โรงเรียนพานพิทยาคม
โรงเรียนพานพิทยาคม PHANPHITTAYAKOM (P.P.K.) | |
---|---|
ข้อมูล | |
ชื่ออื่น | พ.พ. |
ประเภท | มัธยมศึกษาขนาดใหญ่ |
คำขวัญ | มีความรู้ คู่คุณธรรม นำจริยะ พละสมบูรณ์ |
สถาปนา | 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 |
เขตการศึกษา | สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน |
ระดับปีที่จัดการศึกษา | มัธยมศึกษาปีที่ 1—6 |
สี | ม่วงขาว |
เพลง | มาร์ชพานพิทยาคม ลาหลิว รั้วม่วงขาวร่มรื่น |
เว็บไซต์ | www.phanphit.ac.th |
โรงเรียนพานพิทยาคม ตั้งอยู่เลขที่ 816 หมู่ 17 ต.เมืองพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีเนื้อที่รวม 24 ไร่ 25 ตารางวา เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36 ไร่ ปัจจุบันเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายแบบสหศึกษา
ประวัติโรงเรียน
[แก้]เมื่อปี พ.ศ. 2506 นายสุชาติ ส.วงศ์พันธ์ ตำแหน่งนายอำเภอพาน นายปรีชา สุวงศ์วาร ศึกษาธิการอำเภอพาน ร่วมด้วย พ่อค้า ประชาชนเห็นว่าอำเภอพานเป็นอำเภอใหญ่มีพลเมืองมากปีหนึ่งมีนักเรียนสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาเป็นจำนวนมาก ต้องเดินทางไปศึกษาต่อที่อื่น ทำให้ได้รับความลำบากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงจึงวางแผนขอตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชน บริจาคเงินรวม 40,000 บาท หาที่ดินจำนวน 20 ไร่ แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ห่างจากถนนพหลโยธินมาก จึงดำเนินการแลกเปลี่ยนกับที่ดินของสถานีทดลองพันธุ์ข้าวอำเภอพาน เพื่อให้ได้ที่ดินติดถนนอันเป็นที่ตั้งโรงเรียนปัจจุบัน พร้อมกับได้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างบางอย่างรวบรวมไว้ แล้วทำเรื่องขออนุญาตเปิดโรงเรียนมัธยม แต่กระทรวงศึกษาธิการไม่อนุญาตเพราะมิได้สร้างอาคารไว้แม้จะอนุญาตในปีต่อมาก็ไม่สำเร็จอีก ในปี พ.ศ. 2509 นายรอด พวงจันทร์แดง นายอำเภอพาน นายประสาท ขจรกลิ่น ศึกษาธิการอำเภอพาน ได้รื้อฟื้นเรื่องมาดำเนินการใหม่ โดยจัดหาวัสดุก่อสร้างเพิ่มเติม จัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้นตามแบบของกรมวิสามัญ (ขณะนั้น) ขนาด 2 ห้องเรียน สิ้นค่าใช้จ่าย 30,000 บาท แล้วทำเรื่องขอเปิดโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอพาน โดยให้ชื่อว่า "โรงเรียนพานพิทยาคม" ทางจังหวัดสั่งให้ นายชัชวาลย์ อำมาตย์มณี ครูโท โรงเรียนพะเยาพิทยาคม มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ จากนั้นมา โรงเรียนได้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยได้รับงบประมาณให้สร้างอาคารเรียน หอประชุม โรงฝึกงาน อุปกรณ์การเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบัน มีอาคารเรียน 5 หลัง โรงฝึกงาน 3 หลัง โรงอาหาร 1 หลัง และหอประชุม 1 หลัง ส่วนอาคารเรียนหลังแรกโรงเรียนได้ดัดแปลงใช้เป็นโรงฝึกพละในปัจจุบัน
ในปีการศึกษา 2537 กรมสามัญศึกษาได้อนุมัติให้โรงเรียนพานพิทยาคม ดำเนินการเปิดโรงเรียนสาขา ณ ตำบลดอยงามเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล เรื่องขยายโอกาสทางการศึกษา และเพื่อเตรียมก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำต่อไป ทั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก นายวีรศักดิ์ ธรรมปัญโญ ประธานสภาตำบลดอยงามและคณะกรรมการสภาตำบลดอยงามในปีการศึกษา 2537 ได้เปิดรับนักเรียนชั้น ม.1 จำนวน 2 ห้องเรียน จำนวน 90 คน ในเขตพื้นที่ ต.ดอยงาม ต.เวียงห้าว และตำบลใกล้เคียง โดยใช้สถานที่สภาตำบลเป็นสถานที่เรียน และได้รับอนุมัติตั้งเป็นโรงเรียนดอยงามวิทยาคม สังกัดกรมสามัญศึกษา ในปี พ.ศ. 2540 ปี พ.ศ. 2553 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 36
ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนพานพิทยาคม
[แก้]ลำดับ | รายนาม | ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | นายชัชวาล อำมาตย์มณี | พ.ศ. 2510 - 2523 |
2 | นายสุมิตร ประสิทธิ์ศิลป์ | พ.ศ. 2523 - 2524 |
3 | นายสาหร่าย แสงทอง | พ.ศ. 2524 - 2526 |
4 | นายอุดมศักดิ์ มุนิกานนท์ | พ.ศ 2526 - 2529 |
5 | นายพิษณุ รัตนสุพร | พ.ศ. 2529 - 2534 |
6 | นายประสิทธิ์ สุทธิวารี | พ.ศ. 2534 - 2535 |
7 | นายวชิระ จันทรสารคาม | พ.ศ. 2535 - 2540 |
8 | นายสุพจน์ จินันทุยา | พ.ศ. 2540 - 2543 |
9 | นายทำนอง จีนะเมืองใจ | พ.ศ. 2543 - 2551 |
10 | นายประเสริฐ กันธะวัง | พ.ศ. 2551 - 2554 |
11 | นายสนอง สุจริต | พ.ศ. 2554 - 2559 |
12 | นายมานัส พรมรินทร์ | พ.ศ. 2560 - 2563 |
13 | ว่าที่ร้อยโทณัฐรัชต์ ใหญ่ผา | พ.ศ. 2563 - 2565 |
14 | นางภาวิณี สุขสวัสดิ์ | พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน |
อาคารเรียน
[แก้]- อาคารเรียน 1 (ไม้ 1 ชั้น 6 ห้องเรียน)
- อาคารเรียน 2 (2 ชัน (12 ห้องเรียน)
- อาคารเรียน 3 (2 ชั้น 12 ห้องเรียน)
- อาคารเรียน 4 (3 ชั้น 24 ห้องเรียน) ผลกระทบแผ่นดินไหว-สร้างอาคารพระราชทานทดแทน
- อาคารเรียน 5 (2 ชั้น 14 ห้องเรียน)
- อาคารเรียน 6 (212 แบบพิเศษ 12 ห้อง)
- อาคารเรียนพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- โรงฝึกงาน 4 หลัง
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์โรงเรียนพานพิทยาคม เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน