zumeta & Gerd-Michael Heinze เก็บถาวร 2016-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • Hoopoe videos, photos & sounds on the Internet Bird Collection
  • "Hoopœ" . Collier's New Encyclopedia. 1921.
  • "Hoopoe" . Encyclopedia Americana. 1920.

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. BirdLife International (2020). "Upupa epops". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T22682655A181836360. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-3.RLTS.T22682655A181836360.en. สืบค้นเมื่อ 19 November 2021.
  2. 2.0 2.1 "สัตว์ป่าคุ้มครอง". โลกสีเขียว. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-26. สืบค้นเมื่อ 2015-04-23.
  3. Hackett, Shannon J.; และคณะ (2008). "A Phylogenomic Study of Birds Reveals Their Evolutionary History". Science. 320 (1763): 1763–1768. doi:10.1126/science.1157704. PMID 18583609.
  4. Feduccia, Alan (1975). "The Bony Stapes in the Upupidae and Phoeniculidae: Evidence for Common Ancestry" (PDF). The Wilson Bulletin. 87 (3): 416–417.
  5. 5.0 5.1 Mayr, Gerald (2000). "Tiny Hoopoe-Like Birds from the Middle Eocene of Messel (Germany)". Auk. 117 (4): 964–970. doi:10.1642/0004-8038(2000)117[0964:THLBFT]2.0.CO;2.
  6. 6.0 6.1 Olson, Storrs (1975). Paleornithology of St Helena Island, south Atlantic Ocean (PDF). Smithsonian Contributions to Paleobiology. Vol. 23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2015-04-22.
  7. 7.00 7.01 7.02 7.03 7.04 7.05 7.06 7.07 7.08 7.09 7.10 7.11 7.12 Krištin, A. (2001). "Family Upupidae (Hoopoes)". ใน del Hoyo, J.; Elliott, A.; Sargatal, J. (บ.ก.). Handbook of the Birds of the World. Vol. 6: Mousebirds to Hornbills. Barcelona, Spain: Lynx Edicions. pp. 396–411. ISBN 978-84-87334-30-6.
  8. Linnaeus, C (1758). Systema naturae per regna tria naturae, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis. Tomus I. Editio decima, reformata. Holmiae. (Laurentii Salvii). pp. 117–118. (ละติน)
  9. del Hoyo, Josep; Elliott, Andrew; Sargatal, Jordi, บ.ก. (1992–2013). Handbook of the Birds of the World. Spain: Lynx Edicions.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: editors list (ลิงก์)
  10. 10.0 10.1 10.2 Return of the Hoopoe [การกลับมาของพวกฮูพู (ภาษาอังกฤษ)]. YouTube (ภาพยนตร์). ฺBBC. สืบค้นเมื่อ 2015-04-21.
  11. 11.0 11.1 Ali, Sálim; Ripley, S. Dillon (1970). Handbook of the Birds of India and Pakistan, together with those of Nepal, Sikkim, Bhutan and Ceylon. Vol. 4: Frogmouths to Pittas. Bombay, India: Oxford University Press. pp. 124–129.
  12. Reichlin, T.S.; Schaub, M.; Menz, M.H.M.; Mermod, M.; Portner, P.; Arlettaz, R.; Jenni, L. (2009). "Migration patterns of Hoopoe Upupa epops and Wryneck Jynx torquilla: an analysis of European ring recoveries". Journal of Ornithology. 150 (2): 393–400. doi:10.1007/s10336-008-0361-3.
  13. Dau, Christian; Paniyak, Jack (1977). "Hoopoe, A First Record for North America" (PDF). Auk. 94 (3): 601.
  14. 14.0 14.1 Heindel, Matthew T. (2006). Jonathan Alderfer (บ.ก.). Complete Birds of North America. National Geographic Society. p. 360. ISBN 978-0-7922-4175-1.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 Pforr, Manfred; Alfred Limbrunner (1982). The Breeding Birds of Europe 2: A Photographic Handbook. London: Croom and Helm. p. 82. ISBN 978-0-7099-2020-5.
  16. Soper, Tony (1982). Birdwatch. Exeter, England: Webb & Bower. p. 141. ISBN 978-0-906671-55-9.
  17. Champion-Jones, RN (1937). "The Ceylon Hoopoe (Upupa epops ceylonensis Reichb.)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 39 (2): 418.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 Fry, Hilary C. (2003). Christopher Perrins (บ.ก.). Firefly Encyclopedia of Birds. Firefly Books. p. 382. ISBN 978-1-55297-777-4.
  19. 19.0 19.1 19.2 Harrison, C.J.O.; Christopher Perrins (1979). Birds: Their Ways, Their World. The Reader's Digest Association. pp. 303–304. ISBN 978-0-89577-065-3.
  20. Martín-Vivaldi, Manuel; Palomino, José J.; Soler, Manuel (2004). "Strophe length in spontaneous songs predicts male response to playback in the Hoopoe Upupa epops". Ethology. 110 (5): 351–362. doi:10.1111/j.1439-0310.2004.00971.x.
  21. Martín-Platero, Antonio M.; และคณะ (2006). "Characterization of antimicrobial substances produced by Enterococcus faecalis MRR 10-3, isolated from the uropygial gland of the Hoopoe (Upupa epops)". Applied and Environmental Microbiology. 72 (6): 4245–4249. doi:10.1128/AEM.02940-05. PMC 1489579. PMID 16751538.
  22. "Deuteronomy Chapter 14:18". mechon-mamre.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-22. สืบค้นเมื่อ 2015-04-22.
  23. Houtsma, M. Th (1987). E.J. Brill's First Encyclopaedia of Islam, 1913-1936. Brill Academic Publishers. p. 990. ISBN 9789004082656.
  24. Houtsma, M. Th (1987). E.J. Brill's First Encyclopaedia of Islam, 1913-1936. Brill Academic Publishers. p. 990. ISBN 9789004082656.
  25. Phillott, D.C. (1908). The Baz-Nama-Yi Nasiri: A Persian Treatise on Falconry. London: Bernard Quaritch. p. 151.
  26. Smith, Margaret (1932). The Persian Mystics 'Attar'. New York: E.P.Dutton and Company. p. 27.
  27. Dupree, N (1974). "An Interpretation of the Role of the Hoopoe in Afghan Folklore and Magic". Folklore. 85 (3): 173–93. doi:10.1080/0015587X.1974.9716553. JSTOR 1260073.
  28. Hiiemäe, Mall. "Forty birds in Estonian folklore IV". translate.google.com.
  29. Kline, A.S. (2000). "The Metamorphoses: They are transformed into birds". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-11. สืบค้นเมื่อ 2009-02-17.
  30. Lotan, Ofir (ช่างถ่ายภาพของรอยเตอร์ส) (2008-05-29). "Day in pictures". San Francisco Chronicle. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-28. สืบค้นเมื่อ 2022-05-26.
  31. "Hoopoe Israel's new national bird". ynet.
  32. Battisti, A; Bernardi, M.; Ghiraldo, C. (2000). "Predation by the hoopoe (Upupa epops) on pupae of Thaumetopoea pityocampa and the likely influence on other natural enemies". Biocontrol. 45 (3): 311–323. doi:10.1023/A:1009992321465. S2CID 11447864.