พระราชวุฒาจารย์ (ดุลย์ อตุโล)
พระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล) | |
---|---|
คำนำหน้าชื่อ | พระคุณท่าน ท่านเจ้าคุณ |
ชื่ออื่น | หลวงปู่ดูลย์,พระอุปัชฌาย์ดูลย์ |
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 4 ตุลาคม พ.ศ. 2430 (96 ปี) |
มรณภาพ | 30 ตุลาคม พ.ศ. 2526 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ |
อุปสมบท | พ.ศ. 2453 |
พรรษา | 74 |
ตำแหน่ง | อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธรรมยุต), อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม |
พระราชวุฒาจารย์ หรือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นพระราชาคณะชั้นราช, พระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระ,อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธรรมยุต) ชาวสุรินทร์ ศิษยานุศิษย์ในพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ประวัติ
[แก้]ชาติภูมิ
[แก้]หลวงปู่ดูลย์ ถือกำเนิด ณ บ้านปราสาท ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันอังคารแรม 2 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน ตรงกับวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2430 เป็นปีที่ 20 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โยมบิดาของท่านชื่อ นายแดง โยมมารดาชื่อ นางเงิม นามสกุล ดีมาก หลวงปู่มีพี่น้อง 5 คน คนแรกเป็นหญิงชื่อ กลิ้ง คนที่สองคือตัวหลวงปู่เอง ชื่อ ดูลย์ คนที่สามเป็นชายชื่อ เคน คนที่สี่และห้าเป็นหญิงชื่อ รัตน์ และ ทอง พี่น้องทั้ง 4 คนของท่านมีชีวิตจนถึงวัยชรา และทุกคนเสียชีวิตก่อนที่จะมีอายุถึง 70 ปี มีเพียงหลวงปู่เท่านั้นที่ดำรงอายุขัยอยู่จนถึง 96 ปี
อุปสมบท
[แก้]อุปสมบท ณ วัดจุมพลสุทธาวาส ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ในปี พ.ศ. 2453 โดยมีพระครูวิมลศีลพรต เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อแรกบวช หลวงปู่ได้พากเพียรศึกษาการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด มีความวิริยะ อุตสาหะอย่างแรงกล้า จนล่วงเข้าพรรษาที่ 6 หลวงปู่จึงหันมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี สอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นรุ่นแรก ของจังหวัดอุบลราชธานี และได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนสามารถแปลพระธรรมบทได้ เนื่องจากวัดสุปัฏนาราม เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดธรรมยุตินิกาย หลวงปู่จึงได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกายในพ.ศ. 2461 ณ วัดสุปัฏนารามโดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ และในพรรษาต่อมาหลวงปู่ได้มีโอกาสพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียว จากพระอาจารย์มั่น ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง จึงได้เลิกศึกษาพระปริยัติแล้วออกธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น ไปยังที่ต่าง ๆ หลายแห่ง จึงนับได้ว่าหลวงปู่เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นในสมัยแรก ต่อมา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปาโมกข์ เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมาขอให้หลวงปู่กลับจังหวัดสุรินทร์ เพื่อบูรณะวัดบูรพาราม พ.ศ. 2476 ให้เป็นวัดธรรมยุตแห่งแรกของจังหวัดสุรินทร์ หลวงปู่จึงจำต้องระงับกิจธุดงค์และเริ่มงานบูรณะตามที่ได้รับมอบหมาย หลวงปู่ได้อุทิศชีวิต เพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง จนได้รับการยอมรับจากสาธุชนทั้งหลาย ว่าเป็นอริยสงฆ์ที่หาได้ยากยิ่งองค์หนึ่ง
คำสอน
[แก้]ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้า-ชาติหลัง หรือ นรก-สวรรค์อะไรก็ได้ ขอให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง 16 ชั้น ตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองตามลำดับ หรือถ้า สวรรค์-นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีในขณะนี้ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ
จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ
คิดเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั้นแหละจึงรู้
หลวงปู่กับพระบรมวงศานุวงศ์
[แก้]เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปยังวัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เพื่อทรงเยี่ยมหลวงปู่ดูลย์
หลังจากมีพระราชปฏิสัณถารถึงสุขภาพพลานามัยของหลวงปู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนาให้หลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนา และทรงบันทึกเทปไว้ด้วย เมื่อหลวงปู่แสดงพระธรรมเทศนาย่อ ๆ ถวายจบแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนทนาธรรมะข้ออื่น ๆ พอสมควรแก่เวลาแล้วทรงถวายจตุปัจจัยแก่หลวงปู่ แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินกลับ
กาลมรณภาพ
[แก้]หลวงปู่ท่านมรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2526 เวลา 04.13 น. รวมสิริอายุได้ 96 ปี 26 วัน พรรษาที่ 74 ทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชทานพวงมาลา,น้ำหลวงสรงศพ,พระพิธีธรรม,โกศโถ ฉัตรเบญจา 5ชั้นตั้งประดับ,ปี่ไฉนกลองชนะประโคมเวลาน้ำหลวงสรงศพ และเวลาพระราชทานเพลิงศพ
และเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ พระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม,อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธรรมยุต) ณ เมรุชั่วคราววนอุทยานแห่งชาติพนมสวาย ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเมรุทรงทอดผ้าไตรที่โกศแล้วจุดเพลิงพระราชทาน หลังจากนั้นสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงจุดเพลิงพระราชทานเพลิงศพแล้วเสด็จลงจากเมรุ ประทับ ณ มุขพลับพลาพิธี สมควรแก่เวลาจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ
การปกครองคณะสงฆ์
[แก้]- พ.ศ. 2477 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ (24 กรกฎาคม พ.ศ. 2477)
- พ.ศ. 2478 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงรัตนบุรี
- พ.ศ. 2479 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าคณะอำเภอรัตนบุรี (1 มีนาคม พ.ศ. 2479)
- พ.ศ. 2480 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์สามัญฝ่ายธรรมยุตินิกาย
- พ.ศ. 2493 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองสุรินทร์ (ธรรมยุต)
- พ.ศ. 2501 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธรรมยุต)
สมณศักดิ์,พัดยศ
[แก้]- ได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งให้ดำรงสมณศักดิ์พัดยศ เป็นพระครูประทวนสมณศักดิ์ ที่ พระครูดูลย์ อตุโล
- 1 มีนาคม พ.ศ. 2479 รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พัดยศ เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูรัตนากรวิสุทธิ์[1]
- 5 ธันวาคม พ.ศ. 2504 รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พัดยศขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก เจ้าคณะจังหวัด ที่ พระรัตนากรวิสุทธิ์ วินยานุยุตต์ ธรรมิกคณิสสร[2]
- 2 ธันวาคม พ.ศ. 2522 รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พัดยศขึ้น เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวุฒาจารย์ ศาสนภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆราม คามวาสี[3]
ศิษยานุศิษย์สำคัญ
[แก้]หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
หลวงปู่สาม อกิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์
พระเทพสุทธาจารย์ หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน วัดวชิราลงกรณ์วราราม จ.นครราชสีมา
พระราชวิสุทธิธรรมรังสี หลวงพ่อเปลี่ยน โอภาโส วัดป่าโยธาประสิทธิ์ จ.สุรินทร์
พระราชวรคุณ (สมศักดิ์ ปณฺฑิโต) วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์
หลวงปู่เอียน ฐิตวิริโย วัดป่าโคกมอน จ.สุรินทร์
พระครูญาณกิจไพศาล หลวงปู่ใหญ่ ญาณวีโร วัดป่าวีรญาณ จ.สุรินทร์
หลวงตาผนึก สิริมํคโล วัดป่าเขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์
พระสังวรวิสุทธิคุณ (แผ่นทอง จาครโต) วัดสะพานดำ จังหวัดบุรีรัมย์
พระเทพวชิรญาณโสภณ (เยื้อน ขนฺติพโล) วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร จ.สุรินทร์
หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม จ.ชลบุรี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความ เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรสมณศักดิ์, เล่ม 53, ตอนที่ 0 ง, 7 มีนาคม 2479, หน้า 3,999
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 78, ตอนที่ 104 ง ฉบับพิเศษ, 15 ธันวาคม 2504, หน้า 5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 97, ตอนที่ 63 ง ฉบับพิเศษ, 18 เมษายน 2523, หน้า 2
- ประวัติพระสงฆ์ไทย
- เว็บวิมุตติ
- หลวงปู่ดุลย์ อตุโล เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
ก่อนหน้า | พระราชวุฒาจารย์ (ดุลย์ อตุโล) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระมหาพลอย | เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม (พ.ศ. 2477 - 2526) |
พระรัตนากรวิสุทธิ์ (เสถียร สถิโร) |