Ad hominem
ad hominem ซึ่งเป็นคำย่อจาก argumentum ad hominem เป็นรูปแบบการให้เหตุผลหลายอย่างซึ่งโดยมากเป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัย ปกติหมายถึงยุทธวิธีทางวาทศิลป์ที่ผู้พูดโจมตีอุปนิสัย แรงจูงใจ/เจตนา หรือลักษณะอื่น ๆ ของอีกฝ่ายที่กำลังให้เหตุผล แทนที่จะโจมตีสาระของการให้เหตุผลเอง เป็นการเลี่ยงการสืบหาเหตุผลจริง ๆ เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจโดยโจมตีบุคคลและมักจะใช้อุปนิสัยหรือพื้นเพของฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เข้าประเด็นแต่สร้างอารมณ์ มีรูปแบบสามัญคือ "ก" อ้าง "ข้อเท็จจริง" แล้ว "ข" ก็อ้างว่า "ก" มีนิสัย มีคุณสมบัติ มีรูปร่างกายเป็นต้นที่น่ารังเกียจ เป็นการพูดนอกประเด็นแล้วก็สรุปว่า "ก" พูดไม่ถูก โดยไม่กล่าวถึงประเด็นอะไร ๆ ที่กำลังโต้แย้ง
ในการโต้เถียงทางปรัชญาโดยเฉพาะบางอย่าง ad hominem อาจหมายถึงยุทธิวิธีทางวิภาษวิธีที่ใช้ความเชื่อและเหตุผลของอีกฝ่ายเพื่อโต้แย้งอีกฝ่ายเอง โดยไม่ได้ยอมรับความสมเหตุสมผลของความเชื่อและเหตุผลที่ใช้
มีการศึกษาการให้เหตุผลแบบ ad hominem มาอย่างช้าตั้งแต่สมัยกรีซโบราณแล้ว นักปรัชญาชาวอังกฤษ จอห์น ล็อก ได้รื้อฟื้นการศึกษาเหตุผลวิบัตินี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นักการเมืองในปัจจุบันมักโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วย ad hominem โดยอาจลงท้ายด้วยการตั้งชื่อเล่นที่ดูถูก
ประวัติ
[แก้]การให้เหตุผลแบบ ad hominem ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ศึกษามาตั้งแต่สมัยกรีซโบราณ เช่น ดังที่พบในงานของอาริสโตเติล[2] แต่ปกติก็จะไม่ใช่รูปแบบที่หมายถึงในปัจจุบัน[3]
นักปรัชญาชาวอังกฤษจอห์น ล็อก และผู้รู้รอบด้าน คือ กาลิเลโอ กาลิเลอี ได้รื้อฟื้นการศึกษาเหตุผลวิบัตินี้ในยุโรป แต่ก็ยังไม่ได้มุ่งเหตุผลวิบัติในรูปแบบที่หมายถึงในปัจจุบัน ต่อมาในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักตรรกะชาวอังกฤษริชาร์ด เวตลีย์ จึงได้ให้นิยามกว้าง ๆ ที่เริ่มเข้ากันกับความหมายที่ใช้ในปัจจุบัน เขาระบุว่าเป็นการให้เหตุผลที่ "มุ่งสถานการณ์ อุปนิสัย ความเห็นที่ประกาศ หรือพฤติกรรมในอดีตของบุคคล"[4]
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างช้า ad hominem ก็ได้ความหมายแล้วว่าเป็นเหตุผลวิบัติทางตรรกะ ซึ่งผู้โต้แย้งโจมตีฝ่ายตรงข้ามแทนที่จะพิสูจน์การให้เหตุผลว่าไม่ถูกต้อง แต่ตอนปลายคริสต์ศตวรรษ นักปรัชญาชาวออสเตรเลียชาลส์ แฮมบลิน ก็ได้โต้แย้งนิยามทำนองนี้ เขาระบุว่า การโจมตีบุคคลเมื่อให้เหตุผล ไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นเหตุผลวิบัติถ้าข้อความโจมตีนั้น ๆ ไม่ได้ใช้เป็นข้อตั้งที่นำไปสู่ข้อสรุป แต่ข้อวิจารณ์นี้ก็ไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง[5] ในปัจจุบัน ยกเว้นในด้านปรัชญาโดยเฉพาะคำนี้หมายถึงการโจมตีอุปนิสัยหรือลักษณะของบุคคลเพื่อใช้ปฏิเสธการให้เหตุผลของบุคคลนั้น[6]
ศัพท์
[แก้]วลีภาษาละตินว่า argumentum ad hominem แปลว่า "การให้เหตุผลโต้แย้งบุคคล"[7] ส่วนวลี ad mulierem และ ad feminam ใช้เมื่อโต้แย้งผู้หญิงโดยเฉพาะ[8] แต่จริง ๆ คำว่า hominem (มีรากเป็น homo) ก็มีเพศเป็นกลางอยู่แล้วในภาษาละติน[9]
รูปแบบ
[แก้]เหตุผลวิบัติ ad hominem จัดเป็นเหตุผลวิบัติอรูปนัย โดยเฉพาะจัดเป็นเหตุผลวิบัติโดยกำเนิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลวิบัติโดยประเด็น[10]
ad hominem อาจแบ่งเป็นหมวดต่าง ๆ เช่น tu quoque, ตามสถานการณ์, ผิดเพราะเป็นพรรคพวก และแบบด่าว่า ทั้งหมดมีโครงคล้ายกับ ad hominem ธรรมดา ซึ่งก็คือแทนที่จะโต้แย้งการให้เหตุผล แต่กลับไปโจมตีอุปนิสัยของอีกฝ่าย แล้วสรุปว่านี่เป็นเหตุผลเพียงพอเพื่อปฏิเสธข้ออ้างของอีกฝ่าย[11]
Tu quoque
[แก้]Ad hominem tu quoque (แปลตามศัพท์ว่า "คุณเช่นกัน") เป็นการตอบโต้การถูกโจมตีด้วย ad hominem โดยโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งกลับด้วย ad hominem[12] มีรูปแบบเป็น
- ก อ้างว่า a
- ข โจมตีลักษณะของ ก ว่ามีลักษณะ x ซึ่งแย่
- ก โจมตีกลับโดยอ้างว่า ข ก็มีลักษณะ x เหมือนกัน[13]
ตัวอย่างเช่น นักธุรกิจผู้เป็นนักการเมืองด้วยได้ไปให้การบรรยายที่มหาวิทยาลัยว่าบริษัทของเขาดีอย่างไร และว่าระบบบ้านเมืองกำลังดำเนินไปด้วยดีขนาดไหน นักศึกษาถามเขาว่า "มันจริงไหมว่า ท่าน สส. กับบริษัทของท่าน สส. ได้ขายอาวุธให้แก่ผู้ปกครองของประเทศโลกที่สาม ผู้ใช้อาวุธนั้นทำร้ายประชาชนของตนเอง" นักธุรกิจตอบว่า "มันจริงไหมว่า มหาวิทยาลัยของนักศึกษาได้รับเงินทุนจากบริษัทเดียวกันที่นักศึกษาอ้างว่า ขายอาวุธให้แก่ประเทศเหล่านั้น นักศึกษาก็ไม่ใช่บริสุทธิ์ผุดผ่องเหมือนกัน" การโจมตีแบบ ad hominem ของนักศึกษาเข้าประเด็นกับสิ่งที่นักธุรกิจพยายามจะแสดง ดังนั้นจึงไม่ใช่เหตุผลวิบัติ แต่การโจมตีนักศึกษาไม่เข้าประเด็นกับสิ่งที่กำลังพูดนั้น ดังนั้น การโจมตีของนักธุรกิจแบบ tu quoque จึงเป็นเหตุผลวิบัติ[14]
