ทองกวาว
ทองกวาว | |
---|---|
บน: กลุ่มดอก, ล่าง: ใบ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophyta |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | พืชใบเลี้ยงคู่แท้ Eudicots |
เคลด: | โรสิด Rosids |
อันดับ: | ถั่ว Fabales |
วงศ์: | ถั่ว Fabaceae |
วงศ์ย่อย: | วงศ์ย่อยถั่ว |
สกุล: | Butea (Lam.) Taub. |
สปีชีส์: | Butea monosperma |
ชื่อทวินาม | |
Butea monosperma (Lam.) Taub. | |
ชื่อพ้อง | |
ทองกวาว, ทอง หรือ ทองธรรมชาติ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์ถั่ว มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ จากประเทศปากีสถาน, อินเดีย, บังกลาเทศ, เนปาล, ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย และทางตะวันตกของอินโดนีเซีย[1]
ทองกวาวมีชื่ออื่นอีกคือ กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), จ้า (เขมร), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), ดอกจาน (อีสาน)
ลักษณะทั่วไป
[แก้]ต้นไม้ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 5–15 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นแตกกิ่งต่ำคดงอ เปลือกนอกสีเทาถึงสีเทาคล้ำค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ เปลือกในสีแดง สับเปลือกทิ้งไว้จะมีน้ำยางใส ๆ ไหลออกมาทิ้งไว้สักพักจะกลายเป็นสีแดง
ใบ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ เรียงเวียนสลับ ใบย่อยมี 3 ใบ เรียงตรงข้าม ใบย่อยที่ปลายเป็นรูปมนเกือบกลม ใบย่อยด้านข้างรูปไข่เบี้ยว กว้าง 8-15 ซม. ยาว 9-17 ซม. ปลายใบมน โคนใบสอบ แผ่นใบหนา หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสาก เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3-5 มม.
ดอก ออกเป็นช่อแบบไม่แตกแขนง ตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 2-15 ซม. ก้านช่อดอกมีขนสีน้าตาล ก้านช่อดอกยาว 3-4 ซม. กลีบรองกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปบาตรยาว 1.3 ซม. ส่วนบนแยกออกเป็นกลีบสั้น ๆ 5 กลีบ มีขนสีน้ำตาลดำปกคลุมตลอดกลีบดอกยาว 7 ซม. มี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากันคล้ายดอกถั่ว กลีบด้านล่างรูปเรือแยกเป็นอิสระดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 6 ซม. ดอกมีทั้งสีแสดและสีเหลืองสด ดอกสีเหลืองพบที่เชียงราย เชียงใหม่ อุบลราชธานี สุรินทร์
ผล ผลเป็นฝักแบนรูปบรรทัดกว้าง 3.5 ซม. ยาว 1.5 ซม. ผลแก่สีน้ำตาลอมเหลืองมีขนอ่อนนุ่มสีขาวเป็นมัน มีเมล็ดเดียวตรงปลายฝัก
การปลูกเลี้ยง
[แก้]- การปลูก: นิยมปลูกลงในแปลงปลูก เพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ขนาดหลุมปลูก 50x50x 50 เซนติเมตรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วนอัตรา 1:2 ผสมดินถ้าปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านหรืออาคารควรให้มีระยะห่างที่เหมาะสมเพราะทองกวาวเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่พอสมควร
- การดูแล: ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 7-10 วัน/ครั้ง ชอบดินร่วนซุย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2:3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 4-5 ครั้ง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อโรคพอสมควร
- การขยายพันธุ์: โดยการเพาะเมล็ด
ประโยชน์
[แก้]- ดอก ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวด ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ
- ฝัก ต้มเอาน้ำเป็นยาขับพยาธิ
- ยาง แก้ท้องร่วง
- เปลือก มีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากเปลือก ช่วยเพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่ขึ้น แต่จะลดจำนวนอสุจิ
- เมล็ด บดผสมมะนาว ทาบริเวณผื่นคัน
- ใบ ต้มกับน้ำ แก้ปวด ขับพยาธิ ท้องขึ้น ริดสีดวงทวาร
- ราก ต้มรักษาโรคประสาท บำรุงธาตุ [3]
ความเชื่อของไทย
[แก้]- ไม้มงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเงินมีทองมาก นอกจากนี้ดอกยังมีความสวยเรืองรองดั่งทองธรรมชาติ ควรปลูกต้นทองกวาวไว้ทางทิศใต้ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์
- ทองกวาวเป็นพืชที่มีความสำคัญในศาสนาฮินดู ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร ไม้ทองกวาวใช้เป็นฟืนเผาศพ ถือเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์[4]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Butea monosperma". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ 2009-10-24.
- ↑ "Butea monosperma (Lam.) Taub". theplantlist.org. ThePlantList. สืบค้นเมื่อ 28 June 2020.
- ↑ ธงชัย เปาอินทร์. ต้นไม้ยาน่ารู้. กทม. 2551
- ↑ จารุพันธ์ ทองแถม. พืชมหัศจรรย์โลกวิกฤติ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2555