ข้ามไปเนื้อหา

โรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์

พิกัด: 13°54′57″N 100°25′00″E / 13.915833°N 100.416667°E / 13.915833; 100.416667
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์
Beata Maria Virginis
Omnis Gratiae Mediatricis

Pramaesakolsongkroh School
ตราประจำโรงเรียนฯ
ตราประจำโรงเรียนฯ
ที่ตั้ง
แผนที่
ข้อมูล
ชื่ออื่นพ.ม.
ประเภทสหศึกษา
สถาปนา22 เมษายน ค.ศ. 1946
(พ.ศ. 2489)
ผู้ก่อตั้งมุขนายกเรอเน แปร์รอส
หน่วยงานกำกับ
ผู้อำนวยการเซอร์มาร์กาเร็ต รัตนาวงศ์ไชยา
ระดับปีที่จัดการศึกษาอนุบาล
ประถมศึกษา
มัธยมศึกษา
สีฟ้า-ขาว
เพลง
  • พระแม่สกลสงเคราะห์
  • มาร์ชพระแม่ฯ
เว็บไซต์www.pms.ac.th

โรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์ เป็นโรงเรียนสหศึกษา ในความดูแลของคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เขตมิสซังกรุงเทพฯ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนในระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีกำเนิดมาจาก โรงเรียนแม่พระสกลสงเคราะห์ ที่บาทหลวงบรัวซาร์ อธิการโบสถ์วัดพระแม่สกลสงเคราะห์องค์แรกจัดตั้งขึ้น เมื่อปี ค.ศ. 1924 (พ.ศ. 2467) ต่อมา คุณพ่อตาปี อธิการโบสถ์องค์ถัดมาได้เปลี่ยนเป็นชื่อโรงเรียนที่ใช้มาจนปัจจุบัน

ประวัติโรงเรียน

[แก้]

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) มุขนายกเรอเน แปร์รอส ประมุขมิสซังโรมันคาทอลิกกรุงเทพฯ เป็นผู้ยื่นคำขอจัดตั้ง โรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์ ต่อกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมทั้งดำเนินการจัดสร้างอาคารเรียนหลังแรก เป็นเรือนไม้สองชั้น ริมคลองขุนพระพิมลราชา ใกล้กับวัดพระแม่สกลสงเคราะห์ ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ออกใบอนุญาตเลขที่ 20/2489 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2489 ให้เปิดทำการสอนวิชาสามัญ นับแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 โดยมีคณะผู้บริหารประกอบด้วย พระสังฆราชเรอเน เป็นเจ้าของ นายจรูญ พันธุมจินดา เป็นผู้จัดการโรงเรียน และนางสาวสุนิตย์ โรจนรัตน์ เป็นครูใหญ่ ทั้งนี้ ในปีการศึกษา 2489 มีจำนวนนักเรียนที่เข้าสมัครทั้งหมด 272 คน

ต่อมา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494) กระทรวงฯ อนุญาตให้เปลี่ยนไปใช้หลักสูตรเทียบของกระทรวงฯ เพื่อให้สามารถเปิดสอนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเลือกได้ จากนั้นจึงขออนุญาตขยายชั้นเรียน ประถมศึกษาปีที่ 5-7 ปีละ 1 ชั้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960-ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2503-พ.ศ. 2506) และดำเนินการจัดสร้างอาคารเรียนเพิ่มอีกสองหลัง รวมถึงได้รับอนุญาตให้รับนักเรียนเพิ่ม เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) เมื่อมาถึงสมัยที่ คุณพ่อโรเชอโรเป็นอธิการโบสถ์บางบัวทองนั้น ท่านได้เสนอคำขอให้คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร มาประจำที่โบสถ์เพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ สอนคำสอนในโรงเรียน ตลอดจนเดินทางเยี่ยมสัตบุรุษในเขตบางบัวทอง โดยคณะภคินีฯ มอบหมายให้ เซอร์เอดัวร์ กิ่งกาญจน์ และ เซอร์สแตลลา นิลเขต เดินทางมาประจำที่โบสถ์บางบัวทอง ตามความประสงค์ของคุณพ่อโรเชอโร

ต่อมา เมื่อคุณพ่อมิกาแอล อดุลย์ คูรัตน์ ย้ายมาประจำ จึงขอให้เซอร์ช่วยบริหารโรงเรียน และดูแลกิจการร่วมกับครูใหญ่ ซึ่งเป็นฆราวาสด้วย โดยอธิการิณีเจ้าคณะภคินีฯ มอบหมายให้ เซอร์ดอมินิก กิจเจริญ มาดำรงตำแหน่งผู้จัดการ พร้อมกับเซอร์ผู้ช่วยอีกสองท่าน นับจากนั้น คณะภคินีฯ ก็เข้ามามีส่วนร่วมบริหารโรงเรียน โดยเพิ่มการอบรมจริยศึกษา ให้กับนักเรียนปกติ ในเวลาเช้าของทุกวัน ก่อนเริ่มการเรียนการสอนตามปกติ ส่วนนักเรียนคาทอลิก จะเข้าเรียนคำสอน รวมทั้งกิจกรรมทางศาสนาอย่าง พลศีล พลมารี หรือ กองหน้าร่าเริง โดยคุณพ่อและคณะเซอร์ จะจัดกลุ่มอบรมพิธีกรรมอยู่เสมอ จากนั้น เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) โรงเรียนฯ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงฯ ให้ขยายชั้นเรียน อนุบาลปีที่ 1-2 และจัดสร้างสนามบาสเกตบอลแห่งแรก ในปีถัดมา (ค.ศ. 1975; พ.ศ. 2518) และอีกปีถัดจากนั้น (ค.ศ. 1976; พ.ศ. 2519) จัดสร้างศาลาริมคลองขุนพระพิมลราชา เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงเรือ ตลอดจนเป็นสถานที่พักพ่อนของนักเรียน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) กระทรวงฯ อนุญาตให้โรงเรียนฯ ขยายห้องเรียนอีกสองห้อง รวมเป็น 6 ห้อง และขยายห้องเรียนอนุบาล จาก 2 เป็น 3 ห้อง โดยเมื่อคุณพ่อยอแซฟ บรรจบ โสภณ รับตำแหน่งอธิการโบสถ์บางบัวทอง ท่านเริ่มทำหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาตด้วย พร้อมทั้งร่วมบริหารโรงเรียนฯ กับคณะเซอร์ เมื่อปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) โดยในปีนี้ โรงเรียนฯ ได้รับอนุญาตให้ขยายห้องเรียนเพิ่มอีก 4 ห้อง และเปิดสอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ด้วย ต่อมา เมื่อปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) โรงเรียนฯ ขออนุญาตขยายห้องเรียนอีก 2 ห้อง รวมเป็น 22 ห้อง และรื้อโรงไม้ เพื่อสร้างเป็นโรงอาหาร จากนั้น เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) กระทรวงฯ และอำเภอบางบัวทอง อนุญาตให้โรงเรียนฯ เปลี่ยนแปลงเครื่องแบบนักเรียน จำนวน 4 ชุด

สำนักมิสซังคาทอลิกกรุงเทพฯ โดยดำริของพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ให้ปรับปรุงอาคารเรียนไม้หลังเก่า ซึ่งชำรุดทรุดโทรมมาก เป็นอาคารเรียนหลังใหม่ที่มั่นคงถาวรสองหลัง ประกอบด้วย อาคารเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา 5 ชั้น และอาคารเรียนอนุบาล 4 ชั้น เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนอย่างเพียงพอ โดยมีพิธีเสกอาคารเรียน 5 ชั้น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ทั้งนี้ ระหว่างปี ค.ศ. 1990-ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2533-พ.ศ. 2535) โรงเรียนฯ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงฯ ให้ขยายชั้นเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ขึ้นปีละ 1 ชั้น และในปี ค.ศ. 1992 นี้ โรงเรียนฯ เริ่มเปิดสอนวิชาคอมพิวเตอร์ ดำเนินการขยายห้องสมุด และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ด้วย ต่อมา โรงเรียนฯ จัดพิธีเสกอาคารเรียนอนุบาล เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993 (พ.ศ. 2536) [1]

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อโรงเรียนฯ มีอายุครบ 60 ปี ในปีการศึกษา 2549 โดยกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้เปิดสอนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมทั้งดำเนินการขยายที่ดินบริเวณหน้าโรงเรียนฯ เพื่อจัดสร้างอาคารเรียนรองรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาทั้งหกระดับ ห้องพักครูมัธยม รวมทั้งห้องทำงานของหน่วยงานบางส่วนของโรงเรียนฯ ในบริเวณถัดจากมุขทางขวาของอาคารเรียนหลังเดิม ที่ใช้เป็นห้องเรียนของระดับประถมศึกษา ห้องคณะผู้บริหาร ห้องพักครูประถม ตลอดจนห้องทำงานของภาคส่วนต่างๆ ภายในโรงเรียนฯ ตามเดิม และในโอกาสนี้ ทางโรงเรียนฯ จึงดำเนินการติดตั้งหลังคาปกคลุมลานหน้าอาคารเรียนเดิม และอาคารหลังใหม่ไปพร้อมกันด้วย

สถิติจำนวนนักเรียน ในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) มีนักเรียนอนุบาล จำนวน 630 คน ประถมศึกษา จำนวน 1,765 คน มัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 392 คน และ มัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 175 คน รวมจำนวนนักเรียนทั้งหมด 2,962 คน[2] และล่าสุดปีการศึกษา 2552 มีนักเรียนทั้งหมด 3,896 คน จำนวนครูชาย 20 คน ครูหญิง 142 คน รวมมีคุณครู 162 คน[3]

สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน

[แก้]

พระนางมารีอา

[แก้]

พระนางมารีย์พรหมจารี พระมารดาของพระเยซูผู้เป็นพระบุตรพระเป็นเจ้า ซึ่งพระองค์ส่งมาจุติในพระครรภ์ของพระนาง ซึ่งเป็นองค์อุปถัมภ์โบสถ์และโรงเรียน

ตราประจำโรงเรียน

[แก้]

เป็นภาพพระนางมารีอา ผายมือทั้งสอง แผ่พระหรรษทาน ประทับยืนบนลูกโลก ที่มีตัวเลขอารบิก ปีคริสต์ศักราชที่ก่อตั้งโรงเรียนฯ อยู่ตอนล่างของตรา โดยมีรวงข้าวขึ้นจากฝั่งซ้ายและขวา ขนาบโอบทั้งสองข้างเป็นรูปครึ่งวงกลม ทั้งหมดอยู่ภายในรูปวงกลมชั้นใน ถัดออกมาเป็นชื่อโรงเรียนอยู่ครึ่งบน และอำเภอกับจังหวัดที่ตั้งโรงเรียนอยู่ครึ่งล่าง โดยทั้งสองส่วนคั่นไว้ด้วยดวงดาวเปล่งรัศมี อยู่ภายในรูปวงกลมอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ อาจมีคติพจน์ขนาบโอบอยู่ที่ส่วนล่างสุดของตราหรือไม่ก็ได้ โดยองค์ประกอบทั้งหลายนั้น มีความหมายดังนี้

  • พระนางมารีอาแผ่พระหรรษทาน ประทับยืนบนลูกโลก หมายถึง การให้ความอุปถัมภ์อย่างกว้างขวาง ด้วยพระหฤทัยดีกับทุกคน ไม่จำกัดว่าจะเป็นบุคคล กลุ่มคน ชนชั้น สีผิว หรือสถานที่ใด
  • รวงข้าว หมายถึง ความเจริญเติบโต และการพัฒนาแห่งชีวิตมนุษย์ ทั้งในเรื่องความรู้ สติปัญญา ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และเรื่องอื่นที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นผลจากพระหรรษทานที่ได้รับการอุปถัมภ์จากพระนางมารีอา

อนึ่ง รูปแบบเดิมของตราประจำโรงเรียนเป็นรูปวงรี แต่มีองค์ประกอบที่สำคัญ เช่นเดียวกับตราประจำโรงเรียนในปัจจุบัน ต่อมา เซอร์ราแชล วรนุช ศิริกรกุล ครูใหญ่ของโรงเรียนในขณะนั้น มีดำริในการปรับเปลี่ยนรูปทรงของตราให้เป็นวงกลม พร้อมทั้งจัดองค์ประกอบให้อยู่ในตำแหน่งที่สวยงามยิ่งขึ้น โดยตราแบบปัจจุบันนี้ เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) [4]

