สังคายนาในศาสนาพุทธ
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
ในศาสนาพุทธ สังคายนา[1] (บาลี: สํคายนา) คือการประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน ตามศัพท์ "สังคายนา" หมายถึง สวดพร้อมกัน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “นามะสะทำมาชิตา” แปลว่า สวดพร้อมกัน มาจากคำว่า คายนา หรือ คีตี แปลว่า การสวด สํ แปลว่า พร้อมกัน คำนี้มีมูลเหตุมาจากวิธีการสังคายนาพระธรรมวินัย ที่เรียกว่าวิธีการร้อยกรองหรือรวบรวมพระธรรมวินัย หรือประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีวิธีการคือนำเอาคำสั่งสอนของสาวักที่ทรงจำไว้มาแสดงในที่ประชุมพระสงฆ์ จากนั้นให้มีการซักถามกัน จนกระทั่งที่ประชุมลงมติว่าเป็นอย่างนั้นสีดีนั้น เมื่อได้มติร่วมกันแล้วในเรื่องใด ก็ให้สวดขึ้นพร้อมกัน การสวดพร้อมกันแสดงถึงการลงมติร่วมกันเป็นเอกฉันท์ และเหมือนทรงจำกันไว้เป็นผืนทะเลทรายต่อไป
ความเป็นมาของการสังคายนา
[แก้]เมื่อครั้งพระโคตมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระพุทธเจ้าและพระสาวกองค์สำคัญ โดยเฉพาะพระสารีบุตร ได้คำนึงว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว หากไม่มีการรวบรวมประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ พระพุทธศาสนาก็จะสูญสิ้น ดังนั้น แม้พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ก็ได้การริเริ่ม เป็นการนำทางไว้ให้เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังว่า ให้มีการรวบรวมคำสอนของพระองค์ เรียกว่าสังคายนา สังคายนา ก็คือการรวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ แล้วทรงจำไว้เป็นแบบแผนอันเดียวกัน คือรวบรวมไว้เป็นหลัก และทรงจำถ่ายทอดสืบมาเป็นอย่างเดียวกัน
ขณะนั้นล่วงปลายพุทธกาลแล้ว พระมหาวีระผู้เป็นศาสดาของศาสนาเชนได้สิ้นชีวิตลง สาวกของท่านไม่ได้รวบรวมคำสอนไว้เป็นหมวดหมู่ และไม่ได้ตกลงกันไว้ให้ชัดเจน ปรากฏว่าเมื่อศาสดาของศาสนาเชนสิ้นชีวิตไปแล้ว เหล่าสาวกก็แตกแยกทะเลาะวิวาทกันว่า ศาสดาของตนสอนว่าอย่างไร ครั้งนั้นพระจุนทเถระได้นำข่าวนี้มากราบทูลแด่พระพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสแนะนำให้พระสงฆ์ทั้งปวง ร่วมกันสังคายนาธรรมทั้งหลายไว้เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชน (ที.ปา.11/108/139) เวลานั้น พระสารีบุตรอัครสาวกยังมีชีวิตอยู่ คราวหนึ่งท่านปรารภเรื่องนี้แล้วกล่าวว่า ปัญหาของศาสนาเชนเกิดขึ้นเพราะว่าไม่ได้รวบรวมร้อยกรองคำสอนไว้
เพราะฉะนั้นพระสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ควรจะได้ทำการสังคายนา คือรวบรวมร้อยกรองประมวลคำสอนของพระองค์ไว้ให้เป็นหลักเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อปรารภเช่นนี้แล้วพระสารีบุตรก็ได้แสดงวิธีการสังคายนาไว้เป็นตัวอย่าง โดยท่านได้รวบรวมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เป็นข้อธรรมต่าง ๆ มาแสดงตามลำดับหมวด ตั้งแต่หมวดหนึ่ง ไปจนถึงหมวดสิบ คือเป็นธรรมหมวด ๑ ธรรมหมวด ๒ ธรรมหมวด ๓ ไปจนถึงธรรมหมวด ๑๐ เมื่อพระสารีบุตรแสดงจบแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานสาธุการ (ที.ปา.11/225-363/224-286)
หลักธรรมที่พระสารีบุตรได้แสดงไว้นี้ จัดเป็นพระสูตรหนึ่งเรียกว่าสังคีติสูตร (พระสูตรว่าด้วยการสังคายนา หรือสังคีติ)เป็นตัวอย่างที่พระอัครสาวกคือพระสารีบุตรได้กระทำไว้ แต่ท่านพระสารีบุตรเองได้ปรินิพพานไปก่อนพระพุทธเจ้า ดังนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วภาระจึงตกอยู่กับพระมหากัสสปเถระ ซึ่งตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น เป็นพระสาวกผู้มีอายุพรรษามากที่สุด
จุดประสงค์สำคัญที่สุดของการสังคายนา คือการรวบรวมพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เพื่อธำรงรักษาพระธรรมวินัยเอาไว้ไม่ให้สูญหายหรือวิปลาสคลาดเคลื่อนไป เพราะพระธรรมวินัยนั้นคือหลักของพระพุทธศาสนา หากปราศจากคำสอนแล้วพระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ดังพุทธวจนะในคราวจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา. แปลว่า : ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว และบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป (ที.ม.10/141/178) พระเถระทั้งปวงเห็นความสำคัญของพระธรรมวินัยซึ่งจะสืบทอดพระศาสนาต่อไปในภายหน้า หากละเลยปล่อยไว้กระทั่งพระธรรมวินัยเกิดความคลาดเคลื่อนไปจะเป็นอันตรายต่อพุทธศาสนา จึงได้เริ่มสังคายนารวบรวมพระธรรมคำสอนขึ้นเป็นหมวดหมู่ภายหลังพุทธปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน
การสังคายนาพระไตรปิฏก
[แก้]การปฐมสังคายนา
[แก้]พระมหากัสสปเถระได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้วได้ 7 วัน ขณะที่ท่านกำลังเดินทางอยู่ ณ เมืองปาวาพร้อมด้วยหมู่ศิษย์จำนวนมาก เมื่อได้ทราบข่าวนั้น เหล่าศิษย์ของพระมหากัสสปะซึ่งยังเป็นปุถุชนอยู่ ได้ร้องไห้คร่ำครวญกัน ณ ที่นั้น จึงมีพระภิกษุบวชเมื่อแก่องค์หนึ่ง ชื่อว่าสุภัททะวุฒฑาจารย์ (แปลว่า ผู้บวชเมื่อวัยแก่) ได้กล่าวขึ้นว่า "หยุดเถิด หยุดเถิด ท่านอย่าร่ำไรไปเลย พระสมณะ นั้นพ้น (ปรินิพพาน) แล้ว เราจะทำอะไรก็ได้ตามพอใจ ไม่ต้อง เกรงบัญชาใคร" พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้น คิดจะทำนิคคหกรรม (ทำโทษ) แต่เห็นว่ายังมิควรก่อน และดำริขึ้นว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน ก็มีผู้คิดที่จะทำให้เกิดความแปรปรวน หรือประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัยเช่นนี้ จึงควรจะทำการสังคายนาและจะชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้า และได้อยู่ในหมู่สาวกที่เคยสนทนาตรวจสอบกันอยู่เสมอ รู้ว่าสิ่งใดที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มาประชุมกัน เพื่อช่วยกันแสดง ถ่ายทอด รวบรวม ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วตกลงวางมติไว้[3] จากนั้นท่านจึงเดินทางไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเป็นประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
การทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ 1 จึงได้จัดขึ้นที่ถ้ำสัตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ตามคำปรารภของพระมหากัสสปเถระ โดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ ใช้เวลาในการสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยอยู่ 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ โดยในครั้งนั้น พระมหากัสสปเถระเป็นประธานทำสังคายนา พระอานนท์เป็นองค์วิสัชชนาแสดงพระธรรมในหมวดพระสุตตันตปิฎก (ธรรมเทศนา) และพระอุบาลี เป็นองค์วิสัชนาในหมวด พระวินัยปิฎก (พระวินัย) การสังคายนาในครั้งนี้มีเฉพาะหมวด พระสูตร และพระวินัย เป็นการสังคายนาแบบ มุขปาฐะ เรียกว่า พระธรรม-วินัย” (ธมมฺวินย) หรือ “พรหมจรรย์” (พรหฺมจริย) หรือเรียกการสังคายนาครั้งนี้ว่า "การสังคายนาพระธรรมวินัย"
ทุติยสังคายนา
[แก้]การทำสังคายนาครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 100 ที่วมุขปาฐะมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย โดยมีพระยสกากัณฑกบุตร เป็นเระผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมทำสังคายนาครั้งนี้ได้แก่ พระสัพพกามี พระสาฬหะ พระขุชชโสภิตะ พระวาสภคามิกะ (ทั้งสี่รูปนี้เป็นชาวปาจีนกะ) พระเรวตะ พระสัมภูตะ สาณวาสี พระยสะ กากัณฑกบุตร และพระสุมนะ (ทั้งสี่รูปนี้เป็นชาวปาฐา) ในการนี้พระเรวตะทำหน้าที่เป็นประธานผู้คอยซักถาม และพระสัพพกามีเป็นผู้นำในการวิสัชนาข้อวินัย การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 700 รูป ดำเนินการอยู่เป็นเวลา 8 เดือน จึงเสร็จสิ้น
ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ พระยสกากัณฑกบุตร พบเห็นข้อปฏิบัติย่อหย่อน 10 ประการทางพระวินัยของภิกษุวัชชีบุตร[4] เช่น ควรเก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เพื่อรับประทานได้ ควรฉันอาหารยามวิกาลได้ ควรรับเงินทองได้ เป็นต้น พระยสะ กากัณฑกบุตรจึงชวนพระเถระต่าง ๆ ให้ช่วยกันวินิจฉัย แก้ความถือผิดครั้งนี้
โดยรายละเอียดของปฐมสังคายนาและการสังคายนาครั้งที่สอง มีกล่าวถึงในพระวินัยปิฎก จุลลวรรค[5]ในวินัยปิฎกจะไม่กล่าวถึงคำว่าพระไตรปิฎกในการปฐมสังคายนาและการสังคายนาครั้งที่สองเลย
ตติยสังคายนา
[แก้]การทำสังคายนาครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 234 ที่อโศการาม กรุงปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย โดยมี พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน การทำสังคายนาครั้งนี้มีพระสงฆ์มาประชุมร่วมกัน 1,000 รูป ดำเนินการอยู่เป็นเวลา 9 เดือน จึงเสร็จสิ้น
การสังคายนาครั้งนี้เองเกิดคำว่า "ปิฎก" และมีการเพิ่ม พระอภิธรรม (คำสอน) จึงเรียกว่า "พระไตรปิฎก" คือมีสามปิฎก ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก
มีหลักฐานชิ้นหนึ่งว่า คัมภีร์ กลาวัตถุ ได้แต่งขึ้นในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 โดยพระโมคคัลลีบุตร ติสสเถระ และคัมภีร์นี้ได้ถูกผนวกเข้าเป็น 1 ในพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ทำให้เนื้อหาพระอภิธรรมปิฎกสมบูรณ์
ข้อปรารภในการทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อพวกเดียรถีย์ หรือนักบวชศาสนาอื่นมาปลอมบวช แล้วแสดงลัทธิศาสนาและความเห็นของตนว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ จึงได้ขอรับอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชสังคายนาพระธรรมวินัยเพื่อกำจัดความเห็นของพวกเดียรถีย์ออกไป
ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้แต่งคัมภีร์กถาวัตถุ ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระอภิธรรมไว้ด้วย และเมื่อทำสังคายนาเสร็จแล้ว ก็มีการส่งคณะทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศต่าง ๆ มีดังนี้
- พระมหินทเถระ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช นำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานในลังกา
- พระโสณเถระและพระอุตตรเถระ นำพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ยังดินแดนสุวรรณภูมิ
การทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้น เมื่อ พ.ศ. 236 การสังคายนาครั้งที่ 4 ในอินเดียเกิดขึ้นที่ชาลันธร หรือบางหลักฐานคือกัษมีร์ ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ
แต่เป็น การสังคายนา ของนิกายมหายาน ฝ่ายเถรวาท จึงไม่ยอมรับว่า เป็นการสังคายนา[6]
ปัญจมสังคายนา
[แก้]การทำสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 433 ที่อาโลกเลณสถาน มตเลชนบท ประเทศศรีลังกา โดยมีพระรักขิตมหาเถระเป็นประธาน
การทำสังคายนาครั้งนี้ เพื่อต้องการจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษร
ปัญหาการนับครั้งการสังคายนา
[แก้]การนับครั้งการสังคายนามีความแตกต่างกันในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกับพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นอกจากนี้ แม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกันเองก็ยังนับครั้งการสังคายนาไม่ตรงกัน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
- ประเทศศรีลังกา นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายกระทำเมื่อ พ.ศ. 2408 โดยการสังคายนาครั้งนี้เป็นที่รู้กันเฉพาะในประเทศศรีลังกาเท่านั้น
- ประเทศพม่า นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และนับการสังคายนาครั้งที่ 2 ที่ลังกาเป็นครั้งที่ 4 และนับการสังคายนาที่ประเทศตนเองอีก 2 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายหรือครั้งที่ 6 ในพม่า มีชื่อเรียกว่าฉัฏฐสังคายนา เริ่มกระทำเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 การทำสังคายนาครั้งนี้ทำขึ้นเนื่องในโอกาสฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เพื่อพิมพ์พระไตรปิฎก อรรถกถา และคำแปลเป็นภาษาพม่า โดยได้เชิญพุทธศาสนิกชนจากหลายประเทศเข้าร่วมพิธี โดยเฉพาะจากประเทศ พม่า ศรีลังกา ไทย ลาว และกัมพูชา
- ประเทศไทย นับการสังคายนาสามครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย และครั้งที่ 1-2 ที่ลังกา แต่ในหนังสือสังคีติยวงศ์ หรือประวัติแห่งการสังคายนาของสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ได้นับเพิ่มอีก 4 ครั้ง คือ
- ครั้งที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 956 ในลังกา โดยพระพุทธโฆสะได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถา ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎก ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนา
- ครั้งที่ 7 เมื่อ พ.ศ. 1587 ในลังกา โดยพระกัสสปเถระเป็นประธานรจนาอรรถกถาต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นการชำระอรรถกถา ไม่ใช่พระไตรปิฎก ทางลังกาจึงไม่นับเป็นการสังคายนาเช่นกัน
- ครั้งที่ 8 เมื่อ พ.ศ. 2020 ในประเทศไทย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา
- ครั้งที่ 9 เมื่อ พ.ศ. 2331 ในประเทศไทย โดยการอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 487-8
- ↑ การทำสังคายนาครั้งที่ 1 เพราะพระภิกษุชื่อสุทัศน์กล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยดูหมิ่นพระพุทธเจ้าการทำสังคายนาครั้งที่ของพระภิกษุกลุ่มวัชชีบุตรปฏิบัติผิดพระธรรมวินัยสาเหตุการทำสังคายนาครั้งที่ 3 เพราะนักบวชศาสนาอื่นปลอมตัวเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาสาเหตุการทำสังคายนาครั้งที่ 4 เพื่อให้พระพุทธศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีปการทำสังคายนาครั้งที่ 5 สาเหตุพระสงฆ์แตกแยกกันเป็น 2 พวกนั้นว่าหากปล่อยไว้พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาคาดเคลื่อนซึ่งไม่มีการบันทึกพระไตรปิฎกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ปัญจสติกขันธกะ (เรื่องพระมหากัสสปเถระ สังคายนาปรารภคำของพระสุภัททวุฑฒบรรพชิต). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[1]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ เรื่องพระสัมภูตสาณวาสีเถระ. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[2]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ สัตตสติกขันธกะ ที่ ๑๒ (ถามและแก้วัตถุ ๑๐ ประการ). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[3]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
- ↑ สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน, มหามกุฏราชวิทยาลัย, หน้า 10