ข้ามไปเนื้อหา

นกตะขาบทุ่งหางบ่วง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกตะขาบทุ่งหางบ่วง
นกตะขาบทุ่งหางบ่วง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Coraciiformes
วงศ์: Coraciidae
สกุล: Coracias
สปีชีส์: C.  spatulatus
ชื่อทวินาม
Coracias spatulatus
Trimen, 1880
เขตการกระจายพันธุ์ในแอฟริกา
ชื่อพ้อง
  • Coracias spatulata
หางยาวปลายเป็นรูปไม้พาย ที่เรียกว่า หางบ่วง

นกตะขาบทุ่งหางบ่วง (อังกฤษ: racket-tailed roller; ชื่อวิทยาศาสตร์: Coracias spatulatus) เป็นนกในวงศ์นกตะขาบซึ่งพบในแอฟริกาตอนใต้ตั้งแต่แองโกลา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกตะวันออกเฉียงใต้ และแทนซาเนียตอนใต้ไปจนถึงบอตสวานาตอนเหนือ ซิมบับเว มาลาวี และโมซัมบิก มีลักษณะเด่นต่างจากนกในสกุลเดียวกันคือ หางยายาวและมีแถบหาง 2 เส้นที่เรียก หางบ่วง

อนุกรมวิธาน

[แก้]

โรล็องด์ ทริเมน (Roland Trimen) นักธรรมชาติวิทยาระบุชนิดอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1880 ในชื่อทวินาม Coracias spatulatus จากตัวอย่างที่เก็บได้ใกล้กับแม่น้ำซัมเบซีทางตอนใต้ของแอฟริกา[2] ชื่อลักษณะเฉพาะ spatulatus เป็นภาษาละตินสมัยใหม่ หมายถึง "ไม้พาย" หรือ "รูปช้อน" ("spatulate" หรือ "spoon-shaped")[3] นกชนิดนี้เป็นชนิดโมโนไทป์ (monotypic species) คือไม่มีการระบุชนิดย่อย[4]

จากผลการศึกษาสายวิวัฒนาการระดับโมเลกุลที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2018 พบว่านกตะขาบทุ่งหางบ่วงเป็นญาติใกล้ชิดกับนกตะขาบม่วงมากที่สุด (Coracias naevius)[5]

ชื่ออื่นของนกตะขาบทุ่งหางบ่วง ได้แก่ นกตะขาบทุ่งหางบ่วงแองโกลา (Angola racket-tailed roller) และนกตะขาบทุ่งไวกัล (Weigall's roller)

ลักษณะ

[แก้]

นกตะขาบทุ่งหางบ่วงได้รับการตั้งชื่อตามขนหางชั้นนอกที่ยาวและมองเห็นได้ชัดเจน และมีริ้วยาวที่ปลายเป็นรูปช้อนหรือไม้พาย ในภาษาไทยเรียกลักษณะนี้ว่า หางบ่วง

นกตะขาบทุ่งหางบ่วง ยาว 28–30 เซนติเมตร (11 ถึง 12 นิ้ว) ไม่รวมหางบ่วงที่ขยายออกไปอีก 8 เซนติเมตร (3 นิ้ว)[6]

หน้าผากและคิ้วสีขาว กระหม่อมสีเขียวมะกอกหม่น หลังเป็นสีน้ำตาลแดง และหางสีน้ำเงิน มีคอ แก้ม อกและท้องเป็นสีฟ้าอ่อนที่มีริ้วสีขาว จะงอยปากมีสีดำ ตาสีน้ำตาลและขามีสีเหลืองหม่น[6]

ขณะกางปีกบินสามารถมองเห็นปีกด้านบนสีม่วงที่มีแถบสีฟ้าคาด ใต้ปีกเป็นสีฟ้าอ่อน ขอบปลายปีกเป็นสีม่วงอมดำ[6]

นกรุ่นดูคล้ายกับตัวเต็มวัยแต่มีสีทึมกว่า และไม่มีขนหางบ่วง[6]

เสียงร้องเปล่งออกมาต้นเสียงดังกังวาล ปลายเสียงคล้ายกลืนลงไปในลำคอ[6]

นกตะขาบทุ่งหางบ่วงค่อนข้างคล้ายกับนกตะขาบยุโรป (Coracias garrulus) และนกตะขาบทุ่งอกสีม่วง (Coracias caudatus) แต่นกชนิดนี้ไม่มีแพนหางที่โดดเด่น[6]

พฤติกรรมและนิเวศวิทยา

[แก้]

เช่นเดียวกับนกชนิดอื่น ๆ ในสกุลนกตะขาบทุ่ง (Coracias) นกตะขาบทุ่งหางบ่วงล่าเหยื่อจากคอนของกิ่งไม้ในกลางพุ่มในพื้นที่ป่าไม้ เมื่อเห็นสิ่งที่กินได้บนพื้นป่ามันจะพุ่งลงไปจับเหยื่อ อาหารส่วนใหญ่ประกอบด้วยตั๊กแตน ด้วง หนอนแมลง แมงป่อง และกิ้งก่าขนาดเล็ก[6]

นกตะขาบทุ่งหางบ่วงมักจะอยู่โดดเดี่ยวหรือเป็นคู่ แต่อาจสร้างฝูงเล็ก ๆ ที่มีจำนวนหกหรือเจ็ดตัว เป็นนกหวงถิ่น ขับไล่ผู้บุกรุกโดยพุ่งจากที่สูงพร้อมกับเสียงร้องดัง และมักร่อนพลิกตัวจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งขณะที่มันลดระดับลง ก่อนจะร่อนโดยแรงเหวี่ยงนั้นเพื่อขึ้นไปเกาะคอน[6]

การทำรัง

[แก้]

มักทำรังอยู่ในโพรงในลำต้นของต้นไม้ หรือกิ่งก้านสูงจากพื้นประมาณ 7 เมตร (23 ฟุต) มักใช้รังที่เลิกใช้แล้วของนกหัวขวานหรือนกโพระดก วางไข่อยู่ในโพรงที่ไม่มีเส้นใยรองรับ และแต่ละคลอกมักมีไข่สามหรือสี่ฟอง แต่ยังไม่ค่อยมีการศึกษานิสัยการทำรังของนกชนิดนี้[6]

สถานะ

[แก้]

นกตะขาบทุ่งหางบ่วงเป็นนกที่พบได้ทั่วไปและมีพื้นที่การกระจายพันธุ์ที่หลากหลายมาก ทั้งนี้แนวโน้มของประชากรกำลังลดลงเนื่องจากการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยของป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าโปร่ง (miombo และ mopane) ได้รับการประเมินว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. BirdLife International (2016). "Coracias spatulatus". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T22682883A92966925. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T22682883A92966925.en.
  2. Trimen, Roland (1880). "On a new species of roller (Coracias) from the Zambesi". Proceedings of the Zoological Society of London. Part 1: 31–33.
  3. Jobling, James A. (2010). The Helm Dictionary of Scientific Bird Names. London: Christopher Helm. p. 361. ISBN 978-1-4081-2501-4.
  4. Gill, Frank; Donsker, David; Rasmussen, Pamela, บ.ก. (January 2021). "Rollers, ground rollers, kingfishers". IOC World Bird List Version 11.1. International Ornithologists' Union. สืบค้นเมื่อ 22 April 2021.
  5. Johansson, U.S.; Irestedt, M.; Qu, Y.; Ericson, P. G. P. (2018). "Phylogenetic relationships of rollers (Coraciidae) based on complete mitochondrial genomes and fifteen nuclear genes". Molecular Phylogenetics and Evolution. 126: 17–22. doi:10.1016/j.ympev.2018.03.030.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 6.8 Fry, C. Hilary; Fry, Kathie (2010). Kingfishers, Bee-eaters and Rollers. Bloomsbury Publishing. pp. 292–294. ISBN 978-1-4081-3525-9.