คติพจน์ประจำโรงเรียน

[แก้]

เมตตาธรรม นำสันติสุข [2]

ปรัชญาการศึกษาของโรงเรียน

[แก้]

ความสุภาพและความรู้ นำสู่ความรักและการพัฒนา เพื่อบรรลุความจริงสูงสุดแห่งชีวิตมนุษย์[2][5]

สีประจำโรงเรียน

[แก้]

โรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์ มีสีฟ้า และสีขาว เป็นสีประจำโรงเรียน ที่มีความหมายดังนี้[2][6]

  • สีฟ้า หมายถึง สุภาพ พากเพียร และ สร้างสรรค์
  • สีขาว หมายถึง ศาสนา คุณธรรม และ สันติภาพ

ต้นไม้ประจำโรงเรียน

[แก้]
  • ต้นหางนกยูง เป็นต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุมากที่สุดในโรงเรียน ปลูกไว้ที่ริมคลองขุนพระพิมลราชา บริเวณอาคารเรียนไม้เดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณใกล้กับสนามฟุตบอล[2][7] สืบเนื่องจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ในเขตอำเภอบางบัวทอง เมื่อปี ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) และเกิดซ้ำอีกในปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) จึงส่งผลให้ต้นหางนกยูงที่เก่าแก่ เป็นสัญลักษณ์สำคัญของโรงเรียนมาเนิ่นนาน ต้องยืนต้นตาย และยังไม่ได้ถูกถอนออกไปเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนต่อไป

เพลงประจำโรงเรียน

[แก้]

โรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์ มีเพลงประจำโรงเรียน ที่ใช้ในโอกาสแตกต่างกันอยู่สองเพลงและเพลงที่แต่งขึ้นใหม่สองเพลง

ดังนี้

  • เพลง “พระแม่สกลสงเคราะห์” ซึ่งเริ่มใช้บรรเลงภายในโบสถ์มาก่อน มักนำมาใช้ในพิธีการสำคัญต่างๆและเป็นทางการ
  • เพลง “มาร์ชพระแม่” ที่แต่งขึ้นใหม่สำหรับโรงเรียนโดยเฉพาะ มักใช้กับพิธีการของนักเรียน ตลอดจนกิจกรรมเชียร์กีฬาต่างๆและทุกวันศุกร์
  • เพลง "รำวงฟ้าขาว" เป็นเพลงที่ใช้เวลาเรียกแถว
  • เพลง "บทเพลงสถาบัน"เป็นเพลงที่ใช้เวลาเรียกแถว

คณะผู้บริหารโรงเรียน

[แก้]

โรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์ มีคณะผู้บริหารในชุดปัจจุบัน (ค.ศ. 2021; พ.ศ. 2564) ประกอบด้วย[8]

  • บาทหลวงสำรวย กิจสำเร็จ แทนผู้รับใบอนุญาต
  • เซอร์มาร์กาเร็ต รัตนาวงศ์ไชยา ผู้อำนวยการและผู้จัดการ

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  • หนังสืออนุสรณ์สานสัมพันธ์ 50 ปี โรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์ ค.ศ. 1946-1996
  1. ประวัติโรงเรียน เก็บถาวร 2008-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์เก่าของโรงเรียนฯ
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 เกี่ยวกับโรงเรียน เก็บถาวร 2010-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ
  3. บันทึกจากป้ายนิเทศแสดงจำนวนครูและนักเรียน บริเวณหน้าอาคารเรียนประถมศึกษา
  4. ตราประจำโรงเรียน เก็บถาวร 2008-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์เก่าของโรงเรียนฯ
  5. ปรัชญาการศึกษาของโรงเรียน เก็บถาวร 2008-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์เก่าของโรงเรียนฯ
  6. สีประจำโรงเรียน เก็บถาวร 2005-04-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์เก่าของโรงเรียนฯ
  7. ต้นไม้ประจำโรงเรียน เก็บถาวร 2008-04-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์เก่าของโรงเรียนฯ
  8. ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียน เก็บถาวร 2009-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์โรงเรียนฯ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°54′57″N 100°25′00″E / 13.915833°N 100.416667°E / 13.915833; 100.416667