ข้ามไปเนื้อหา

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 10

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 10
ธงพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อน ค.ศ. 1996
วันที่24–28 สิงหาคม ค.ศ. 1973 (4 วัน)
ที่ตั้งมหาศาลาประชาชน ปักกิ่ง ประเทศจีน
ผู้เข้าร่วมผู้แทน 1,249 คน
ผลการเลือกคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 10
การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 10
อักษรจีนตัวเต็ม中國共產黨第十次全國代表大會
อักษรจีนตัวย่อ中国共产党第十次全国代表大会
Abbreviated name
ภาษาจีน十大

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 10 (จีน: 中国共产党第十次全国代表大会) จัดขึ้น ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 24 ถึง 28 สิงหาคม ค.ศ. 1973 ผู้แทนจำนวน 1,249 คนเข้าร่วมประชุมในนามสมาชิกพรรคประมาณ 28 ล้านคน การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นต่อจากการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 9 และก่อนประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 11[1]

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของหลิน เปียว และในช่วงที่การปฏิวัติทางวัฒนธรรมยังคงดำเนินต่อไป และมีการเลือกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 10

รายละเอียดการประชุม

[แก้]

วันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1973 ก่อนการประชุม กรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีมติให้ระงับสมาชิกภาพในพรรคของหลิน เปียว, เย่ ฉฺวิน, หฺวาง หย่งเชิ่ง, อู๋ ฝ่าเซี่ยน, หลี่ จั้วเผิง และชิว ฮุ่ยจั้ว ไว้ชั่วคราว

การประชุมเปิดในวันที่ 24 สิงหาคม โดยมีเหมา เจ๋อตง เป็นประธานสมัยเปิดประชุม โจว เอินไหล กล่าวรายงานทางการเมือง และหวัง หงเหวิน รายงานเกี่ยวกับการแก้ไขธรรมนูญ เหมาและโจวเสนอให้มีการฟื้นฟูทางการเมืองแก่สมาชิกพรรคเก่า 13 คน เช่น ถาน เจิ้นหลิน และหลี จิ่งเฉวียน[ต้องการอ้างอิง]

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 10 ได้รับรองธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีนฉบับแก้ไข ซึ่งได้รับการรับรองโดยการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 9 มาแล้ว แม้จะมีการกำหนดให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบ้าง แต่บทบัญญัติในหมวดนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เช่น อุดมการณ์ชี้นำและหลักการพื้นฐานของพรรค ในร่างที่แก้ไขแล้ว มีเพียงการอภิปรายและหลักการที่เสนอหรือเกี่ยวข้องกับหลิน เปียวเท่านั้นที่ถูกลบออกไป

การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 10 ได้เลือกตั้งสมาชิกคณะกรรมาธิการกลาง 195 คน และสมาชิกสำรอง 124 คน โดยแก๊งออฟโฟร์เข้ามามีบทบาทสำคัญในคณะกรรมาธิการกลางและมีการฟื้นฟูอำนาจให้แก่บุคคลทางการเมืองที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในช่วงการปฏิวัติทางวัฒนธรรม ซึ่งรวมถึงหลี่ จั้วเผิง, เติ้งเสี่ยวผิง, หวัง เจี้ยเสียง และบุคคลสำคัญอื่น ๆ[2]

ความสำคัญของการประชุม

[แก้]

โครงสร้างอำนาจใหม่

[แก้]

การล่มสลายของหลิน เปียวและพวกพ้องใน ค.ศ. 1971 ทำให้เกิดตำแหน่งว่างจำนวนมากในพรรคและรัฐบาล จากกรมการเมืองที่มีสมาชิก 21 คน เหลือเพียง 10 คน และจากคณะกรรมาธิการสามัญที่มีสมาชิก 5 คน เหลือเพียง 3 คน คือ เหมา เจ๋อตง, โจว เอินไหล และคัง เชิง ที่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง[3] ดังนั้น การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 10 จึงได้ถูกจัดขึ้นเพื่อเลือกสมาชิกใหม่เข้ามาแทนที่ตำแหน่งที่ว่างและเพื่อประณามการกระทำของหลิน เปียว ในฐานะผู้ฉวยโอกาสฝ่ายขวาที่ "ชูธงแดงเพื่อปราบธงแดง"[3]

ระหว่างการประชุม แก๊งออฟโฟร์สามารถรักษาตำแหน่งได้โดยได้รับการสนับสนุนจากเหมา เจียง ชิง และเหยา เหวินยฺเหวียน ได้รับเลือกเข้าสู่กรมการเมือง จาง ชุนเฉียว เข้าสู่คณะกรรมาธิการสามัญฯ และหวังหงเหวิน ดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคคนที่ 2[3]

ความต่อเนื่องของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

[แก้]

หวัง หงเหวิน ได้ประกาศการทำลาย "สองสำนักงานใหญ่ของชนชั้นกลาง หนึ่งในนั้นนำโดยหลิว เช่าฉี และอีกหนึ่งโดยหลิน เปียว" ในคำปราศรัยเปิดตัวของเขาในระหว่างการประชุม[4] หวังเน้นย้ำจิตวิญญาณปฏิวัติที่กล้าที่จะสวนกระแสและความสำคัญของการฝึกอบรมผู้นำรุ่นเยาว์ เมื่ออนาคตของประเทศอยู่ในกำมือของคนหนุ่มสาว การต่อสู้และการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องจะเป็นเครื่องหมายสำคัญในชีวิตการเมืองของจีน[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "党史百科--党史频道--人民网". dangshi.people.com.cn. สืบค้นเมื่อ 2016-11-04.
  2. "中国共产党第十次全国代表大会新闻公报". Archives of the CCP's National Congress. Communist Party of China. สืบค้นเมื่อ 4 November 2016.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Hsu, Immanuel (2000). The Rise of Modern China (Sixth ed.). New York: Oxford University Press. pp. 715–717. ISBN 978-0-19-512504-7.
  4. Michael, Schoenhals (2015). China's Cultural Revolution, 1966-69: Not a Dinner Party. New York: Routledge. p. 297. ISBN 978-1-56324-736-1.