ข้ามไปเนื้อหา

พระสุธน มโนราห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระสุธน มโนราห์ หรือในละครโทรทัศน์บางเวอร์ชันสะกดว่า พระสุธน มโนห์รา เป็น นิทานพื้นบ้านที่มีเค้าโครงเรื่องมาจากชาดกเรื่อง สุธนชาดก[1] ชาดกย่อยเรื่องหนึ่งใน ปัญญาสชาดก[2] โดยตัวละครเอกของเรื่องนี้คือเรื่อง พระสุธน โอรสของท้าวอาทิตยวงศ์แห่งเมืองอุดรบัญจาล ที่ออกผจญภัยเพื่อตามหา นางมโนราห์ ราชินีชาวกินรีที่หนีออกจากเมือง ตามคำสาปแช่งของนางมโนราห์ที่สาปแช่งไว้ในอดีตชาติ ครั้งที่กำเนิดเป็น พระรถเสน และ นางเมรี ซึ่งเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมที่นิยมมากในอดีต ซึ่งมีหลักฐานปรากฎว่าว่าถูกนำไปดัดแปลงเป็นการแสดงหลากหลายรูปแบบ เช่น ละครนอกในสมัยอยุธยา, ละครชาตรีในสมัยปัจจุบัน เป็นต้น

รูปแบบโครงเรื่อง

[แก้]

สมัยอยุธยา

[แก้]

จากที่มีบันทึกในหลักฐาน ระบุได้ว่าเรื่องพระสุธน มโนราห์ เป็นวรรณคดีที่เก่าแก่ นิยมเล่นกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาในรูปแบบ ละครนอก ซึ่งเนื้อหาต้นฉบับที่หลงเหลือมีไม่สมบูรณ์ ปรากฏหลักฐานเพียงแค่ บทละครเรื่อง มโนราห์ ตอน นางมโนราห์ถูกจับไปถวายพระสุธน ต้นฉบับที่หลงเหลือนี้ถูกจัดพิมพ์ขึ้นมาใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2462[3] ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก จนต่อมาได้มีการดัดแปลงไปแสดงในเมืองนครศรีธรรมราช โดยขุนศรัทธา ได้นำเอาแบบแผนของการแสดงละครนอกลงไปดัดแปลง และแสดงออกเป็นละครอีกรูปแบบหนึ่ง เรียกว่า ละครโนรา[4] ซึ่งมีเรื่องราวเริ่มต้นตั้งแต่นางเทพกินรี มเหสีของท้าวทุมพร เจ้าเมืองกินรา พระมารดาของนางมโนราห์ฝันและโหรทำนายฝันว่านางมโนราห์ พระธิดาองค์ที่ 7 ซึ่งเป็นองค์สุดท้องกำลังมีเคราะห์ร้าย ห้ามไปเล่นน้ำที่สระ แต่นางมโนราห์ไม่เชื่อฟัง นางเทพกินรีจึงยึดปีกหางมาเก็บไว้ แต่นางมโนราห์กับพี่ ๆ ก็ขโมยปีกหางมาได้ และพากันไปเล่นน้ำในสระ แม้นางมโนราห์จะระแวงภัยในตอนแรก แต่ในที่สุดก็ยอมถอดปีกถอดหาง ลงเล่นน้ำตามคำชวนของพี่ ๆ ฝ่ายพรานบุญซึ่งมาคอยซุ่มดูอยู่ ก็ใช้บ่วงนาคโยนลงไปเป็นงูรัดเท้านางมโนราห์ไว้ พี่ ๆ ทั้ง 6 นางไม่สามารถช่วยได้ จึงสวมปีกหางบินหนีกลับเมืองไปทูลเรื่องราวแก่พระบิดาและพระมารดา นางมโนราห์พยายามอ้อนวอนและหลอกล่อพรานบุญให้คืนปีกหางของนางแต่ก็ไม่สำเร็จ ต่อจากนั้นพรานบุญก็พานางไปถวายพระสุธน ระหว่างทางนางสำนึกถึงความผิดที่ไม่เชื่อฟังคำตักเตือนของพระมารดา

สมัยรัตนโกสินทร์

[แก้]

จากที่มีบันทึกในหลักฐาน ระบุได้ว่าเรื่องพระสุธน มโนราห์ ถูกนำมาแสดงในภาคกลาง ในรูปแบบละครชาตรี ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีพื้นฐานเค้าโครงรูปแบบการแสดงมาจากละครนอกของภาคกลาง ผสมกับการแสดงโนราห์ของภาคใต้ ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคสมัยนั้น[5] ซึ่งต่อมาในยุคสมัยปัจจุบันนี้ ความนิยมเริ่มลดน้อยถอยลงไป ในปี พ.ศ. 2498 กรมศิลปากร จึงได้แต่งเค้าโครงเรื่องขึ้นใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการแสดง เช่น ตอน พระสุธนเลือกคู่, ตอน มโนห์ราบูชายัญ-ลุยไฟ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ยังจัดการแสดงอยู่เสมอในทุก ๆ ปี[6] จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2531 สถานีวิทยุโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 (ปัจจุบันคือช่อง 7HD) ได้นำเค้าโครงเรื่องมาดัดแปลงแล้วสร้างเป็นละครโทรทัศน์แนวจักร ๆ วงศ์ ๆ ทำให้วรรณคดีเรื่องนี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

เนื้อเรื่อง

[แก้]

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีราชอาณาจักรที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งชื่อว่า "นครอุดรปัญจาล" ปกครองโดยกษัตริย์ผู้ทรงอยู่ในทศพิธราชธรรมทรงพระนามว่า "ท้าวอาทิตยวงศ์" พระองค์มีพระมเหสีทรงพระนามว่า "จันทาเทวี" ซึ่งต่อมาได้ประสูติพระโอรสพระนามว่า "พระสุธน" เมื่อพระกุมารเจริญวัยขึ้นก็มีความเฉลียวฉลาดและพระรูปโฉมงดงาม ยากที่จะหาราชกุมารในแว่นแคว้นอื่นเทียบเคียงได้ ครั้งนั้นมีพญานาคราชตนหนึ่งมีนามว่า "ท้าวชมพูจิตนาคราช" มีฤทธิ์อำนาจมากสามารถนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่อาณาจักรใดก็ได้ พญานาคราชเห็นพระเจ้าอาทิตย์วงศ์เป็นพระราชาที่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมจึงบันดาลให้เมืองปัญจาลนครอุดมสมบูรณ์มีฝนตกต้องตามฤดูกาล หากแต่เมืองที่มีอาณาเขตติดต่อกับปัญจาลนครคือ เมืองนครมหาปัญจาละซึ่งปกครองโดยพระราชาที่ไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม พระนามว่า "พระเจ้านันทราช" และจากการที่ทรงปกครองด้วยการกดขี่อาณาประชาราษฏร์นี้เองจึงทำให้อาณาจักรของพระองค์ ประสบกับความแห้งแล้งข้าวยากหมากแพง เพื่อหนีจากความยากเย็นแสนเข็นนี้บรรดาประชาราษฏร์จึงพากันอพยพไปอาศัยอยู่ในเมืองปัญจาลนคร ทำให้พระเจ้านันทราชมีจิตริษยาพระเจ้าอาทิตยวงศ์เป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็แค้นเคืองท้าวชมพูจิตนาคราชด้วย เพราะเข้าใจว่ามีใจลำเอียง ในขณะบันดาลให้ฝนฟ้าตกบนพื้นโลก กลับดลบันดาลให้ตกที่เมืองอุดรปัญจาลฝ่ายเดียว เพื่อล้างแค้นท้าวชมพูจิต พระเจ้านันทราชจึงให้ปุโรหิต ออกไปรับอาสาไปหาผู้ที่สามารถฆ่าพญานาคได้ และแล้วก็ได้พราหมณ์เฒ่าผู้ซึ่งมีมนต์วิเศษสูงกว่าพญานาคราชมาปราบพญานาค ด้วยอำนาจแห่งมนต์วิเศษของพราหมณ์ ท้าวชมพูจิตเกิดความรุ่มร้อนเหมือนถูกไฟเผาจึงต้องขึ้นจากสระ แล้วแปลงกายเป็นพราหมณ์หนุ่มเพราะรู้ตัวว่าอันตรายได้เข้ามาใกล้ตนแล้ว แม้ตัวเองจะมีฤทธิ์เดชแต่ก็หาต้านทานพราหมณ์เฒ่าได้ไม่ ดังนั้นจึงคิดหาทางทำลายพิธีของพราหมณ์ผู้มีจิตคิดกำจัดตน ในขณะเดินไปมาอยู่ในป่า ท้าวชมพูจิตในร่างของพราหมณ์หนุ่มก็พบกับพรานป่าผู้หนึ่งชื่อพรานบุญกำลังออกป่าล่าสัตว์อยู่พอดีจึงเข้าไปทักทายและถามถึงบ้านเมืองของพรานผู้นั้น พรานป่าบอกว่าเขาเป็นชาวเมืองปัญจาลนครซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากเพราะได้รับความอนุเคราะห์จากพญานาคราช หากมีใครคิดจะทำอันตรายแก่พญานาคราชพรานป่า พรานจะฆ่าบุคคลผู้นั้นเสียในทันที ท้าวชมพูจิตดีใจมากที่ได้ยินเช่นนั้น จึงแสดงตนเป็นพญานาคราชและเล่าเรื่องภัยอันใหญ่หลวงให้พรานฟัง เพื่อทำลายพิธีของพราหมณ์เฒ่าเสีย พรานบุญจึงยิงเขาตายด้วยลูกธนู พญานาคราชดีใจมากและขอบคุณพรานบุญที่ได้ช่วยเหลือเขาไว้ แล้วก็ชวนพรานบุญไปเที่ยวชมนครใต้พิภพของเขา พญานาคราชสัญญาว่าจะช่วยเหลือเมื่อใดก็ตามที่พรานบุญ ร้องขอแล้วก็มอบสิ่งมีค่าให้พรานบุญไปมากมาย พรานบุญจึงอำลาพญานาคราชและใช้ชีวิตอยู่อย่างสบายแต่ก็ยังชอบล่าสัตว์อยู่

วันหนึ่งในขณะที่เดินทางเข้าไปป่าลึก ได้พบกับพระฤๅษีตนหนึ่งชื่อกัสสปะ ผู้ซึ่งเล่าเรื่องกินรีให้เขาฟัง โดยปกติหมู่กินรีจากเขาไกรลาสจะบินมาลงเล่นน้ำในสระโบกขรณีทุก ๆ 7 วัน เมื่อพรานบุญเห็นความงามของกินรีก็คิดจะจับนางกินรีสักนางหนึ่งไปถวายพระสุธนเพื่อเป็นของขวัญจากป่า แต่พระฤๅษีก็บอกเขาว่าไม่มีหนทางจะจับนางได้ นอกจากจะได้บ่วงบาศของพญานาคราชท้าวชมพูจิตเท่านั้น เพราะนางกินรีสามารถบินได้เร็ว พรานบุญจึงเดินทางไปพบท้าวชมพูจิตเพื่อขอยืมบ่วงบาศ ความจริงแล้วพญานาคราชไม่ต้องการให้พรานบุญขอยืมบ่วงบาศเพราะจะเป็นบาปแก่ตน แต่เพราะพรานบุญเคยช่วยชีวิตตนไว้ให้พ้นภัยจากพราหมณ์เฒ่า และได้ทราบจากการใช้มนต์วิเศษของตนตรวจสอบดูก็พบว่านางกินรีที่ชื่อว่ามโนห์ราและพระสุธนเป็นเนื้อคู่กัน พญานาคราชจึงยอมมอบให้ไป หลังจากได้บ่วงบาศจากท้าวชมพูจิตมาแล้ว พรานบุญก็สามารถจับมโนราห์ซึ่งเป็นธิดาองค์หนึ่งในบรรดาธิดาทั้ง 7 คนของท้าวทุมราชได้ (ท้าวทุมราชเป็นพระราชาปกครองเขาไกรลาส) นางมโนห์ราซึ่งเป็นน้องสุดท้องไม่สามารถหนีบ่วงบาศที่พรานบุญเหวี่ยงมาคล้องได้ พรานบุญนำนางไปยังปัญจาลนครและถวายพระสุธน ทันทีที่ทั้งคู่พบกันก็มีจิตรักใคร่ด้วยเคยเป็นคู่สร้างกันมาแต่ปางก่อน ทั้งพระราชาและพระราชินีเองก็มีความรักเอ็นดูนางเพราะนางมีพระสิริโฉมงดงามและการอบรมอย่างขัตติยนารีจึงจัดพิธีอภิเษกสมรสอย่างเอิกเกริกให้ทั้งสองพระองค์ พรานบุญเองก็ได้รับรางวัลอย่างงามเช่นกัน

ฝ่ายปุโรหิตโกรธมโนห์ราเพราะเขาเองต้องการให้บุตรสาวของตนอภิเษกสมรสกับพระสุธน แต่ว่าตอนนี้มโนราห์ได้ทำให้ความฝันของเขาสลายเสียแล้วจึงคอยโอกาสที่จะได้แก้แค้นนาง และแล้วก็แอบไปคบคิดวางแผนกับเจ้าเมืองปัจจันตนครให้ ยกทัพมาตีเมืองของตนและเพื่อขับไล่ผู้รุกราน ปุโรหิตจึงทูลเสนอให้พระสุธนยกกองทัพออกปกป้องพระนคร ด้วยวิธีนี้เขาก็จะได้มีโอกาสดีกำจัดมโนห์ราออกไปเสียให้พ้นทาง คืนวันหนึ่งพระเจ้าอาทิตยวงศ์ทรงสุบินว่ามียักษ์ตนหนึ่งเข้ามาในพระราชวังและพยายามจะควักเอาดวงพระทัยของพระองค์ พระองค์ก็ทรงสะดุ้งตื่นจากบรรทม ปุโรหิตเจ้าเล่ห์จึงได้โอกาสงามกำจัดมโนราห์ออกไปเสียให้พ้นทางของบุตรสาวตนเอง เขาจึงทำนายว่าข้าศึกจะเข้ามาในพระราชวังและประหารพระองค์เสีย ประชาชนจะพากันเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าและเมืองหลวงก็จะถูกเผาผลาญจนหมดสิ้น พระเจ้าอาทิตยวงศ์ทรงสดับดังนั้นก็ตกพระทัยจึงทรงรับ สั่งให้หาทางแก้ไขโดยด่วนปุโรหิตจึงกราบทูลว่า "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทดวงชะตาบ้านเมืองไม่ดีจะต้องใช้สัตว์สองเท้าและสี่เท้ามาทำพิธีสังเวยบูชายัญเพื่อ สะเดาะเคราะห์ บ้านเมืองจึงจะอยู่รอดปลอดภัยพระเจ้าข้า"

ในขณะเดียวกัน คนสนิทของปุโรหิตก็เข้ามากราบทูลพระราชาว่าทัพหลวงที่พระสุธนยกไปถูกข้าศึกตีพ่ายแพ้แล้ว เพื่อเป็นการปัดเป่าลางร้ายปุโรหิตจึงกราบทูลว่า ถ้าจะให้พิธีมีความศักดิ์สิทธิ์มายิ่งขึ้นจำเป็นต้องใช้สัตว์กึ่งมนุษย์กึ่งนกเช่นนางมโนราห์ก็จะเป็นการบูชายัญที่ดีเยี่ยม พระราชาและพระราชินีพยายามชักชวนให้ปุโรหิตเปลี่ยนไป ใช้สัตว์อื่นแทนที่จะใช้มโนราห์แต่เขาก็ยังยืนกรานเช่นเดิม ทั้งสองพระองค์รู้สึกสงสารมโนราห์เป็นอย่างยิ่ง และทรงคาดเดาไม่ถูกว่าพระโอรสจะรู้สึกเช่นไรเมื่อกลับจากทัพแล้วไม่พบภรรยาสุดที่รักของตน ในพิธีพระราชาทรงให้ก่อไฟตามที่ปุโรหิตเสนอ แล้วให้ทหารไปทูลเชิญนางมโนราห์มาเข้าพิธีบูชายัญ นางมโนราห์ผู้น่าสงสารได้แต่ร่ำไห้คร่ำครวญถึงพระบิดา พระมารดาของนางและพระสุธน บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ในขณะนั้นเองนางมโนราห์ได้สติและเกิดความคิดที่จะหนีจากการถูกกระทำอย่างไม่ยุติธรรมนี้ ดังนั้นนางจึงทูลขอพระราชาขอให้ได้รำถวายเป็นครั้งสุ ดท้าย เพราะนางเป็นกินรีผู้ซึ่งรักการร่ายรำ หลังจากที่พระราชาทรงอนุญาตแล้วนางจึงขอปีกและหางมาสวมใส่แล้วนางก็ออกร่ายรำด้วยท่วงท่าอันงดงามท่ามกลางฝูงชนอันเนืองแน่น ในขณะที่ทุกคนกำลังเพลิดเพลินอยู่กับการเฝ้าดูการร่ายรำอันงดงามอยู่นั้นเอง นางมโนห์ราก็ได้โอกาสหนีโดยถลาบินขึ้นสู่ท้องฟ้าและบ่ายหน้าไปยังภูเขาไกรลาส ท่ามกลางความตกตะลึกของฝูงชนนั้นเอง

หลังจากชนะศึกแล้วพระสุธนก็ยกทัพกลับพระนครแต่ก็ต้องมาพบว่าภรรยาสุดที่รักของพระองค์ไม่ได้อยู่ในพระนครอีกต่อไปแล้ว พระองค์มีความเศร้าโศกอย่างสุดซึ้งและหลังจากทราบความจริงก็สั่งให้ประหารชีวิตปุโรหิตเสียในข้อหาทรยศ แล้วก็ทูลลาพระบิดาและพระมารดาออกตามหานางมโนราห์ แม้ว่าทั้งสองพระองค์จะพยายามทัดทานประการใดก็ไม่เป็นผล พระสุธนยืนกรานที่จะเสด็จไปเพราะตนไม่อาจจะมีชีวิตอยู่โดยปราศจากนางมโนราห์ได้ พระสุธนให้พรานบุญนำนางไปจนถึงสระโบกขรณีและได้เข้าไปนมัสการพระฤๅษี พระฤๅษีทูลให้พระองค์ทราบว่า นางมโนราห์ได้แวะมาหาตนและได้สั่งไว้ว่า หากพระองค์เดินทางออกตามหานางก็ให้ล้มเลิกเสียเพราะว่าหนทางลำบากมากและอันตราย แล้วพระฤๅษีก็มอบผ้ากัมพลกับแหวนให้พระสุธนไปตามที่นางมโนราห์ขอร้องไว้ เมื่อได้เห็นของสองสิ่งพระสุธนถึงกับร่ำไห้ พระฤๅษีรู้สึกสงสารพระสุธนและบอกพระองค์ว่านี้เป็นผลบุญกรรมแห่งอดีตชาติจึงทำให้ทั้งคู่ต้องพลัดพรากจากกัน แล้วก็มอบผลยาวิเศษให้พร้อมกับชี้ทางให้พระสุธน

พระสุธนออกเดินทางเพียงลำพังโดยไม่ต้องการความช่วยเหลือของพรานบุญ ผ่านป่าทึบซึ่งมนุษย์ไม่สามารถจะผ่านไปได้ ซึ่งมีผลไม้มากมายซึ่งล้วนแล้วแต่มีพิษ ด้วยความช่วยเหลือของลูกลิง พระสุธนก็จะเสวยผลไม้ที่ลูกลิงกินได้เท่านั้น เมื่อมาถึงป่าหวายซึ่งไม่สามารถจะผ่านไปได้เพราะล้วนแต่มีหนามพิษ พระสุธนจึงใช้ผ้ากัมพลห่มแล้วนอนนิ่ง ๆ ขณะนั้นนกหัสดีลิงค์เข้าใจว่าพระสุธนเป็นอาหารจึงคาบ พระองค์ไปไว้ในรังบนยอดไม้ก่อนที่จะบ่ายหน้าไปหาอาหารเพิ่มอีก พระสุธนได้โอกาสหนีแต่ก็หวั่นพระทัยว่าจะมีอะไรรออยู่เบื้องหน้าอีก หลังจากเดินทางมาพักหนึ่งก็ไม่สามารถจะไปต่อได้อีกเพราะมีภูเขายนต์สองลูกเคลื่อนเข้ากระทบกันตลอดเวลาโดยไม่เปิดช่องว่างให้พระองค์ข้ามไปอีกทางหนึ่งได้ แต่หลังจากร่ายมนต์ที่พระฤาษีให้พระองค์ก็สามารถข้ามไปโดยง่าย จากนั้นพระองค์ก็เดินทางมาถึงอีกป่าหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยพืชและสัตว์มีพิษ พระองค์จึงใช้ยาผงวิเศษชโลมกาย เมื่อผ่านป่าพิษแล้วก็มาพบที่อยู่ของนกยักษ์ พระองค์แอบอยู่ในโพรงไม้ใหญ่ต้นหนึ่งและรอเวลาค่ำ คืนนั้นนกผัวเมียคู่หนึ่งคุยกันถึงเรื่องการได้รับเชิญให้ไปร่วมพิธีล้างกลิ่นสาบมนุษย์ให้นางมโนราห์ ซึ่งจะมีขึ้นในวันรุ่งขึ้น พิธีนี้จัดให้มีขึ้นหลังจากมโนราห์กลับมาบ้านเมืองครบ 7 ปี 7 เดือน 7 วัน หลังจากได้ยินนกทั้งคู่สนทนากัน พระสุธนก็ปีนขึ้นไปในรังนกและซ่อนตัวอยู่ในขนนกตัวหนึ่งโดยรอเวลาให้นกไปยังภูเขาไกรลาส ครั้นนกมาถึงสวนก็เกาะบนต้นไม้พระสุธนจึงเร้นกายออกจากขนนกแล้วซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ พระองค์เห็นเหล่านางกินรีกำลังนำน้ำจากสระอโนดาตเพื่อไปสรงน้ำ นางมโนราห์จึงแอบเอาแหวนใส่ลงในหม้อน้ำ ขณะสรงน้ำนางมโนราห์เห็นแหวนก็จำได้ นางก็รู้ทันทีว่าพระสุธนได้มาถึงเขาไกรลาสแล้ว นางมีความยินดียิ่งนักและออกตามหาพระองค์ ในที่สุดทั้งคู่ก็ได้พบกัน มโนราห์พาพระสุธนเข้ามายังปราสาทของนาง ท้าวทุมราชทรงทราบข่าวและทรงเห็นใจที่พระสุธนมีความรักนางมโนราห์อย่างมาก มิฉะนั้นก็คงจะไม่เดินทางมาไกลท่ามกลางอันตรายนานับประการ พระองค์คิดว่าเจ้าชายหนุ่มผู้นี้จะต้องมีความเป็นอัจฉริยะและความสามารถเป็นพิเศษ แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ต้องทดสอบความรักที่พระสุธนมีต่อธิดาของพระองค์

ครั้นถึงวันทดสอบท้าวทุมราชรับสั่งให้นางกินรีพี่น้องทั้ง 7 ซึ่งมีรูปร่างสิริโฉมงดงามและคล้ายคลึงกันมากออกร่าย รำให้พระสุธนหาตัวนางมโนราห์ พระสุธนเองรู้สึกหนักใจมากเพราะทั้งหมดดูคล้ายคลึงกัน เพื่อให้ความรักของพระองค์สมหวัง พระอินทร์จึงลงมาช่วยโดยการกระซิบบอกว่าถ้านางใดมีแมลงวันทองบินมาจับที่ใบหน้านางนั้นคือพระชายาของพระองค์ พระสุธนยินดียิ่งนักและมองเห็นแมลงวันสีทองเกาะอยู่บนหน้าของมโนราห์จึงรีบดึงพระกรของนางมาทันที พระราชาและทุก ๆ คนต่างก็มีความยินดียิ่งนักที่ได้เห็นทั้งคู่สวมกอดกัน พิธีอภิเษกสมรสอย่างยิ่งใหญ่จึงจัดให้ทั้งสองพระองค์อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ที่มาบางแห่งก็กล่าวว่า พระสุธนจำนางมโนราห์ได้ก็เพราะพระองค์เห็นแหวนในนิ้วมือของนางและไม่ได้กล่าวถึงพระอินทร์มาช่วยแต่อย่างใดเลย แต่ถึงกระนั้น ทั้งสองพระองค์ก็ได้อยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ต้องพลัดพรากจากกันไปนาน หลังจัดพิธีอภิเษกสมรสแล้ว พระสุธนก็ทูลขอพระราชานุญาตจากท้าวทุมราชให้พระองค์และนางมโนราห์กลับไปเยี่ยมบ้านเมืองของพระองค์ ท้าวทุมราชทรงอนุญาตและร่วมเสด็จไปยังเมืองปัญจาลนคร ด้วย ท้าวทุมราชได้พบกับพระบิดาของพระสุธน กษัตริย์ทั้งสองทรงแลกเปลี่ยนของขวัญและร่วมเป็นพระสหายกันแต่บัดนั้น หลังจากประทับอยู่ในพระราชวัง 7 วันแล้ว ท้าวทุมราชลาธิดาของพระองค์และทุก ๆ คนเดินทางกลับพระนครของพระองค์ ภายหลังพระสุธนได้ขึ้นครองราชย์และใช้ชีวิตร่วมกับนางมโนราห์จนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์

การดัดแปลงในสื่ออื่น

[แก้]

ละครโทรทัศน์

[แก้]
ปี ผู้สร้าง นักแสดงหลัก ใช้ชื่อว่า
2531 บริษัท สามเศียร จำกัด ศักดิ์สิทธิ์ ทวีกุล, สินี หงษ์มานพ, วิทยา สุขดำรงค์, เกษริน พูนลาภ พระสุธน - มโนห์รา
2543 บริษัท สามเศียร จำกัด สพล ชนวีร์, มาติกา อรรถกรศิริโพธิ์, ประถมาภรณ์ รัตนภักดี, โอฬาร ชูชาญ พระสุธน - มโนห์รา
2563 บริษัท สามเศียร จำกัด พลพจน์ พูลนิล, กมลวรรณ ศตรัตพะยูน, เพชรฎี ศรีฤกษ์, กุสุมา ตันสกุล, โอภาภูมิ ชิตาพัณณ์ พระสุธน - มโนห์รา

อ้างอิง

[แก้]
  1. [นิทานเรื่องเล่า พระสุธน - มโนราห์ วรรณกรรมเลื่องชื่อในสมัยอยุธยา] จากเว๊ปไซต์ของ gotoknow.org
  2. วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา - นิทานปัญญาสชาดก - มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เก็บถาวร 2022-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว๊ปไซต์ของ ich.culture.go.th
  3. นางมโนราห์ - Thai Literature Directory : ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย จากเว๊ปไซต์ของ sac.or.th
  4. ละครนอก : รูปแบบของการแสดงละครใน - บ้านจอมยุทธ จากเว๊ปไซต์ของบ้านจอมยุทธ
  5. [พัฒนาการของละครชาตรี - TruePlookpanya พัฒนาการของละครชาตรี - TruePlookpanya] จากเว๊ปไซต์ของ ทรูปลูกปัญญา
  6. พัฒนาการของละครชาตรี[ลิงก์เสีย] จากเว๊ปไซต์ของsaranukromthai.or.th