สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
National Economic and Social Advisory Council | |
ไฟล์:Nesac.png | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 20 ธันวาคม 2543 |
ยุบเลิก | 13 ธันวาคม 2559 |
สำนักงานใหญ่ | ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ |
งบประมาณต่อปี | 70.9022 ล้านบาท (พ.ศ. 2558) [1] |
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (อังกฤษ: National Economic and Social Advisory Council) ย่อ สศ. (NESAC) เป็นหน่วยงานในอดีตของรัฐบาลไทย ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรี[2] ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ปัจจุบันสิ้นสุดลงตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 71/2559 เรื่อง การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559[3]
ประวัติ
[แก้]สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 89[ต้องการอ้างอิง] สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม ให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและแผนอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติก่อนจะพิจารณาประกาศใช้[ต้องการอ้างอิง] เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรมและโปร่งใสเป็นสำคัญ[ต้องการอ้างอิง]
ใน พ.ศ. 2542 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 20 คน เป็นตัวแทนบุคคลจากกลุ่มสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น กลุ่มภูมิปัญญาชาวบ้าน สถาบันสันติศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย สภาทนายความ นักกฎหมายมหาชน กลุ่มผู้หญิงกับการเมือง รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกร่างพระราชบัญญัติฯ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป จนกระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2543[4]
ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 258 ได้บัญญัติให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อ คณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ต้องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้ด้วย[ต้องการอ้างอิง]
สถานภาพสมาชิกของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 107/2557[ต้องการอ้างอิง]
ต่อมาได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 71/2559 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2547 และให้ยุบสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยกเว้นสำนักงานสภาที่ยังให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป[ต้องการอ้างอิง]
โครงสร้างองค์กร
[แก้]สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวน 99 คน ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ จำนวน 50 คน และกลุ่มในภาคสังคมฐานทรัพยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 49 คน ซึ่งประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะสั่งการผ่านสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะทำงานอีก 13 คณะ
คณะทำงาน
[แก้]- คณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และพลังงาน
- คณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง
- คณะทำงานอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม
- คณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการ
- คณะทำงานการเกษตร อาหาร และสหกรณ์
- คณะทำงานการกระจายรายได้
- คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
- คณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคม
- คณะทำงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
- คณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค
- คณะทำงานด้านการยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาล
- คณะทำงานการมีส่วนร่วม กระจายอำนาจ และสนับสนุนเครือข่าย
- คณะทำงานการกีฬา และนันทนาการ
รายนามประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
[แก้]สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการแต่งตั้งจำนวนทั้งสิ้น 3 คณะ คือ คณะในปี พ.ศ. 2544 คณะในปี พ.ศ. 2548 และคณะในปี พ.ศ. 2553 ได้แก่
ชุดที่ 1 (พ.ศ. 2544)
[แก้]ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2544-2547
- ประธาน: อานันท์ ปันยารชุน
- รองประธานคนที่ 1: ชุมพล พรประภา
- รองประธานคนที่ 2: รองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์
ชุดที่ 2 (พ.ศ. 2548)
[แก้]ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2548-2551
- ประธาน: โคทม อารียา
- รองประธานคนที่ 1: สุธรรม จิตรานุเคราะห์
- รองประธานคนที่ 2: รองศาสตราจารย์ ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์
ชุดที่ 3 (พ.ศ. 2553)
[แก้]ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2553-21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557[5]สมาชิกในสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสิ้นสภาพการเป็นสมาชิกทุกราย ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 107/2557
- ประธาน: โอกาส เตพละกุล
- รองประธานคนที่ 1: สมควร รวิรัช
- รองประธานคนที่ 2: ภรณี ลีนุตพงษ์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เล่ม 131 ตอนที่ 69ก วันที่ 30 กันยายน 2557
- ↑ อภิชาติ คุณวัฒน์บัณฑิต.“ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทย.” วิทยานิพนธ์ศิลปศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2561.[ลิงก์เสีย]
- ↑ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 71/2559 เรื่อง การยกเลิกกฎหมายว่าด้วยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสภาพัฒนาการเมือง และกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
- ↑ "พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-02-23.
- ↑ http://www.thairath.co.th/content/438672