ข้ามไปเนื้อหา

จุฬาตรีคูณ (นวนิยาย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จุฬาตรีคูณ
ปกหนังสือ จุฬาตรีคูณ
ผู้ประพันธ์ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ
ประเทศประเทศไทย
ภาษาไทย
ประเภทนวนิยายโรแมนซ์

จุฬาตรีคูณ เป็นนวนิยายของพนมเทียน (ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ) ประพันธ์เสร็จในปี พ.ศ. 2491[1] แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์เนื่องจากสำนักพิมพ์ปฏิเสธ[1][2] ซึ่งต่อมาวงดนตรีสุนทราภรณ์นำมาทำเป็นละครประกอบเพลง โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนาน ประพันธ์ทำนอง และครูแก้ว อัจฉริยะกุล ประพันธ์คำร้องในเพลงประกอบทั้งหมด จนทำให้ได้ตีพิมพ์และได้รับความนิยมมากมาจนถึงปัจจุบัน

โครงเรื่อง

[แก้]

ดารารายพิลาส ธิดากษัตริย์แคว้นกาสี มีเมืองหลวงคือกรุงพาราณสี ผู้เกลียดและกลัวความงามเพราะเชื่อว่าพระมารดา ดาราราย ถูกสังเวยเพราะความงาม ดาราราย เป็นสตรีที่มีความงามเกินพรรณาและผู้ใหญ่ได้จัดการมั่นหมายให้สมรสกับกษัตริย์กรุงพาราณสี แต่ ดาราราย กลับมีคนรักอยู่ก่อนแล้ว นางได้หนีไปหาคนรักของนางหลังจากที่นางได้ให้ประสูติ ดารารายพิลาส ให้กับกษัตริย์กรุงพาราณสี ชาวเมืองพาราณสีจึงมีมติให้นำนางไปถ่วงน้ำที่จุฬาตรีคูณ ดารารายพิลาส จึงมักไปบวงสรวงจุฬาตรีคูณเพื่อขอให้นางอัปลักษณ์และไม่มีใครรัก นางจะได้ไม่ถูกนำมาถ่วงน้ำที่จุฬาตรีคูณเหมือนพระมารดา

อริยวรรต จอมกษัตริย์แห่งมคธ ต้องการรวมแผ่นดินชมพูทวีปให้เป็นหนึ่ง ด้วยคำอ้างว่าเพื่อรวบรวมเผ่าพันธุ์มคธที่แตกสานซ่านเซ็นกันไปในครั้งศึก อารยัน หลายต่อหลายอาณาจักรที่ยาตราทัพผ่านและมีชัยเหนือแผ่นดินเหล่านั้น จนเมื่อยกทัพมาหยุดยั้งตรงริมฝั่งแม่น้ำคงคา เพื่อข้ามไปยังกรุงพาราณสี ราตรีนั้น อริยวรรต ได้นิมิตเห็นนางงามผู้หนึ่งสะอื้นไห้ด้วยชิงชังในความงามของนางเอง ด้วยความรุ่มร้อนอยากค้นหานางในฝันและต้องการรู้ว่าทำไมนางจึงต้องการเช่นนั้น จึงเลิกทัพแล้วชักชวน ขัตติยะราเชนทร์ พระอนุชา ข้ามฝั่งนทีเพื่อตามหานางในฝัน แต่ด้วยเหตุที่รู้ว่าเป็นลางร้าย ขัตติยะ จึงเพียรขัดขวางแนะนำให้ อริยวรรต กลับไปอภิเษกกับเจ้าหญิง อาภัสรา พระคู่หมั้น แม้ว่าตนเอง (ขัตติยะราเชนทร์) จะผูกสมัครรักใคร่อยู่กับนาง แต่เป็นเพราะพระราชบิดาทรงจัดการหมั้นหมายให้กับ อริยวรรต ก่อนจะสวรรคต อริยวรรต ทรงทราบพระทัยของคู่รักดีและคิดจะให้ทั้งคู่อุปภิเษกกัน แต่ ขัตติยะราเชนทร์ ทรงปฏิเสธ

อริยวรรต ตั้งพระทัยมั่นที่จะตามหานางในฝันให้ได้ ทำให้ ขัตติยะราเชนทร์ จำต้องร่วมมือยอมปลอมเป็น กัญญะ ผู้มีเสียงเสนาะปานนกโกกิลา และ อริยวรรต ทรงปลอมพระองค์เป็นพราหมณ์ วิพาหะ ผู้มีจักษุเพียงข้างเดียว ทั้งสองเข้าไปถึงชานเมืองพาราณสีวันเดียวกับที่เจ้าหญิง ดารารายพิลาส ทรงหมั้นกับ กาฬสิงหะ กษัตริย์แห่งเวสาลีและเสด็จมานมัสการองค์ศิวะเทพที่เทวาลัย สองสหายเมื่อทราบความก็รีบหลบเข้าข้างทางซอกซอนหาทางเข้าเทวาลัย เมื่อ เทวตี นางแม่มดผู้ดูแลวิหารอัญเชิญเสด็จเจ้าหญิงเข้าสู่เทวาลัยใต้เงื้อมผา มีแต่เหล่าพี่เลี้ยงนางกำนัลตามเสด็จเข้าไป ทันใดนั้นเกิดแผ่นดินไหวหินถล่มลงมาทับนางแม่มดและเหล่านางกำนัลตายสิ้น ส่วนเจ้าหญิงนั้น วิพาหะ เข้าไปช่วยพาออกมาจากที่ทรงยืนนิ่งเพราะต้องมนต์อยู่ได้ทัน ทำให้ทรงรอดชีวิตมาเพียงผู้เดียว จากการช่วยชีวิตของเจ้าหญิง ดารารายพิลาส ทำให้สองสหายได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังตามคำเชิญของพระเจ้ากรุงพาราณสี

พราหณ์ วิพาหะ แฝงตัวเข้าไปพบเจ้าหญิงที่จุฬาตรีคูณซึ่งอยู่ติดกับอุทยานด้านหลังของปราสาทที่บรรทมของนางและแสดงรูปโฉมแท้จริง แต่ไม่ได้บอกว่าที่แท้ตนเป็นใคร ในที่สุดทั้งคู่ผูกรักสมัครใคร่ อริยวรรต ได้ทราบว่าที่แท้ชนนีของ ดารารายพิลาส ก็ถูกบังคับให้กระโจนลงสูวังน้ำวนเบื้องล่างที่สถานจุฬาตรีคูณ การแฝงตัวของ อริยรรต ไม่อาจรอดพ้นหูตาของฝ่ายกาสีจึงโดนจับไปขังคุก ดารารายพิลาส แอบเข้าไปปล่อยให้ อริวรรต เป็นอิสระแต่ขอคำมั่นว่าจะไม่บุกแคว้นตน แต่ถูกปฏิเสธ ทำให้นางตัดสินใจตะโกนเรียกทหาร ก่อนที่ อริยวรรต จะเพลี่ยงพล้ำ ขัตติยะราเชนทร์ ได้นำทหารมาช่วยทำให้ อริยวรรต หนีออกไปได้ และ อริยวรรต ก็พา ดารารายพิลาส ขึ้นม้าหนีออกไปด้วยแต่ ขัตติยะราเชนทร์ เสียท่าโดนจับไว้แทน ทางพาราณสีเสนอให้แลกเปลี่ยนเชลย คราแรก อริยวรรต ไม่ยอมเพราะไม่ต้องการเสียนางไปแต่จะบุกกาสีแทน ดารารายพิลาส ไม่ยอมเป็นคนบาปของแคว้นและตัดใจกล่าวตัดขาดกับ อริยวรรต เพื่อให้ทรงยินยอมแลกเปลี่ยนเชลย คล้อยหลังนางไปไม่นาน ขัตติยะราเชนทร์ ก็หนีกลับมาได้แต่ไม่ทันยับยั้งการแลกเปลี่ยน

อริยวรรต เสียพระทัยที่ถูกนางตัดรอนทำให้ไม่มีพระสติทรงตัดสินพระทัยอภิเษกกับพระคู่หมั้นโดยให้พระอนุชาไปรับเจ้าหญิง อาภัสรา มาจากมคธมาจัดพิธีอุปภิเษกกลางป่าโดยไม่ฟังคำทัดทานของใครว่าผิดโบราณราชประเพณีและเป็นลางวิบัติ หลังงานพิธีเจ้าหญิง ดารารายพิลาส ทรงหนีจากงานอภิเษกของตนเองมาได้ แต่กลับพบว่า อริยวรรต มีราชินีแห่งมคธไปแล้ว เจ้าหญิงทรงเสียพระทัยยิ่งนักวิ่งออกไปราวกับวิกลจริต

เมื่อรู้ว่าตนได้กลายเป็นผู้ทรยศต่อความรักของเจ้าหญิงอันเป็นที่รัก อริยวรรต ทรงคลุ้มคลั่ง ยืนกรานยกทัพบุกแคว้นพาราณสีเพื่อติดตามความรัก แม้จะเสี่ยงทายต่อแม่น้ำคงคาว่าการไปครานี้คงไม่รอดชีวิตกลับมา แม้พระอนุชาจะทรงทัดทานเพียงไรก็ไม่ฟัง กลับยกบัลลังก์แคว้นมคธให้ครอง ส่วนพระองค์เองบุกเข้าแคว้นพาราณสี เมื่อ ขัตติยะราเชนทร์ และราชินีแห่งมคธยกทัพตามไปช่วยก็ไม่ทันเสียแล้ว อริยวรรต ได้ทรงต้องอาวุธสวรรคต และเมื่อถามหาเจ้าหญิง ดารารายพิลาส จากเหล่านางกำนัล ก็ได้ทรงทราบว่านางถูก กาฬสิงหะ และราษฎรทั้งอาณาจักรบังคับสู่สถานจุฬาตรีคูณ เช่นเสด็จแม่ของนาง

ตัวละครสำคัญ

[แก้]

ดาราย ดารารายพิลาส (หญิงงาม/สาวผู้เลอโฉม)

การประพันธ์และการตีพิมพ์

[แก้]

คุณฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิเคยเล่าไว้ว่าในปี พ.ศ. 2490 ขณะมีอายุได้ 16 ปี (พ.ศ. 2490) ในหลักสูตรที่เรียนเกี่ยวกับวรรณคดีไทยมีเรื่อง “กามนิต-วาสิฎฐี” มีข้อความตอนหนึ่งที่ทำให้คุณฉัตรชัยสะดุดใจ เพราะพูดถึงวังน้ำวนอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถือกำเนิดจากแม่น้ำคงคาและยมุนาไหลมาบรรจบกัน ความรุนแรงของสายน้ำที่มาบรรจบกันทำให้เกิดเป็นวังน้ำวนและในยามค่ำคืนก็จะมีทางช้างเผือกที่สว่างไสวขาวโพลนทอดยาวลงมาราวกับจะมาบรรจบกัน ณ ที่แห่งนั้น ทางช้างเผือกถูกเรียกขานว่า “คงคาสวรรค์” จึงเท่ากับเป็นการบรรจบกันของแม่น้ำ 3 สาย คือ จากพื้นพิภพ 2 สาย และจากสรวงสวรรค์อีก 1 สาย ตำแหน่งที่แม่น้ำ 3 สายได้มาบรรจบกันนั้นถูกเรียกว่า “จุฬาตรีคูณ” ซึ่งคุณฉัตรชัยคิดว่าเป็นชื่อที่ไพเราะและสถานที่คงจะสวยงามชวนฝัน หากเอาคำนี้มาผูกเป็นนิยายรักที่ออกเศร้าคงดีไม่น้อย

ในปีถัดมา เมื่อมีโอกาสได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของอินเดีย จึงค้นพบว่าแม่น้ำคงคาและยมุนามีจุดบรรจบกันจริงตามที่ว่า ณ เมืองพาราณสี เมืองหลวงของแคว้นกาสี เมื่อเป็นดังนี้ "จุฬาตรีคูณ" ต้องมีอยู่จริงที่เมืองนี้ จึงคิดเอาไว้ว่าจะต้องเป็นเขียนเรื่องที่เป็นจินตนิยาย แบบย้อนยุค และออกแนวเศร้าแบบที่คิดไว้แต่แรก และยังได้แนวคิดมาจากเรื่องของ นาร์ซิสซัส[1] รูปงามผู้ซึ่งเมื่อยามที่มองลงไปบนผืนน้ำแล้วได้เห็นเงาร่างของตัวเอง ก็บังเกิดความหลงใหลในเงาของตน คุณฉัตรชัยจึงจินตนาการว่าหากมีสตรีนางหนึ่ง เกิดมีความคิดกลับกันในทางตรงกันข้ามจะน่าสนใจขนาดไหนกัน เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงเริ่มเขียน 3 เดือนให้หลังจึงแล้วเสร็จ

การเผยแพร่

[แก้]

พนมเทียนได้นำจินตนิยายเรื่องจุฬาตรีคูณมาเสนอกับนางเอกละครวิทยุอย่าง มัณฑนา โมรากุล เธอพาไปพบครูแก้ว อัจฉริยะกุล ต่อมา ครูแก้วดัดแปลงเป็นบทละครวิทยุ พร้อมกับร่วมเขียนเพลงกับครูเอื้อเพื่อประกอบละครเรื่องนี้ ละครเรื่องนี้ทำให้พนมเทียนเป็นนักเขียนแถวหน้าในเวลาต่อมา

ละครวิทยุคณะแก้วฟ้า เอื้อ สุนทรสนาน รับบท อริยวรรต, มัณฑนา โมรากุล รับบท ดารารายพิลาส, วินัย จุลละบุษปะ รับบท ขัตติยะราเชนทร์ และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี รับบท อาภัสรา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 คณะเทพไท โดย พฤหัส บุญหลงได้นำมาดัดแปลงเป็นละครเวทีเล่นที่ศาลาเฉลิมไทย เพื่อที่จะหาทุนสร้างพระราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 ณ บริเวณลานหน้าสวนลุมพินี คณะกรรมการจัดงานเชื้อเชิญมัณฑนา โมรากุล รับบท ดาราราย ได้ค่าตัว 8,000 บาท บทอริยวรรต แสดงโดย ฉลอง สิมะเสถียร ส่วนคู่ที่าองเป็นพระรองนางรอง แสดงโดย สวลี ผกาพันธุ์และชาลี อินทรวิจิตร ละครเรื่องนี้ผู้ชมหนาแน่น เล่นอยู่ร่วมเดือน ประสบความสำเร็จมาก เพลงในละครเรื่องนี้ มีทั้งสิ้น 5 เพลงคือ จุฬาตรีคุณ, ใต้ร่มมลุลี, ปองใจรัก, เจ้าไม่มีศาล และอ้อมกอดพี่ ต่อมาเมื่อบทประพันธ์เรื่องนี้ ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ทุกเพลงจากผลงานของแก้ว อัจฉริยะกุลและเอื้อ สุนทรสนานก็ยังถูกหยิบมาใช้อยู่เรื่อย ๆ นับเป็นเพลงอมตะ และไพเราะที่สุดชุดหนึ่งของวงดนตรีสุนทราภรณ์เลยทีเดียว

ต่อมารวงทอง ทองลั่นธม ได้นำมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์ โดยเธอแสดงเป็น ดาราราย ส่วนตรัยเทพ เทวะลิน แสดงเป็น อริยวรรต

จุฬาตรีคูณเคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 2 ครั้ง ครั้งแรก ดอกดิน กัญญามาลย์ เป็นผู้กำกับการแสดง โดยมีไพรัช กสิวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง คู่เอกคือ มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์ ส่วนคู่รองคือ สมบัติ เมทะนีกับเนาวรัตน์ วัชรา สร้างอีกครั้งโดยพรพจน์ฟิล์ม นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์, ปิยะ ตระกูลราษฎร์และวาสนา สิทธิเวช

และรูปแบบละครเวทีกลับมาอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 กำกับการแสดงโดย กัณฑรีย์ นาคประภา นำแสดงโดย คาเมล ชาวาลา,ชนานา นุตาคม, ชัชวิน ภูมิดิษฐ์, ปัทมา ปานทอง เปิดการแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุงมณีทัศน์

การดัดแปลงไปยังสื่ออื่น

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "พนมเทียน" กับ60ปี"จุฬาตรีคูณ" เก็บถาวร 2009-03-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สยามดารา, สืบค้นวันที่ 3 พ.ย. 2553
  2. จุฬาตรีคูณ[ลิงก์เสีย], OKnation, สืบค้นวันที่ 3 พ.ย. 2553