ข้ามไปเนื้อหา

ราชาธิราช

หน้าถูกกึ่งป้องกัน
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Razadarit Ayedawbon)

ราชาธิราช
ผู้ประพันธ์เจ้าพนักงานอาลักษณ์ของอาณาจักรหงสาวดี
ชื่อเรื่องต้นฉบับရာဇာဓိရာဇ် အရေးတော်ပုံ
Razadarit Ayedawbon
ผู้แปลพญาทะละ
เจ้าพระยาพระคลัง (หน)
ประเทศอาณาจักรพม่า
ภาษามอญ (ต้นฉบับ)
พม่า
ไทย
ประเภทบันทึกเหตุการณ์
วันที่พิมพ์ราว พ.ศ. 2100
พ.ศ. 2328 (ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง)

ราชาธิราช หรือชื่อในภาษาพม่า ยาซาดะริต อเยดอว์บอง (พม่า: ရာဇာဓိရာဇ် အရေးတော်ပုံ) เป็นชื่อของบันทึกเหตุการณ์พม่า ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยประวัติศาสตร์ของอาณาจักรหงสาวดีของชาวมอญตั้งแต่ พ.ศ. 1830 — พ.ศ. 1964 รายละเอียดภายในบันทึกประกอบด้วยเรื่องราวของความขัดแย้งภายในราชสำนัก การกบฏ เรื่องราวทางการทูต การสงคราม เป็นต้น เนื้อหาประมาณกึ่งหนึ่งของเรื่องอุทิศพื้นที่ให้กับรัชกาลของพระเจ้าราชาธิราช โดยลงลึกในรายละเอียดของสงครามสี่สิบปีระหว่างกรุงหงสาวดีของมอญกับกรุงอังวะของพม่า ภายใต้การนำของพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องและพระมหาอุปราชมังรายกะยอชวา[1]

ต้นฉบับของเรื่องราชาธิราชฉบับภาษาพม่ามาจากพงศาวดารภาษามอญเรื่อง "พงศาวดารกรุงหงสาวดี" ("Hanthawaddy Chronicle") และได้รับการแปลเป็นภาษาพม่าโดยพญาทะละ เสนาบดีและกวีชาวมอญซึ่งรับราชการในอาณาจักรพม่าสมัยราชวงศ์ตองอู นับได้ว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับชาวมอญในดินแดนพม่าตอนล่างที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่หลงเหลืออยู่[2] และอาจเป็นพงศาวดารมอญเพียงฉบับเดียวที่เหลือรอดจากการเผาทำลายเมืองพะโค (หงสาวดี) โดยกบฏชาวมอญภายใต้การนำของอดีตขุนนางในอาณาจักรหงสาวดีในปี พ.ศ. 2107[3]

สำเนาใบลานของเรื่องราชาธิราชฉบับพญาทะละปัจจุบันเหลือรอดมาเพียง 4 ชุด สันนิษฐานว่าทำขึ้นในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 23 (คริสต์ศตวรรษที่ 18) นอกจากนี้ยังมีฉบับแปลฉบับอื่นๆ อยู่อีก รวมทั้งสิ้น 9 ฉบับ ตามการวิเคราะห์โดยนายปันหละเมื่อปี พ.ศ. 2511[2] นายปันหละได้แปลราชาธิราชฉบับหนึ่งกลับเป็นภาษามอญเมื่อปี พ.ศ. 2501 และเรียบเรียงเรื่องราชาธิราชขึ้นใหม่อีก 1 ฉบับเป็นภาษาพม่า (นับเป็นราชาธิราชฉบับที่ 10) โดยสังเคราะห์ข้อมูลจากราชาธิราชฉบับพญาทละ ฉบับ "ปากลัด"[4] และจากมหาราชวงศ์ ฉบับหอแก้ว รวมทั้งอาศัยข้อมูลเพิ่มเติมจากการวิจัยสมัยใหม่[5]

ราชาธิราชฉบับภาษาไทย

พงศาวดารเรื่องราชาธิราชได้มีการแปลจากฉบับภาษามอญเป็นภาษาไทยครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งฉบับแปลครั้งแรกนั้นได้สูญหายไปเมื่อกรุงศรีอยุธยาล่มสลายในปี พ.ศ. 2310 ต่อมาในปี พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระราชดำริว่า หนังสือเรื่องราชาธิราชเป็นหนังสือดี เคยได้รับการยกย่องมาแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแปลและเรียบเรียงใหม่ โดยมีเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นแม่กองกำกับการแปล ร่วมกับพระยาอินทรอัครราช พระภิรมรัศมี และพระศรีภูริปรีชา ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ เมื่อ พ.ศ. 2423

เนื้อหาของราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีความแตกต่างจากราชาธิราชฉบับภาษาพม่าของพญาทะละอยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ คือ

  1. เนื้อหาของราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มีความยาวมากกว่าฉบับของพญาทะละ โดยฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ดำเนินเนื้อเรื่องตั้งแต่เรื่องกำเนิดมะกะโท ไปจนจบเรื่องที่พระเจ้าธรรมเจดีย์ ถวายพระเพลิงพระบรมศพของ ตะละนางพระยาท้าว ส่วนฉบับพญาทละเดินเรื่องตั้งแต่กำเนิดมะกะโทจบเพียงถึงตอนพระเจ้าราชาธิราชสวรรคตเท่านั้น
  2. ช่วงเวลาสวรรคตของพระเจ้าราชาธิราชกับพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องในราชาธิราชทั้งสองฉบับมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ราชาธิราชฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ระบุว่าพระเจ้าราชาธิราชเสด็จสวรรคตก่อนพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ส่วนฉบับพญาทะละระบุว่าพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องเสด็จสวรรคตก่อนพระเจ้าราชาธิราช

ราชาธิราชภาคภาษาไทยฉบับอื่นๆ

อ้างอิง

  1. Thaw Kaung 2010: 29–30
  2. 2.0 2.1 Aung-Thwin 2005: 133–135
  3. Harvey 1925: xviii
  4. ราชาธิราชฉบับปากลัด เป็นราชาธิราชฉบับภาษามอญซึ่งพิมพ์ในประเทศไทย ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์วัดแค อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยจัดพิมพ์เป็นชุด 2 เล่มต่อเนื่องกัน เมื่อ พ.ศ. 2453 และ 2455 - ดูเพิ่มเติมที่ องค์ บรรจุน. "ราชาธิราชฉบับภาษามอญ" http://blogazine.in.th/blogs/ong/post/2611 เก็บถาวร 2014-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เผยแพร่ 29 ตุลาคม 2552. อ้างเมื่อ 20 ตุลาคม 2556.
  5. Pan Hla 1968: 3–4

บรรณานุกรม

  • Aung-Thwin, Michael A. (2005). The Mists of Rāmañña: The Legend that was Lower Burma (illustrated ed.). Honolulu: University of Hawai'i Press. ISBN 9780824828868.
  • Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824. London: Frank Cass & Co. Ltd.
  • Pan Hla, Nai (1968). Razadarit Ayedawbon (ภาษาพม่า) (8th printing, 2004 ed.). Yangon: Armanthit Sarpay.
  • Thaw Kaung, U (2010). Aspects of Myanmar History and Culture. Yangon: Gangaw Myaing.

แหล่งข้อมูลอื่น