เสือโคร่ง
เสือโคร่ง ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: Early Pleistocene – Present | |
---|---|
เสือโคร่งเบงกอลเพศเมีย ในเขตอนุรักษ์เสือคันฮา, อินเดีย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม |
อันดับ: | สัตว์กินเนื้อ |
อันดับย่อย: | เฟลิฟอเมีย |
วงศ์: | เสือและแมว |
สกุล: | สกุลแพนเทอรา (Linnaeus, 1758)[2] |
สปีชีส์: | Panthera tigris |
ชื่อทวินาม | |
Panthera tigris (Linnaeus, 1758)[2] | |
ชนิดย่อย | |
การกระจายพันธุ์ของเสือโคร่ง ณ ปี 2565 | |
ชื่อพ้อง[3] | |
เสือโคร่ง หรือ เสือลายพาดกลอน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอันดับสัตว์กินเนื้อ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Panthera tigris ในวงศ์ Felidae จัดเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ และเป็นเสือชนิดที่ใหญ่ที่สุดด้วย เสือโคร่งถือเป็นนักล่าระดับสูงสุดของโซ่อาหาร โดยทั่วไปแล้วอาหารหลักของเสือโคร่งคือสัตว์กีบเท้า เช่น กวางหรือหมูป่า เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่รักสันโดษมักมีพฤติกรรมการล่าเหยื่อเพียงลำพัง แต่ต้องการถิ่นที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่เพื่อหาอาหารและเลี้ยงลูก โดยเสือแรกเกิดจะอยู่กับแม่ประมาณสองปีก่อนจะแยกตัวออกไปตั้งถิ่นฐานของตัวเอง
เสือโคร่งได้รับการจำแนกสายพันธุ์ครั้งแรกใน ค.ศ. 1758 โดยครั้งหนึ่งเคยอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นตั้งแต่ทางตะวันออกของอานาโตเลีย ไปจนถึงทางตะวันออกของแม่น้ำอามูร์ รวมถึงทางใต้ของเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงหมู่เกาะซุนดา ทว่านับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งอย่างน้อย 93% ได้ถูกคุกคามในภูมิภาคเอเชียตะวันตกและเอเชียกลาง หมู่เกาะชวาและบาหลี และในพื้นที่ขนาดใหญ่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และจีน โดยในปัจจุบัน เสือโคร่งขยายพันธุ์และอาศัยในป่าเขตอบอุ่นของไซบีเรียไปจนถึงป่ากึ่งเขตร้อนและป่าเขตร้อนในอนุทวีปอินเดีย อินโดจีน และสุมาตรา
เสือโคร่งถูกระบุในบัญชีสัตว์ชนิดใกล้สูญพันธุ์ในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น[4][5] จากการประมาณการใน ค.ศ. 2015 คาดว่าประชากรทั่วโลกเหลือเพียง 3,062 ถึง 3,948 ตัว ในปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรเสือโคร่งมากที่สุด[6] สาเหตุหลักที่ทำให้เสือโคร่งลดจำนวนลงอย่างมาก ได้แก่ การรุกล้ำและการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย รวมถึงการล่าโดยมนุษย์[7] เสือโคร่งยังเป็นเหยื่อของความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่า (Human–wildlife conflict) โดยเฉพาะในประเทศที่มีพื้นที่ห่างไกลซึ่งมีประชากรหนาแน่น[8][9]
เสือโคร่งเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีเสน่ห์ดึงดูดและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก มีอิทธิพลในตำนานและนิทานพื้นบ้านในวัฒนธรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ และยังปรากฏในภาพยนตร์และวรรณกรรมสมัยใหม่[10] โดยมักปรากฏบนธง เสื้อผ้า และตัวนำโชคสำหรับทีมกีฬา เสือโคร่งยังถือเป็นสัตว์ประจำชาติของอินเดีย[11] บังกลาเทศ มาเลเซีย และเกาหลีใต้[12]
ที่มาของชื่อ
[แก้]ชื่อ Tigre ซึ่งเป็นคำภาษาอังกฤษสมัยกลาง และ Tigras ซึ่งเป็นคำในภาษาอังกฤษเก่า เชื่อว่าทั้งสองคำมาจากการแผลงคำในภาษาฝรั่งเศสเก่า Tigre และภาษาละติน Tigris ซึ่งเป็นการยืมคำมาจากภาษากรีกโบราณ τίγρις หมายถึง เสือ และยังสื่อถึงแม่น้ำไทกริส[13] และยังมีการตั้งสมมติฐานว่าคำว่า Tiger ที่ใช้กันในปัจจุบันอาจมีที่มาจากภาษาเปอร์เซีย Tigra ซึ่งแปลว่า "แหลม หรือ คม" รวมถึงภาษาอเวสตะ Tigrhi ซึ่งหมายถึง "ลูกศร" โดยเชื่อกันว่าผู้คนในยุคนั้นใช้เรียกเสือโคร่งเนื่องจากพฤติกรรมการเคลื่อนที่และการกระโดดที่ว่องไว แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าทั้งสองคำนี้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับเสือโคร่งโดยตรง[14]
ในส่วนของชื่อสามัญของเสือโคร่ง Panthera มาจากคำภาษาละติน panthera และคำภาษากรีกโบราณ πάνθηρ และภาษาสันสกฤตคำว่า पाण्डर pāṇḍ-ara ซึ่งทั้งหมดมีความหมายว่า "เหลืองซีด และ ขาวซีด"[15]
กายภาพและลักษณะ
[แก้]เสือโคร่งมีโครโมโซมจำนวน 38 โครโมโซม (2 N = 38) มีความยาวโดยเฉลี่ยจากหัวไปจนถึงโคนหาง 1.4–2.8 เมตร หางยาว 60–95 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 130–260 กิโลกรัม มีขนลำตัวสีน้ำตาลเหลืองหรือเหลืองอมส้ม มีลายสีดำ พาดขวางตลอดทั้งลำตัวเป็นจุดเด่น ซึ่งลายเส้นนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เสือโคร่งแต่ละตัวจะมีลายไม่เหมือนกันเช่นเดียวกับลายนิ้วมือของมนุษย์ ส่วนหางมีแถบดำเป็นบั้ง ๆ หรือวงสีดำสลับน้ำตาล ปลายหางมีสีดำ โดยไม่มีพู่เหมือนสิงโต (Panthera leo) ซึ่งเป็นสัตว์ในสกุลเดียวกัน หางของเสือโคร่งมีความยาวประมาณครึ่งหนึ่งของลำตัว ใช้สำหรับการทรงตัวโดยเฉพาะเวลากลับตัวกระทันหัน นอกจากนี้แล้วการขยับของหางเสือโคร่งยังสามารถใช้บ่งบอกถึงอารมณ์ ความรู้สึกเหมือนกับแมวบ้าน (Felis catus) ใช้ในการสื่อสารกับเสือโคร่งตัวอื่น[16] ขนใต้คาง คอ และใต้ท้องเป็นสีขาว ขนเหนือบริเวณตาเป็นสีขาวหรือเป็นแถบหรือเส้นสีดำพาดขวางเช่นกัน หลังใบหูมีสีดำและมีจุดสีขาวนวลอยู่ตรงกลาง อายุโดยเฉลี่ย 15–20 ปี
พฤติกรรม
[แก้]เสือโคร่งมีพฤติกรรมและอุปนิสัยชอบอยู่เพียงลำพังตัวเดียวโดด ๆ ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์จึงจะจับคู่กัน อายุที่พร้อมจะผสมพันธุ์ได้นั้นคือ 3–5 ปี โดยตัวเมียจะเป็นสัดทุก ๆ 50 วัน และจะส่งเสียงร้องดังขึ้น ๆ และถี่ขึ้นเรื่อย ๆ การผสมพันธุ์ของเสือโคร่งนั้นใช้เวลาเร็วมาก คือ ใช้เวลาเพียง 15 วินาทีเท่านั้น เมื่อเสร็จแล้วตัวผู้จะแยกจากไป และอาจไปผสมพันธุ์กับตัวเมียตัวอื่น ตัวเมียที่ปฏิสนธิแล้วจะตั้งท้องนานประมาณ 105–110 วัน คลอดลูกครั้งละ 1-6 ตัว และจะเลี้ยงลูกเองตามลำพังโดยไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ประมาณ 2 ปี
ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบสลับกับทุ่งหญ้าโล่ง ชอบว่ายน้ำและแช่น้ำมาก ซึ่งแตกต่างจากเสือสายพันธุ์อื่น ล่าเหยื่อได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่ในเวลากลางวันจะนอนพักผ่อน ล่าเหยื่อในเวลาเย็น พลบค่ำ กลางคืน หรือขณะที่อากาศไม่ร้อนจัด มีสายตาที่มองเห็นได้ทั้งที่มืดและสว่าง จะคืบคลานเข้าหาเหยื่อในระยะใกล้ 10–25 เมตร จนกระทั่งได้ระยะ 2–5 เมตร จึงกระโดดใส่ หากเป็นเหยื่อขนาดเล็กจะกัดที่คอหอย หากเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น เก้ง หรือ กวาง จะกัดที่ท้ายทอยหรือหลังด้านบน และอาจจะล่าได้ถึงช้าง ในตัวที่เป็นยังลูกช้างหรือยังเป็นช้างที่ยังเล็กอยู่ โดยเสือโคร่งตัวที่ล่าช้างได้ ต้องเป็นเสือที่มีความเฉลียวฉลาดและพละกำลังพอสมควร จึงจะสามารถล่อลูกช้างให้พลัดออกจากโขลงได้ และเมื่อฆ่าจะกัดเข้าที่ลำคอเพื่อให้ตัดหลอดลมให้ขาด ซึ่งช้างตัวอื่น ๆ จะไม่กล้าเข้าไปช่วยได้แต่ยืนดูอยู่ห่าง ๆ และส่งเสียงร้อง เสือโคร่งจะยังไม่กินช้างหมดภายในทีเดียว แต่จะเก็บหรือทิ้งซากไว้และกลับมากินเรื่อย ๆ ในระยะเวลา 7–10 วัน[17] เสือโคร่งวิ่งได้เร็วกว่า 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถกระโจนในระยะทาง 500 เมตรได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที[18]
เสือโคร่งมักจะกัดที่คอหอยเหยื่อจากทางด้านบนหรือด้านล่าง บางทีกระโดดตะปบหลังและตะปบขาหลังเหยื่อให้ล้มลงก่อนที่จะกัดคอหอย และเมื่อได้เหยื่อแล้ว จะเริ่มกินเนื้อบริเวณคอก่อน แล้วจึงมากินที่ท้องและกล้ามเนื้อหลัง โดยมักจะไม่กินหัวและขาของเหยื่อ เหยื่อที่เหลือจะถูกฝังกลบโดยใช้ใบไม้ หรือกิ่งไม้ หรือเศษหญ้า และตัวเสือโคร่งเองจะหลบนอนอบู่บริเวณใกล้ ๆ นั้น และบางตัวอาจคาบเหยื่อขึ้นไปขัดไว้ตามคบไม้เหมือนเสือดาว (P. pardus) ด้วยก็ได้ เสือโคร่งมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรงมาก สามารถตามเหยื่อได้ไกลถึง 100–200 เมตร เพศผู้มีพื้นที่ในการหากินกว้างถึง 200–300 ตารางกิโลเมตร ขณะที่ตัวเมียมีเพียง 60 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น เพื่อเลี้ยงตัวเองและลูกน้อย
นิสัยปกติจะหวงถิ่น โดยการหันก้นปัสสาวะรดตามต้นไม้ โขดหิน เพื่อให้กลิ่นของตนเองติดอยู่ เพื่อประกาศอาณาเขตและสื่อสารกับเสือโคร่งตัวอื่น ซึ่งกลิ่นใหม่จะมีกลิ่นค่อนข้างหอม[16] ในบางครั้งอาจจะข่วนเล็บกับเปลือกไม้ด้วยเพื่อเป็นการลับเล็บและประกาศอาณาเขต หากมีเสือโคร่งตัวอื่นหรือสัตว์อื่นที่มีขนาดใหญ่รุกล้ำมา จะต่อสู้กัน โดยปกติแล้ว เสือโคร่งจะกลัวมนุษย์ จะหลบหนีไปเมื่อพบกับมนุษย์ แต่จะทำร้ายหรือกินเนื้อมนุษย์ได้ เมื่อบาดเจ็บหรือจนตรอก หรือเป็นเสือที่อายุมากแล้วไม่สามารถล่าเหยื่อชนิดอื่นได้ หากได้กินเนื้อมนุษย์ก็จะติดใจและจะกลับมากินอีก จนกลายเป็นเสือกินคน[19]
การแพร่กระจายพันธุ์
[แก้]เสือโคร่งกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในทวีปเอเชีย ตั้งแต่เอเชียตะวันออกจนถึงตะวันออกกลาง เป็นสัตว์ที่ปรับตัวให้อยู่ในภูมิประเทศต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี แม้แต่ในพื้นที่หนาวเย็นอย่างไซบีเรีย หรือแห้งแล้งเป็นทะเลทราย อีกทั้งยังอยู่ได้ตามเกาะแก่งกลางทะเลอีกด้วย หากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีรายงานว่า เสือโคร่งสามารถว่ายน้ำข้ามไปมาระหว่างเกาะต่าง ๆ ได้ด้วย
ปัจจุบัน ปริมาณเสือโคร่งในธรรมชาติในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจำนวน 3,890 ตัว กระจายทั่วไปใน 13 ประเทศของทวีปเอเชีย ได้แก่ บังกลาเทศ, ภูฏาน, กัมพูชา, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, เนปาล, รัสเซีย, เวียดนาม และไทย[20] สำหรับในประเทศไทยมีราว 250 ตัว ส่วนใหญ่กระจายพันธุ์อยู่ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และผืนป่าตะวันตก เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร, อุทยานแห่งชาติแม่วงก์, อุทยานแห่งชาติคลองลาน[21] รวมถึงอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา ที่มีปริมาณรองลงมา ส่วนป่าแถบอื่นพบน้อยมาก[20]
รูปแบบสี
[แก้]เสือโคร่งดำเป็นเสือโคร่งที่มีสีดำ เป็นที่กล่าวถึงมาเป็นเวลาช้านาน แต่ยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัดว่ามีอยู่จริงหรือไม่ เพราะขาดหลักฐานที่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตามยังมีรายงานพบเห็นตัวอยู่นาน ๆ ครั้ง หลักฐานหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดคือการพบหนังเสือโคร่งดำในขณะที่มีการจับกุมการค้าหนังสัตว์เถื่อนที่เดลฮีในปี 2535 หนังผืนนั้นมีสีดำสนิทที่บริเวณกระหม่อมและกลางหลัง และค่อย ๆ จางลงไล่ลงมาตามข้างลำตัวจนถึงสุดแถบ หนังผืนนั้นไม่ได้เกิดจากความปกติของเม็ดสีแบบเมลานิซึมอย่างที่พบในเสือดำหรือจากัวร์ดำหรือเสือชนิดอื่น ๆ ซึ่งดำปลอดทั้งตัว แต่เชื่อว่าเป็นลักษณะของยีนอากูตี ซึ่งทำให้แถบดำเชื่อมต่อกัน ตัวอย่างของเสือที่มีลักษณะแบบนี้เคยมีผู้ถ่ายภาพได้ในอุทยานแห่งชาติกันนาของอินเดีย
เสือโคร่งขาวหรือเสือเบงกอลขาว มีรูปร่างเหมือนเสือโคร่งปรกติ แต่มีขนพื้นสีขาวและลายสีน้ำตาลเข้ม ม่านตาสีฟ้า เป็นเสือโคร่งที่คุ้นตาผู้คนมาก สามารถพบได้ในสวนสัตว์เกือบทุกแห่งรวมทั้งสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ในเมืองไทย แต่อย่างไรก็ตามเสือโคร่งขาวได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของอินเดียแล้ว ตัวสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นเป็นลูกเสือตัวผู้ที่ถูกจับได้มาจากรีวา ในตอนกลางของอินเดียโดยมหาราชาแห่งรีวาในปี พ.ศ. 2494 มีชื่อว่า โมฮัน เสือโคร่งขาวเกือบทั้งหมดที่อยู่ในสวนสัตว์และแหล่งเพาะเลี้ยงต่าง ๆ ทั่วโลกในปัจจุบันล้วนแต่เป็นลูกหลานของโมฮันทั้งสิ้น
เสือโคร่งขาวไม่ใช่เสือโคร่งเผือกแท้ แต่เป็นอาการผิดปรกติที่ผิวหนังมีจำนวนเม็ดสีน้อย เสือโคร่งขาวลำตัวมีพื้นสีขาวปลอดและมีลายพาดกลอนเป็นสีน้ำตาลและมีตาสีฟ้า ซึ่งเรียกว่า chinchilla mutation
