ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1970
ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง แห่งสหประชาชาติที่ 1970 | ||
---|---|---|
การคัดค้านของชาวลิเบียในเบงกาซีระหว่างการลุกฮือ | ||
วันที่ | 26 กุมภาพันธ์ 2011 | |
การประชุม ครั้งที่ | 6,491 | |
รหัส | S/RES/1970 (เอกสาร) | |
เรื่อง | สันติภาพและความมั่นคงในแอฟริกา | |
สรุปการลงคะแนนเสียง |
| |
ผล | ตกลงรับ | |
องค์ประกอบคณะมนตรีความมั่นคง | ||
สมาชิกถาวร | ||
สมาชิกไม่ถาวร | ||
|
ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1970 (อังกฤษ: United Nations Security Council Resolution 1970) เป็นข้อมติอันคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีขึ้นโดยเอกฉันท์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 ให้ประณามการซึ่งรัฐบาลของมูอัมมาร์ กัดดาฟี ใช้อาวุธร้ายแรงต่อต้านผู้ประท้วงในประเทศลิเบีย และให้ใช้วิธีการบังคับระหว่างประเทศโต้ตอบรัฐบาลดังกล่าว[1]
ด้วยข้อมติอันเป็นเอกฉันท์นี้ เป็นครั้งแรกที่คณะมนตรีความมั่นคงได้ยื่นเรื่องราวฟ้องประเทศประเทศหนึ่งต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ[2]
ภูมิหลัง
[แก้]ในระหว่าง การลุกฮือของชาวลิเบียเมื่อ ค.ศ. 2011 กองกำลังอันภักดีต่อมูอัมมาร์ กัดดาฟี ได้ปล่อยระเบิดทางอากาศ (aerial bombing) ลงสู่เมืองตริโปลี โจมตีผู้ประท้วงซึ่งเป็นพลเรือน และนำไปสู่การประณามอย่างกว้างขวางโดยประชาคมโลก
การซึ่งทูตชาวลิเบียผู้ทรยศต่อรัฐบาลของตนได้กดดันเป็นอันมากนั้น เป็นเหตุให้สหประชาชาติต้องออกหน้าในครั้งนี้
การตกลงรับ
[แก้]ข้อมติที่ 1970 นี้ นำเสนอโดย ประเทศฝรั่งเศส, ประเทศเยอรมนี, สหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา[3] มีการถกเถียงกันหนึ่งวันเต็ม และได้ตกลงรับในที่สุด[4] แอดเดล ราห์แมน ชัลแกห์ม (Abdel Rahman Shalgham) เอกอัครราชทูตลิเบียประจำสหประชาชาติ ผู้ซึ่งตำหนิระบอบของมูอัมมาร์ กัดดาฟีนั้น ได้ร้องขอให้คณะมนตรีความมั่นคงออกโรงในเหตุการณ์นี้ เขาได้โน้มน้าวให้สาธารณรัฐประชาชนจีน, ประเทศอินเดีย และ ประเทศรัสเซีย ร่วมยื่นเรื่องราวต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นผลสำเร็จ หลังจากที่ประเทศเหล่านี้ได้แสดงความห่วงใยว่า การยื่นเรื่องราวดังกล่าวอาจทำให้สถานการณ์บานปลายได้[5] ประเทศรัสเซียนั้นได้เสนอให้มีข้อบทสำหรับเป็นประกันว่าจะไม่มีชาติใดใช้ข้อมตินี้เป็นข้ออ้างเข้าแทรกแซงประเทศลิเบีย และที่ประชุมมีมติให้เพิ่มเข้าไปในข้อมตินี้ได้[5] ฝ่ายผู้แทนของประเทศลิเบียเองก็ได้เสนอให้มีข้อบัญญัติให้ประเทศลิเบียเป็นเขตห้ามบิน (no-fly zone) แต่ที่ประชุมมีมติให้ยก[4]
ข้อมติ
[แก้]อารัมภบท
[แก้]ในอารัมภบทของข้อมตินี้ คณะมนตรีความมั่นคงได้แสดง “ความกังวลเป็นอันมาก” (grave concern) ต่อสถานการณ์ในประเทศลิเบีย และประณามการใช้อาวุธต่อเหล่าพลเรือน กับทั้งยังประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความพยายามของรัฐบาลลิเบียในอันที่จะก่อความรุนแรง[6] สันนิบาตอาหรับ, สหภาพแอฟริกา, องค์การประชุมอิสลาม และ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ยื่นคำแถลงประณามในลักษณะเดียวกันต่อคณะมนตรีความมั่นคงด้วย การกระทำทั้งนี้ต่อผู้ประท้วงนั้นได้รับการถือว่าเป็นความผิดอาญาต่อมนุษยชาติ[7]
ยังได้มีการแสดงความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในเรื่องการขาดแคลนโอสถและสวัสดิการสำหรับชาวต่างชาติ คณะมนตรีความมั่นคงได้ย้ำเตือนให้รัฐบาลลิเบียตระหนักถึงความรับผิดชอบในอันที่จะต้องประกันรักษาประชาชนของตัว กับทั้งต้องเคารพเสรีภาพในการชุมนุม, เสรีภาพในการแสดงออก และ เสรีภาพของสื่อ นอกจากนี้ ยังตำหนิรัฐบาลลิเบียให้แสดงความรับผิดชอบต่อการโจมตีพลเรือนด้วย
ตัวบทแห่งข้อมตินี้ยังระบุว่า คณะมนตรีความมั่นคงใคร่ครวญดีว่าจะมีการสืบสวนโดยหรือฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญาระหว่างประเทศในระยะเวลาสิบสองเดือนหลังจากที่คณะมนตรีฯ ได้ยื่นเรื่องราวต่อศาลฯ นั้นมิได้ ในขณะเดียวกัน คณะมนตรีฯ ยังรับว่าตนว่าบทบาทในการธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศด้วย
เนื้อความหลัก
[แก้]เนื้อความส่วนอื่น ๆ ของข้อมตินั้น ได้รับการตราขึ้นตาม หมวด 7 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ และตามข้อ 41 ดังนั้น ข้อมตินี้จึงใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
คณะมนตรีความมั่นคงเรียกร้องให้ยุติโดยพลันซึ่งความรุนแรงในประเทศลิเบีย และเรียกร้องให้รัฐบาลลิเบียตอบสนองต่อข้อเรียกร้องอันชอบธรรมของประชากรของตัว[8] คณะมนตรีฯ ได้วิงวอนให้เจ้าหน้าที่ทั้งหลายเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตลอดจนให้ปฏิบัติการอย่างมีขอบเขต, ให้ประกันความปลอดภัยของชาวต่างชาติและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม กับทั้งให้เลิกปิดกั้นสื่อมวลชน[8] อนึ่ง ยังมีการตักเตือนให้องค์กรระหว่างประเทศร่วมมือกันอพยพชาวต่างชาติออกจากประเทศลิเบียด้วย
ข้อมตินี้ยังได้ให้คณะมนตรีความมั่นคงยื่นเรื่องราวสถานการณ์ในลิเบียต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ผู้ซึ่งจักต้องแถลงต่อคณะมนตรีฯ ภายในสองเดือนหลังจากมีการตกลงรับข้อมติและทุก ๆ หกเดือนหลังจากเริ่มดำเนินคดี ข้อมติดังกล่าวยังกำหนดด้วยว่า ให้เจ้าพนักงานชาวลิเบียทั้งหลายประสานความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศอย่างเต็มภูมิ
ในการนี้ ได้มีคำสั่งห้ามขนถ่ายอาวุธ (arms embargo) โดยห้ามนำเข้าไปหรือส่งออกจากประเทศลิเบียซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกประเภท และแนะนำให้รัฐบ้านใกล้เรือนเคียงกับประเทศลิเบียจงเฝ้าระวังเรือสินค้าต้องสงสัยว่าขนถ่ายอาวุธและยึดสิ่งทั้งปวงที่ตรวจพบ นอกจากนี้ ยังห้ามรัฐเหล่านั้นอำนวยทหารรับจ้าง (mercenary) ในการลุกฮือครั้งนี้ด้วย อนึ่ง ยังห้ามบุคคลทั้งปวงในรัฐบาลลิเบียและบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงใช้การเดินทาง และสั่งให้ยึดทรัพย์สินของบุคคลเช่นว่าด้วย โดยทรัพย์สินอันใดที่ยึดไว้ ให้ใช้เป็นประโยชน์สำหรับสาธารณชนทั่วไปได้
ในโอกาสเดียวกัน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งสำหรับควบคุมการปฏิบัติตามวิธีการบังคับ สืบสวนความรุนแรงทั้งหลาย และใช้วิธีการบังคับที่ระบุไว้แก่บุคคลและองค์กรอื่น ๆ เพิ่มเติม[9] มีการเรียกให้รัฐทั้งมวลอำนวยความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศลิเบียด้วย
ข้อมตินี้ ปิดท้ายด้วยคำแถลงของคณะมนตรีความมั่นคงว่า คณะมนตรีฯ ยินดีจะทบทวน แก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกมาตรการทั้งหลายบรรดาที่มีขึ้นในสถานการณ์นี้
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "In swift, decisive action, Security Council imposes tough measures on Libyan regime, adopting Resolution 1970 in wake of crackdown on protesters". United Nations. February 26, 2011.
- ↑ "India backs UN sanctions against Libya". Times of India. 27 February 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-25. สืบค้นเมื่อ 2011-03-02.
- ↑ "UN Security Council slaps sanctions on Libya". Times of India. 27 February 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-25. สืบค้นเมื่อ 2011-03-02.
- ↑ 4.0 4.1 "UN Security Council imposes sanctions against Gaddafi, associates". Vanguard (Nigeria). 27 February 2011.
- ↑ 5.0 5.1 Lynch, Colum (26 February 2011). "U.N. votes to impose sanction on Gaddafi". The Washington Post.
- ↑ "UN orders sanctions on Kadhafi over crackdown". Bangkok Post. 27 February 2011.
- ↑ Snow, Anita (27 February 2011). "UN slaps sanctions on Gaddafi". Independent Online (South Africa).
- ↑ 8.0 8.1 "UN slaps sanctions on Libyan regime". Al Jazeera. 27 February 2011.
- ↑ Prensa Latina (27 February 2011). "UN Security Council Approves Sanctions against Libya". Solvisión (Cuba). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-18. สืบค้นเมื่อ 2011-03-02.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ตัวบทของข้อมติ
- คำแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมติ เก็บถาวร 2011-02-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดยกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา