ข้ามไปเนื้อหา

โรคพร่องเอนไซม์ G-6-PD

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency)
โรคพร่องเอนไซม์ G-6-PD
(Glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency)
ชื่ออื่นโรคถั่วฟาวา (Favism)[1]
เอนไซม์ กลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส (G-6-PD)
สาขาวิชาพันธุกรรมทางการแพทย์
อาการผิวกายเหลือง, ปัสสาวะสีเข้ม, หายใจลำบาก[1]
ภาวะแทรกซ้อนภาวะเลือดจาง, ดีซ่านแรกเกิด[2][1]
การตั้งต้นภายในสองสามวันหลังถูกกระตุ้[2]
สาเหตุพันธุกรรม (เอกซ์ลิงก์รีเซสซีฟ)[1]
ปัจจัยเสี่ยงหากถูกกระตุ้นด้วยการติดเชื้อ, ยาบางชนิด, ความเครียด, อาหารเช่น ถั่วฟาวา[1][3]
วิธีวินิจฉัยขึ้นอยู่กับอาการ, ตรวจเลือด, การทดสอบพันธุกรรม[2]
โรคอื่นที่คล้ายกันภาวะเอนไซม์ไพรูเวตคิเนสบกพร่อง, สเฟอโรไซทอซิสทางพันธุกรรม, ภาวะเชือดจางซิกเคิลเซลล์[2]
การรักษาหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้น, ทานยาต้านการติดเชื้อ, การหยุดทานยาที่ส่งผล, การถ่ายเลือด[3]
ความชุก400 ล้าน[1]
การเสียชีวิต33,000 (2015)[4]

โรคพร่องเอนไซม์ G6PD (อังกฤษ: Glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency) เป็นโรคทางพันธุกรรมของกระบวนการสร้างและสลายโรคหนึ่งซึ่งทำให้เม็ดเลือดแดงแตกเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นบางอย่าง[1] ในช่วงเวลาปกติผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ[3] แต่หากได้รับสิ่งกระตุ้นจะมีอาการ ตัวเหลือง ปัสสาวะเข้ม หายใจหอบเหนื่อย และอ่อนเพลียได้[1][2] ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยได้แก่อาการซีด และอาการตัวเหลืองในทารกแรกเกิด[2] ผู้ป่วยบางรายไม่เคยมีอาการใดๆ เลยตลอดชีวิต[3]

โรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดผ่านโครโมโซมเอ็กซ์แบบลักษณะด้อย ทำให้เกิดความบกพร่องในเอนไซม์ Glucose-6-phosphate dehydrogenase สิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการมีหลายชนิด ตัวอย่างเช่น การติดเชื้อ ยาบางชนิด ความเครียด อาหารบางชนิด เช่น ถั่วปากอ้า ความรุนแรงมีหลากหลายขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดการกลายพันธุ์ การวินิจฉัยทำได้โดยดูจากอาการ การตรวจเลือด และการตรวจพันธุกรรม

การรักษาที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เมื่อมีอาการกำเริบแต่ละครั้งแพทย์อาจให้การรักษาการติดเชื้อ หยุดยาที่เป็นสาเหตุ และอาจให้เลือดหากมีความจำเป็น กรณีทารกแรกเกิดที่มีอาการตัวเหลืองอาจต้องรักษาด้วยการส่องไฟหรือถ่ายเลือด ในยาบางชนิดจะมีแนวทางปฏิบัติกำหนดให้ต้องตรวจผู้ป่วยที่จะใช้ยาว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ เช่นในกรณียาไพรมาควิน เป็นต้น

มีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 400 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะในแอฟริกา เอเชีย เมดิเตอร์เรเนียน และในตะวันออกกลาง ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ข้อมูลปี ค.ศ. 2015 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 33,000 คน การมีอัลลีลกลายพันธุ์ของโรคนี้อาจเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้คนคนนั้นมีโอกาสติดเชื้อมาลาเรียน้อยลงได้

อาการ

[แก้]

อาการของโรคก็คือ Acute hemolytic anemia (ภาวะซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตกอย่างฉับพลัน) โดยในเด็กทารกจะพบว่ามีอาการดีซ่านที่ยาวนานผิดปกติ ส่วนในผู้ใหญ่นั้นจะพบว่า ปัสสาวะมีสีดำ ถ่ายปัสสาวะน้อยจนอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute renal failure) ได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้การควบคุมสมดุลของ Electrolytes (สารเกลือแร่ต่างๆในร่างกาย) ของร่างกายเสียไปด้วย โดยเฉพาะการเกิดภาวะ Hyperkalemia (โพแทสเซียมในเลือดสูง)

สาเหตุ

[แก้]
แผนภาพกระบวนการเมทาบอลิสซึมวิถี Pentose Phosphate Pathway

โรคนี้เกิดจากภาวะที่พร่องเอนไซม์ G6PD (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) ซึ่งเป็นเอนไซม์สำคัญในกระบวนการเมแทบอลิซึม ในวิถี Pentose Phosphate Pathway (PPP.) ของน้ำตาลกลูโคส ที่จะเปลี่ยน NADP ไปเป็น NADPH ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ Glutathione reductase และ Glutathione peroxidase ต่อไป ส่งผลให้เกิดการทำลายสารอนุมูลอิสระ (Oxidants) ต่าง ๆ เช่น H2O2 ที่เป็นพิษต่อเซลล์ในร่างกายโดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดง

ดังนั้นเอนไซม์ G6PD จึงเป็นเอนไซม์ที่ช่วยป้องกันเม็ดเลือดแดงจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ (Oxidants) คนที่เกิดภาวะพร่องเอนไซม์ชนิดนี้แล้วจะทำให้เกิดอาการเม็ดเลือดแดงแตก (Heamolysis) ได้ง่าย สาเหตุของการพร่องเอนไซม์ G6PD เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมแบบ X-linked recessive โรคนี้จึงพบในผู้ชายได้มากกว่าผู้หญิง

พยาธิสรีรวิทยา

[แก้]

G6PD เป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่มีบทบาทในวิถีเพนโทสฟอสเฟต ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมปริมาณของ โคเอนไซม์ NADPH ในสถานะรีดิวซ์ ซึ่งจะช่วยให้เซลล์มี glutathione ในสถานะรีดิวซ์เพียงพอที่จะเก็บกวาดอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ โดย G6PD จะมีหน้าที่ในขั้นตอนของการเปลี่ยนสาร glucose-6-phosphate ไปเป็น 6-phosphoglucono-δ-lactone ซึ่งเป็นขั้นตอนกำหนดอัตราปฏิกิริยาของวิถีเมตาบอลิซึมวิถีนี้

วิถีเมตาบอลิซึมที่อาศัย G6PD และ NADPH นี้ เป็นวิธีเดียวที่จะสร้าง glutathione ในสถานะรีดิวซ์ให้กับเซลล์เม็ดเลือดแดง ในขณะที่เม็ดเลือดแดงมีหน้าที่สำคัญในการขนถ่ายออกซิเจน ซึ่งเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดความเสียหายจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน การมี G6PD, NADPH, และ glutathione ที่จะช่วยป้องกันความเสียหายนี้จึงสำคัญกับเม็ดเลือดแดงมาก

ผู้ป่วยภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดเลือดจางจากการแตกสลายของเม็ดเลือดแดงได้เมื่อต้องเจอกับแรงกดดันจากการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidative stress) ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ หรือจากการได้รับสารเคมีจากยาและอาหารบางชนิด ถั่วปากอ้ามีสารไวซีน ไดไวซีน คอนไวซีน และไอโซยูรามิล ในปริมาณสูง สารเหล่านี้สามารถทำให้เกิดตัวออกซิไดซ์ได้

เมื่อ glutathione ในสถานะรีดิวซ์ถูกใช้หมดไป เอนไซม์และโปรตีนอื่นๆ (รวมถึงฮีโมโกลบินด้วย) จะถูกตัวออกซิไดซ์ทำให้เสียหายผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยทำให้เกิดพันธะเชื่อมส่วนต่างๆ ของโปรตีนเข้าด้วยกัน เกิดการตกตะกอนขึ้นในเยื่อหุ้มเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดแดงที่เสียหายจะถูกกลืนกินและทำลายที่ม้าม ฮีโมโกลบินที่ถูกปล่อยออกมาจากเซลล์จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการสร้างและสลายกลายเป็นบิลิรูบิน ซึ่งหากมีปริมาณมากจะทำให้เกิดภาวะดีซ่าน โดยทั่วไปแล้วในกรณีนี้เม็ดเลือดแดงจะไม่แตกสลายขณะอยู่ในหลอดเลือด จึงไม่ทำให้ฮีโมโกลบินถูกขับผ่านไต แต่ในกรณีที่เป็นรุนแรงก็อาจเกิดขึ้นได้ และอาจทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้

การวินิจฉัย

[แก้]

การย้อมเซลล์เม็ดเลือดแดง (Completed Blood Count - CBC)

[แก้]

ในคนที่เป็นโรคนี้ ถ้าย้อมพิเศษจะเห็นลักษณะที่เป็น “Heinz body” ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของฮีโมโกลบินที่ไม่คงตัว มักพบร่วมกับภาวะต่างๆ ที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก หรือ มีการทำลายเม็ดเลือดแดงและมีปฏิกิริยา Oxidation เกิดขึ้นกับฮีโมโกลบินภายในเม็ดเลือดแดง เมื่อเม็ดเลือดแดงที่มี Heinz body ผ่านไปที่ตับหรือม้าม เม็ด Heinz body จะถูกกำจัดออกจนเม็ดเลือดแดงมีลักษณะเป็น Bite cell หรือ Defected spherocyte ซึ่งสามารถเห็นได้ใน CBC ปกติ

Haptoglobin

[แก้]

Haptoglobin เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในพลาสมา ซึ่งในภาวะปกติ Haptoglobin จะจับกับฮีโมโกลบินอิสระ (Free hemoglobin) โดยค่า Haptoglobin จะมีค่าลดลงในคนที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (Hemolysis)

Beutler fluorescent spot test

[แก้]

เป็นการทดสอบที่บ่งบอกถึงภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD โดยตรง ซึ่งจะแสดงให้เห็นปริมาณ NADPH ที่ผลิตได้จากเอนไซม์ G6PD โดยผ่านรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ถ้าไม่มีการเรืองแสงภายใต้ UV แสดงว่าบุคคลนั้นเป็นมีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD

สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ

[แก้]
  1. อาหาร โดยเฉพาะ ถั่วปากอ้า (Fava beans, Feva beans, Broad beans) ซึ่งมีสาร Vicine, Devicine, Convicine และ Isouramil ซึ่งเป็นสารอนุมูลอิสระ (Oxidants)
  2. การติดเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาว หลั่งสารอนุมูลอิสระ (Oxidants) มากขึ้น
  3. การเป็นโรคเบาหวานที่ทำให้เกิดกรด (Diabetic ketoacidosis)
  4. การได้รับยาต่าง ๆ ดังนี้ [5]

กลุ่มยาแก้ปวด ลดไข้ (Analgesics/Antipyretics)

[แก้]
  • Acetanilid
  • Acetophenetidin (Phenacetin)
  • Amidopyrine (Aminopyrine)
  • Antipyrine
  • Aspirin
  • Phenacetin
  • Probenicid
  • Pyramidone

กลุ่มยารักษาโรคมาลาเรีย (Antimalarial drugs)

[แก้]
  • Chloroquine
  • Hydroxychloroquine
  • Mepacrine (Quinacrine)
  • Pamaquine
  • Pentaquine
  • Primaquine
  • Quinine
  • Quinocde

กลุ่มยารักษาโรคหัวใจ (Cardiovascular drugs)

[แก้]
  • Procainamide
  • Quinidine

กลุ่มยา Sulfonamides/Sulfones

[แก้]
  • Dapsone
  • Sulfacetamide
  • Sulfamethoxypyrimidine
  • Sulfanilamide
  • Sulfapyridine
  • Sulfasalazine
  • Sulfisoxazole

กลุ่มยาปฏิชีวนะ (Cytotoxic/Antibacterial drugs)

[แก้]
  • Chloramphenicol
  • Co-trimoxazole
  • Furazolidone
  • Furmethonol
  • Nalidixic acid
  • Neoarsphenamine
  • Nitrofurantoin
  • Nitrofurazone
  • Para-amino salicylic acid (PAS)

ยาอื่นๆ

[แก้]
  • Alpha-methyldopa
  • Ascorbic acid
  • Dimercaprol (BAL)
  • Hydralazine
  • Mestranol
  • Methylene blue
  • Nalidixic acid
  • Naphthalene
  • Niridazole
  • Phenylhydrazine
  • Pyridium
  • Quinine
  • Toluidine blue
  • Trinitrotoluene
  • Urate oxidase
  • Vitamin K (Water soluble)

การรักษา

[แก้]

สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาผู้ป่วยภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกส์พีดี (Glucose-6-phosphate dehydrogenase deficiency) คือการป้องกันและหลีกเลี่ยงยาและอาหารที่ทำให้มีการสลายของเม็ดเลือดแดง การได้รับวัคซีนป้องกันโรคที่พบบ่อยบางชนิด (เช่น ไวรัสตับอักเสบ เอ และบี) อาจช่วยป้องกันเหตุเม็ดเลือดแดงสลายที่เกิดจากการติดเชื้อนั้นๆ ได้

ในระยะเฉียบพลันของการสลายของเม็ดเลือดแดง ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับเลือด หรือต้องรับการชำระเลือด (dialysis) หากมีภาวะไตวายเฉียบพลันเกิดขึ้น การให้เลือดเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาอาการ เนื่องจากเม็ดเลือดแดงในเลือดที่ได้รับนั้นโดยทั่วไปจะไม่พร่องเอนไซม์จีซิกส์พีดี ดังนั้นจะมีอายุขัยปกติในร่างกายของผู้รับเลือด

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการดีขึ้นจากการตัดม้าม เนื่องจากม้ามเป็นแหล่งทำลายเม็ดเลือดแดงของร่างกาย กรดโฟลิกจะช่วยได้ในกรณีที่มีการทำลายและสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่มาก ในขณะที่วิตามินอีและซีลีเนียมนั้นแม้จะมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันแต่ก็ไม่ช่วยลดความรุนแรงของภาวะพร่อมเอนไซม์จีซิกส์พีดีแต่อย่างใด

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ GHR2017
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 "Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase Deficiency". NORD (National Organization for Rare Disorders). 2017. สืบค้นเมื่อ 11 December 2017.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ NIH2017
  4. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ GBD2015De
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-02-21. สืบค้นเมื่อ 2007-09-23.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก