ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ | |
---|---|
ประเภท | สนธิสัญญา |
วันร่าง | 17 กรกฎาคม 2541 |
วันลงนาม | 17 กรกฎาคม 2541[1] |
ที่ลงนาม | กรุงโรม[1] |
วันมีผล | 1 กรกฎาคม 2545[2] |
ผู้ลงนาม | 139 รัฐ[2] |
ภาคี | 108 รัฐ[2] |
ผู้เก็บรักษา | เลขาธิการสหประชาชาติ[1] |
ภาษา | จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สเปน อารบิก อังกฤษ[3] |
ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (อังกฤษ: Rome Statute of the International Criminal Court) หรือเรียกโดยย่อว่า ธรรมนูญกรุงโรม (Rome Statute) เป็นสนธิสัญญาซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นการจัดตั้งและจัดเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ธรรมนูญนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐต่าง ๆ ณ การประชุมทางการทูตที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541[4][5] และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545[2] โดยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 ปรากฏว่า มีรัฐเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งธรรมนูญนี้แล้วจำนวนหนึ่งร้อยแปดราย[2]
ประวัติ
[แก้]หลังจากที่มีการเจรจาตกลงกันมาแล้วหลายปี เพื่อจัดตั้งคณะตุลาการระหว่างประเทศเป็นการถาวร มีหน้าที่พิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดร้ายแรงและมีผลกระทบต่อหลายประเทศ เช่น การล้างชาติ สมัชชาสหประชาชาติจึงจัดการประชุมทางการทูตเพื่อจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (United Nations Diplomatic Conference of Plenipotentiaries on the Establishment of an International Criminal Court) ขึ้นที่กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ถึง 17 กรกฎาคม 2541 ในวันสุดท้ายของการประชุม ที่ประชุมได้รับรอง "ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ" ด้วยมติหนึ่งร้อยยี่สิบเสียงต่อเจ็ดเสียง ทั้งนี้ มีรัฐยี่สิบเอ็ดรายงดออกเสียง[6][7][4] รัฐเจ็ดรายที่ไม่เห็นชอบกับธรรมนูญกรุงโรม ได้แก่ อิรัก อิสราเอล ลิเบีย จีน กาตาร์ สหรัฐอเมริกา และเยเมน[4]
ธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 126 วรรค 1 ว่า "ธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันแรกของเดือนถัดจากวันที่หกสิบหลังจากวันที่มีการยื่นสัตยาบันสาร สารให้ความยอมรับ สารให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสารฉบับที่หกสิบต่อเลขาธิการสหประชาชาติ" แสดงถึงเงื่อนไขว่า เมื่อมีรัฐให้ความเห็นชอบและเข้าเป็นภาคีแห่งธรรมนูญนี้ครบหกสิบรายแล้ว ก็ใช้ธรรมนูญบังคับได้[8] ในการนี้ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2545 รัฐสิบรายได้ยื่นหนังสือแจ้งสหประชาชาติแสดงความเห็นชอบในธรรมนูญนี้พร้อมกัน โดยได้ยื่นในการประชุมนัดวิสามัญซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก[9] ส่งผลให้ใช้ธรรมนูญบังคับได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545[9] ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นมีอำนาจชำระความผิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นในหรือตั้งแต่วันเริ่มใช้ธรรมนูญสืบไป[10]
ประเทศไทย
[แก้]ประเทศไทยเป็นรัฐหนึ่งที่ลงมติสนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมในการประชุมดังกล่าว และได้ร่วมลงนามธรรมนูญกรุงโรมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2543 แต่ยังมิได้ให้สัตยาบันจนถึงขณะนี้ เนื่องจากต้องพิจารณาตามขั้นตอนที่กฎหมายในประเทศกำหนดไว้ก่อน คณะรัฐมนตรีไทยได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 แต่งตั้ง "คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ" ขึ้นตามที่กระทรวงต่างประเทศเสนอ มีหน้าที่พิจารณาผลดีและผลเสียของการเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งธรรมนูญ ตลอดจดพิจารณาว่าต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่อย่างไร รวมทั้งดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น เผยแพร่เนื้อหาสาระของธรรมนูญให้แก่สาธารณชน
วันที่ 1 มิถุนายน 2542 คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศมีคำสั่งแต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการแปลธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ" ขึ้น ประกอบด้วยกรรมการสิบคน เป็นผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ คือ สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่แปลธรรมนูญกรุงโรมเป็นภาษาไทย ใช้เวลาสองปีจึงแปลเสร็จในวันที่ 14 มิถุนายน 2544
