ธุดงค์
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
ธุดงค์ (บาลี: ธุตงฺค) เป็นวัตรปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ ไม่มีการบังคับ แล้วแต่ผู้ใดจะสมัครใจปฏิบัติ[1] เป็นอุบายวิธีกำจัดขัดเกลากิเลส ทำให้เกิดความมักน้อยสันโดษยิ่งขึ้น ไม่สะสม เพื่อให้เบาสบายไปมาได้สะดวกด้วยไม่มีภาระมาก เหมือนนกที่มีเพียงปีกก็บินไป มิใช่เพื่อสะสมหรือเพื่อลาภสักการะและชื่อเสียง ถ้าทำเพื่อลาภ เพื่อชื่อเสียง ต้องอาบัติทุกกฎ[2]
โดยรูปศัพท์ ธุดงค์ แปลว่า องค์คุณเป็นเครื่องกำจัดกิเลส, องค์คุณของผู้กำจัดกิเลส หรือ การสมาทานเพื่อเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอันอันตรายต่อสัมมาปฏิบัติ[3]
ธุดงค์นั้น เป็นศัพท์เฉพาะที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท โดยพระพุทธเจ้าตรัสแสดงธุดงค์ลักษณะต่าง ๆ ไว้หลายพระสูตร เมื่อรวมแล้วจึงได้ทั้งหมด 13 ข้อ[1][4][5]
ธุดงค์ในปัจจุบันยังคงเป็นแนวการปฏิบัติที่เป็นที่นิยมของชาวพุทธเถรวาททั่วไปในหลายประเทศ โดยไม่จำกัดเฉพาะพระสงฆ์เท่านั้น คฤหัสถ์ทั่วไปก็ถือปฏิบัติได้บางข้อเช่นกัน[6]
ปัจจุบัน คำว่า ธุดงค์ ในประเทศไทยใช้ในความหมายว่าเป็นการเดินจาริกของพระสงฆ์ไปยังที่ต่าง ๆ หรือเรียกว่า การเดินธุดงค์ ซึ่งความหมายนี้แตกต่างจากความหมายเดิมในพระไตรปิฎก1
ความหมาย
[แก้]ธุดงค์ คือวัตร หรือแนวทางการปฏิบัติจำนวน 13 ข้อ ที่พระพุทธเจ้าอนุญาตไว้ให้แก่พระสงฆ์สำหรับเลือกนำไปปฏิบัติ เพื่อมุ่งให้เป็นแนวปฏิบัติเพิ่มเติมของพระสงฆ์ที่ตั้งใจสมาทานความเพียรเพื่อมุ่งขัดเกลาทางจิตเพื่อกำจัดกิเลส โดยธุดงค์นี้เป็นเพียงวัตร หรือแนวทางการประพฤติ ที่ไม่ใช่ศีลของพระสงฆ์ พระสงฆ์จึงเลือกปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ[1] และการปฏิบัติธุดงค์
ธุดงค์ ในภาษาไทย ใช้เรียกพระภิกษุแบกกลดเดินไปตามทางหรือเข้าป่าไปว่า เดินธุดงค์ หรือ ออกธุดงค์ เรียกภิกษุที่ปฏิบัติเช่นนั้นว่า พระธุดงค์
ธุดงค์ ในภาษาไทย ใช้เรียกพระภิกษุแบกกลดเดินไปตามทางหรือเข้าป่าไปว่า เดินธุดงค์ หรือ ออกธุดงค์โดยการปฏิบัติที่ว่าด้วยการออกเดินทางนั้น เป็นข้อวัตรปฏิบัติพิเศษที่ชื่อว่า โมเนยยปฏิบัติ คือการอย่าเที่ยวภิกขาจารในที่เดิมซ้ำ อย่านอนในที่เดิมซ้ำ เพื่อไม่ตัดสินว่าใครดีชั่ว เพื่อไม่พิจารณาว่าสิ่งใดที่ไหนหยาบปราณีต เรียกภิกษุที่ปฏิบัติเช่นนั้นว่า พระธุดงค์ ธุดงค์ในภาษาไทยนี้จึงมีความหมายเฉพาะตัวตามประเพณีของพระวัดป่าของประเทศไทย[7]
ธุดงควัตร
[แก้]ธุดงควัตร หมายถึงกิจวัตรของการธุดงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตมี 13 วิธีจัดเป็นข้อสมาทานละเว้น และข้อสมาทานปฏิบัติ คือ
- ปังสุกูลิกังคะ ละเว้นใช้ผ้าที่ประณีตเหมือนที่คหบดีใช้ (พระป่านิยมใช้ผ้าท่อนเก่า) สมาทานถือใช้แต่ผ้าบังสุกุลที่เขาทิ้งแล้ว (ข้อนี้ตามคัมภีร์เมื่อเทียบกับวัดป่าไม่ต่างกัน)
- เตจีวริตังคะ ละเว้นการมีผ้าครอบครองและใช้สอยผ้าเกิน 3 ผืน (วัดป่าสมาทานการใช้สอยผ้าไตรจีวร ในความหมายว่าผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าคลุมด้วย (ในทางปฏิบัติจะใช้ผ้าคลุมนุ่งเมื่อซักตากผ้านุ่งและผ้าห่มชั่วคราว) คือ ผ้าที่เป็นผืน ๆ ที่ไม่ได้ตัดเป็นชุด ตามหลักผ้าใช้นุ่งห่มเพื่อกันความร้อนความเย็นและปกปิดร่างกายกันความน่าอายเท่านั้น
- ปิณฑปาติกังคะ ละเว้นรับอดิเรกลาภ (คือรับนิมนต์ไปฉันที่ได้มานอกจากบิณฑบาตรเช่นไปฉันที่บ้านที่โยมจัดไว้ต้อนรับ) สมาทาน เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ (ข้อนี้ตามคัมภีร์เมื่อเทียบกับวัดป่าไม่ต่างกัน)
- สปทานจาริปังคะ ละเว้นการโลเล (ยึดติด) เที่ยวจาริก (ภิกขาจาร) (เพื่อมิให้ผูกพันกับญาติโยม) สมาทานบิณฑบาตรตามลำดับ ลำดับบ้าน ไม่เลือกบ้านที่จะรับบิณฑบาต เดินแสวงหาบิณฑบาตไปตามลำดับ ส่วนของวัดป่าบางที่นั้นจะมีวิธีการเพิ่มออกนอกไปจากคัมภีร์อีก คือ ละเว้นบิณฑบาตซ้ำที่เดิม ถืออย่างเบาย้ายสายบิณฑบาตทุกวัน อย่างหนักออกเดินทางย้ายที่เที่ยวบิณฑบาตไม่ต่ำกว่าที่เดิมไม่เกินโยชน์ (16 กิโลเมตร) สมาทานบิณฑบาตตามลำดับบ้าน ลำดับอายุพรรษา ไม่เดินแซง (แย่งอาหาร) ซึ่งไม่ผิดจากพระไตรปิฎก-อรรถกถาแต่อย่างใด สามารถทำได้เช่นกัน.
- เอกาสนิกังคะ ละเว้นอาสนะที่สอง สมาทานอาสนะเดียว (ฉันมื้อเดียว) ปกติมักถือการนั่งฉันเมื่อเคลื่อนก้นจากฐานอาสนะที่นั่งเป็นอันยุติการฉันหรือรับประทานอาหารในวันนั้น ส่วนของวัดป่านั้นจะมีวิธีการเพิ่มออกนอกไปจากคัมภีร์อีก คือ จะกำหนดเวลาฉันในแต่ละวัน เช่น กำหนดฉันเวลา 9 นาฬิกา ก็จะฉันในเวลานั้นทุกวัน (จะไม่ฉันก่อนเวลานั้น หรือ หลังเวลานั้น เช่น เวลา 8 นาฬิกา หรือ 10 นาฬิกา) จะไม่เปลี่ยนเวลาฉันตามความอยากฉัน หรือ ไม่อยากฉันตามอารมณ์ แต่ฉันตามสัจจะตามเวลาที่อธิษฐานไว้
- ปัตตปิณฑิกังคะ ละเว้นฉันภาชนะที่ 2 ใส่อาหารรวมในภาชนะเดียวกันทั้งหมด สมาทาน ฉันเฉพาะในบาตร ส่วนของวัดป่าบางที่นั้นจะมีวิธีการเพิ่มออกนอกไปจากคัมภีร์อีก คือ จะต้องคนอาหารรวมกันด้วย ซึ่งแม้จะไม่มีในข้อธุดงค์ตามคัมภีร์แต่ก็ทำได้ไม่ผิดอะไร
- ขลุปัจฉาภัตติกังคะ ละเว้นการรับประทานอาหารเหลือ สมาทานเมื่อเริ่มลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม ส่วนของวัดป่าบางที่นั้นจะมีวิธีการเพิ่มออกนอกไปจากคัมภีร์อีก คือ ละเว้นฉันเหลือให้เป็นเดน (ฉันเหลือเนื่องจากไม่ประมาณในการบริโภค) ซึ่งก็ทำได้ไม่ผิด ทั้งยังเป็นมรรยาทที่ดีงามและพบตัวอย่างของพระสมัยพุทธกาลที่ทำเช่นนี้ด้วย (อติริตต อาหารอันเป็นเดน)
- อารัญญิกังคะ ละเว้นการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน สมาทานการอยู่ในป่าไกล 500 ชั่วคันธนู หรือ ราว 1 กิโลเมตร โดยจะต้องให้ตะวันขึ้นในป่า หากตัวอยู่ในบ้านตอนตะวันขึ้น เป็นอันธุดงค์แตก สมาทานถืออยู่ในป่า (วน - กลุ่มต้นไม้, อรัญญ - ป่าไกลบ้าน)
- รุกขมูลิกังคะ ละเว้นนอนในที่มีที่มุงที่บัง (เช่น บ้าน ถ้ำ กุฏิ) สมาทานอยู่โคนไม้ แต่ท่านอนุญาตให้ทำซุ้มจีวรได้ ส่วนของวัดป่าบางที่นั้นจะต่างออกไปเล็กน้อย คือ จะใช้การปักกลดแทน ประเพณีนี้ไม่ทราบที่มาแน่ชัดนัก แต่ถ้าไม่เอาด้ามกลดปักดินก็ทำได้เพราะถึงอย่างไรกลดก็ไม่ใช่กุฏิ (ปักกลด คือการกางร่มกลด (ร่มที่พระใช้ขณะเดินทาง) ใต้ต้นไม้ เป็นวิธีการของพระสายวัดป่าไทยโดยเฉพาะแต่เดิมครั้งพุทธกาลไม่มีมาก่อน กลดมี 2 ลักษณะคือผูกเชือกแล้วแขวนกลด และใช้ด้ามกลดปักพื้น (มักทำพระอาบัติปาจิตตีย์กันบ่อยด้วยปฐวิขณนสิกขาบท เพราะจงใจขุดดินทั้งที่รู้ตัว) บางรูปวางกับพื้น เรียกว่ากางโลงศพเพราะได้แต่อิริยาบถนอนในกลดเท่านั้น ลุกมานั่งสมาธิไม่ได้ (แต่สามารถถือวางพาดบ่าก็ลุกนั่งได้) โดยปกติจะครอบคลุมด้วยผ้ามุงทรงกระบอกเพื่อกันยุง ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ใส่รองเท้าเมื่อเดินลุยในน้ำ ไม่ทรงอนุญาตให้ใส่ที่อื่น เนื่องจากเดินลุยน้ำเรามองไม่เห็นว่าในน้ำมีอะไรจึงต้องใส่รองเท้า แต่บนพื้นเรามองเห็นอยู่จะพลาดเหยียบหนามก็เพราะขาดสติ (ทรงอนุญาตให้ใส่รองเท้าในวัด หรือป่า เป็นต้นได้ แต่ห้ามใส่เข้าในเขตหมู่บ้าน[8]) อีกทั้งทรงอนุญาตให้ใช้ร่มเมื่อเข้าไปในใต้ต้นไม้เพื่อป้องกันการร่วงหล่นใส่ของกิ่งไม้แต่ในเบื้องต้นยังไม่อนุญาตให้กางนอกต้นไม้เพื่อใช้กันแดดกันฝน ในคัมภีร์ท่านไม่ได้อนุญาตให้กางร่มกลดไว้ แต่หากเอาตามอัพโภกาสิกังคธุดงค์แล้วก็ทรงอนุญาตให้ทำซุ้มจีวรได้ (สันนิษฐานว่าคงเป็นผ้ามุ้งหูเดียวที่ผูกแขวนใต้ต้นไม้เพราะข้อธุดงค์รุกขมูลที่กำหนดไว้ให้อยู่ใต้ต้นไม้ ไม่น่าจะเป็นการเอาไม้มาพาดแล้วคลุมด้วยผ้าคล้ายเต็นท์ เพราะเต็นท์จะอยู่นอกใต้ต้นไม้ได้) อย่างไรก็ตามการใช้กลดก็ไม่ผิด เพราะก็อยู่โคนไม้ไม่ใช่กุฏิเหมือนกัน)
- อัพโภกาสิกังคะ ละเว้นการเข้าในที่มีที่มุงที่บังและใต้ต้นไม้ สมาทานอยู่กลางแจ้ง คือการไม่เข้าไปพักในร่มไม้หรือชายคาหลังคาใด ๆ หรือแม้การกางร่มกลดเพื่อกันแดดกันฝนก็ไม่ได้ห้ามทั้งซุ้มจีวรและการใช้มุงใด ๆ วัดป่าบางทีก็ถือการไม่ใช่อาสนะใด ๆ เลยเช่น เก้าอี้ เตียง ผ้าปูหรือ แม้แต่ผูกเปล รวมทั้งไม่นอนบนต้นไม้ โดยถือหลักการไม่อิงอาศัยสิ่งใดเกินจำเป็น แม้แต่รองเท้าก็ตาม
- โสสานิกังคะ ละเว้นการอยูในสถานที่ไม่เปลี่ยว สมาทานอยู่ป่าช้า ในคัมภึร์หมายถึงป่าช้าเผาศพ ซึ่งต้องเคยมีการเผาศพมาก่อนอย่างน้อยครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่ป่าช้าฝังผี ข้อนี้ก็เหมือนกับ 2 ข้อ ก่อน ตรงที่ถ้าไม่ได้อยู่ในป่าช้าตอนตะวันขึ้นธุดงค์ก็แตกเช่นกัน วัดป่ามักถือการไม่อยู่ในป่าช้าใกล้ ๆ กับที่มีมนุษย์อยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กับสถานที่ตนอยู่ เพราะการอยู่ในป่าช้าก็เพื่อการทดสอบจิตใจต่อการกลัวในความมืดและความเงียบ โดยการอยู่ในที่เปลี่ยวในป่าช้าห่างไกลผู้คนและหมายถึงป่าทั้งที่ฝังและเผา (สน สงัด สุสาน มีปกติสงัดดี)
- ยถาสันถติกังคะ ละเว้นการโลเล (ยึดติด) ในเสนาสนะ สมาทานอยู่ในที่ตามมีตามได้ เสนาสนคาหาปกะจัดให้อย่างไรก็อยู่ตามนั้น ส่วนของวัดป่านั้นจะมีวิธีการเพิ่มออกนอกไปจากคัมภีร์อีก คือ ละเว้นการนอนซ้ำที่เดิม (เพื่อไม่หวงแหนในติดในสถานที่) โดย
- ถืออย่างเบาคือนอนย้ายที่ในอาวาสทุกวัน
- ถืออย่างหนักคือออกเดินทางย้ายที่นอนทุกวัน
- ถ้านอกอาวาส ถ้าหลายรูปให้พรรษาที่สูงกว่าเลือกให้และให้พรรษาสูงกว่าเลือกก่อน (ข้อนี้เป็นสมาจาริกศีล ไม่ใช่ธุดงค์) และ
- อยู่บนกุฏิวิหารให้ทำให้สะอาด ถ้าตามโคนไม้ไม่กวาดหรือทำอะไรเพราะใบไม้มีประโยชน์เช่นทำให้เท้าไม่ เปื้อนก่อนเข้าอาสนะ และสัตว์หรือคนเข้ามาย่อมได้ยินเสียง
- เนสัชชิกังคะ สมาทานถืออิริยาบถนั่ง-อิริยาบถยืน-อิริยาบถเดินเพียง 3 อิริยาบถไม่อยู่ในอิริยาบถนอน ส่วนของวัดป่านั้นจะมีวิธีการเพิ่มออกนอกไปจากคัมภีร์อีก คือ ละเว้นการหลับด้วย ซึ่งก็ทำได้ไม่ผิด (มักเรียกการประพฤตินี้ว่าเนสัชชิก)
วัตรปฏิบัติ
[แก้]หมวดที่ 1 จีวรปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับจีวร)
[แก้]- การถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คือการใช้แต่ผ้าเก่าที่คนเขาทิ้งเอาไว้ตามกองขยะบ้าง ข้างถนนบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง นำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อมสี เย็บต่อกันจนเป็นผืนใหญ่แล้วนำมาใช้ งดเว้นจากการใช้ผ้าของโยมโดยตรงทุกชนิด (วางใกล้เท้าได้)
- การถือผ้า 3 ผืน (ไตรจีวร) เป็นวัตร คือการใช้ผ้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น อันได้แก่ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าสารพัดประโยชน์ เช่น คลุมกันหนาว ปูนั่ง ปูนอน ปัดฝุ่น ใช้แทนสบง หรือจีวรเพื่อซักผ้าเหล่านั้น ปัจจุบันภิกษุไทยมักใช้พาดบ่าเมื่อประกอบพิธีกรรม)
หมวดที่ 2 ปิณฑปาตปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับบิณฑบาต)
[แก้]- การถือบิณฑบาตเป็นวัตร คือการบริโภคอาหารเฉพาะที่ได้มาจากการรับบิณฑบาตเท่านั้น ไม่บริโภคอาหารที่คนเขานิมนต์ไปฉันตามบ้าน
- ถือการบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไป
- ถือการฉันในอาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ในแต่ละวันจะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว เมื่อนั่งแล้วก็ฉันจนเสร็จ หลังจากนั้นก็จะไม่บริโภคอาหารอะไรอีกเลย นอกจากน้ำดื่ม
- ถือการฉันในบาตรเป็นวัตร คือจะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาติของอาหาร
- ถือการห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร คือเมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว ตัดสินใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว หลังจากนั้นถึงแม้มีใครนำอะไรมาถวายเพิ่มอีก ก็จะไม่รับอะไรเพิ่มอีกเลย ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตาม
หมวดที่ 3 เสนาสนปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับเสนาสนะ)
[แก้]- ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร คือจะอยู่อาศัยเฉพาะในป่าเท่านั้น จะไม่อยู่ในหมู่บ้านเลย เพื่อไม่ให้ความพลุกพล่านวุ่นวายของเมืองรบกวนการปฏิบัติ หรือเพื่อป้องกันการพอกพูนของกิเลส
- ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร คือจะพักอาศัยอยู่ใต้ต้นไม้เท่านั้น งดเว้นจากการอยู่ในที่มีหลังคาที่สร้างขึ้นมามุงบัง
- ถือการอยู่กลางแจ้งเป็นวัตร คือจะอยู่แต่ในที่กลางแจ้งเท่านั้น จะไม่เข้าสู่ที่มุงบังใด ๆ เลย แม้แต่โคนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ติดในที่อยู่อาศัย
- ถือการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร คือจะงดเว้นจากที่พักอันสุขสบายทั้งหลาย แล้วไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เพื่อจะได้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ประมาท
- ถือการอยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดไว้ให้เป็นวัตร คือเมื่อใครชี้ให้ไปพักที่ไหน หรือจัดที่พักอย่างใดไว้ให้ ก็พักอาศัยในที่นั้น ๆ โดยไม่เลือกว่าสะดวกสบาย หรือถูกใจหรือไม่ และเมื่อมีใครขอให้สละที่พักที่กำลังพักอาศัยอยู่นั้น ก็พร้อมจะสละได้ทันที
- ถือการนั่งเป็นวัตร คือจะงดเว้นอิริยาบถนอน จะอยู่ใน 3 อิริยาบถเท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง จะไม่เอนตัวลงให้หลังสัมผัสพื้นเลย ถ้าง่วงมากก็จะใช้การนั่งหลับเท่านั้น เพื่อไม่ให้เพลิดเพลินในการนอน
คำสมาทานธุดงค์
[แก้]- คำสมาทานธุดงค์ 13 แบบ
- ถือ " ผ้าบังสุกุล " เป็นวัตร สมาทานว่า " คะหะปะติจีวะรัง ปะฏิกขิปามิ ปังสุกูลิกังคัง สะมาธิยามิ "
- ถือ " เพียงไตรจีวร " เป็นวัตร สมาทานว่า " จะตุตถะจีวะรัง ปะฏิกขิปามิ เตจีวะริกังคัง สะมาทิยามิ "
- ถือ " เที่ยวบิณฑบาต " เป็นวัตร สมาทานว่า " อะติเรกะลาภัง ปะฏิกขิปามิ ปิณฑปาติกังคัง สะมาทิยามิ "
- ถือ" เที่ยวบิณฑบาตไปตามแนว " เป็นวัตร สมาทานว่า " โลลุปปะจารัง ปะฏิกขิปามิ สะปะทานะจาริกังคัง สะมาทิยามิ "
- ถือ" นั่งฉันอาสนะเดียว " เป็นวัตร สมาทานว่า " นานาสะนะโภชะนัง ปะฏิกขิปามิ เอกาสะนิกังคัง สะมาทิยามิ "
- ถือ " ฉันเฉพาะในบาตรเดียว " เป็นวัตร สมาทานว่า " ทุติยะภาชะนัง ปะฏิกขิปามิ ปัตตะปิณฑิกังคัง สะมาทิยามิ "
- ถือ " ห้ามภัต อันนำมาถวายเมื่อภายหลัง " เป็นวัตร สมาทานว่า " อะติริตตะโภชะนัง ปะฏิกขิปามิ ขะลุปัจฉาภัตติกังคัง สะมาทิยามิ "
- ถือ " อยู่ป่า " เป็นวัตร สมาทานว่า " คามันตะเสนาสะนัง ปะฏิกขิปามิ อารัญญิกังคัง สะมาทิยามิ "
- ถือ " อยู่โคนไม้ " เป็นวัตร สมาทานว่า " ฉันนัง ปะฏิกขิปามิ รุกขะมูลิกังคัง สะมาทิยามิ "
- ถือ " อยู่ที่แจ้ง "เป็นวัตร สมาทานว่า " ฉันนัญจะ รุกขะมูลัญจะ ปะฏิกขิปามิ อัพโภกาสิกังคัง สะมาทิยามิ "
- ถือ " อยู่ป่าช้า " เป็นวัตร สมาทานว่า " อะสุสานัง ปะฏิกขิปามิ โสสานิกังคัง สะมาทิยามิ "
- ถือ " การอยู่ในเสนาสนะอันท่านจัดให้อย่างไร พอใจอย่างนั้น " เป็นวัตร สมาทานว่า " เสนาสะนะโลลุปปัง ปะฏิกขิปามิ ยะถาสันถะติกังคัง สะมาทิยามิ "
- ถือ " การนั่ง " เป็นวัตร สมาทานว่า " เสยยัง ปะฏิกขิปามิ เนสัชชิกังคัง สะมาธิยามิ "
พระอริยบุคคลที่มีความสำคัญด้านถือธุดงค์
[แก้]- พระมหากัสสปะ ถือผ้าบังสุกุล อยูป่า บิณฑบาตรเป็นวัตร
- พระนาลกะ ถือไม่โลเลในการภิกขาจาร ไม่โลเลในเสนาสนะ
- พระโมฆะราช ถือบังสุกุลทรงจีวรเศร้าหมอง
- พระจักขุบาล ถือเนสัชชิก
- พระมหากาล ถืออยู่ป่าช้า
เชิงอรรถ
[แก้]หมายเหตุ 1: การจาริก ด้วยเท้า ของพระสงฆ์ในประเทศไทย มักเข้าใจปะปนกับคำว่า ธุดงค์ ทั้งนี้เนื่องจากบางข้อของธุดงควัตร เช่น อรัญญิกังคะ หมายถึงการอยู่ในบริเวณป่า ทำให้พระสงฆ์ที่ถือธุดงค์ข้อนี้จะต้องเดินทางไปหาที่วิเวกในบริเวณป่าและไม่อยู่ติดที่เป็นเวลานาน เพื่อให้ห่างไกลจากการรบกวนของผู้คน การทำเช่นนี้ของพระสงฆ์มีมาตั้งแต่พุทธกาล[5] พระสงฆ์ในประเทศไทยคงได้ถือคตินี้และปฏิบัติมาแต่โบราณ ทำให้คนทั่วไปในปัจจุบันมักเรียกกิริยาเช่นนั้น (การจาริกเดินเท้าของพระสงฆ์โดยแบกบริขาร เช่น กลดย่าม และบาตร เพื่อเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ) ว่า พระเดินธุดงค์ หรือ การเดินธุดงค์ ซึ่งเป็นเพียงคำเรียกทั่วไป ที่หากพระสงฆ์ผู้เดินจาริกไม่ได้ถือสมาทานองค์คุณแห่งธุดงค์ข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ย่อมไม่ใช่ความหมายของคำว่าธุดงค์ตามนัยในพระไตรปิฎก[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ ขุททกนิกาย มหานิทเทส ทุฏฐัฏฐกสุตตนิทเทสที่ ๓. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 4-4-55
- ↑ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช). (2548). พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง. หน้า 56
- ↑ ธุตังคนิเทศ ปริจเฉทที่ ๒. วิสุทธิมรรค เล่ม ๑ ภาคศีล ปริเฉทที่ ๒. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2] เก็บถาวร 2009-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงเมื่อ 4-4-55
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ ปาราชิกกัณฑ์ ปฐมปาราชิกสิกขาบท . พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 4-4-55
- ↑ 5.0 5.1 พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ กฐินขันธกะ. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 4-4-55
- ↑ The Path of Freedom (Vimuttimagga), Buddhist Publication Society, Kandy, Sri Lanka. ISBN 955-24-0054-6
- ↑ 7.0 7.1 พระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล). (2555). แบบฉบับการเดินธุดงค์. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.atulo.org/history/history056.htm เก็บถาวร 2012-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เข้าถึงเมื่อ 5-4-55
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ เรื่องพระโสณกุฏิกัณณะ. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก [5]. เข้าถึงเมื่อ 4-4-55
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี) ธรรมเทสนา ชุด โอวาทหลังปาติโมกข์ เรื่อง: ขนบธรรมเนียม ระเบียบ ของพระธุดงค์