ท่าเรือราชวงศ์
ท่าราชวงศ์ | |
ประเภท | ท่าเรือโดยสาร |
---|---|
ประเภทเรือ | เรือด่วน, เรือข้ามฟาก |
โครงสร้างท่า | สะพานเหล็กปรับระดับพร้อมทางเดินเชื่อม (ด้านเหนือ) สะพานทางเดินเชื่อม (ด้านใต้) |
ที่ตั้ง | เขตสัมพันธวงศ์, กรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา |
ชื่อทางการ | ท่าวังหลัง (กรมเจ้าท่า) |
เจ้าของ | เอกชน (ด้านเหนือ) กรมเจ้าท่า (ด้านใต้) |
ผู้ดำเนินงาน | • เรือด่วนเจ้าพระยา • เรือโดยสารไมน์สมาร์ทเฟอร์รี่ |
ค่าโดยสาร | • เรือด่วนเจ้าพระยา ธงส้ม16 บาทตลอดสาย |
ข้อมูลเฉพาะ | |
รหัสท่า | น5 (N5) |
โครงสร้างหลัก | โป๊ะเหล็กลอยน้ำ 2 โป๊ะ |
ความยาว | 12 เมตร (ด้านเหนือ) 12 เมตร (ด้านใต้) |
ความกว้าง | 6 เมตร (ด้านเหนือ) 6 เมตร (ด้านใต้) |
ท่าเรือราชวงศ์ (อังกฤษ: Ratchawong Pier; รหัส: น5, N5) เป็นท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนราชวงศ์ มีเรือข้ามฟากไปยังท่าดินแดงและท่าเรือด่วนเจ้าพระยา
ประวัติ
[แก้]ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ สำเพ็งเป็นจุดหมายปลายทางระดับต้น ๆ สำหรับเรือสำเภาจากจีน ท่าน้ำใหญ่ในสำเพ็งของยุคนั้นมีสองท่า คือ ท่าน้ำสำเพ็ง (ข้างวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร) และท่าน้ำราชวงศ์ ซึ่งมีชื่อเก่าคือ กงสีล้ง[1] โดยคำว่า "กงสีล้ง" หมายถึงส้วมสาธารณะหรือเว็จสำหรับกุลี อันเนื่องมาจากที่ท่าน้ำราชวงศ์มีส้วมสาธารณะขนาดใหญ่ตั้งอยู่[2] พ่อค้าจะใช้นั่งเรือไปสำรวจสินค้าเพื่อนำมาขาย และใช้เรือเล็กขนของจากเรือสำเภามาขึ้นที่ท่าน้ำ[3]
ท่าน้ำราชวงศ์มีลักษณะเป็นท่าเรือเดินในแม่น้ำลำคลอง เป็นท่าเทียบเรือโดยสารหรือเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่มาจนถึงเรือพายขนาดเล็กที่ใช้สำหรับเดินทางระหว่างฝั่งแม่น้ำหรือตามลำคลอง โดยพ่อค้าในสำเพ็งทำหน้าที่ทั้งส่งออกสินค้าไปยังจีน สินค้าส่งออกเช่น ข้าว พืชไร่ ไม้สัก ฝ้าย พริกไทย และของป่าหายากหลายชนิด ส่วนสินค้านำเข้า คือสินค้าแปรรูป เช่น เครื่องกระเบื้องเคลือบ กระเบื้องมุงหลังคา ผ้าไหม เครื่องแก้ว ยาจีน และอาหารแปรรูปสำหรับชุมชนชาวจีน[4]
ถนนราชวงศ์ตัดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมกับถนนเยาวราช ถนนจักรวรรดิ์ ถนนบูรพา และถนนอนุวงศ์[5] บ้างว่า ชื่อถนนราชวงศ์อาจจะมาจากคำว่า ลั่กชักอ๋วง ของคนจีนในถิ่นนี้ ซึ่งแปลว่าคนที่มาอยู่แถวนี้มีกำลังที่เจริญรุ่งเรือง ซึ่งคำดังกล่าวอาจตรงกับสำเนียงไทยที่ว่า "ราชวงศ์"[6]
ท่าน้ำราชวงศ์ยังเป็นท่าเรือที่พระบรมวงศานุวงศ์ และเจ้านายชั้นสูงใช้ในการเดินทางไปยังต่างประเทศอีกด้วย[7]
พ.ศ. 2453 มีบริษัทบางหลวง หรือคนสมัยนั้นเรียกว่า "เรือเมล์ขาว" วิ่งระหว่างตลาดพลูกับท่าน้ำราชวงศ์[8] ดำเนินงาน 10 ปี ก็ได้เลิกไป
เอกสาร "จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์" ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2525 ระบุว่า ท่าน้ำราชวงศ์ มีเรือสินค้าและเรือโดยสารไปชลบุรีหรือจันทบุรี จอดอยู่บริเวณนี้[9]
ปัจจุบันท่าน้ำราชวงศ์ เป็นท่าเรือที่อยู่ใกล้กับย่านการค้าอย่างสำเพ็งและเยาวราช[10] เป็นต้นสายรถประจำทางสาย 204 พื้นที่บริเวณท่าน้ำราชวงศ์มักเกิดน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่นี้ไม่เคยมีการสร้างเขื่อนถาวรริมแม่น้ำ[11] กรุงเทพมหานครเคยมีโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา "ราชวงศ์-ท่าดินแดง" แต่มีการคัดค้านจากประชาชนจึงได้ยกเลิกไป โดยเหตุผลที่กรุงเทพมหานครยกเลิก เพราะไม่คุ้มค่ากับการลงทุนและมีท่าน้ำราชวงศ์อยู่แล้ว[12]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ นนทพร อยู่มั่งมี. "สำเพ็ง : กำเนิด ความสำคัญ และความผูกพันในร่มพระบารมีจักรีวงศ์". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ พิศาลบุตร, พิมพ์ประไพ. นายแม่ (ปกใหม่). p. 60.
- ↑ สุภางค์ จันทวานิช. “การค้าและการขนส่งในย่านสำเพ็ง : จากท่าเรือสำเภา สู่ท่าเรือกลไฟ, ” ใน สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2559.
- ↑ "ตีแผ่การคมนาคมของถนนทรงวาด เคล็ดลับที่ขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิก สู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ วีระศิลป์ชัย, ศันสนีย์. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. p. 41.
- ↑ "ท่าน้ำราชวงศ์".
- ↑ "ต่อจากท่าน้ำราชวงศ์มาถึงย่านทรงวาด".
- ↑ "เปิดชีวิต ประจวบ ภิรมย์ภักดี นักปรุงเบียร์คนแรกของไทย ผู้สืบทอดตำนาน "ตราสิงห์"". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "ย้อนมองคมนาคม "ทรงวาด" หรือ "ถนนทรงวาด" เคล็ดลับขับดันย่านการค้ายุคบุกเบิกสู่ธุรกิจเติบใหญ่ในวันนี้". ข่าวสด.
- ↑ "ตะลุยกิน ริมเจ้าพระยา ท่าน้ำราชวงศ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-30. สืบค้นเมื่อ 2021-12-30.
- ↑ "น้ำท่วมท่าน้ำราชวงศ์". วอยซ์.
- ↑ "สบายใจได้! "อัศวิน" ยันกทม.ยังไม่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา "ราชวงศ์-ท่าดินแดง"". ประชาชาติธุรกิจ.