เนื่องจากธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 27 กำหนดว่า ให้ใช้ธรรมนูญบังคับแก่บุคคลทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน และไม่มีใครจะอ้างอำนาจหน้าที่ทางราชการ โดยเฉพาะในฐานะประมุขแห่งรัฐ มาคุ้มกันตนให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้เลย[11] รัฐบาลไทยจึงไม่ยอมให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม เพราะ ข้อ 27 ดังกล่าวจะมีผลให้พระมหากษัตริย์ไทยอ้างความคุ้มกันตามกฎหมายไทยมิได้ เช่น ความคุ้มกันที่ให้ไว้ในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นต้น[12]
มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ประเทศไทยให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม โดยในเดือนพฤศจิกายน 2549 ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันสำหรับธรรมนูญกรุงโรมเสียที เขาให้เหตุผลว่า หากประเทศไทยให้สัตยาบันแล้ว พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจถูกสอบสวนโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ สำหรับความผิดต่อมนุษยชาติ ในกรณีที่สั่งให้กระทำวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจำนวนสองพันห้าร้อยคนโดยมิได้สอบสวนเสียก่อนในช่วงปี 2546 เพื่อมิให้สืบสาวไปถึงผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังซึ่งอาจเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงสังคม ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "การฆ่าตัดตอน" ได้[13]
สถานะการให้สัตยาบัน
[แก้]ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ปรากฏว่า มีรัฐจำนวนหนึ่งร้อยแปดรายเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรม ได้แก่ รัฐเกือบทั้งหมดในยุโรป รัฐทั้งหมดในอเมริกาใต้ และรัฐเกือบกึ่งหนึ่งของแอฟริกา[2][14][15]
นับแต่จัดการประชุมทางการทูตเพื่อจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงโรมในปี 2541 เป็นต้นมา ปรากฏว่า มีรัฐอีกสี่สิบกว่ารายที่ลงนามในธรรมนูญแล้ว แต่ยังมิได้ยื่นสัตยาบันสาร สารให้ความยอมรับ สารให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสาร[2] อนุสัญญาสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎแห่งสนธิสัญญาบัญญัติให้รัฐเหล่านี้ต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของธรรมนูญกรุงโรม[16] ต่อมาในปี 2545 รัฐสองรายในบรรดารัฐทั้งสี่สิบดังกล่าว คือ สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล ได้ถอนการลงนามเสีย และประกาศว่า ไม่ต้องการเป็นรัฐภาคีในธรรมนูญกรุงโรมอีกต่อไป[2][17][18]
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในรัฐสี่สิบรายดังกล่าวที่ลงนามแล้ว แต่ยังมิได้ให้สัตยาบัน
การทบทวนและการแก้ไขเพิ่มเติม
[แก้]การแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญกรุงโรม กระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบด้วยมติไม่น้อยกว่าสองในสามของรัฐภาคีทั้งหมดของธรรมนูญ และจะไม่มีผลใช้บังคับ จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบด้วยมติไม่น้อยกว่าเจ็ดในแปดของรัฐภาคีทั้งหมด[19] ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับบัญชีความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ จะมีผลใช้บังคับแก่รัฐภาคีที่เห็นชอบด้วยในการแก้ไขนี้เท่านั้น[19]
รัฐภาคีมีหน้าที่เข้าร่วมการประชุมทบทวนธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ (Review Conference of the International Criminal Court Statute) ตามที่ตกลงกันให้จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2553[20] ในการประชุมนี้ มีการให้ความเห็นชอบบทนิยามเกี่ยวกับความผิดว่าด้วยการรุกราน เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจพิพากษาคดีความผิดดังกล่าวได้เป็นครั้งแรก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Article 125 of the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 United Nations Treaty Collection. Rome Statute of the International Criminal Court[ลิงก์เสีย]. Retrieved on 5 October 2008.
