ข้ามไปเนื้อหา

ไกรศรี นิมมานเหมินท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ เป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา[1] เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในวิทยาการหลายด้าน ได้ทำการสำรวจค้นคว้าและเขียนบทความเผยแพร่ ทั้งด้านโบราณคดี ด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา เป็นผู้ค้นพบเตาสังคโลกโบราณที่อำเภอสันกำแพง อำเภอสันทราย และอีกหลายแห่งในภาคเหนือ เป็นผู้คนพบเอกสารใบลานที่สำคัญชิ้นหนึ่งที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายมังราย เป็นผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับความเป็นอยู่ ภาษา วัฒนธรรมของคนเผ่าผีตองเหลือง ที่จังหวัดน่าน นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีบทบาทในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของล้านนา โดยเฉพาะการจัดเลี้ยงแบบขันโตก

นายไกรศรี เป็นนักธุรกิจที่มีบทบาทในการพัฒนาตลาดวโรรส ซึ่งเป็นรวบรวมหุ้นจากเจ้านายฝ่ายเหนือในตระกูล ณ เชียงใหม่ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และเข้ามาบริหารกิจการ[2]

ประวัติ

[แก้]

นายไกรศรี เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2455 ณ ห้างหุ้นส่วนอนุสารเชียงใหม่ ถนนวิชยานนท์ ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรคนแรกของนายกี และนางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์ มีน้องร่วมบิดามารดา 5 คน คือ นายพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์, นายอัน นิมมานเหมินท์, นายเรือง นิมมานเหมินท์, นางแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์ และนางอุณณ์ ชุติมา

สมรสกับนางจรรยา ศรีอาภรณ์ มีบุตร 2 คน คือ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นายไกรศรี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่โรงพยาบาลสมิติเวช กรุงเทพฯ ด้วยโรคมะเร็งในตับ ส่วนนายศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ เสียชีวิตในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2561 ด้วยโรคมะเร็งตับอ่อน

การศึกษา

[แก้]

สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนศรีดอนไชย ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอเมืองเชียงใหม่ จบระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่ (พ.ศ. 2465-2471) ต่อมาไปศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2471-2474) หลังจากจบมัธยมปลายแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จบระดับปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2479) และจบปริญญาโทบริหารธุรกิจ จาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2481)

การทำงาน

[แก้]
  • พ.ศ. 2482-2483 รับราชการเป็นอาจารย์ประจำ และอาจารย์พิเศษในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2489-2499 ผู้อำนวยการเขต ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ในเขตภาคเหนือ
  • พ.ศ. 2499-2507 ผู้อำนวยการเขต และกรรมการในคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด
  • พ.ศ. 2513 จัดตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไทยพัฒนา จำกัด
  • ประธานกรรมการ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลอนุสารเชียงใหม่
  • ประธานกรรมการ บริษัท รินคำ จำกัด
  • พ.ศ. 2501-2504 สมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่
  • กรรมการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีส่วนร่างโครงการจัดตั้งคณะสังคมศาสตร์ และรักษาการคณบดี
  • กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • กรรมการที่ปรึกษามหาวิทยาลัยพายัพ
  • ประธานชมรมล้านนาคดี เชียงใหม่คนแรก
  • พ.ศ 2506 สยามสมาคมฯ แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะสำรวจค้นคว้าและทำทะเบียนคัมภีร์ใบลาน ในจังหวัดต่าง ๆ ภาคเหนือ
  • ค้นพบเอกสารใบลานที่สำคัญคือ กฎหมายมังราย ที่วัดเสาไห้ จ.สระบุรี และได้มอบให้ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ปริวรรตและจัดพิมพ์เผยแพร่
  • มอบที่ดิน 24 ไร่ ให้กระทรวงศึกษาธิการใช้เป็นสถานที่จัดงานฤดูหนาวและสนามกีฬาจังหวัดเชียงใหม่
  • จัดตั้ง มูลนิธิไกรศรี-จรรยา นิมมานเหมินท์ นำดอกผลมาใช้เพื่อการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการด้านล้านนาคดี

ผลงาน

[แก้]
  • หนังสือเรื่อง "เครื่องถ้วยสันกำแพง" พ.ศ. 2503
  • บทความเรื่อง"ผีตองเหลือง" หรือ "คนป่า" ภาษาอังกฤษ เขียนร่วมกับ J. HartlandSwann พิมพ์ในวารสารของสยามสมาคมฯ เมื่อ พ.ศ. 2503
  • บทความเรื่อง "พระพุทธรูปเชียงใหม่ที่มีอักษรจารึกเป็นภาษาไทยและพม่า" (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์ในวารสารของ Burma Research Society ปี พ.ศ. 2503
  • บทความเรื่อง An Inscribed Statuette from Northern Siam (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์ใน Artibus Asiae, Ascona ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พ.ศ. 2506
  • บทความเรื่อง "เทพารักษ์นครเชียงใหม่ของชาวละว้า" (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์ในวารสารสยามสมาคมฯ พ.ศ. 2510
  • บทความเรื่อง "กฎหมายว่าด้วยเหมืองฝายของพระเจ้าเม็งราย" เอกสารข้อมูลเลขที่ 58 ในโครงการเอเซียอาคเนย์ฯ ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์
  • บทความเรื่อง "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" เอกสารข้อมูลเลขที่ 59 ในโครงการเอเซียอาคเนย์ฯ ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์
  • นิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "The Romance of Virangha" (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์ในวารสารของสมาคมสตรีอเมริกันในประเทศไทย พ.ศ. 2514
  • หนังสือกวีนิพนธ์เรื่อง "กาพย์เจี้ยจามเทวีและวิรังคะ" ศูนย์หนังสือเชียงใหม่จัดพิมพ์ พ.ศ. 2530

รางวัล

[แก้]

นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ ได้รับรางวัลทางสังคมหลายรายการ เช่น

  • ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2525
  • ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นแห่งชาติ เรื่องกาพย์เจี้ยจามเทวีและวิรังคะ ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปี พ.ศ. 2530
  • ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางด้านมนุษยศาสตร์ จากสภากวีโลก ซึ่งได้จัดการประชุมครั้งที่ 10 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2531

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วุฒิสภาชุดที่ ๔ (สมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๑๘)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-09-09.
  2. เบญจวรรณ บุญโทแสง. พัฒนาการการปรับตัวทางการเมืองของกลุ่มอำนาจท้องถิ่นภายหลังการผนวกดินแดนของสยาม (พ.ศ. 2442-2547): กรณีศึกษาตระกูล ณ เชียงใหม่. เก็บถาวร 2011-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2550
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๒๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒๘๐, ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]