ชนิดย่อย
[แก้]เสือโคร่งนั้นจากการที่มีจำนวนประชากรกระจายอยู่ทั่วทวีปเอเชีย ทำให้มีชนิดย่อยมากถึง 9 ชนิดด้วยกัน แต่สูญพันธุ์ไปแล้วถึง 3 ชนิด ส่วนที่เหลือก็อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์ในขั้นวิกฤตแทบทั้งสิ้น
โดยในแต่ละชนิดย่อยนั้น จะแตกต่างกันที่ขนาดรูปร่างและลวดลายบนลำตัว แต่พฤติกรรมและนิเวศวิทยาจะไม่แตกต่างกันมากนัก
ชื่อภาษาไทย | ลักษณะ | สถานที่พบ | สถานะ |
เสือโคร่งไซบีเรีย | เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยตัวผู้ที่โตเต็มที่อาจยาวได้ถึง 3 เมตร หนักได้กว่า 300 กิโลกรัม | ไซบีเรีย, บางส่วนของจีนที่ติดกับรัสเซีย และบางส่วนของเกาหลีเหนือ | ปัจจุบันคาดว่ามีเหลืออยู่ในธรรมชาติราว 500–600 ตัว |
เสือโคร่งเบงกอล | เป็นชนิดที่ขนาดใหญ่รองลงมา เป็นสายพันธุ์ที่มีปริมาณประชากรเหลือมากที่สุด และนิยมเลี้ยงกันตามสวนสัตว์เนื่องจากมีนิสัยดุร้ายน้อยที่สุด | เอเชียใต้และบางส่วนของพม่า | ประมาณ 2,000 ตัว ในธรรมชาติ |
เสือโคร่งอินโดจีน | เป็นชนิดที่แยกออกมาจากชนิดเบงกอล มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย | บางส่วนของพม่าที่ติดต่อกับไทย, สูญพันธุ์ไปแล้วจากตอนใต้ของจีน และภูมิภาคอินโดจีน | ประมาณ 280–330 ตัวในธรรมชาติ |
เสือโคร่งสุมาตรา | เป็นชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุดที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ | พบได้เฉพาะบนเกาะสุมาตราที่เดียวเท่านั้น | ประมาณ 350 ตัวในธรรมชาติ |
เสือโคร่งจีนใต้ | เป็นชนิดที่มีลวดลายน้อยและมีสีสันอ่อนที่สุด | พบในประเทศจีนทางตอนใต้ | ประมาณ 30 ตัวในธรรมชาติ จัดเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุด |
เสือโคร่งแคสเปียน | เป็นชนิดที่มีขนาดใหญ่ มีลักษณะใกล้เคียงกับชนิดไซบีเรีย | พบตั้งแต่ที่ราบสูงแมนจูเรีย, เอเชียกลาง ไปจนถึงตะวันออกกลาง และอาจมีประชากรบางส่วนในซูดานหรืออียิปต์ด้วย | สูญพันธุ์ไปแล้ว |
เสือโคร่งชวา | เป็นหนึ่งในสามชนิดที่พบได้ในอินโดนีเซีย | พบเฉพาะบนเกาะชวาเท่านั้น | สูญพันธุ์ไปแล้ว |
เสือโคร่งบาหลี | เคยเป็นชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุด | พบเฉพาะบนเกาะบาหลีเท่านั้น | สูญพันธุ์ไปแล้ว |
เสือโคร่งมลายู | เป็นชนิดที่ถูกแยกออกมาจากชนิดอินโดจีน โดยเฉลี่ยแล้วมีรูปร่างที่เล็กกว่าเล็กน้อย | พบเฉพาะบนคาบสมุทรมลายู | 150–200 ตัว ในธรรมชาติ |
ต้นกำเนิด
[แก้]ในอดีตเคยมีเสือโคร่งอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากยังมีป่าไม้และทุ่งหญ้าอุดมสมบูรณ์ อันเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือโคร่ง อาณาเขตของมันพบได้ไกลถึงชายฝั่งมหาสมุทรอาร์กติก ซึ่งแสดงถึงอาณาเขตที่กว้างขวางกว่าในปัจจุบันมาก ด้วยอุปนิสัยของเสือโคร่งที่เป็นสัตว์ขี้ร้อน ชอบอยู่กับน้ำและอาศัยอยู่ในป่าลึกที่เย็นชื้นในเวลากลางวัน ก็อาจทำให้สันนิษฐานได้ว่าเสือโคร่งมีต้นกำเนิดมาจากแดนที่หนาวเย็น
จากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์โดยเฮมเมอร์ ในปี 2530 และ มาซัค ในปี 2526 สันนิษฐานว่าเสือโคร่งมีต้นกำเนิดจากเอเชียตะวันออก และเริ่มกระจายพันธุ์ออกไปเป็นสองเส้นทางหลัก ๆ เมื่อราวสองล้านปีก่อน ทางตะวันตกเฉียงเหนือเสือโคร่งค่อย ๆ ย้ายถิ่นไปตามลำน้ำและป่าไม้ลงมาทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางใต้และตะวันตกเฉียงใต้ เสือโคร่งแพร่พันธุ์ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางส่วนไปหมู่เกาะอินโดนีเซีย และบางส่วนไปถึงอินเดีย แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้เป็นลูกหลานโดยตรงมาจากบรรพบุรุษเสือโคร่ง ซึ่งเคยอยู่ในพื้นที่เดียวกันมาก่อน เสือโคร่งพันธุ์จีนใต้มีลักษณะของกะโหลกที่แตกต่างจากพันธุ์อื่นอย่างเด่นชัด เช่นกะโหลกที่สั้น และเบ้าตาที่ชิดกันและชี้ตรงไปข้างหน้ามากกว่าพันธุ์อื่น
ลูกผสม
[แก้]- ดูเพิ่มเติม ลูกผสมในวงศ์เสือและแมว, ลูกผสมในสกุลแพนเทอรา, ไลเกอร์และไทกอน
เสือโคร่งในที่เลี้ยงถูกผสมพันธุ์กับสิงโตเพื่อสร้างลูกผสมที่เรียกว่าไลเกอร์และไทกอน พวกมันได้คุณสมบัติทางกายภาพและพฤติกรรมของทั้งสองสายพันธุ์แม่ ปัจจุบันไม่สนับสนุนการผสมข้ามพันธุ์เนื่องจากเน้นการอนุรักษ์[22] ไลเกอร์เป็นลูกผสมระหว่างสิงโตตัวผู้กับเสือโคร่งตัวเมีย โดยทั่วไปแล้วไลเกอร์จะมีความยาวระหว่าง 3 ถึง 3.5 ม. (10 และ 12 ฟุต) และมีน้ำหนักระหว่าง 350 ถึง 450 กก. (800 ถึง 1,000 ปอนด์) หรือมากกว่านั้น[23] เนื่องจากพ่อสิงโตถ่ายทอดยีนที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต แต่ไม่มียีนยับยั้งการเจริญเติบโตจากเสือโคร่งตัวเมีย ไลเกอร์จึงมีขนาดใหญ่กว่าพ่อแม่สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งมาก[24] ไทกอนที่พบได้น้อยกว่าคือลูกผสมระหว่างสิงโตตัวเมียกับเสือโคร่งตัวผู้[22] เนื่องจากเสือโคร่งตัวผู้ไม่ถ่ายทอดยีนที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตและสิงโตตัวเมียจะถ่ายทอดยีนที่ยับยั้งการเจริญเติบโต ไทกอนจึงมีขนาดใกล้เคียงกับพ่อแม่ของมัน[24] ตัวเมียบางตัวที่ไม่เป็นหมันและบางครั้งก็ให้กำเนิดไลไทกอนเมื่อผสมพันธุ์กับสิงโตเอเชียตัวผู้[25]
การอนุรักษ์
[แก้]ปัจจุบัน เสือโคร่งทุกชนิดจัดเป็นสัตว์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN[26]) โดยถูกล่าเพื่อนำเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ขายในตลาดค้าสัตว์ป่าหรือตลาดมืด ซึ่งชิ้นส่วนของเสือโคร่งนับว่าเป็นที่ต้องการอย่างมากของทวีปเอเชียรองลงมาจากงาช้างและนอแรด
สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์เบงกอล