- ↑ Article 128 of the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Michael P. Scharf (August 1998). Results of the Rome Conference for an International Criminal Court. The American Society of International Law. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ เพื่อเป็นการรำลึกถึงการให้มติเห็นชอบซึ่งธรรมนูญดังกล่าว นักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชนทั่วโลกจะจัดงานเฉลิมฉลองในวันที่ 17 กรกฎาคม ของทุกปี โดยเรียก "วันยุติธรรมสากลแห่งโลก" (World Day for International Justice) ดู: Amnesty International USA (2005). International Justice Day 2005 เก็บถาวร 2008-05-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ United Nations (1999). Rome Statute of the International Criminal Court — Overview. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ Coalition for the International Criminal Court. Rome Conference — 1998. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ Article 126 of the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ 9.0 9.1 Amnesty International (11 April 2002). The International Criminal Court — a historic development in the fight for justice เก็บถาวร 2007-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ Article 11 of the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ ข้อ 27 แห่งธรรมนูญกรุงโรมว่า
"ข้อ 27 อำนาจหน้าที่ทางราชการนั้นไม่เป็นประเด็น
1. ธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลทั้งปวงอย่างเท่าเทียมกัน โดยปราศจากข้อแตกต่างใด ๆ เพราะเหตุแห่งอำนาจหน้าที่ทางราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจหน้าที่ทางราชการในฐานะประมุขแห่งรัฐหรือรัฐบาล สมาชิกรัฐบาลหรือรัฐสภา ผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หรือข้าราชการนั้น ย่อมไม่เป็นเครื่องคุ้มบุคคลให้พ้นจากความรับผิดชอบทางอาญาตามธรรมนูญนี้ กับทั้งไม่เป็นเหตุสำหรับลดโทษอยู่ในตัว ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม
2. ความคุ้มกันก็ดี หรือระเบียบวิธีสบัญญัติพิเศษก็ดี ซึ่งอาจยังให้บุคคลเกิดมีอำนาจหน้าที่ทางราชการ ไม่ว่าตามกฎหมายภายในประเทศหรือระหว่างประเทศนั้น ย่อมไม่เป็นที่กีดกันศาลมิให้ใช้อำนาจชำระบุคคลเช่นว่า
Article 27 of the Rome Statute:
"Article 27 Irrelevance of official capacity
1. This Statute shall apply equally to all persons without any distinction based on official capacity. In particular, official capacity as a Head of State or Government, a member of a Government or parliament, an elected representative or a government official shall in no case exempt a person from criminal responsibility under this Statute, nor shall it, in and of itself, constitute a ground for reduction of sentence.
2. Immunities or special procedural rules which may attach to the official capacity of a person, whether under national or international law, shall not bar the Court from exercising its jurisdiction over such a person.
- ↑ ทยวรรณ เทพพิทักษ์ศักดิ์ (2546). มาตรา 27 แห่งธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศกับผลทางกฎหมาย [Article 27 of the 1998 Rome Statute of the International Criminal Court and its legal effect]. กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ↑ War on drugs returns to bite Thaksin, Bangkok Post, 2006-11-23
- ↑ International Criminal Court (2007). The States Parties to the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ UN News Centre, 17 March 2008. Madagascar ratifies statute establishing International Criminal Court. Accessed 20 March 2008.
- ↑ Article 18 of the 1969 Vienna Convention on the Law of Treaties. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ John R Bolton (6 May 2002). International Criminal Court: Letter to UN Secretary General Kofi Annan. US Department of State. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ Brett D. Schaefer (9 January 2001). Overturning Clinton's Midnight Action on the International Criminal Court เก็บถาวร 2009-08-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. The Heritage Foundation. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ 19.0 19.1 Article 121 of the Rome Statute. Retrieved on 31 January 2008.
- ↑ Assembly of States Parties (14 December 2007). Resolution: Strengthening the International Criminal Court and the Assembly of States PartiesPDF (310 KiB). Retrieved on 31 January 2008.
ดูเพิ่ม
[แก้]- กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ. (2547). คำแปลธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ. กรุงเทพฯ: เอราวัณการพิมพ์. ISBN 974-7709-10-4.
- Antonio Cassese, Paola Gaeta & John R.W.D. Jones (eds.), The Rome Statute of the International Criminal Court: A Commentary. Oxford: Oxford University Press (2002). ISBN 978-0-19-829862-5.
- Roy S Lee (ed.), The International Criminal Court: The Making of the Rome Statute. The Hague: Kluwer Law International (1999). ISBN 90-411-1212-X.
- Roy S Lee & Hakan Friman (eds.), The International Criminal Court: Elements of Crimes and Rules of Procedure and Evidence. Ardsley, NY: Transnational Publishers (2001). ISBN 1-57105-209-7.
- William A Schabas, An Introduction to the International Criminal Court (2nd ed.). Cambridge: Cambridge University Press (2004). ISBN 0-521-01149-3.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- (อังกฤษ) ธรรมนูญกรุงโรม เก็บถาวร 2013-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- (อังกฤษ) ธรรมนูญกรุงโรม — องค์การสหประชาชาติ
- (อังกฤษ) เว็บไซต์ของศาลอาญาระหว่างประเทศ