นกตะขาบม่วง
นกตะขาบม่วง | |
---|---|
นกตะขาบม่วง ที่พบในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ ประเทศแอฟริกาใต้ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Aves |
อันดับ: | Coraciiformes |
วงศ์: | Coraciidae |
สกุล: | Coracias |
สปีชีส์: | C. naevius |
ชื่อทวินาม | |
Coracias naevius Daudin, 1800 | |
เขตการกระจายพันธุ์ในแอฟริกา | |
ชื่อพ้อง | |
|
นกตะขาบม่วง หรือ นกตะขาบหัวสีน้ำตาล (อังกฤษ: purple roller หรือ rufous-crowned roller; ชื่อวิทยาศาสตร์: Coracias naevius) เป็นนกขนาดกลางในวงศ์นกตะขาบ กระจายพันธุ์ในอนุภูมิภาคทะเลทรายสะฮารา มีสีต่างจากนกตะขาบอื่น ๆ อย่างชัดเจนคือโดยรวมสีค่อนข้างทึม และร้องเสียงห้วน ๆ และแหบแห้ง
อนุกรมวิธาน
[แก้]นกตะขาบม่วงได้รับการระบุชนิดอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1800 โดยฟรองซัวร์ มารี โดแดง (François Marie Daudin) นักสัตววิทยาชาวฝรั่งเศส ในชื่อทวินาม Coracias naevia จากตัวอย่างที่เก็บได้ในเซเนกัล[2] ชื่อลักษณะเฉพาะจากภาษาละติน "naevius" หมายถึง "เป็นจุด" หรือ "เป็นเครื่องหมาย"[3]
การศึกษาสายวิวัฒนาการระดับโมเลกุลที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2018 พบว่านกตะขาบม่วงมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับนกตะขาบทุ่งหางบ่วง (Coracias spatulatus)[4]
ชนิดย่อย
[แก้]สองชนิดย่อยได้รับการยอมรับ[5][6] คือ
- Coracias naevius naevius - Daudin, 1800 – นกตะขาบคอสีม่วง พบตั้งแต่เซเนกัลและแกมเบีย ไปจนถึงโซมาเลียและแทนซาเนียตอนเหนือ ซึ่งชื่อสามัญของชนิดย่อยนี้ยังใช้เป็นชื่อรองของนกตะขาบทุ่งอกสีม่วง
- Coracias naevius mosambicus - Dresser, 1890 – แต่เดิมระบุว่าเป็นชนิดที่แยกออกต่างหาก (Coracias mosambicus) พบเห็นได้ในแองโกลาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกตอนใต้ ไปจนถึงนามิเบียตอนเหนือของแอฟริกาใต้
ลักษณะ
[แก้]นกตะขาบม่วงเป็นนกตะขาบที่ใหญ่ที่สุดในสกุลนกตะขาบทุ่ง (rollers) มีความยาว 35 ถึง 40 เซนติเมตร (14 ถึง 16 นิ้ว) ปีกยาวและโค้งลู่และมน ส่วนหางตัดเป็นสี่เหลี่ยม
จากระยะไกลมีสีน้ำตาลทึม มีคิ้วยาวสีขาว คอและอกมีริ้วสีขาวจำนวนมาก หางสีครามเข้ม ประชากรนกทางเหนือมีแนวโน้มที่จะมีกระหม่อมสีน้ำตาลอ่อน ในขณะที่ประชากรนกทางใต้มีกระหม่อมสีเขียวมะกอก ท้องเป็นสีม่วงอมชมพู[7]
-
ท้องสีม่วงอมชมพู
-
สีปีก
-
สีเขียวมะกอกบนหลัง
-
คิ้วขาว
เสียง
[แก้]ร้องเสียง (โดยมาก 2 จังหวะติด ๆ) "ก้า" หรือ "วา-ก้ะ" ที่แหบแห้งและเกรี้ยวกราด ซ้ำ ๆ อย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอหลายนาที[8]
พฤติกรรมและนิเวศวิทยา
[แก้]นกตะขาบม่วงชอบอาศัยในตอหรือต้นที่ตายแล้วของพืชมีหนามสกุลสีเสียด (กระถิน) มักเกาะอยู่ตามยอดไม้มีหนามหรือเสาเป็นเวลานานคอยดูเหยื่อ เช่น แมลง แมงมุม แมงป่อง และกิ้งก่าขนาดเล็กบนพื้น และเมื่อจะบินมักโยกสั่นตัวไปมา และร้องเสียงดังตลอดเวลา ตั้งแต่จากยอดไม้จนร่อนลงมาสู่พื้นดิน
