ข้ามไปเนื้อหา

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 9

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 9
วันที่1–24 เมษายน ค.ศ. 1969 (24 วัน)
ที่ตั้งมหาศาลาประชาชน ปักกิ่ง ประเทศจีน
ผู้เข้าร่วมผู้แทน 1,152 คน
ผลการเลือกคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 9
การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 9
อักษรจีนตัวเต็ม中國共產黨第九次全國代表大會
อักษรจีนตัวย่อ中国共产党第九次全国代表大会
Abbreviated name
ภาษาจีน九大

การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 9 (จีน: 中国共产党第九次全国代表大会) จัดขึ้น ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 1 ถึง 24 เมษายน ค.ศ. 1969 มีผู้แทน 1,512 คนเข้าร่วมประชุมในนามสมาชิกพรรคประมาณ 22 ล้านคน

เป็นเวลานานหลังจากการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 8 คณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้นในช่วงที่การปฏิวัติทางวัฒนธรรมกำลังรุนแรงที่สุด และถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยน การประชุมได้ให้การรับรองอย่างเป็นทางการในการกวาดล้างทางการเมืองต่อหลิว เช่าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิง และได้ยกระดับพันธมิตรหัวรุนแรงของเหมาขึ้นสู่อำนาจ นอกจากนี้ การประชุมยังได้เลือกคณะกรรมาธิการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 9 ต่อมาได้มีการจัดการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 10

การประชุม

[แก้]
เหมา เจ๋อตง และหลิน เปียว ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 9

หลิน เปียว ได้กล่าวรายงานทางการเมืองที่สำคัญในการประชุม รายงานฉบับนี้ยกย่องแนวคิดการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องของเหมาที่ว่าชนชั้นกระฎุมพียังคงพยายามฟื้นฟูระบอบทุนนิยมแม้จะถูกโค่นจากอำนาจไปแล้ว และการพยายามนั้นควรถูกการปราบปรามล่วงหน้า สุนทรพจน์ของหลินได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องจากผู้เข้าร่วมประชุม และถูกขัดจังหวะด้วยการตะโกนคำขวัญบ้างเป็นระยะ การประชุมได้ติดฉลากให้หลิว เช่าฉีเป็น "ตัวอย่างของชนชั้นกระฎุมพี"

มีผู้แทนเข้าร่วมการประชุม 1,512 คน แม้ว่าจะไม่ใช่สมาชิกพรรคทั้งหมดก็ตาม ส่วนหนึ่งที่สำคัญประกอบด้วยกลุ่มยุวชนแดง และมีจำนวนผู้แทนจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลายคนในกลุ่มนี้มีความภักดีต่อหลิน เปียว[1]

ในการประชุมครั้งนี้ อุดมการณ์ "ปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง" ของเหมาได้ถูกบรรจุลงในธรรมนูญพรรค และหลิน เปียวได้รับแต่งตั้งให้เป็น "สหายร่วมอุดมการณ์และผู้สืบอำนาจของท่านประธานเหมา"[2]: 142 

สำนักเลขาธิการกลางและคณะกรรมการควบคุมส่วนกลาง (องค์กรก่อนหน้าคณะกรรมการสอบวินัยส่วนกลาง) ถูกยุบเลิกในการประชุมครั้งนี้ การประชุมได้เลือกสมาชิกเต็มตัว 170 คนและสมาชิกสำรองอีก 109 คนของคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 9 ในบรรดาสมาชิกเต็มตัวและสำรองเหล่านี้ มีเพียง 53 คนเท่านั้นที่เคยอยู่ในคณะกรรมาธิการกลางชุดที่ 8 การเปลี่ยนแปลงสมาชิกในองค์กรสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งใหญ่ถึงร้อยละ 82 นั้น สะท้อนถึงความพยายามอย่างเข้มข้นในการ "ชะล้าง" กลุ่มบุคคลภายในพรรคที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรมก่อนหน้านี้

ผลที่ตามมา

[แก้]

หลังเติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 1978 การประชุมครั้งนี้ก็ถูกตัดสินว่า "ไม่ถูกต้องทั้งทางอุดมการณ์ การเมือง และองค์กร ทิศทางชี้นำที่การประชุมกำหนดไว้โดยรวมแล้วผิดพลาด" ส่วนหนึ่งของอนุสาวรีย์ "ชัยชนะแห่งความคิดของเหมา เจ๋อตงจงเจริญ" นั้นประกอบด้วยกลุ่มทหารและพลเรือนที่กำลังเผยแพร่คำขวัญของการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 9[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. MacFarquhar, Roderick; Schoenhals, Michael (2006). Mao's Last Revolution. Cambridge: Belknap Press of Harvard University Press. ISBN 0-674-02332-3.
  2. Hammond, Ken (2023). China's Revolution and the Quest for a Socialist Future. New York, NY: 1804 Books. ISBN 9781736850084.
  3. Chinese Literature. Foreign Languages Press., 1971. pp. 132–133