tu quoque ยังอาจมีนิยามอื่น คือเป็นเหตุผลวิบัติที่เกิดเมื่อโต้แย้งการให้เหตุผลโดยอาศัยประวัติของอีกฝ่าย เป็นการให้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผลเช่นกันเพราะไม่ได้พิสูจน์ข้อตั้งเดิมว่าเป็นเท็จ แม้ข้อตั้งของเหตุผลวิบัติเองอาจจะเป็นจริง แต่ความจริงฝ่ายตรงข้ามก็อาจจะเป็นเพียงคนพูดอย่างทำอย่าง หรือว่าอาจจะเปลี่ยนใจ แต่ก็ไม่ได้ทำข้อความดั้งเดิมให้น่าเชื่อถือน้อยลงทางตรรกะ ตัวอย่างคือ เมื่อแพทย์แนะนำให้คนไข้ลดน้ำหนัก แต่คนไข้อ้างว่าไม่จำเป็น เพราะหมอก็น้ำหนักเกินเหมือนกัน[15]
ตามสถานการณ์
[แก้]ad hominem ตามสถานการณ์เป็นการให้เหตุผลว่า คนที่มีอะไรบางอย่างเช่น การงาน ความร่ำรวย ทรัพย์สมบัติ หรือความสัมพันธ์ จะมีโอกาสมีจุดยืนบางอย่างมากกว่า เป็นการโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่ามีความเอนเอียง/อคติ แต่ก็เหมือนกับ ad hominem ประเภทอื่น ๆ ว่า การโจมตีสถานการณ์อาจจะเป็นเหตุผลวิบัติหรือไม่ก็ได้ เพราะความเอนเอียงไม่จำเป็นต้องทำให้การให้เหตุผลไม่สมเหตุสมผล ความเป็นเหตุผลวิบัติจึงไม่แน่นอน นี่เหลื่อมกับเหตุผลวิบัติโดยกำเนิดซึ่งเป็นการให้เหตุผลว่าข้ออ้างไม่ถูกต้องเพราะแหล่งที่มา แต่ก็อาจเป็นการให้เห็นเหตุผลที่ดี ถ้าข้อตั้งถูกต้องและความเอนเอียงก็เข้าประเด็นกับการให้เหตุผล[16]
ตัวอย่างง่าย ๆ อย่างหนึ่งคือ พ่ออาจจะบอกลูกสาวว่าไม่ให้สูบบุหรี่เพราะจะเสียสุขภาพ เธอชี้ว่าแม้พ่อเองก็สูบบุหรี่ แต่นี่ก็ไม่ได้เปลี่ยนความเป็นจริงว่า การสูบบุหรี่อาจก่อโรคต่าง ๆ ความไม่คงเส้นคงวาของพ่อไม่ใช่เหตุผลที่สมควรในการปฏิเสธข้ออ้างของเขา[17]
ad hominem โดยสถานการณ์ อาจไม่ใช่เหตุผลวิบัติ เช่น ในกรณีที่ ก โจมตีบุคลิกภาพของ ข ผู้มีข้ออ้าง 1 โดยที่บุคลิกภาพของ ข ก็เข้าประเด็นกับข้ออ้าง 1 ด้วย มีตัวอย่างเป็นพยานในศาล ถ้าพยานเคยถูกจับได้ว่าโกงและโกหกมาก่อน ศาลควรจะเชื่อคำของพยานว่าเป็นจริงเลยหรือไม่ ไม่ควร[18]
ผิดเพราะเป็นพรรคพวก
[แก้]การโทษว่าผิดเพราะเป็นพรรคพวก (guilt by association) เป็นการโทษอีกฝ่ายว่าผิดเพราะมีความสัมพันธ์กับบุคคลหรือกลุ่มที่ถูกดิสเครดิตไปแล้ว อาจจัดเป็นเหตุวิบัติแบบ ad hominem รูปแบบหนึ่งที่โจมตีแหล่งที่มาเพราะมีความคิดเห็นคล้ายกัน[19] โดยมีรูปแบบดังต่อไปนี้[19]
- ก อ้างว่า 1
- ก มีความสัมพันธ์กับกลุ่ม ข ซึ่งมีชื่อเสียงไม่ดี
- ดังนั้น ความเห็นของ ก จึงไม่น่าเชื่อถือ
มีตัวอย่างเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ พ.ศ. 2551 ที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีแซราห์ เพลิน โจมตีบารัก โอบามาว่าได้เคยร่วมงานกับบิล แอรส์ ผู้เป็นผู้นำกลุ่มก่อการร้าย Weather Underground ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 มาแล้ว แม้โอบามาจะได้ประณามการก่อการร้ายทุกอย่าง ฝ่ายตรงข้ามก็ยังโทษเขาฐานเป็นพรรคพวก[20] ความผิดฐานเป็นพวกมักใช้ในการโต้แย้งทางสังคมและการเมือง โดยยังเกิดหลังเหตุการณ์สำคัญ ๆ อีกด้วยเช่น เรื่องอื้อฉาวหรือการก่อการร้าย ตัวอย่างเช่น การโจมตีคนอิสลามในสหรัฐได้เกิดมากสุดหลังวินาศกรรม 11 กันยายน[20]
ad hominem แบบด่าว่า
[แก้]ad hominem แบบด่าว่าเป็นการโจมตีอุปนิสัยของฝ่ายตรงข้ามโดยตรง นอกจากจะเป็นเหตุผลวิบัติแล้วยังไร้ประโยชน์อีกด้วย เพราะจะคุยกันดี ๆ ไม่ได้หลังจากนั้น[21][22][23] ประเด็นสำคัญในการตรวจสอบว่าเป็นเหตุผลวิบัติแบบ ad hominem หรือไม่ก็คือให้ดูว่า คำกล่าวโทษบุคคลนั้นจริงหรือไม่และเข้าประเด็นกับการให้เหตุผลหรือไม่ ตัวอย่างก็คือการซักพยานในศาล ที่ทนายซักค้านพยาน แล้วแสดงว่าพยานได้ถูกตัดสินในอดีตว่าโกหกศาล ถ้าข้อสรุปของทนายคือพยานกำลังโกหก นี่ก็จะเป็นเหตุผลวิบัติ แต่ถ้าข้อสรุปก็คือพยานเชื่อถือไม่ได้ นี้ไม่ใช่เหตุผลวิบัติ[24]
การให้เหตุผลโดยอาศัยการยอมรับ (argument from commitment)
[แก้]การให้เหตุผลแบบ ad hominem โดยอาศัยการยอมรับ (argument from commitment) เป็นการให้เหตุผลที่สมเหตุสมผลโดยเป็นยุทธวิธีทางวิภาษวิธี ที่ใช้ความเชื่อ ความเชื่อมั่น และข้อสมมุติของอีกฝ่ายเพื่อโต้แย้งกับบุคคลนั้นเอง คือใช้เหตุผลซึ่งอาศัยสิ่งที่อีกฝ่ายเชื่อว่าเป็นจริง เป็นรูปแบบที่พบในการโต้แย้งทางปรัชญาโดยเฉพาะก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 20[25] มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ex concessis argument (แปลว่า การให้เหตุผลจากสิ่งที่ได้ยอมรับแล้ว)[26]
ในการโต้แย้ง
[แก้]เหตุผลวิบัติแบบ ad hominem จัดว่าไม่สุภาพ และไม่ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการโต้แย้ง[27] เป็นการโจมตีอุปนิสัยของอีกฝ่าย ผู้มักจะรู้สึกว่าต้องป้องกันตนเองจากการถูกกล่าวโทษว่าพูดอย่างทำอย่าง มันได้ผลจนถูกนำไปใช้ทางการเมืองอย่างแพร่หลาย แต่เพราะมองว่าไม่ดีและเป็นลูกเล่นสกปรก จึงได้ชื่อไม่ดีว่าเป็นเหตุผลวิบัติอย่างแน่นอน[28]
นักเขียนเรื่องการเมืองอิสราเอลได้อธิบายรูปแบบการโจมตีอีกสองอย่างที่สามัญในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งอาศัยความจำที่มีร่วมกันระหว่างผู้โจมตีกับผู้ฟัง อย่างแรกคือ ad hominem โดยแบบอย่าง คือแบบอย่างหรือประวัติที่เคยมีมาก่อนของอีกฝ่ายทำให้อีกฝ่ายไม่คู่ควรกับตำแหน่ง เช่น "คู่แข่งของผมผิดพลาด (ตามการกล่าวหา) ในอดีต ดังนั้นเขาจึงผิดพลาดในปัจจุบัน" อย่างที่สองเป็น ad hominem โดยพฤติกรรม คือ "คู่แข่งของผมไม่ได้ให้เหตุผลอย่างบังควรในอดีต ดังนั้นตอนนี้ เขาก็ไม่บังควรเหมือนกัน" การโจมตีเช่นนี้อาศัยการที่ผู้ฟังไม่เห็นอย่างชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายกล่าวข้อความเท็จมากน้อยขนาดไหน[29]
ข้อวิจารณ์ในความเป็นเหตุผลวิบัติ
[แก้]การให้เหตุผลแบบ ad hominem จริง ๆ ไม่ได้เป็นเหตุวิบัติเสมอไป ในบางกรณี พฤติกรรม อุปนิสัย แรงจูงใจเป็นต้น อาจเป็นประเด็นที่ถูกต้องตามเหตุผลและเข้าประเด็น[30] เช่น เมื่อมันเกี่ยวกับการพูดอย่างทำอย่างของบุคคลนั้น
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Walton 2001, p. 208; Tindale 2007, p. 82.
- ↑ Tindale 2007, p. 82.
- ↑ Nuchelmans 1993, p. 43.
- ↑ Walton 2001, pp. 208–210.
- ↑ van Eemeren & Grootendorst 2015, pp. 615–626.
- ↑ Walton 2001, p. 210.
- ↑ Tindale 2007, p. 91.
- ↑ Olivesi 2010; Sommers 1991.
- ↑ Lewis & Short 1879, p. 859-860.
- ↑ Walton 2008, p. 190; Bowell & Kemp 2010, pp. 201-213; Copi 1986, pp. 112-113.
- ↑ van Eemeren 2001, p. 142.
- ↑ Wrisley 2019, p. 88; Walton 2015, pp. 431-435; Lavery & Hughes 2008, p. 132.
- ↑ Wrisley 2019, p. 89.
- ↑ Wrisley 2019, pp. 89–91.
- ↑ Tindale 2007, pp. 94–96.
- ↑ Walton 1998, pp. 18-21; Wrisley 2019, pp. 77-78.
- ↑ Walton 2001, p. 211.
- ↑ Walton 2001, p. 213.
- ↑ 19.0 19.1 Walton 1998, pp. 18–21.
- ↑ 20.0 20.1 Kolb 2019, pp. 351–352.
- ↑ Tindale 2007, pp. 92–93.
- ↑ Hansen 2019, 1. The core fallacies.
- ↑ Walton 2006, p. 123.
- ↑ Wrisley 2019, pp. 86–87.
- ↑ Merriam-Webster 2019, note1.
- ↑ Walton 2001.
- ↑ Weston 2018, p. 82.
- ↑ Walton 2006, p. 122.
- ↑ Orkibi 2018, pp. 497–498.
- ↑ Walton 2008, p. 170.
อ้างอิงอื่นๆ
[แก้]- Bowell, Tracy; Kemp, Gary (2010). Critical Thinking: A Concise Guide. Abingdon, Oxon: Routledge. ISBN 978-0-415-47183-1.
- Copi, Irving M. (1986). Informal Logic. Macmillan. ISBN 978-0-02-324940-2.
- Hansen, Hans (2019). "Fallacies". ใน Zalta, Edward N. (บ.ก.). The Stanford Encyclopedia of Philosophy.
- Kolb, Leigh (2019). "Guilt by Association". ใน Robert Arp; Steven Barbone; Michael Bruce (บ.ก.). Bad Arguments: 100 of the Most Important Fallacies in Western Philosophy. Wiley Blackwell. pp. 351–353. doi:10.1002/9781119165811.ch83. ISBN 978-1-119-16580-4. S2CID 187211421.
- Lavery, Jonathan; Hughes, Willam (2008-05-27). Critical Thinking, fifth edition: An Introduction to the Basic Skills. Broadview Press. ISBN 978-1-77048-111-4.
- Lewis, Charlton; Short, Charles (1879). A Latin Dictionary. Nigel Gourlay. ISBN 9781999855789.
- Merriam-Webster (2019). "Definition of Ad Hominem". สืบค้นเมื่อ 2020-01-08.
- Nuchelmans, Gäbriel (1993). "On the Fourfold Root of the Argumentum ad Hominem". ใน Krabbe, Erik C. W.; Dalitz, Renée José; Smit, Pier (บ.ก.). Empirical Logic and Public Debate.
- Olivesi, Aurélie (2010-04-05). "L'interrogation sur la compétence politique en 2007 : une question de genre ?". Quaderni (ภาษาฝรั่งเศส) (72): 59–74. doi:10.4000/quaderni.486. ISSN 0987-1381.
- Orkibi, Eithan (2018-02-27). "Precedential Ad Hominem in Polemical Exchange: Examples from the Israeli Political Debate". Argumentation. 32 (4): 485–499. doi:10.1007/s10503-018-9453-2. ISSN 0920-427X. S2CID 254261480.
- Sommers, Christina (March 1991). "Argumentum ad feminam". Journal of Social Philosophy (ภาษาอังกฤษ). 22 (1): 5–19. doi:10.1111/j.1467-9833.1991.tb00016.x. ISSN 0047-2786.
- Taylor, Charles (1995). "Explanation and Practical Reason". Philosophical Arguments. Harvard University Press. pp. 34–60. ISBN 9780674664760.
- Tindale, Christopher W. (2007-01-22). Fallacies and Argument Appraisal. Cambridge University Press. ISBN 978-1-139-46184-9.
- van Eemeren, F. H. (2001). Crucial Concepts in Argumentation Theory. Amsterdam University Press. ISBN 978-90-5356-523-0.
- van Eemeren, Frans H.; Grootendorst, Rob (2015). "The History of the Argumentum Ad Hominem Since the Seventeenth Century". Argumentation Library. Cham: Springer International Publishing. doi:10.1007/978-3-319-20955-5_32. ISBN 978-3-319-20954-8. ISSN 1566-7650.
- Walton, Douglas N. (1998). Ad Hominem Arguments. University of Alabama Press. ISBN 978-0-8173-0922-0.
- Walton, Douglas N. (2001). "Argumentation Schemes and Historical Origins of the Circumstantial Ad Hominem Argument" (PDF). Argumentation. 15 (2): 207–221. doi:10.1023/A:1011120100277. ISSN 0920-427X. S2CID 16864574.
- Walton, Douglas N. (2006). Fundamentals of Critical Argumentation. Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-82319-7.
- Walton, Douglas N. (2008). Informal Logic: A Pragmatic Approach. Cambridge University Press.
- Walton, Douglas N. (2015-04-27). "informal logic". ใน Audi Robert (บ.ก.). The Cambridge Dictionary of Philosophy. Cambridge University Press. ISBN 978-1-107-01505-0.
- Weston, Anthony (2018). A Rulebook for Arguments. Hackett Publishing Company, Incorporated. ISBN 978-1-62466-655-1.
- Wong, Andrew David (2017). Unmitigated Skepticism: The Nature and Scope of Pyrrhonism (PDF) (วิทยานิพนธ์). University of California.
- Wrisley, George (2019). "Ad Hominem: Circumstantial". ใน Robert Arp; Steven Barbone; Michael Bruce (บ.ก.). Bad Arguments: 100 of the Most Important Fallacies in Western Philosophy. Wiley Blackwell. pp. 77–82. doi:10.1002/9781119165811.ch9. ISBN 978-1-119-16580-4. S2CID 171674012.