การผสมพันธุ์
[แก้]เป็นนกหวงถิ่น ในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะบินไล่นกตะขาบอื่น ๆ เหยี่ยวขนาดเล็ก และกา[8] ดูเหมือนว่านกตะขาบม่วงเป็นนกที่ผสมพันธุ์ตามโอกาสที่อาจมีความเชื่อมโยงกับฝน เนื่องจากฤดูผสมพันธุ์ที่แตกต่างกันของประชากรในแต่ละภูมิภาค
ทำรังในโพรงตามธรรมชาติบนต้นไม้ ใช้รูเก่าของนกหัวขวาน ในซอกผา ริมฝั่งแม่น้ำ ท่อ หรือโพรงในอิฐ มักจะวางไข่ 3 ฟอง มีสีขาว ลูกนกถูกเลี้ยและฟักโดยพ่อแม่ร่วมกัน[8]
การกระจายพันธุ์
[แก้]เขตการกระจายพันธุ์ในแอฟริกา ทางใต้ของภูมิภาคทะเลทรายสะฮารา ได้แก่ แองโกลา, เบนิน, บอตสวานา, บูร์กินาฟาโซ, แคเมอรูน, สาธารณรัฐอัฟริกากลาง, ชาด, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, โกตดิวัวร์, เอริเทรีย, เอสวาตินี, เอธิโอเปีย, แกมเบีย, กานา, กินี, กินี-บิสเซา, เคนยา, ไลบีเรีย, มาลาวี, มาลี, มอริเตเนีย, โมซัมบิก, นามิเบีย, ไนเจอร์, ไนจีเรีย, เซเนกัล, โซมาเลีย, แอฟริกาใต้, ซูดาน, แทนซาเนีย, ยูกันดา, แซมเบีย และซิมบับเว[9] ที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,300 เมตร[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ BirdLife International (2016). "Coracias naevius". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T22682892A92967155. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T22682892A92967155.en.
- ↑ Daudin, François Marie (1800). Traité élémentaire et complet d'ornithologie, ou, Histoire naturelle des oiseaux (ภาษาฝรั่งเศส). Vol. 2. Paris: Chez L'Auteur. pp. 258–259.
- ↑ Jobling, James A. (2010). The Helm Dictionary of Scientific Bird Names. London: Christopher Helm. p. 265. ISBN 978-1-4081-2501-4.
- ↑ Johansson, U.S.; Irestedt, M.; Qu, Y.; Ericson, P. G. P. (2018). "Phylogenetic relationships of rollers (Coraciidae) based on complete mitochondrial genomes and fifteen nuclear genes". Molecular Phylogenetics and Evolution. 126: 17–22. doi:10.1016/j.ympev.2018.03.030.
- ↑ Gill, Frank; Donsker, David; Rasmussen, Pamela, บ.ก. (January 2021). "Rollers, ground rollers, kingfishers". IOC World Bird List Version 11.1. International Ornithologists' Union. สืบค้นเมื่อ 22 April 2021.
- ↑ "Coracias naevius (Rufous-crowned Roller) - Avibase". avibase.bsc-eoc.org.
- ↑ Fry, C. Hilary; Fry, Kathie (2010). Kingfishers, Bee-eaters and Rollers. Bloomsbury Publishing. pp. 287–288. ISBN 978-1-4081-3525-9.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 "Rufous-crowned Roller - eBird". ebird.org.
- ↑ 9.0 9.1 International), BirdLife International (BirdLife (2016-10-01). "IUCN Red List of Threatened Species: Coracias naevius". IUCN Red List of Threatened Species.