ข้ามไปเนื้อหา

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Faculty of Education,
Khon Kaen University
ชื่อย่อศศ. / ED
สถาปนา13 กันยายน พ.ศ. 2511 (56 ปี)[1]
สังกัดการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น
คณบดีรองศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ก้านจักร
ที่อยู่
สี  สีแสด
มาสคอต
บัวแก้ว
สถานปฏิบัติโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น
เว็บไซต์ednet.kku.ac.th

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (อังกฤษ: Faculty of Education, Khon Kaen University) เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชา สังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นคณะวิชาที่จัดตั้งขึ้นเป็นอันดับที่ 4 ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการผลิตครูระดับปริญญา และระดับอนุปริญญาสาขาวิชาต่าง ๆ ที่จะสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถานปฏิบัติการคือ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ประวัติ

[แก้]

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2511 ซึ่งในวันนั้น คณะกรรมการพิจารณาจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประชุมเป็นครั้งแรก ณ แผนกจิตวิทยา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงถือเอาวันที่ 13 กันยายน เป็นวันสถาปนาคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีส่วนสนับสนุนในแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยมีหลักการและเหตุผลที่สำคัญ คือ การขาดแคลนครูปริญญา การขาดความสมดุลด้านคุณภาพการศึกษาระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และการขาดการวิจัยการศึกษาและจิตวิทยาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะศึกษาศาสตร์จึงจัดตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ทั่วไปเพื่อจะพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้[2] คือ

1. เพื่อผลิตครูปริญญา และอนุปริญญาสาขาวิชาต่างๆ ที่จะสอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยร่วมมือกับกรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ ในการผลิตครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2. เพื่อผลิตโสตทัศนูปกรณ์ ตำราและเอกสารการศึกษา อันจะส่งเสริมในการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และการศึกษาได้ผลมากขึ้น

3. เพื่อทดลองวิจัยวิธีการสอน การจัดการเรียนการสอน และหลักสูตรประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมในการเตรียมครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูที่สอนในชนบท

4. เพื่อมีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาชนบท โดยปฏิบัติงานร่วมกับโรงเรียนชุมชน สถานศึกษาต่าง ๆ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

5. เพื่อเผยแพร่และให้บริการด้านการศึกษา การอบรมแก่ชุมชนและครูประจำการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

6. เพื่อวิจัยปัญหาต่าง ๆ ด้านการศึกษาและจิตวิทยา อันจะช่วยให้เข้าใจสภาพบุคคล และสภาพแวดล้อมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ดียิ่งขึ้น อันจะช่วยเป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อไป

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี พ.ศ. 2512 เข้าเรียนในสาขาการมัธยมศึกษา จำนวน 100 คน โดยใช้อาคารเรียนของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ เป็นสำนักงานของคณะและสถานที่เรียนชั่วคราว ในปี พ.ศ. 2513 เริ่มก่อสร้างอาคารเรียนของคณะ และได้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตอนุบาลและสาธิตประถมขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น" เพื่อทำการทดลองและวิจัยวิธีการสอนแบบต่าง ๆ

คณะศึกษาศาสตร์ ได้เริ่มเปิดทดลองการเรียนและการสอนในระดับสาธิตมัธยมขึ้นในปี พ.ศ. 2519 โดยรับนักเรียนต่อจากโรงเรียนสาธิตประถม แต่สำหรับด้านการบริหารโรงเรียนนั้น ยังเป็นการบริหารแยกกันระหว่างโรงเรียนประถมและมัธยม ทางด้านหลักสูตรที่ใช้เรียนในระดับมัธยมศึกษานั้น ได้ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้รับกับการศึกษาชั้นอุดมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์จึงได้พิจารณาถึงปัญหาต่าง ๆ ของการดำเนินงาน ซึ่งแยกกันของโรงเรียนทั้งสองระดับ จึงสมควรให้รวมโรงเรียนทั้งสองเข้าเป็นโรงเรียนเดียวกัน และมีผู้บริหารโรงเรียนเพียงชุดเดียว[3]

เมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจารย์ ข้าราชการ และลูกจ้าง มีจำนวนมากขึ้น และสวัสดิการทางด้านการศึกษาแก่บุตรของบุคลากรยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น[4] ก็ไม่สามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้ได้ เนื่องจากงบประมาณที่มีจำกัด ทางสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงให้มีการจัดตั้ง "โรงเรียนสาธิตมอดินแดง" ให้เป็นโรงเรียนที่ดำเนินงานโดยสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสวัสดิการแก่บุตรอาจารย์ ข้าราชการ และลูกจ้าง ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งไม่มีที่เรียน และมีความประสงค์ที่จะพัฒนาการศึกษาไม่ให้ด้อยกว่าที่อื่น ๆ เปิดดำเนินการเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2524 จนถึงปัจจุบัน โดยมีอาจารย์จากคณะต่าง ๆ ร่วมสอนด้วย[5]

เมื่อปี พ.ศ. 2542 สภามหาวิทยาลัย ได้มอบหมายให้คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ปรับแก้โครงสร้างเชิงบริหารของโรงเรียนสาธิตทั้ง 2 แห่ง ให้เป็นเอกภาพโดยให้มีผู้อำนวยการคนเดียวกัน รวมทั้งใช้นโยบายการจัดการเป็นอันเดียวกัน เพื่อลดช่องว่างระหว่างความรู้สึกเปรียบเทียบของผู้ปกครองที่ต้องการความทัดเทียม จึงการยกเลิกข้อบังคับมหาวิทยาลัยขอนแก่นว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2534 โดยใช้ข้อบังคับฯ ว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2544 และระเบียบว่าด้วยโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2546 แทน

ปัจจุบันโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชา สังกัดคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งอยู่ 2 แห่งภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้แก่

  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) อยู่บริเวณริมบึงสีฐานประตูมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ 2 ถนนมะลิวัลย์ มีเนื้อที่ 60 ไร่ จัดการศึกษา 3 ระดับ ได้แก่ ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มอดินแดง) อยู่ใกล้บริเวณศาลเจ้าพ่อมอดินแดงประตูมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ 1 ถนนมิตรภาพ จัดการศึกษา 2 ระดับ ได้แก่ ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ "ศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียมรวมสำหรับเด็กออทิสติก โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น" อีกด้วย

สัญลักษณ์

[แก้]
  • สัญลักษณ์ประจำคณะ

สัญลักษณ์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ ดอกบัวแก้ว

  • สีประจำคณะ

  สีแสด เป็นสีประจำวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวัน ครู

  • เพลงประจำคณะ

เพลงมาร์ชศึกษาศาสตร์ หรือที่รู้จักใน เพลงมาร์ชร่มกระเบา เป็นเพลงปลุกใจเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัขอนแก่น และคุณค่าของความเป็นครูและการบ่มเพาะประสบการณ์ต่าง ๆ ของคนเป็นครูตามปณิธาณของการตั้งคณะเพื่อผลิตครูปริญญาในภาคอีสาน สร้างครูที่มีคุณธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม เพลงนี้ได้หายไปจากกิจกรรมร้องเพลงประจำคณะช่วงหนึ่งและมีการนำกลับมาร้องใหม่อีกครั้งเมื่อ ปีการศึกษา 2555

เพลงสีฐาน เป็นเพลงที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นศึกษาศาสตร์เป็นเพลงปลุกใจที่มีความนุ่มนวลและแข็งกร้าวในตัว เป็นการบอกถึงความรักความสามัคคีในหมู่คณะ เพลงนี้ถือเป็นเพลงสำคัญอีกเพลงหนึ่ง

เพลงแสงเทียน เป็นเพลงที่แสดงถึงการให้กำลังใจและพลังของครูที่เปรียบเสมือนดั่งแสงเทียนที่จะคอยไปจุดประกายและนำทางให้แก่เด็กแม้ว่าจะเหนื่อยยากลำบากเพียงใดครูก็ต้องเป็นคนที่จะคอยนำทางสว่างให้แก่ทุกคนเพลงนี้เป็นเพลงเดียวในบรรดาเพลงประจำคณะที่ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรใด ๆ มีเพียงการร้องสืบต่อกันเท่านั้นและเป็นเพลงที่นักศึกษาทุกคนในคณะร้องได้ถึงแม้จะไม่มีเนื้อร้องที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม และยังมีความเชื่อว่าหากใครเริ่มร้องเพลงนี้แล้วจะต้องร้องต่อจนจบเพลง และห้ามจดบันทึกเนื้อเพลงเด็ดขาด

หลักสูตร

[แก้]
หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น[6]
กลุ่มวิชา/ภาควิชา/สาขาวิชา ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

กลุ่มวิชาการศึกษาด้านภาษา ศิลปะและสังคมศึกษา

หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.)

  • สาขาวิชาการสอนภาษาไทย
  • สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษให้ผู้มีพื้นฐานภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษ
  • สาขาวิชาการสอนภาษาญี่ปุ่น
  • สาขาวิชาสังคมศึกษา
  • สาขาวิชาศิลปศึกษา
  • สาขาวิชาการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ
  • สาขาวิชาพลศึกษา

กลุ่มวิชาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี

หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.)

  • สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา (วิทยาศาสตร์ทั่วไป)
  • สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา

หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ศษ.ม.)

  • สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา
  • สาขาวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา
  • สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา

กลุ่มวิชาบริหารและพัฒนาการศึกษา

หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ศษ.ม.)

  • สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน
  • สาขาวิชาหลักสูตรและการสอนการศึกษาพิเศษ
  • สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและการให้คำปรึกษา
  • สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
  • สาขาวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษา
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาหลักสูตรและการเรียนการสอน
  • สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
  • สาขาวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษา
  • สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา

คณบดี

[แก้]
ทำเนียบคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์ ดร.สายสุรี จุติกุล พ.ศ. 2512 - 2517
2. รองศาสตราจารย์ ดร.สมจิตต์ ยอดเศรณี พ.ศ. 2517 - 2518 (รักษาการแทนฯ)
3. รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา คัมภีรปกรณ์ พ.ศ. 2518 - 2521
4. อาจารย์ ดร.ปรีชา วงศ์ชูศิริ พ.ศ. 2521 - 2523
5. ศาสตราจารย์ ดร.ธีระ รุญเจริญ พ.ศ. 2523 - 2526
6. รองศาสตราจารย์ ระจิต ตรีพุทธรัตน์ พ.ศ. 2526 - 2529
7. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เทพ พังงา พ.ศ. 2529 - 2530
8. รองศาสตราจารย์ ดร.แก้วตา คณะวรรณ พ.ศ. 2530 - 2534
- รองศาสตราจารย์ ระจิต ตรีพุทธรัตน์ พ.ศ. 2534 - 2537
พ.ศ. 2537 - 2542
9. รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ พ.ศ. 2542 - 2546
10. รองศาสตราจารย์ ดร.สุลัดดา ลอยฟ้า พ.ศ. 2546 - 2550
11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สุวรรณน้อย พ.ศ. 2550 - 2554
12. รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ พ.ศ. 2554 - 2562
13. ศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ชัยเจริญ พ.ศ. 2562 - 2566
14. รองศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ก้านจักร พ.ศ. 2566 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี และผู้รักษาการแทนคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

ชีวิตนักศึกษา

[แก้]

ประเพณีและกิจกรรม

[แก้]

กิจกรรมภายในคณะ

[แก้]

ประเพณีรับน้อง บขส. เป็นประเพณีต้อนรับว่าที่น้องใหม่คณะศึกษาศาสตร์ที่จะเดินทางมาสอบสัมภาษณ์เพื่อศึกษาต่อในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รอบรับตรง ซึ่งรุ่นพี่โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภายใต้การแนะนำและการให้คำปรึกษาจากรุ่นพี่ทุกชั้นปีและสโมสรนักศึกษา จะเป็นผู้วางแผนและเตรียมกิจกรรมการต้อนรับน้อง ๆ นักเรียนที่จะเดินทางมาสอบสัมภาษณ์ด้วยบรรยากาศที่อบอุ่นเป็นกันเอง เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่น้องๆ และเป็นการผ่อนคลายความเครียดของน้องๆ ที่จะมาสอบสัมภาษณ์ซึ่งกิจกรรมนี้จะจัดขึ้นก่อนวันสอบสัมภาษณ์รอบรับตรง ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 วัน กิจกรรมนี้จะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างว่าที่น้องใหม่ด้วยกันเองและระหว่างรุ่นน้องกับรุ่นพี่อีกด้วย

ประเพณีลอดซุ้มบัวแก้ว เป็นกิจกรรมต้อนรับน้อง ๆ นักศึกษาใหม่เข้าสู่คณะศึกษาศาสตร์ จัดขึ้นโดยรุ่นพี่ปี 2 ภายใต้การกำกับดูแลของสโมสรนักศึกษาและฝ่ายพัฒนานักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมแรกที่ทางรุ่นพี่จะจัดขึ้นเพื่อเป็นการต้อนรับน้องใหม่คณะศึกษาศาสตร์อย่างเป็นทางการ โดยระหว่างกิจกรรมจะมีนันทนาการและภารกิจให้น้องใหม่ทำร่วมกันเพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นระหว่างน้องใหม่ด้วยกันและเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างน้องใหม่และพี่รหัสปี 2 ซึ่งจะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดและคอยให้คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ แก่น้องใหม่ตลอดทั้งปีการศึกษา

ประเพณีรายงานตัวน้องใหม่และร้องเพลงประจำคณะ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของคณะศึกษาศาสตร์ กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยรุ่นพี่สโมสรนักศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายพัฒนานักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์และระเบียบมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้องในคณะศึกษาศาสตร์ ทำให้รุ่นพี่ได้รู้จักกับรุ่นน้อง และสร้างให้รุ่นน้องได้ตระหนักถึงคุณค่าความเป็นครู และเอกลักษณ์ของคณะศึกษาศาสตร์ โดยกิจกรรมนี้จะมีรุ่นพี่ศึกษาศาสตร์มาทำซุ้มไม้เรียว เพื่อให้น้องใหม่เดินลอดซุ้มไม้เรียวเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่น้องๆ นักศึกษาใหม่ ก่อเริ่มกิจกรรมรายงานตัว นอกจากนี้ยังจัดให้มีการร้องเพลงประจำคณะและเพลงประจำมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความรักความสามัคคีและความภาคภูมิใจในสถาบันให้เกิดขึ้นกับน้อง ๆ นักศึกษาใหม่ชั้นปีที่ 1 ทุกคน และมีกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ จากพี่ ๆ ฝ่านสันทนาการ กิจกรรมนี้จัดให้มีการพบปะพูดคุยกันระหว่างพี่น้องสายรหัส ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมอีกกิจกรรมหนึ่งที่ก่อให้เกิดความสัมพนธ์อันดีและความสามัคคีให้เกิดชึ้นในสถาบัน ซึ่งนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นทุกรุ่นจะมีชื่อเรียกว่า ED ตามด้วยลำดับรุ่น เช่น ED1, ED2 ซึ่งการที่จะได้รับการยอมรับและถูกเรียกว่า ED นั้น น้องใหม่จะต้องผ่านกิจกรรมนี้ด้วย

วิ่งประเพณีและกีฬาบัวแก้ว ถือเป็นกิจกรรมรับน้องสร้างสรรค์อีกกิจกรรมหนึ่งของคณะศึกษาศาสตร์ โดยแต่เดิมคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งอยู่ที่ บริเวณโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์) ฝั่งประตูสีฐาน แต่ปัจจุบันคณะศึกษาศาสตร์ย้ายมาจัดการเรียนการสอนอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันคือบริเวณตรงข้ามอาคารศูนย์วิชาการ (อาคารพิมล กลกิจ) และตั้งแต่มีการย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่แห่งนี้ ก็ได้มีการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงสถานที่ที่เคยอยู่และใช้จัดการเรียนการสอนถือว่าเป็นภูมิหลังของคณะศึกษาศาสตร์ และเหนือสิ่งอื่นใดกิจกรรมนี้ก็ได้แฝงเอาสิ่งต่าง ๆ ไว้ มากมายกว่าการรำลึกถึงถินเก่าหรือภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของคณะ นั่นคือ กิจกรรมนี้ได้สร้างความสามัคคีในหมู่คณะให้เกิดขึ้นขณะเดินทางในการวิ่งประเพณีระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ทุกคนจะคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างทางจะมีจุดพักและจุดทดสอบความพร้อมโดยน้องใหม่แต่ละกลุ่มจะต้องมีเพลงหรือกิจกรรมนันทนาการที่ช่วยกันคิดขึ้นมาและมีการแสดงร่วมกันตามจุดพักและจุดทดสอบต่างๆ กิจกรรมนี้สร้างให้เกิดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ความเสียสละและความเอื้ออารีต่อกันในระหว่างเดินทาง และหลังจากการเดินทางสิ้นสุดลงเมื่อถึงตึกเรียนเดิม ณ โรงเรียนสาธิตและจะมีการพาน้องใหม่ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และให้พักผ่อน ระหว่างนี้ก็จะมีกิจกรรมนันทนาการและการเล่าประสบการณ์ต่างๆ จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง หลังจากเล่าประสบการณ์เสร็จเรียบร้อยก็จะพักรับประทานอาหารร่วมกันจากนั้นก็จะมีการแข่งขันกีฬาสี ระหว่างน้องใหม่ด้วยกันเองและทีมจากพี่ ๆ คณะกรรมการสโมสร กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีในหมู่คณะได้เป็นอย่างดี และส่งเสริมให้น้องใหม่ทุกคนมีน้ำใจน้อกีฬาอีกด้วย

กิจกรรมระหว่างมหาวิทยาลัย

[แก้]

กระดานดำสัมพันธ์

กระดานดำสัมพันธ์ เป็นการแข่งขันกีฬาประเพณีศึกษาศาสตร์ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2548 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการแข่งขันกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของนิสิตนักศึกษาในสายวิชาชีพครู 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นอกจากการแข่งกีฬาแล้ว ยังมีการแสดงจากนิสิตนักศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยและการแสดงในงานเลี้ยงกลางคืนทั้งมีการประกวดกองเชียร์และเชียร์หลีดเดอร์ของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยทุกสถาบันจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในการเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี

โดยในปัจจุบันมีสถาบันที่เข้าร่วม ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยพะเยา

บุคคลที่มีชื่อเสียง

[แก้]

ดูเพิ่ม รายนามบุคคลที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

หมายเหตุ รายนามดังกล่าว จัดเรียงชื่อและนามสกุลตามตัวอักษร

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 87, ตอนที่ 27, 30 มีนาคม พ.ศ. 2513, หน้า 433
  2. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะศึกษาศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 101 - 102
  3. มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะศึกษาศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 105
  4. กวี ทังสุบุตร, "โรงเรียนสาธิตมอดินแดง", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 272
  5. กวี ทังสุบุตร, "โรงเรียนสาธิตมอดินแดง", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 269
  6. ระบบฐานข้อมูลหลักสูตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • กวี ทังสุบุตร, "โรงเรียนสาธิตมอดินแดง", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 269 - 275
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะศึกษาศาสตร์", ขอนแก่น 18 ปี, 2525, หน้า 97 - 108
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น, "คณะศึกษาศาสตร์", 30 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2537, หน้า 43 - 44

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]