ข้ามไปเนื้อหา

ชาดก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Jataka tales)

ชาดก (บาลี: जातक) คือ เรื่องราวหรือชีวประวัติในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า คือ สมัยที่พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ พระองค์ทรงนำมาเล่าให้พระสงฆ์ฟังในโอกาสต่าง ๆ เพื่อแสดงหลักธรรมสุภาษิตที่พระองค์ทรงประสงค์ เรียกเรื่องในอดีตของพระองค์นี้ว่า ชาดก ชาดกเป็นเรื่องเล่าคล้ายนิทาน บางครั้งจึงเรียกว่า นิทานชาดก

ชาดกที่ทรงเล่านั้นมีหลายร้อยเรื่อง ว่าทรงเคยเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์บ้าง แต่ที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ 10 ชาติสุดท้ายที่เรียกว่าทศชาติชาดก และชาติสุดท้ายที่สุดที่ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร จึงเรียกเรื่องพระเวสสันดรนี้ว่า มหาเวสสันดรชาดก

ความหมายของชาดก

[แก้]

คำว่า ชาตก หรือ ชาดก แปลว่า ผู้เกิด มีรากคำมาจากธาตุ (Root) ว่า ชนฺ ธาตุ แปลว่า “เกิด” แปลง ชนฺ ธาตุเป็นชา ลง -ต ปัจจัยในกิริยากิตก์ -ต ปัจจัยตัวนี้กำหนดให้แปลว่า “แล้ว” มีรูปคำเป็น “ชาต” แปลว่า เกิดแล้ว เสร็จแล้วให้ลง -ณฺวุ ปัจจัยในนามกิตก์ (ผู้...) ต่อท้ายอีกสำเร็จรูปเป็น “ชาดก” อ่านออกเสียงตามบาลีสันสกฤตว่า “ชา-ตะ-กะ” แปลว่าผู้เกิดแล้ว เมื่อนำคำนี้มาใช้ในภาษาไทย เราออกเสียงเป็น ชาดก โดยแปลง ต เป็น ด และให้ ก เป็นตัวสะกดในแม่กก

ในความหมาย คือเล่าถึงการที่พระโพธิสัตว์เวียนว่ายตายเกิด ถือเอากำเนิดในชาติต่าง ๆ ได้พบปะผจญกับเหตุการณ์ดีบ้างชั่วบ้าง แต่ก็ได้พยายามทำความดีติดต่อกันมากบ้างน้อยบ้างตลอดมา จนเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย กล่าวอีกอย่างหนึ่ง จะถือว่า เรื่องชาดก เป็นวิวัฒนาการแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดีของพระโพธิสัตว์อยู่ก็ได้ ในอรรถกถาแสดงด้วยว่า ผู้นั้นผู้นี้กลับชาติมาเกิดเป็นใครในสมัยพระพุทธเจ้า แต่ในบาลีพระไตรปิฎกกล่าวถึงเพียงบางเรื่อง เพราะฉะนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่คุณงามความดีและอยู่ที่คติธรรมในนิทานนั้น ๆ

ประเภทชาดก

[แก้]

ชาดกมี 2 ประเภท คือ

1. ชาดกนิบาต ชาดกในนิบาต หรือที่เรียกว่า นิบาตชาดก หมายถึงชาดกทั้ง 547 เรื่องที่มีอยู่ในคัมภีร์ขุททกนิกายของพระสุตตันตปิฎก ในพระไตรปิฎกภาษาบาลี นิบาตชาดกแต่งเป็นคาถาคือฉันทลักษณ์ล้วน ๆ โดยจะมีการแต่งขยายความเป็นร้อยแก้วคือรูปแบบคาถาสุภาษิต เหตุที่เรียกว่า นิบาตชาดก ก็เพราะว่า ชาดกในพระไตรปิฎกนี้จะถูกจัดหมวดหมู่ตามจำนวนคาถา มีทั้งหมด 22 หมวด หรือ 22 นิบาต นิบาตสุดท้ายคือ นิบาตที่ 22 ประกอบด้วยชาดก 10 เรื่อง หรือที่เรียกว่า "ทศชาติชาดก"

พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 ซึ่งเป็น สุตตันตปิฎกเล่มที่ 19 จัดไว้เป็น ขุททกนิกายชาดก ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 นี้นั้น เป็นภาคแรกของชาดก ได้กล่าวถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันมีลักษณะเป็นนิทานสุภาษิต แต่ในตัวพระไตรปิฎกไม่มีเล่าเรื่องไว้ มีแต่คำสุภาษิต รวมทั้งคำโต้ตอบในนิทาน ซึ่งถ้าอ่านแล้วจะยังไม่ทราบเนื้อเรื่องตัวละครความเป็นมาของคาถาสุภาษิตนั้น ถ้าต้องการทราบเนื้อเรื่องตัวละครความเป็นมาโดยละเอียด จะต้องศึกษาในชาตกัฏฐกถาหรืออรรถกถาชาดก คือหนังสือที่แต่งขึ้นอธิบายพระไตรปิฎกอีกต่อหนึ่ง ซึ่งมีความยาวมาก มีถึง 10 เล่ม แต่แม้เช่นนั้นก็มีชาวต่างประเทศแปลและพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไว้เรียบร้อยแล้ว รวม 6 เล่มใหญ่ คือฉบับมหาวิทยาลัย เคม บริดจ์ พิมพ์ครั้ง แรกเมื่อ ค. ศ. 1895 คือ 80 ปีเศษมาแล้ว[1]

อนึ่งเป็นที่ทราบกันว่าชาดกทั้งหมดมี 550 เรื่อง แต่เท่าที่ได้ลองนับดูแล้วปรากฏว่า

ในเล่มที่ 27 มี 525 เรื่อง ในเล่มที่ 28 มี 22 เรื่อง รวมทั้งสิ้นจึงเป็น 547 เรื่อง ขาดไป 3 เรื่อง แต่การขาดไปนั้น น่าจะเป็นด้วยในบางเรื่องมีนิทานซ้อนนิทาน และไม่ได้นับเรื่องซ้อนแยกออกไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนที่นับได้ จัดว่าใกล้เคียงมาก

  • พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 อันเป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ 19 จัดไว้เป็นขุททกนิกายชาดก ภาค 1 เป็นเล่มที่รวมเรื่องชาดกที่เล็ก ๆ น้อย ๆ รวมกันถึง 525 เรื่อง
  • พระไตรปิฎกเล่มที่ 28 อันเป็นสุตตันตปิฎกเล่มที่ 20 จัดไว้เป็นขุททกนิกายชาดก ภาค 2 ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 28 นี้มีเพียง 22 เรื่อง เพราะเป็นเรื่องยาว ๆ ทั้งนั้น โดย 12 เรื่องแรกเป็นเรื่องที่มีคำฉันท์ ส่วน 10 เรื่องหลัง คือเรื่องที่เรียกว่า มหานิบาตชาดก แปลว่า ชาดกที่ชุมนุมเรื่องใหญ่ หรือที่โบราณเรียกว่า ทศชาติ

2. ชาดกนอกนิบาต หมายถึง ชาดกที่ไม่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นชาดกที่ภิกษุชาวเชียงใหม่ได้รวบรวมเรื่องราวมาจากนิทานพื้นบ้านไทยมาแต่งเป็นชาดก ขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2000-2200 ชาดกนี้เรียกอีกชื่อว่า "ปัญญาสชาดก"แปลว่า ชาดก 50 เรื่อง[2] และรวมกับเรื่องในปัจฉิมภาคอีก 11 เรื่อง[3] รวมเป็น 61 เรื่อง

นิบาตชาดก

[แก้]

เป็นเรื่องชาดกที่ปรากฏในพระไตรปิฎกภาษาบาลี ในส่วนพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก มีทั้งหมด 547 เรื่อง ปรากฏในเล่มที่ 27 มี 525 เรื่อง ในเล่มที่ 28 มี 22 เรื่อง รวมทั้งสิ้นจึงเป็น 547 เรื่อง ซึ่งจำแนกในแต่ละหมวด แต่ละเรื่องได้ คือ

เล่มที่ 27 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1

[แก้]
    • เอกกนิบาตชาดก
    • ทุกนิบาตชาดก
      • 1. ทัฬหวรรค หมวดว่าด้วยความกระด้าง 10 เรื่อง
      • 2. สันถววรรค หมวดว่าด้วยความสนิทสนม 10 เรื่อง
      • 3. กัลยาณวรรค หมวดว่าด้วยกัลยาณธรรม 10 เรื่อง
      • 4. อสทิสวรรค หมวดว่าด้วยอสทิสกุมาร 10 เรื่อง
      • 5. รุหกวรรค หมวดว่าด้วยรุหกปุโรหิต 10 เรื่อง
      • 6. นตังทัฬหวรรค หมวดว่าด้วยเครื่องผูกที่มั่นคง 10 เรื่อง
      • 7. พีรณถัมภกวรรค หมวดว่าด้วยป่าช้าพีรณถัมภกะ 10 เรื่อง
      • 8. กาสาววรรค หมวดว่าด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ 10 เรื่อง
      • 9. อุปาหนวรรค หมวดว่าด้วยอุปมาด้วยรองเท้า 10 เรื่อง
      • 10. สิงคาลวรรค หมวดว่าด้วยสุนัขจิ้งจอก 10 เรื่อง
    • ติกนิบาตชาดก
      • 1. สังกัปปวรรค หมวดว่าด้วยความดำริ 10 เรื่อง
      • 2. ปทุมวรรค หมวดว่าด้วยดอกบัว 10 เรื่อง
      • 3. อุทปานวรรค หมวดว่าด้วยบ่อน้ำ 10 เรื่อง
      • 4. อัพภันตรวรรค หมวดว่าด้วยผลไม้ทิพย์ชื่ออัพภันตระ 10 เรื่อง
      • 5. กุมภวรรค หมวดว่าด้วยหม้อสมบัติ 10 เรื่อง
    • จตุกกนิบาตชาดก
      • 1. กาลิงควรรค หมวดว่าด้วยพระเจ้ากาลิงคะ 10 เรื่อง
      • 2. ปุจิมันทวรรค หมวดว่าด้วยไม้สะเดา 10 เรื่อง
      • 3. กุฏิทูสกวรรค หมวดว่าด้วยการประทุษร้ายรัง 10 เรื่อง
      • 4. โกกิลวรรค หมวดว่าด้วยลูกนกดุเหว่า 10 เรื่อง
      • 5. จูฬกุณาลวรรค หมวดว่าด้วยนกกุณาละหมวดสั้น 10 เรื่อง
    • ปัญจกนิบาตชาดก
      • 1. มณิกุณฑลวรรค หมวดว่าด้วยต่างหูแก้วมณี 10 เรื่อง
      • 2. วัณณาโรหวรรค หมวดว่าด้วยมีผิวพรรณต่างกัน 10 เรื่อง
      • 3. อัฑฒวรรค หมวดว่าด้วยชาดกมีครึ่งวรรค 5 เรื่อง
    • ฉักกนิบาตชาดก
      • 1. อวาริยวรรค หมวดว่าด้วยบิดาของนางอวาริยา 10 เรื่อง
      • 2. ขรปุตตวรรค หมวดว่าด้วยม้าเกิดแต่ลา 10 เรื่อง
    • สัตตกนิบาตชาดก
      • 1. กุกกุวรรค หมวดว่าด้วยมาตราวัดศอก 10 เรื่อง
      • 2. คันธารวรรค หมวดว่าด้วยคันธารดาบส 11 เรื่อง
    • อัฏฐกนิบาตชาดก
      • 1.กัจจานิวรรค หมวดว่าด้วยนางกัจจานี 10 เรื่อง
        • 1. กัจจานิชาดก 2. อัฏฐสัททชาดก 3. สุลสาชาดก 4. สุมังคลชาดก 5. คังคมาลชาดก 6. เจติยราชชาดก 7. อินทริยชาดก 8. อาทิตตชาดก 9. อัฏฐานชาดก 10. ทีปิชาดก
    • นวกนิบาตชาดก 12 เรื่อง
      • 1. คิชฌชาดก 2. โกสัมพิยชาดก 3. มหาสุวราชชาดก 4. จุลลสุวกราชชาดก 5. หริตจชาดก 6. ปทกุศลมาณวชาดก 7. โลมสกัสสปชาดก 8. จักกวากชาดก 9. หลิททราคชาดก 10. สมุคคชาดก 11. ปูติมังสชาดก 12. ทัททรชาดก
    • ทสกนิบาตชาดก 16 เรื่อง
      • 1. จตุทวารชาดก ว่าด้วยเมืองมี 4 ประตู
    • เอกาทสกนิบาตชาดก 9 เรื่อง
      • 1. มาตุโปสกชาดก ว่าด้วยพญาช้างเลี้ยงมารดา
    • ทวาทสนิบาตชาดก 10 เรื่อง
      • 1. จูฬกุณาลชาดก ว่าด้วยนกดุเหว่าจูฬกุณาละ
    • เตรสนิบาตชาดก 10 เรื่อง
      • 1. อัมพชาดก ว่าด้วยมนต์เสกมะม่วง
    • ปกิณณกนิบาตชาดก 13 เรื่อง
      • 1. สาลิเกทารชาดก ว่าด้วยนกแแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่
    • วิสตินิบาตชาดก 14 เรื่อง
      • 1. มาตังคชาดก ว่าด้วยอานุภาพของฤๅษีมาตังคะ
    • ติงสตินิบาตชาดก 10 เรื่อง
      • 1. กิงฉันทชาดก ว่าด้วยดาบสผู้มีความพอใจอะไร
    • จัตตาฬีสนิบาตชาดก 5 เรื่อง
      • 1. เตสกุณชาดก ว่าด้วยนก 3 ตัว

เล่มที่ 28 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 2

[แก้]

ชาดกนอกนิบาต

[แก้]

ปัญญาสชาดก 50 เรื่อง

[แก้]

ปัญญาสชาดก เป็นชาดกที่ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก ไม่ปรากฏชัดเจนถึงชื่อผู้แต่ง หรือปีที่แต่ง แต่ก็มีผู้สันนิษฐาน และทราบเพียงแต่ว่าผู้แต่งคือภิกษุชาวเชียงใหม่ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2000 - 2200 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ลิขิต ลิขิตานนท์ คาดว่าน่าจะแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2038 - 2068 แต่ศาสตราจารย์ ดร. นิยะดา สาริกภูติ ให้ข้อมูลเสริมต่อชาดกชุดนี้ว่า น่าจะเก่ากว่านั้นเพราะมีหลักฐานเป็นศิลาจารึกหลักหนึ่งของพม่าซึ่งจารึกเมื่อ จ.ศ. 627 (พ.ศ. 1808) ตั้งอยู่ที่วัด Kusa-samuti หมู่บ้าน Pwasaw ปัญญาสชาดก แต่งเลียนแบบชาตกัฏฐกถา เพื่อเป็นการสอนศาสนาโดยใช้ชาดกและแต่งเป็นชาดกนอกนิบาต 50 เรื่อง ผนวกกับปัจฉิมภาคอีก 11 เรื่อง ดังนี้

  1. สมุททโฆสชาดก เป็นที่มาของสมุทรโฆษคำฉันท์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
  2. สุธนชาดก มีผู้นำไปแต่งเป็นบทละครนอกในสมัยกรุงศรีอยุธยา
  3. สุธนุชาดก
  4. รัตนปโชตชาดก
  5. สิริวิบุลกิตติชาดก
  6. วิบุลราชชาดก เป็นเรื่องที่หลวงศรีปรีชา (เซ่ง) ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนำไปแต่งเป็นโครงเรื่องของกลอนกลบทชนิดต่าง ๆ เรียกรวมว่ากลบทศิริวิบุลกิตติ
  7. สิริจุฑามณิชาดก
  8. จันทราชชาดก
  9. สุภมิตตชาดก
  10. สิริธรชาดก
  11. ทุลกบัณฑิตชาดก
  12. อาทิตชาดก
  13. ทุกัมมานิกชาดก
  14. มหาสุรเสนชาดก
  15. สุวรรณกุมารชาดก
  16. กนกวรรณราชชาดก
  17. วิริยบัณฑิตชาดก
  18. ธรรมโสณฑกชาดก
  19. สุทัสนชาดก
  20. วัฏกังคุลีราชชาดก
  21. โบราณกบิลราชชาดก
  22. ธรรมิกบัณฑิตราชชาดก
  23. จาคทานชาดก
  24. ธรรมราชชาดก
  25. นรชีวชาดก
  26. สุรูปชาดก
  27. มหาปทุมชาดก
  28. ภัณฑาคารชาดก
  29. พหลาคาวีชาดก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนำไปเป็นต้นเรื่องของละครนอกเรื่อง คาวี และเรื่องพหลคาวีชาดกนี้ พระมหาราชครูในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้นำไปแต่งเป็นเรื่องเสือโคคำฉันท์ด้วย
  30. เสตบัณฑิตชาดก
  31. ปุปผชาดก
  32. พาราณสิราชชาดก
  33. พรหมโฆสราชชาดก
  34. เทวรุกขกุมารชาดก
  35. สลภชาดก
  36. สิทธิสารชาดก
  37. นรชีวกฐินชาดก
  38. อติเทวราชชาดก
  39. ปาจิตตกุมารชาดก
  40. สรรพสิทธิกุมารชาดก เป็นต้นเรื่องที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส นำไปเป็นพระนิพนธ์เรื่องสรรพสิทธิคำฉันท์
  41. สังขปัตตชาดก
  42. จันทเสนชาดก
  43. สุวรรณกัจฉปชาดก
  44. สิโสรชาดก
  45. วรวงสชาดก
  46. อรินทมชาดก
  47. รถเสนชาดก
  48. สุวรรณสิรสาชาดก
  49. วนาวนชาดก
  50. พากุลชาดก

ปัจฉิมภาคชาดก 11 เรื่อง

[แก้]
  1. โสนันทชาดก
  2. สีหนาทชาดก
  3. สุวรรณสังขชาดก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงนำไปแปลงและทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง
  4. สุรัพภชาดก
  5. สุวรรณกัจฉปชาดก
  6. เทวันธชาดก
  7. สุบินชาดก
  8. สุวรรณวงศชาดก
  9. วรนุชชาดก
  10. สิรสาชาดก
  11. จันทคาธชาดก

อิทธิพลชาดกต่อสังคม

[แก้]
  • อิทธิพลด้านคำสอน
  • อิทธิพลด้านจิตรกรรม
  • อิทธิพลด้านวรรณคดี/ภาษา
  • อิทธิพลด้านความเชื่อ

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prasuttanta/k19.html
  2. ปัญญาสชาดกเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่องเอกที่พระเถระนักปราชญ์ชาวเชียงใหม่ได้รวบรวมเรื่องราวปรัมปราที่เป็นนิทานพื้นถิ่นแพร่หลายในยุคนั้น แล้วนำมารจนาเป็นชาดกขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2000-2200 โดยเขียนไว้ด้วยภาษาบาลี มีทั้งคำประพันธ์ที่เป็นร้อยแก้วและบทคาถาหรือบทร้อยกรองทั้งสิ้น 50 ชาดก เช่น สมุททโฆสชาดก สุธนชาดก สุธนุชาดก รัตนปโชตชาดก สิริวิบุลกิตติชาดก ดูรายละเอียดเกี่ยวปัญญาสชาดกใน พระมหามานะ มุนิวํโส (กลมกลาง), “ปัญญาสชาดกปฐมภาค เรื่องที่ 1-7: การตรวจชำระและศึกษาเชิงวิเคราะห์”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546), หน้า บทคัดย่อ. พระมหาธานินทร์ อาทิตวโร (คำกมล), (ปัญญาสชาดกปฐมภาค เรื่องที่ 8-27: การตรวจชำระและศึกษาเชิงวิเคราะห์, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546), หน้า บทคัดย่อ. พระมหาประสิทธิ์ อหึสโก (ทองปาน), ปัญญาสชาดกปฐมภาค เรื่องที่ 28-44: การตรวจชำระและศึกษาเชิงวิเคราะห์, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2547), หน้า บทคัดย่อ. พระมหาประสานชัย เทวงฺกโร (ตรีพงษ์ศิลป์), ปัญญาสชาดกปฐมภาค เรื่องที่ 45-50: การตรวจชำระและศึกษาเชิงวิเคราะห์, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546), หน้าบทคัดย่อ.
  3. ปัจฉิมภาค ชาดกทั้ง 11 เรื่อง เช่น โสนันทชาดก สีหนาทชาดก สุวรรณสังขชาดก สุรัพภชาดก สุวรรณกัจฉปชาดก เทวันธชาดก สุบินชาดก สุวรรณวงศชาดก วรนุชชาดก สิรสาชาดก จันทคาธชาดก ดูรายละเอียดใน พระมหาอาคม สุมณีโก (แก้วใส), ปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค เรื่องที่ 1 - 4: การตรวจชำระและศึกษาเชิงวิเคราะห์, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2547) หน้า บทคัดย่อ. พระเมธีสุตาภรณ์ (เฉลา เตชวนฺโต), ปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค เรื่องที่ 5 - 8: การตรวจชำระและศึกษาเชิงวิเคราะห์, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546), หน้า บทคัดย่อ. พระมหาจรัญ อุตฺตมธมฺโม (บัวชูก้าน), ปัญญาสชาดกปัจฉิมภาค เรื่องที่ 9 - 11: การตรวจชำระและศึกษาเชิงวิเคราะห์, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546), หน้า บทคัดย่อ.
  4. http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=38

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]