ทองประศรี
นางทองประศรี | |
---|---|
ตัวละครใน ขุนช้างขุนแผน | |
แสดงโดย | ปวีณา ชารีฟสกุล |
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง | |
เพศ | หญิง |
คู่สมรส | ขุนไกรพลพ่าย |
บุตร | ขุนแผน |
ญาติ | กุมารทอง (หลานชาย) พลายงาม (หลานชาย) พลายณรงค์ (หลานชาย) พลายชุมพล (หลานชาย) พลายเพชร (เหลนชาย) พลายบัว (เหลนชาย) พลายยง (เหลนชาย) |
ศาสนา | ศาสนาพุทธ |
บ้านเกิด | บ้านวัดตะไกร กาญจนบุรี |
สัญชาติ | กรุงศรีอยุธยา |
นางทองประศรีเป็นชื่อตัวละครหญิงตัวสำคัญซึ่งมีบทบาทตั้งแต่ต้นจนจบในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน โดยเป็นภริยาของข้าราชการทหารชื่อขุนไกรพลพ่ายและเป็นมารดาของพลายแก้ว นางทองประศรีนั้นเป็นตัวอย่างของหญิงไทยแต่โบราณซึ่งมีความรู้ความสามารถและช่วยเหลือส่งเสริมผู้อื่นให้เป็นคนดี ซึ่งตรงกันข้ามกับนางศรีประจันมารดาของนางวันทอง
ประวัติ
[แก้]พื้นเพ
[แก้]นางทองประศรีนั้นเดิมเป็นชาวบ้านวัดตะไกร จังหวัดกาญจนบุรี พบรักกับข้าราชการทหารสังกัดกรมอาทมาตชื่อขุนไกรพลพ่ายซึ่งเป็นชาวจังหวัดเดียวกัน และเมื่อสมรสแล้วก็ย้ายไปอยู่กับสามีที่บ้านพลับ จังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งสองมีบุตรชายเพียงคนเดียวชื่อ "พลายแก้ว" ทั้งนี้ นางทองประศรีเคยเป็นข้าหลวงเก่าก่อนออกมาสมรส
ด้านเศรษฐกิจของครอบครัวนางประศรีนั้นมีฐานะมั่งมีพอสมควร โดยศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า[1]
ครอบครัวของขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมนั้นปรากฏว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี ร่ำรวย มีทั้งทรัพย์และผู้คนไว้ใช้สอยทุกครอบครัว ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้าราชการสมัยนั้นไม่มีกฎบังคับว่าต้องอุทิศเวลาทั้ง 24 ชั่วโมงให้แก่ทางราชการ แต่มีสิทธิที่จะทำมาหากินในทางส่วนตัวได้ จึงสามารถสร้างฐานะของตนให้ดีได้ตาม ๆ กัน คติที่ว่ามีทางทำมาหากินให้ร่ำรวยได้ในราชการนั้น ถึงในปัจจุบันนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่หมดไป
การทำหน้าที่เป็นแม่
[แก้]การถึงแก่กรรมของสามี
[แก้]ต่อมาขุนไกรพลพ่ายต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิต ในคืนที่ขุนไกรพลพ่ายอาศัยอยู่บ้านครั้งสุดท้ายนั้น นางทองประศรีฝันร้ายเป็นลางบอกเหตุว่าฟันของตนร่วงจากปาก ฝันเช่นนี้เชื่อกันว่าเป็นฝันร้ายนักเพราะถ้าใครฝันแล้ว บิดา มารดา สามี หรือภรรยาของผู้ฝันนั้นจะถึงแก่ความตาย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า[2]
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแปลก ผมเองเป็นคนไม่ค่อยจะเชื่อถือในโชคลางแต่อย่างใดเลย โดยเฉพาะเรื่องฝันนั้นถ้าจะว่าไปก็เกือบฝันไม่เป็น และถ้าเกิดฝันขึ้นแล้วก็มักจะจำไม่ได้เมื่อตื่นขึ้น...แต่ในคืนก่อนที่พ่อผมจะตายนั้น ผมจำได้เป็นแน่นอนว่า ผมฝันว่าฟันผมยุ่ยเป็นแป้งไปทั้งปากจนไม่มีเหลือ พอตื่นขึ้นในรุ่งเช้าวันนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมงพ่อผมก็ตาย
เนื่องจากมากการต้องโทษประหารชีวิต ขุนไกรพลพ่ายจึงถูกริบทรัพย์สินเงินทองตลอดจนข้าทาสบริวารและสมาชิกในครอบครัวทั้งปวงเข้าเป็นของหลวง นางทองประศรีจึงหลบหนีไปกับพลายแก้วพร้อมด้วยเงินสองถุง ไปตั้งตัวใหม่อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีโดยมีญาติของสามีซึ่งพำนักอยู่ที่ตำบลเขาชนไก่เป็นที่พึ่งพา
การศึกษาของลูก
[แก้]นางทองประศรีได้เริ่มกิจการค้าขายและกลับมีฐานะดีอีกครั้ง จนลูกชายอายุได้สิบห้าปีจึงพาไปบวชเป็นสามเณรเพื่อให้ศึกษาหาความรู้อยู่ที่วัดส้มใหญ่โดยมีสมภารบุญเป็นอาจารย์ ต่อมาเณรแก้วเดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อศึกษาเพิ่มเติมกับสมภารมีที่วัดป่าเลไลย์ และสมภารคง วัดแค
การแต่งงานของลูก
[แก้]กระทั่งในที่สุดเณรแก้วก็ลาจากอาจารย์เพื่อแต่งงาน นางทองประศรีก็ขัดไม่ได้ก็ยอมไปสู่ขอนางพิมพิลาไลยให้แก่ลูก โดยนางสั่งให้จัดตั้งกระบวนใหญ่เดินทางจากบ้านของนางคือจังหวัดกาญจนบุรีไปยังบ้านของนางศรีประจันที่จังหวัดสุพรรณบุรี กระบวนนางทองประศรีครั้งนี้ประกอบด้วยผู้คนมากมายยิ่ง ขนข้าวของขึ้นเกวียนเทียมควายหลายเล่ม นางทองประศรีนั้นนั่งเกวียนมาเล่มหนึ่ง พลายแก้วนั่งอีกเล่มหนึ่ง บ่าวไพร่ที่ติดสอยห้อยตามมามีจำนวนถึงห้าสิบคน ทั้งนี้ เพราะเมื่อไปถึงบ้านนางศรีประจันแล้วจะมีการงานมากเหตุว่าสมัยนั้นมิได้มีโรงแรม ครั้นไปถึงจังหวัดสุพรรณบุรีแล้วนางทองประศรีก็สั่งให้ผู้คนจัดสร้างที่พัก โดยให้บ่าวไพร่ตัดไม้มาทำโรงถึงห้าหลังอยู่ในทุ่งท้ายสวนของนางศรีประจันนั้นเอง แล้วนางทองประศรีก็เข้าอยู่ที่ในนั้น
สำหรับการขอบุตรสาว เป็นประเพณีที่มารดาของฝ่ายชายจะไปเพียงคนเดียวไม่ได้ เพราะไม่สมศักดิ์ศรีดูไปคล้ายว่าฝ่ายหญิงไม่มีราคา นางทองประศรีจึงเรียกผู้ใหฯมาสี่คนซึ่งล้วนแต่เป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงกันทั้งนั้น ในจำนวนนี้เป็นชายสูงอายุสองคนและหญิงสูงอายุอีกสองคน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ไว้ในหนังสือ "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่" ว่า[3]
...พอถึงหน้าบ้านนางศรีประจัน คนแก่ทั้ง 5 คนนั้นก็ทำอะไรอย่างหนึ่งซึ่งความจริงก็ไม่ใช่ประเพณีหรือวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใด แต่เป็นกิจการที่คนไทยก็ยังทำกันมาถึงทุกวันนี้
ครู่หนึ่งถึงบ้านศรีประจัน แกตัวสั่นร้องเรียกให้ดูหมา
ทุกวันนี้ก็ยังกลัวหมากันอยู่
การทำหน้าที่เป็นย่า
[แก้]การพบกับหลาน
[แก้]เมื่อพลายแก้วทำความดีความชอบถึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ "ขุนแผนแสนสะท้าน" จนกระทั่งตกอับต้องติดคุก นางทองประศรีก็คงทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง และยังต้องเลี้ยงหลานชายคือพลายงามซึ่งหนีภัยพ่อเลี้ยงคือขุนช้างมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี
พลายงามนั้นเมื่อหนีขุนช้างมาจากสุพรรณบุรีก็เที่ยวถามทางเรื่อยไปว่าบ้านนางทองประศรีอยู่แห่งไหน เสภาขุนช้างขุนแผนว่า
ไม่รู้ความถามเหล่าพวกชาวบ้าน | ว่าเรือนท่านทองประศรีอยู่ที่ไหน |
เด็กบ้านนอกบอกเล่าให้เข้าใจ | แกอยู่ไร่โน้นแน่ยังแลลับ |
มะยมใหญ่ในบ้านกินหวานนัก | กูไปลักบ่อยแกคอยจับ |
พอฉวยได้ไอ้ขิกหยิกเสียยับ | ร้ายเหมือนกับผีเสื้อแกเหลือตัว |
ถ้าลูกใครไปเล่นแกเห็นเข้า | แกจับเอานมยานฟัดกบาลหัว |
มาถามหาว่าไรช่างไม่กลัว | แกจับตัวตีตายยายนมยาน |
นางทองประศรีนั้น ในวันที่พลายงามสืบได้ว่าบ้านย่าของตนอยู่ถิ่นไหนและเดินทางมาถึง กำลังนั่งเฝ้าต้นมะยมของตนและเล็งเห็นพลายงามเดินเข้ามาพอดี ก็นึกว่าเป็นเด็กซุกซนทั้งหลายที่จ้องจะมาขโมยมะยม จึงฉวยไม้ตะบองแอบหลังแล้วย่องเข้ามา พลายงามเห็นเข้าก็สะดุ้งบอกว่ามิได้เข้ามาขโมยมะยม แต่ตนนั้นเป็นหลานชายจริง ๆ นางทองประศรีจึงชี้หน้าไปว่าอย่าได้แอบอ้างเป็นหลาน ไหนเป็นหลานก็เข้ามาใกล้ ๆ ย่าหน่อย ย่าจะให้ไม้ตะบองให้หนำใจ พลายงามนึกในใจว่าจะกลัวอันใดกับย่าของตนจึงกระโจนเข้าไปกราบเท้า นางทองประศรีก็หวดตะบองเข้าดังผึง กระทั่งสังเกตได้ว่าเด็กชายคนนี้มีเค้าเหมือนบุตรของตนจึงระลึกได้ว่าเป็นหลายชาย ความตอนนี้เสภาว่า
เจ้าพลายงามคร้ามพรั่นขยั้นหยุด | ความกลัวสุดแสนกลัวตัวเป็นหนู |
จึงว่าฉานหลานดอกบอกให้รู้ | อันอยู่ที่เมืองสุพรรณบ้านวันทอง |
ทองประศรีชี้หน้าว่าอุเหม่ | อ้ายเจ้าเล่ห์หลานข้ามันน่าถอง |
มาเถิดมาย่าจะให้ไม้ตะบอง | แกคอยจ้องจะทำให้หนำใจ |
เจ้าพลายงามความกลัวจนตัวสั่น | หยุดขยั้นอยู่ไม่กล้าลงมาได้ |
แล้วนึกว่าย่าตัวกลัวอะไร | โจนลงไปกราบย่าที่ฝ่าตีน |
ทองประศรีตีหลังเสียงดังผึง | จะมัดขึงกูไม่ปรับเอาทรัพย์สิน |
มาแต่ไหนลูกไทยหรือลูกจีน | เฝ้าลักปีนมะยมห่มหักราน |
เจ้าพลายน้อยคอยหลบแล้วนบนอบ | ฉันเจ็บบอบแล้วย่าเมตตาหลาน |
ข้าเป็นลูกพ่อขุนแผนแสนสะท้าน | ข้างฝ่ายมารดาชื่อแม่วันทอง |
จะมาหาย่าชื่อทองประศรี | อย่าเพ่อตีฉันจะเล่าความเศร้าหมอง |
ย่าเขม่นเห็นจริงทิ้งตะบอง | กอดประคองรับขวัญกลั้นน้ำตา |
แล้วด่าตัวชั่วเหลือไม่เชื่อเจ้า | ขืนตีเอาหลานรักเป็นหนักหนา |
จนหัวห้อยพลอยนอพ่อนี่นา | แล้วพามาขึ้นเรือนเตือนยายปลี |
ช่วยฝนไพลให้เหลวเร็วเร็วเข้า | อีเปลเอาขันล้างหน้าออกมานี่ |
แกตักน้ำร่ำรดหมดราคี | ช่วยขัดสีโซมขมิ้นสิ้นเป็นชาม |
แล้วทาไพลให้หลานสงสารเหลือ | มานั่งเสื่อลันไตปราศรัยถาม |
เจ้าชื่อไรใครบอกออกเนื้อความ | จึงได้ตามขึ้นมาถึงย่ายาย |
เมื่อพลายงามเล่าความหลังให้ฟังจนสิ้นแล้ว นางทองประศรีก็โกรธแค้นขุนช้างยิ่งนัก
ทองประศรีตีอกชกผางผาง | ทุดอ้ายช้างชาติข้าอ้ายหน้าขน |
ลูกอีเฒ่าเทพทองคลองน้ำชน | จะฆ่าคนเสียทั้งเป็นไม่เอ็นดู |
ทำราวเจ้าชีวิตกูคิดฟ้อง | ให้มันต้องโทษกรณฑ์จนอ่อนหู |
แกบ่นว่าด่าร่ำออกพร่ำพรู | พ่อมาอยู่บ้านย่าแล้วอย่ากลัว |
แม้นอ้ายขุนวุ่นมาว่าเป็นลูก | มันมิถูกนมยานฟัดกระบาลหัว |
พลางเรียกอีไหมที่ในครัว | เอาแกงคั่วข้าวปลามาให้กิน |
พอบ่ายเบี่ยงเสียงละว้าพวกข้าบ่าว | ทั้งมอญลาวเลิกนาเข้ามาสิ้น |
บ้างสุมไฟใส่ควันกันยุงริ้น | ตามถิ่นบ้านนอกอยู่คอกนา |
ตอนนางทองประศรีพบกับหลานชายนี้ กระทรวงศึกษาธิการจัดให้เป็นบทเรียนสำหรับนักเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับช่วงชั้นที่ 3 ปีที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 3)
การเป็นครูของหลาน
[แก้]นางทองประศรีนั้นนอกจากเป็นผู้ดีเก่าและเป็นข้าหลวงเก่าแห่งราชสำนักแล้ว ยังมีความรู้ความสามารถมากมายซึ่งหายากในหญิงทั่วไปที่รู้แต่การบ้านการเรือน กล่าวคือ นางทองประศรียังจัดเจนในด้านการพาณิชย์ เศรษฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ทั้งไทยและขอม ตลอดจนด้านการศาสนา ไปจนถึงรู้คาถาอาคมเวทมนตร์ต่าง ๆ รู้การอยู่ยงคงกระพันชาตรี การเลี้ยงผีเลี้ยงภูต และเสกเป่านานาเป็นต้น เฉกเช่นเดียวกับขุนแผนผู้เป็นบุตร ทั้งนี้ พึงทราบว่าสังคมไทยแต่ก่อนนั้นใช้อักษรขอมจารึกเอกสารหลักฐานสำคัญ ๆ เช่น พระไตรปิฎก และตำราต่าง ๆ ไว้ทั้งสิ้น
สำหรับวิชาการที่นางทองประศรีรู้นั้นก็สอนสั่งให้หลานชายทั้งหมด เสภาขุนช้างขุนแผนว่ารายละเอียดเกี่ยวกับวิชาการของนางทองประศรีดังต่อไปนี้
อันเรื่องราวกล่าวความพลายงามน้อย | ค่อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี |
ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี | เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนตร์ |
ปัถมังตั้งตัวนะปัดตลอด | แล้วถอนถอดถูกต้องเป็นล่องหน |
หัวใจกริดอิทธิเจเสน่ห์กล | แล้วเล่ามนตร์เสกขมิ้นกินน้ำมัน |
เข้าในห้องลองวิชาประสาเด็ก | แทงจนเหล็กแหลมลู่ยู่ขยั้น |
มหาทะมืนยืนยงคงกระพัน | ทั้งเลขยันตร์ลากเหมือนไม่เคลื่อนคลาย |
แล้วทำตัวหัวใจปิติโส | สะเดาะโซ่ตรวนได้ดังใจหมาย |
สะกดคนมนตร์จังงังกำบังกาย | เมฆฉายสูรย์จันทร์ขยันดี |
ทั้งเรียนธรรมกรรมฐานนิพพานสูตร | ร้องเรียกภูตพรายปราบกำราบผี |
ผูกพยนต์หุ่นหญ้าเข้าราวี | ทองประศรีสอนหลานชำนาญมา |
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายถึงการที่นางทองประศรีมีความรู้ความสามารถมากมายว่า "...น่าจะถามว่า ครูทองประศรีไปรู้วิชาเหล่านี้มาจากไหน ก็เห็นจะตอบได้ว่า เมื่อก่อนขุนแผนจะประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ ต้องจากบ้านไปนั้น ขุนแผนไปฝากสรรพตำราของตนไว้กับมารดา และระหว่างที่ขุนแผนหายไป ทองประศรีไม่มีอะไรจะทำ ก็คงอ่านตำราขุนแผนนั้นเองเป็นการหาความรู้ให้ทันลูก แล้วก็เลยรู้เอาจริง ๆ จนสอนหลานฝห้มีความเชี่ยวชาญในทางนั้นได้"[4]
จนพลายงามเติบโตอายุได้สิบห้าปี นางทองประศรีได้ทำหน้าที่ประดุจเป็นพ่อและแม่จนกระทั่งเป็นครูของหลานชาย ในที่สุดพลายงามอาสาและทำความดีความชอบจนได้เป็นที่ "จมื่นไวยวรนาถ" และได้รับพระราชทานบ้านเรือที่ทางและภริยา นางทองประศรีจึงได้ติดตามหลานชายมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา กับทั้งยังได้ขอหลานชายอีกคนหนึ่งจากขุนแผนและนางแก้วกิริยาคือพลายชุมพลมาเลี้ยงดู จนที่สุดพลายชุมพลก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหลวงนายฤทธิ์และได้รับพระราชทานที่อยู่เช่นเดียวกับพี่ชาย
คุณค่าของตัวละคร
[แก้]ราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญนางทองประศรีว่า[5]
นางทองประศรีเป็นตัวละครที่มีบทบาทตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง และเป็นตัวอย่างของหญิงไทยโบราณที่มีความรู้ความสามารถช่วยตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี ถึงจะมีเคราะห์กรรมครั้งแล้วครั้งเล่า นางทองประศรีก็สามารถดำรงชีวิตให้มีความสุขได้พอสมควร และยังได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะแม่ที่ดีจนถึงย่าที่ดียิ่งอีกด้วย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 179.
- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 182.
- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 221.
- ↑ คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 340.
- ↑ วัชรี รมยะนันทน์. (2516-2517). "ทองประศรี". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 13 : ตัวสงกรานต์-ทะนาน). ปราณบุรี : โรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ. หน้า 8426-8427.