[แก้]ต้นศตวรรษที่ 20 ยังมีเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลอยู่ในประเทศอินเดียถึง 40,000 ตัว แต่ในปี 1964 พบว่าเหลือเพียง 4,000 ตัว พอถึงปี 2515 เหลืออยู่ไม่ถึง 2,000 ตัว โดยอยู่ในป่า 4 ผืนใหญ่ ผืนหนึ่งที่ตีนเขาหิมาลัยในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ผืนหนึ่งในภาคกลาง ผืนหนึ่งในภาคตะวันออก และอีกผืนหนึ่งเป็นแนวป่าแคบ ๆ ตามชายฝั่งภาคตะวันตกเฉียงใต้ หลังจากนั้นเพียงไม่นาน โครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง (Project Tiger) ก็ได้เกิดขึ้นโดยรัฐบาลอินเดียและราชวงศ์แห่งเนปาล ทำให้ป่าอนุรักษ์หลายแห่งถูกจัดตั้งขึ้น และมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเข้มงวด ต่อมาโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีโดยกองทุนสัตว์ป่าโลก โครงการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนประชากรเสือโคร่งเบงกอลในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 4,334 ตัวในปี 2532 แต่อย่างไรก็ตาม การล่าเสือโคร่งอย่างหนักที่มีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ทำให้จำนวนเสือโคร่งลดลงจนเหลือเพียง 3,750 ตัวในปี 2536
ในประเทศเนปาล พบเสือโคร่งอยู่เฉพาะที่จิตวัน, บาร์เดีย, Royal Sukhla Phanta และ Parsa IV คาดมีอยู่ประมาณ 250 ตัวในปี 2536
ในบังกลาเทศ พบเสือโคร่งอยู่ทั่วไปในป่าชายเลนสุนทรวัน รวมทั้งป่าอนุรักษ์ผืนเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกันซึ่งมีพื้นที่รวม 320 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจในปี 2537 พบว่าอาจมีเสือโคร่งในพื้นที่นี้ 300-460 ตัว และเชื่อว่าอาจยังมีเหลืออยู่ดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ของเทกนาฟ ซึ่งติดกับชายแดนประเทศพม่า
ในภูฏาน เชื่อว่ามีเสือโคร่งอยู่ในป่าอนุรักษ์ที่ราบต่ำที่อยู่ตอนใต้ของประเทศทั้ง 9 แห่ง โดยเฉพาะป่ามานัสซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับป่ามานัสในอินเดีย มีพื้นที่มากที่สุด รัฐบาลของประเทศภูฏานระบุว่ามีประชากรเสือโคร่ง 237 ตัวในปี 2537 อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้บางส่วนซ้ำซ้อนกับเสือโคร่งในอินเดีย ส่วนตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการในปี 2536 ระบุว่ามีเพียง 20-50 ตัว
รวมจำนวนประชากรเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ และตะวันตกของพม่า ในปี 2536 คาดว่ามีไม่เกิน 4,500 ตัว
สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์เบงกอลในประเทศต่าง ๆ
[แก้]ประเทศ | ต่ำสุด | สูงสุด |
---|---|---|
บังกลาเทศ | 300 | 460 |
ภูฏาน | 80 | 240 |
จีน | 30 | 35 |
อินเดีย | 2,500 | 3,000-3,750 |
เนปาล | 150 | 250 |
รวม | 3,060 | 3,985-4,735 |
* ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น ในประเทศอินเดียมีป่าอนุรักษ์ 21 แห่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่งโดยเฉพาะ ทั้งหมดมีพื้นที่รวมกัน 30,000 ตารางกิโลเมตร มีเสือโคร่งในพื้นที่ 1,300 ตัว มากถึงหนึ่งในสามของเสือโคร่งทั้งหมดของประเทศ (3,750) กว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่นี้เป็นป่ากันชน ซึ่งมีทั้งหมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรและการทำปศุสัตว์ นอกจากพื้นที่นี้แล้ว เสือโคร่งยังคงมีอยู่ในป่าอื่นอีก 80 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าที่มีผู้คนอยู่อาศัย สถาบันสัตว์ป่าของอินเดียระบุว่ามีป่าขนาดใหญ่ 12 แห่งที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่งในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หนึ่งแห่งในจำนวนนี้คือที่เขตอนุรักษ์พันธุ์เสือโคร่งเมลกัต ซึ่งจัดตั้งโดยโครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง เขตนี้กำลังจะถูกลดพื้นที่ไปหนึ่งในสามหรือเหลือเพียง 1,046 ตารางกิโลเมตร เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนที่เพิ่มจำนวนขึ้น มีป่า 56 แห่งที่มีจำนวนเสือโคร่งน้อยเกินไปและถูกกดดันจากมนุษย์จนเชื่อว่าจะไม่สามารถรักษาพันธุ์เสือโคร่งเอาไว้ในพื้นที่ได้และคงจะหมดไปจากพื้นที่ภายในไม่กี่สิบปีต่อจากนี้ นั่นหมายความว่า เมื่อถึงเวลานั้นเสือโคร่งจะลดไปอีกเกือบครึ่งหนึ่งของเสือโคร่งเบงกอลที่มีอยู่ 3,000-4,000 ตัวในขณะนี้
สถานภาพของเสีอโคร่งพันธุ์อินโดจีน
[แก้]สถานภาพและจำนวนประชากรของเสือโคร่งอินโดจีนยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก เนื่องจากเขตกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางของมัน ซึ่งกินอาณาบริเวณตั้งแต่จีนตอนใต้ เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ไทย และพม่าตะวันตก เสือโคร่งจำนวนไม่น้อยอยู่ตามเทือกเขาสลับซับซ้อนตามชายแดนระหว่างประเทศ ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปได้ยาก มีหลายแห่งที่นักชีววิทยาเพิ่งจะได้รับอนุญาตเข้าไปสำรวจเมื่อไม่นานมานี้เอง ตามข้อมูลของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเสือและแมว (Cat specialist Group) ของไอยูซีเอ็น เนื่องจากในป่าของหลายประเทศ เสือโคร่งได้ถูกล่าอย่างหนักและขาดการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปมากมายการการพัฒนาของเมืองในช่วงทศวรรษ 80 ทำให้เสือโคร่งอินโดจีนส่วนใหญ่ในสูญพันธ์ไปในหลายประเทศ ปัจจุบันมีเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีนเหลืออยู่ในธรรมชาติทั้งสิ้นประมาณ 210-350 ตัว โดยมีเสือโคร่งส่วนหนึ่งอยู่ในป่ารอยต่อของพม่า และ ประชากรเสือโคร่งกลุ่มหลักอยู่ในเขตอนุรักษ์ของประเทศไทย สวนสัตว์ในเอเชียและในอเมริกามีเสือพันธุ์นี้ประมาณ 60 ตัว
ในเวียดนาม เสือโคร่งถูกลักลอบล่าอย่างหนักจากค่านิยมความเชื่อทางยาจีนแผนโบราณ และ ไม่มีมาตรการอนุรักษ์ ทำให้เสือโคร่งในเวียดนามลดลง จนในช่วงปี 2559 นักสำรวจไม่พบร่องรอยใดๆของเสือในป่าอนุรักษ์ทั้ง 9 แห่ง จึงคาดว่า เสือโคร่งในเวียดนามได้สูญพันธ์ไปแล้ว[27]
สถานภาพของเสือโคร่งในประเทศลาวไม่ชัดเจนนัก เพราะเพิ่งมีการจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์มาไม่นานมานี้เอง และพื้นที่ส่วนใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นมาก็เป็นเพียงร่างในกระดาษ บางแห่งไม่มีแม้แต่เจ้าหน้าที่ประจำ ในปี 2534 แซลเตอร์ได้สำรวจตามหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 18 แห่งและรายงานว่าพบเสือโคร่งทุกพื้นที่ ๆ สำรวจ กรมสัตว์ป่าของลาวได้สำรวจป่าในปี 2535 ได้รายงานว่าพบเสือโคร่งในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 17 แห่ง อย่างไรก็ตาม แหล่งอาหารของเสือโคร่งในประเทศลาวไม่สมบูรณ์นัก จำนวนสัตว์เหยื่อมีอยู่น้อยมาก และป่าในพื้นที่ต่ำถูกทำลายจนเกือบหมด ทำให้เสือโคร่งต้องถอยร่นขึ้นไปหากินบนภูเขาสูงซึ่งมีเหยื่อน้อยกว่า ในขณะที่การล่าและการค้าขายสัตว์ป่าก็มีอย่างหนัก สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงอนาคตที่สิ้นหวังของเสือโคร่งในประเทศลาว
กรมสัตว์ป่าของกัมพูชามีศักยภาพต่ำมาก และประเทศนี้ไม่มีแม้แต่สวนสัตว์ มีการล่าเสือโคร่งอย่างหนัก กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเสือและแมวประเมินว่าในประเทศกัมพูชามีเสือโคร่งอยู่ประมาณ 100-200 ตัว และกำลังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม การสำรวจสัตว์ป่าครั้งแรกของเสือโคร่งเมื่อปี 2543 ที่ผ่านมาพบว่าอาจมีเสือโคร่งและสัตว์ป่าอื่น ๆ ในกัมพูชามากกว่าที่เคยคาดคิดไว้ แต่ภายหลังปี 2550 ก็ไม่มีหลักฐานการพบเสือโคร่งเพิ่มอีก จนปี 2559 จึงยอมรับว่าเสือโคร่งสูญพันธ์[28]
ราบิโนวิตช์ ได้สำรวจเสือโคร่งในป่าอนุรักษ์ในประเทศไทยระหว่างปี 2530-2534 และประเมินว่ามีจำนวนประมาณ 250 ตัว ซึ่งตัวเลขนี้แตกต่างอย่างมากจากตัวเลขของทางการไทยที่ระบุว่ามีประมาณ 450-600 ตัว ในการสำรวจปี 2538 ทางการจึงได้ประกาศว่าเหลืออยู่ราว 250 ตัวซึ่งใกล้เคียงกับยอดของราบิโนวิตช์ แม้จะมีแผนการอนุรักษ์ แต่จำนวนเสือก็ไม่เพิ่มอย่างที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเขตอนุรักษ์ในไทย ส่วนมากเป็นป่าพื้นที่สูงและภูเขาซึ่งมีความเหมาะสมในระดับปานกลางในการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า
สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีนในประเทศต่าง ๆ
[แก้](ข้อมูลยังไม่แยกเสือโคร่งพันธุ์มลายู)
[แก้]ประเทศ | ต่ำสุด | สูงสุด |
---|---|---|
กัมพูชา | สูญพันธุ์ | |
จีน | สูญพันธุ์ | |
ลาว | <5 | |
เวียดนาม | สูญพันธุ์ | |
มาเลเซีย | 100 | 170 |
พม่า | <30 | 80 |
ไทย | 180 | 270 |
รวม | 210 | 350 |
ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น
ในประเทศมาเลเซีย นับตั้งแต่ปี 2519 กฎหมายของประเทศระบุให้เสือโคร่งเป็นสัตว์คุ้มครองอย่างเข้มงวดภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า ในปีนั้น กรมสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติประเมินว่ายังมีเสือโคร่งอยู่ในประเทศประมาณ 300 ตัว มาเลเซียประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการควบคุมและลดปริมาณการล่าสัตว์ ในช่วงปี 2515-2519 มีการล่าเสือโคร่งถึง 19 ตัวต่อปีโดยเฉลี่ย แต่ในปัจจุบันเหลือประมาณ 1 ตัวต่อปีเท่านั้น และประชากรเสือโคร่งได้เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน (2550) ประเมินว่ามีเสือโคร่งพันธุ์มลายูตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 490 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ใน กลันตัน ตรังกานู เปรัก และปะหัง พื้นที่ป่าเหล่านี้มักจะเป็นป่าผืนเล็ก ๆ และแต่ละแห่งมีประชากรเสือโคร่งไม่มาก เสือโคร่งพันธุ์มลายูชอบอยู่ตามป่าเต็งรังที่ต่ำ แต่ก็พบในป่าพรุด้วย
จนการสำรวจล่าสุดในช่วง พ.ศ. 2560-2561 กลับพบข้อเท็จจริงว่า เสือโคร่งมลายูมีจำนวนลดลงอย่างมาก ทั้งจากการลักลอบล่า และ เสียพื้นที่หากิน จนทำให้จำนวนพวกมันน้อยกว่าที่เคยประเมิน อาจจะเหลือเพียงไม่ถึง 200 ตัว[29][30]
สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้
[แก้]ประเทศจีนมีพื้นที่ครอบคลุมเขตกระจายพันธุ์ถึง 4 พันธุ์ คือพันธุ์ไซบีเรียบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศรัสเซียและเกาหลีเหนือตอนเหนือสุดของประเทศ พันธุ์จีนใต้ทางตอนใต้ของประเทศ พันธุ์อินโดจีนทางชายแดนที่ติดกับประเทศพม่า ลาว และเวียดนาม และพันธุ์เบงกอลบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศอินเดียและพม่า
ในทศวรรษ 1950 ยังมีเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้อยู่ประมาณ 4,000 ตัว แต่หลังจากนั้นก็ลดจำนวนอย่างรวดเร็วจากการถูกล่า สาเหตุหนึ่งเนื่องจากทางการจีนประกาศว่าเสือโคร่งเป็นสัตว์รบกวนที่ต้องกำจัด ภายในเวลาเพียง 30 ปีเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้ถูกล่าไปถึงประมาณ 3,000 ตัว ตัวเลขอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีนแสดงว่าจำนวนหนังเสือโคร่งที่จับยึดมาได้โดยเฉลี่ยต่อปีลดลงจาก 78.6 ในต้นทศวรรษ 1950 เหลือ 30.4 ในต้นทศวรรษ 1960 ในต้นทศวรรษ 1970 เป็น 3.8 และเหลือเพียง 1 ในปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาลเริ่มประกาศห้ามล่า
การสำรวจป่า 19 แห่งในปี 2533 มี 11 แห่งที่พบร่องร่อยของเสือโคร่ง มีพื้นที่รวมกันเพียง 2,500 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น พื้นที่ ๆ พบอยู่ทางตอนใต้และตอนเหนือของมณฑลหูหนาน ตอนเหนือของกวางตุ้ง และตะวันตกของฟูเจี้ยน นอกจากนี้การสำรวจในปี 2534 และ 2536 ยังพบเสือทางตะวันออกของหูหนานและทางภาคกลางของเจียงซี พื้นที่หลักที่พบเสือโคร่งคือป่าดิบเขากึ่งร้อนชื้นตามรอยต่อระหว่างมณฑล ป่าที่พบถูกตัดขาดจากกันเป็นผืนเล็กผืนน้อย ส่วนใหญ่มีพื้นที่น้อยกว่า 500 ตารางกิโลเมตร ในปี 2538 ได้มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการจากกรมป่าไม้ของจีนว่าเหลือเสือโคร่งพันธุ์จีนใต้ในธรรมชาติไม่ถึง 20 ตัวเท่านั้น จัดเป็นเสือโคร่งพันธุ์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์มากที่สุด แม้แต่ในสถานเพาะเลี้ยงหรือตามสวนสัตว์ทั่วโลก 19 แห่งที่มีเสือโคร่งพันธุ์นี้ก็มีจำนวนเพียง 48 ตัวเท่านั้น ทั้ง 48 ตัวนี้เป็นลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากเสือโคร่งที่ถูกจับมาจากป่า 6 ตัว
สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรีย
[แก้]เสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ทางตะวันออกสุดของประเทศรัสเซีย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่อยู่บริเวณชายแดนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และอาจมีอยู่ทางเหนือของเกาหลีเหนือ เสือโคร่งในรัสเซียส่วนใหญ่อยู่ในแคว้นปรีมอร์เย และบางส่วนอยู่ในฮาบารอฟสค์ เสือโคร่งในรัสเซียประสบแรงกดดันมากจากการล่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง ในปี 2537 ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมโดย อา. อะมีร์ฮานอฟระบุว่ามีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในรัสเซียเหลือเพียง 150-200 ตัว ทั้งที่ในกลางทศวรรษ 1980 มียังมีอยู่ 250 ถึง 430 ตัว ก่อนหน้านั้นในทศวรรษ 1930 เสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเคยมีจำนวนต่ำถึงประมาณ 20 ถึง 30 ตัวเท่านั้น แต่หลังจากเริ่มมีกฎหมายคุ้มครองในปี 1947 จำนวนเสือโคร่งก็ค่อยเพิ่มมากขึ้น
ช่วงปลายทศวรรษ 1980 มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีข้อเสนอให้มีการล่าเสือโคร่งเชิงกีฬาเพื่อลดจำนวนของมัน ฝ่ายที่ยื่นข้อเสนออ้างว่าจำนวนเสือโคร่งมีมากเกินไปจนไม่สมดุลกับจำนวนประชากรของสัตว์เหยื่อ และยังเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในฟาร์มของชาวบ้าน แต่ข้อพิพาทนี้ยุติในเวลาต่อมาเพราะมีการล่าอย่างผิดกฎหมายมากจนทำให้จำนวนเสือโคร่งลดลง หลังจากนั้นการคุ้มครองเสือโคร่งเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการร่วมมือของรัฐบาลกับองค์กรพัฒนาเอกชน
ในประเทศรัสเซีย พบเสือโคร่งในซีโฮเตอะลิน (พื้นที่ 3,471 ตารางกิโลเมตร) ลาซอฟสกีย์ (พื้นที่ 1,165 ตารางกิโลเมตร) และ ทุ่งเคโดรวายา (พื้นที่ 179 ตารางกิโลเมตร) เสือโคร่งไซบีเรียในรัสเซียแตกต่างจากเสือโคร่งในที่อื่น ๆ เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกเขตพื้นที่อนุรักษ์ ในต้นปี 2536 ได้มีการสำรวจในเขตลาซอฟสกี พบเสือโคร่ง 22 ตัว (ตัวเต็มวัย 14 ตัว และเสือวัยรุ่น 8 ตัว) ในจำนวนนี้มีประมาณ 10 ตัว (เสือเต็มวัย 8 ตัวและเสือวัยรุ่น 2 ตัว) ที่อาศัยอยู่ตามขอบของพื้นที่ ในปี 2529 บรากิน ได้สำรวจจำนวนเสือโคร่งในเขตอนุรักษ์ซีโฮเตอะลินพบว่าในจำนวนเสือโคร่งทั้งหมดที่พบ มี 25 ตัวหรือหนึ่งในสามประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและพื้นที่ป่าไม่เพียงพอ มีจำนวนเพียงไม่กี่ตัวที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในเขตอนุรักษ์ ในปี 1991 คอร์คิชโค และ พิคูนอฟ ประเมินว่ามีเสือโคร่ง 9 ตัว (ตัวผู้เต็มวัย 3 ตัว วัยรุ่น 1 ตัว ตัวเมียเต็มวัย 4 ตัว วัยรุ่น 1 ตัว) อาศัยอยู่ในทุ่งเคโดรวายา
กล่าวโดยสรุปแล้ว มีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในรัสเซียประมาณ 20 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่อาศัยอยู่ภายในเขตอนุรักษ์ นอกนั้นอยู่ในพื้นที่ ๆ มีการทำป่าไม้และมีการล่าสัตว์กีบอย่างหนักและเพิ่มขึ้นทุกวัน
ที่ประเทศจีน ในปี 2533 มีการพบเห็นเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในเทือกเขาฉางไป๋ (1,905 ตารางกิโลเมตร) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
ในเกาหลีเหนือ เชื่อว่ายังมีเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียหลงเหลืออยู่บริเวณภูเขาแปกดู ซึ่งเป็นบริเวณพรมแดนที่ติดต่อเทือกเขาฉางไป๋ของจีน
สรุปจำนวนของประชากรเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียในประเทศต่าง ๆ
[แก้]ประเทศ | ต่ำสุด | สูงสุด |
---|---|---|
จีน | 12 | 20 |
เกาหลีเหนือ | <10 | <10 |
รัสเซีย | 562 | 600 |
รวม | 584 | 600 |
ข้อมูลจากไอยูซีเอ็น
สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์สุมาตรา
[แก้]เสือโคร่งพันธุ์สุมาตราอาศัยอยู่บนเกาะสุมาตราเท่านั้น มันต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายจากการถูกบุกรุกถิ่นที่อยู่อาศัยและจากการล่าเช่นเดียวกับเสือโคร่งพันธุ์อื่น ๆ จากการสำรวจประมาณว่ายังมีเสือโคร่งพันธุ์นี้อยู่ 600 ตัว ในจำนวนนี้ 400 ตัวอยู่ในป่าอนุรักษ์ผืนใหญ่ 5 แห่ง และอีก 200 ตัวอยู่กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่อื่น ๆ
สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์แคสเปียน
[แก้]เสือโคร่งพันธุ์แคสเปียนถูกล่าและสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยไปจนสูญพันธุ์ไปในช่วงต้นทศวรรษ 1970 มีบันทึกถึงเสือโคร่งตัวท้าย ๆ ในแต่ละท้องถิ่นดังนี้
เสือโคร่งตัวสุดท้ายในแถบคอเคซัสถูกฆ่าในปี 1922 ใกล้กับ ทบิลิซี จอร์เจีย มันถูกฆ่าหลังจากไปฆ่าสัตว์ในฟาร์มของชาวบ้าน เสือโคร่งตัวสุดท้ายในตุรกีถูกฆ่าในปี 2513 ใกล้กับอูลูเดเร จังหวัดฮักคารี
ในประเทศอิรักเคยพบเสือโคร่งเพียงตัวเดียว มันถูกฆ่าใกล้กับโมซุล ในปี 1887 ในประเทศอิหร่าน เสือโคร่งตัวสุดท้ายถูกฆ่าในปี พ.ศ. 2502 ในโมฮัมหมัดรีซาชา (ปัจจุบันคือโกลีสตาน) เสือโคร่งพันธุ์แคสเปียนตัวหนึ่งในลุ่มน้ำทาริม ของประเทศจีนถูกฆ่าในปี 1899 ใกล้กับแอ่งลอบนอร์ในมณฑลซินเจียง และหลังจากทศวรรษ 1920 ก็ไม่มีใครเห็นเสือโคร่งแคสเปียนในลุ่มน้ำนี้อีกเลย
เสือโคร่งหายไปจากลุ่มแม่น้ำมานัสในเทือกเขาเทียนซานทางตะวันตกของอูรุมชี ในทศวรรษ 1960 ที่แม่น้ำไอรี ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยสำคัญแหล่งสุดท้ายในบริเวณทะเลสาบบัลฮัช มีผู้พบครั้งสุดท้ายในปี 2491
เสือโคร่งที่อยู่ในตอนปลายแม่น้ำอะมู-ดาร์ยาบริเวณชายแดนระหว่างเติร์กเมนิสถาน อุสเบกิสถาน และอัฟกานิสถานเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 แล้ว แม้จะมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่าพบเสือโคร่งบริเวณทะเลเอรัลใกล้กับนูคัส ในปี 2511 ก็ตาม
สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์ชวา
[แก้]จากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและถูกล่าอย่างหนัก ทำให้เสือโคร่งพันธุ์ชวาลดจำนวนลงอย่างมาก ในทศวรรษ 1940 เหลือเสือโคร่งพันธุ์น้อยมาก จนถึงในปี 2513 เหลืออยู่เพียงในเมรูเบตีรีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และหลังจากปี 2519 ก็ไม่มีใครเห็นเสือโคร่งพันธุ์ชวาอีกเลย
สถานภาพของเสือโคร่งพันธุ์บาหลี
[แก้]เสือโคร่งพันธุ์บาหลีมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของเสือโคร่งพันธุ์ไซบีเรียเท่านั้น พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมีตัวอย่างซากของเสือโคร่งบาหลีเพียง 8 ตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะได้มาในช่วงทศวรรษ 1930 เสือโคร่งพันธุ์นี้ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกในช่วงทศวรรษ 1940 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ไซเตสจัดเสือโคร่งไว้ในบัญชีหมายเลข 1 ไอยูซีเอ็นจัดเสือโคร่งไว้ในประเภทที่มความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ
ประเทศที่ห้ามล่า
[แก้]บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล รัสเซีย ไทย เวียดนาม
อนาคตของเสือโคร่ง
[แก้]แม้ว่าเสือโคร่งสามารถเพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงได้มากจนแน่ใจได้ว่าเสือโคร่งจะไม่มีวันสูญพันธุ์ไปจากโลกแน่นอน แต่สำหรับอนาคตของเสือโคร่งในธรรมชาติยังอยู่ในความมืดมน เสือที่อยู่ภายนอกเขตอนุรักษ์มีโอกาสอยู่รอดน้อยมาก มันจะต้องถูกคนล่าอย่างน้อยเพราะเป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ พื้นที่ที่เสือโคร่งอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในบริเวณที่มีมนุษย์อาศัยอยู่มากที่สุดของโลก นับตั้งแต่โครงการอนุรักษ์เสือโคร่ง เริ่มขึ้นในประเทศอินเดียมา 20 ปี ประชากรในประเทศได้เพิ่มจำนวนกว่า 300 ล้านคนหรือเกือบ 50 เปอร์เซนต์และมีสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านตัว เสือโคร่งในภูมิภาคอื่นก็อยู่ในภาวะคล้ายคลึงกัน
ปัจจุบัน ประชากรของเสือโคร่งลดลงอย่างรวดเร็วจนแทบจะสูญพันธุ์ ถ้ายังปล่อยให้มีการล่าอย่างไม่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด เสือโคร่งคงจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติไปภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ ทุกคนล้วนมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์เสือโคร่งทั้งสิ้นแม้แต่คนในเมือง เราสามารถช่วยการดำรงเผ่าพันธุ์ของเสือโคร่งด้วยการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเสือโคร่งเสียใหม่ เสือโคร่งมีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในธรรมชาติอย่างผาสุข ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมประชากรและคุณภาพของสัตว์ชนิดอื่น และลูกหลานของเราทุกคนก็มีสิทธิที่จะเห็นเสือโคร่งในธรรมชาติเช่นกัน จงเลิกซื้อเลิกหายาหรือเครื่องประดับใด ๆ ที่ทำมาจากอวัยวะเสือโคร่ง เมื่อใดผู้ซื้อหยุด ผู้ล่าก็จะหยุดด้วย
ความเชื่อและความสัมพันธ์กับมนุษย์
[แก้]เสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ผูกพันกับมนุษย์มาช้านาน โดยเฉพาะในวัฒนธรรมของเอเชีย มีเรื่องราว ความเชื่อและนิทานเกี่ยวกับเสือโคร่งมากมาย ด้วยเป็นสัตว์ใหญ่มีพละกำลังมากมาย และมีความสง่างาม เช่น เรื่องราวของบู๋ซ้งสู้กับเสือด้วยมือเปล่า ของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในวีรบุรุษในวรรณกรรมเรื่อง 108 ผู้กล้าหาญแห่งเขาเหลียงซาน เป็นต้น[31]
แต่เสือโคร่ง ก็จัดได้ว่าเป็นสัตว์ที่ทำร้ายและกินมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในอินเดีย ในช่วงทศวรรษที่ 20 มีผู้ถูกเสือโคร่งฆ่าตายและกินไปกว่า 1,600 รายต่อปี แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังคงมีผู้ถูกทำร้ายและกินเป็นระยะ ๆ ในอดีตการล่าเสือโคร่ง ถือเป็นกิจกรรมของบุคคลชั้นสูงและระดับเชื้อพระวงศ์ แม้กระทั่งในยุคที่อังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย โดยการขี่หลังช้างล่าในทุ่งหญ้าทั้งหญ้าสูง และหญ้าต่ำ แต่เสือโคร่งก็สามารถกระโจนหรือโจมตีช้างหรือผู้ที่อยู่บนหลังช้างได้อย่างไม่เกรงกลัว โดยมากแล้ว เสือโคร่งที่กินมนุษย์ จะเป็นเสือโคร่งที่แก่หรือได้รับบาดเจ็บจนไม่อาจล่าเหยื่อที่เป็นสัตว์ชนิดอื่นได้ จึงหันมาโจมตีมนุษย์ เพราะเป็นเหยื่อที่อ่อนแอ โจมตีได้ง่ายกว่า และเมื่อได้กินเนื้อมนุษย์ครั้งแรกแล้วก็จะติดใจ ในบางพื้นที่ของอินเดีย จะมีวิธีการป้องกันเสือโคร่งโจมตีได้ด้วยการใส่หน้ากากไว้ข้างหลัง เพราะเสือโคร่งมักจะโจมตีเหยื่อจากด้านหลัง [18] ในสุนทรวันซึ่งเป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์เขตติดต่อระหว่างอินเดียและบังกลาเทศ เป็นที่รู้กันดีว่า เป็นสถานที่ที่เสือโคร่งโจมตีใส่มนุษย์มากที่สุด ชาวพื้นเมืองที่นี่มีความเชื่อว่า บอนบีบี ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งป่าช่วยคุ้มครองปกป้องมนุษย์ให้พ้นจากเสือโคร่ง แต่ก็มีรายงานการโจมตีใส่มนุษย์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา[32]
ในมาเลเซีย ได้ใช้เสือโคร่งเป็นตราแผ่นดินและสัญลักษณ์ของประเทศ โดยทีมฟุตบอลทีมชาติมาเลเซียก็ได้รับฉายาว่า "เสือเหลือง" ด้วยเช่นกัน[33]
สำหรับความเชื่อทางโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเสือโคร่ง เช่น กระดูก กะโหลก เขี้ยว เล็บหรือหนังใช้เป็นเครื่องรางป้องกันภูตผีปีศาจหรือเสนียดจัญไรได้ นอกจากนี้แล้วในตำรายาจีนอวัยวะของเสือโคร่ง เช่น อวัยวะเพศผู้ เชื่อว่าเป็นยาบำรุงกำลัง ยาอายุวัฒนะ หรือเสริมสร้างสมรรถนะทางเพศ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะจากการได้ศึกษาแล้วก็พบว่าเป็นเพียงอาหารให้โปรตีนเช่นเดียวกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ แต่จากความเชื่อนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้เสือโคร่งถูกล่าจนเกือบสูญพันธุ์จากธรรมชาติเช่นในปัจจุบัน
ดูเพิ่มเติม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Goodrich, J.; Lynam, A.; Miquelle, D.; Wibisono, H.; Kawanishi, K.; Pattanavibool, A.; Htun, S.; Tempa, T.; Karki, J.; Jhala, Y. & Karanth, U. (2015). "Panthera tigris". IUCN Red List of Threatened Species. 2015: e.T15955A50659951. doi:10.2305/IUCN.UK.2015-2.RLTS.T15955A50659951.en. สืบค้นเมื่อ 15 January 2022.
- ↑ Linnaeus, C. (1758). "Felis tigris". Caroli Linnæi Systema naturæ per regna tria naturæ, secundum classes, ordines, genera, species, cum characteribus, differentiis, synonymis, locis (ภาษาละติน). Vol. Tomus I (decima, reformata ed.). Holmiae: Laurentius Salvius. p. 41.
- ↑ Ellerman, J.R.; Morrison-Scott, T.C.S. (1951). "Panthera tigris, Linnaeus, 1758". Checklist of Palaearctic and Indian mammals 1758 to 1946. London: British Museum. p. 318.
- ↑ "IUCN Tiger Programme extended to 2023". IUCN (ภาษาอังกฤษ). 7 December 2018.
- ↑ "Tiger | Official website of UN World Wildlife Day". wildlifeday.org.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Countries With The Greatest Number Of Wild Tigers". WorldAtlas (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 25 April 2017.
- ↑ "Tiger | Species | WWF". World Wildlife Fund (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Says, Ssviprasanna. "Human – Tiger conflict: Cause, Consequence and Mitigation". Conservation India (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ Struebig, Matthew J.; Linkie, Matthew; Deere, Nicolas J.; Martyr, Deborah J.; Millyanawati, Betty; Faulkner, Sally C.; Le Comber, Steven C.; Mangunjaya, Fachruddin M.; Leader-Williams, Nigel; McKay, Jeanne E.; St. John, Freya A. V. (27 August 2018). "Addressing human-tiger conflict using socio-ecological information on tolerance and risk". Nature Communications (ภาษาอังกฤษ). 9 (1): 3455. doi:10.1038/s41467-018-05983-y. ISSN 2041-1723.
- ↑ "Tigers in Culture - Tiger Facts and Information" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "National Animal of India - Important Facts on Tiger [UPSC]". BYJUS (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "Talk Talk KOREA". www.korea.net.
- ↑ Considine, John (17 October 2019), "Liddell and Scott and the Oxford English Dictionary", Liddell and Scott, Oxford University Press, pp. 395–412, สืบค้นเมื่อ 27 November 2021
- ↑ Tiger, Adolphe. Benezit Dictionary of Artists. Oxford University Press. 31 October 2011.
- ↑ Turner, R. L. (June 1924). "A Practical Sanskrit Dictionary. By Arthur Anthony Macdonell. pp. ix, 382. Oxford University Press, 1924. £1 10s". Bulletin of the School of Oriental and African Studies. 3 (3): 594–595. doi:10.1017/s0041977x00148839. ISSN 0041-977X.
- ↑ 16.0 16.1 "บันทึกพงไพร". ช่อง 5. 2017-01-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-23. สืบค้นเมื่อ 2017-01-15.
- ↑ หน้า 5, ตะลึงเสือกินช้างห้วยขาแข้ง. มติชนปีที่ 40 ฉบับที่ 14556: วันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560
- ↑ 18.0 18.1 Tigers, "Biggest & Baddest". สารคดีทางอนิมอล พลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: พุธที่ 23 มกราคม 2556
- ↑ นิตยสาร SM@RTPET ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2545 คอลัมน์ สัตว์ป่าน่ารู้ หน้า 201-213 โดย พัชรินทร์ ธรรมรส
- ↑ 20.0 20.1 "29 ก.ค.วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก คืน "เสือ" ให้ "ป่า"". ไทยรัฐ. 28 July 2015. สืบค้นเมื่อ 29 July 2015.
- ↑ ถอนพิษ (รีรัน), รายการทางบลูสกายแชนแนล โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, อัญชลีพร กุสุมภ์ และวิทเยนทร์ มุตตามระ: อาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556
- ↑ 22.0 22.1 Actman, Jani (24 February 2017). "Cat Experts: Ligers and Other Designer Hybrids Pointless and Unethical". National Geographic.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 February 2017. สืบค้นเมื่อ 27 August 2018.
- ↑ Markel, S.; León, D. (2003). Sequence Analysis in a Nutshell: a guide to common tools and databases (PDF). Sebastopol, California: O'Reily. ISBN 978-0-596-00494-1. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 27 August 2018. สืบค้นเมื่อ 26 August 2018.
- ↑ 24.0 24.1 "Genomic Imprinting". Genetic Science Learning Center, Utah.org. สืบค้นเมื่อ 26 August 2018.
- ↑ Singh, A. (1985). "Okapis and litigons in London and Calcutta". New Scientist (1453): 7.
- ↑ อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ
<ref>
ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อIUCN
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 November 2019. สืบค้นเมื่อ 15 November 2019.
- ↑ https://mgronline.com/indochina/detail/9590000035497
- ↑ https://www.iucnredlist.org/species/136893/50665029
- ↑ https://www.nst.com.my/news/nation/2019/08/509651/malayan-tiger-teetering-brink-extinction-23-left-belum-temenggor-forest
- ↑ Li, Mengxia. 108 Heroes from the Water Margin, page 29. EPB Publishers Pte Ltd, 1992. ISBN 9971-0-0252-3.
- ↑ Killer Tigers, "World's Deadliest Towns". สารคดีทางแอนิมอลแพลนเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: ศุกร์ที่ 3 มกราคม 2557
- ↑ "อย่าประมาท!เฮงเตือนไทย'เสือเหลือง'ยุคใหม่อันตราย". โกลด์.คอม. 13 July 2013. สืบค้นเมื่อ 5 January 2014.
อ่านเพิ่ม
[แก้]- Marshall, A. (2010). "Tale of the Cat". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 February 2010.
- Millward, A. (2020). "Indian tiger study earns its stripes as one of the world's largest wildlife surveys". Guinness World Records Limited.
- Mohan, V. (2015). "India's tiger population increases by 30% in past three years; country now has 2,226 tigers". The Times of India.
- Porter, J. H. (1894). "The Tiger". Wild beasts: a study of the characters and habits of the elephant, lion, leopard, panther, jaguar, tiger, puma, wolf, and grizzly bear. New York: C. Scribner's sons. pp. 196–256.
- Sankhala, K. (1997). Indian Tiger. New Delhi: Roli Books Pvt Limited. ISBN 978-81-7437-088-4.
- Schnitzler, A.; Hermann, L. (2019). "Chronological distribution of the tiger Panthera tigris and the Asiatic lion Panthera leo persica in their common range in Asia". Mammal Review. 49 (4): 340–353. doi:10.1111/mam.12166. S2CID 202040786.
- Yonzon, P. (2010). "Is this the last chance to save the tiger?". The Kathmandu Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 November 2012.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Panthera tigris (หมวดหมู่)
- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Panthera tigris ที่วิกิสปีชีส์
- วิกิคำคม มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ Tigers
- คู่มือการท่องเที่ยว Tigers จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)
- "Tiger Panthera tigris". IUCN/SSC Cat Specialist Group. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-12. สืบค้นเมื่อ 2022-05-10.