ข้ามไปเนื้อหา

โบสถ์คริสต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โบสถ์ (คริสต์ศาสนา))
อารามเอททัล
โบสถ์แบบฟื้นฟูคลาสสิกเซนต์นิโคโลที่เมืองมองทู โรโร ประเทศอิตาลี
มหาวิหารแฮรฟอร์ด, อังกฤษ
ด้านหน้ามหาวิหารปิซา, อิตาลี
โบสถ์น้อยที่ Malsch ประเทศเยอรมนี
แท่นบูชาภายในคูหาสวดมนต์ มหาวิหารอาเคิน ประเทศเยอรมนี
ภายในโบสถ์น้อยแม่พระในมหาวิหารกลอสเตอร์, อังกฤษ
อนุสาวรีย์พระตรีเอกภาพที่ประเทศสโลเวเนีย
หอล้างบาปที่ปิซา อิตาลี
สักการสถานริมทางในประเทศโปแลนด์

โบสถ์คริสต์[1] หมายถึง ศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมในศาสนาคริสต์ แต่ชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในไทย เรียกว่า วัด หรือ อาสนวิหาร ไม่ใช่ โบสถ์[2]

ประเภท

[แก้]

มหาวิหาร

[แก้]
ดูบทความหลักที่ มหาวิหาร

มหาวิหาร ภาษาอังกฤษว่า basilica มาจากคำว่า “Basiliké Stoà” ในภาษาละติน ที่แปลว่า “สิ่งก่อสร้างแบบมหาวิหาร” เดิมเป็นคำที่หมายถึงสิ่งก่อสร้างสาธารณะแบบสถาปัตยกรรมโรมันลักษณะหนึ่ง เช่นเดียวกับศาลของกรีซ ซึ่งมักจะตั้งอยู่ในเมืองโรมัน ในเมืองกรีซ มหาวิหารเริ่มปรากฏราว 2 ศตวรรษก่อนคริสต์ศักราช หลังจากจักรวรรดิโรมันหันมานับถือศาสนาคริสต์ ความหมายของคำก็ขยายไปคลุมโบสถ์ใหญ่และสำคัญที่ได้รับแต่งตั้งโดยพระสันตะปาปา ฉะนั้นในปัจจุบันคำว่า “มหาวิหาร” จึงมีความหมายทั้งทางสถาปัตยกรรมและศาสนา

อาสนวิหาร

[แก้]
ดูบทความหลักที่ อาสนวิหาร

อาสนวิหาร (อังกฤษ: Cathedral) คือ คริสต์ศาสนสถานอันเป็นทีตั้ง “คาเทดรา” (บัลลังก์ของมุขนายก) เป็นสถานที่ทางศาสนาที่ใช้ในการนมัสการพระเจ้า (โดยเฉพาะสำหรับคริสตจักรที่มีการจัดระเบียบองค์การแบบอิปิสโคปัล เช่น โรมันคาทอลิก ออร์ทอดอกซ์ แองกลิคัน และลูเทอแรน) ใช้เป็นศูนย์กลางของมุขมณฑล[3]

วัด

[แก้]

วัด เป็นคำที่บัญญัติใช้เรียกศาสนสถานของคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ และมีบัญญัติทั้งกรมศาสนา(ไทย) และกรมที่ดิน(ไทย) เรียกศาสนสถานของโรมันคาทอลิกว่า "วัด"

โบสถ์

[แก้]

โบสถ์[4][5] เป็นคำที่ใช้เรียกคริสต์ศาสนสถานโดยรวม ๆ ทั้งหมด หรือคริสต์ศาสนสถานที่มิได้เป็นแบบใดแบบหนึ่งที่อธิบายในบทความนี้ เช่น โบสถ์ประจำเขตแพริช แต่ใช้กับศาสนสถานของนิกายโรมันคาทอลิกไม่ได้ เพราะนิกายโรมันคาทอลิกมีบัญญัติศัพท์เฉพาะว่า "วัด" ดังนั้น คำว่าโบสถ์ (Church) ที่เป็นที่นิยมในไทยนั้นเกิดจากมิชันนารีของนิกายโปรเตสแตนท์ และนิกายแบ๊บติสต์ ใช้ในการตั้งศาสนสถานของตน

โบสถ์น้อย

[แก้]
ดูบทความหลักที่ โบสถ์น้อย

โบสถ์น้อย หรือ วัดน้อย (ทับศัพท์ "ชาเปล") คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มักจะมีขนาดเล็กแต่บางครั้งก็ใหญ่ ที่อาจจะสร้างเป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ หรือเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่ใหญ่กว่าเช่น โบสถ์ใหญ่ ๆ วัง วิทยาลัย โรงพยาบาล คุก หรือสุสาน บางครั้งชาเปลที่สร้างในมหาวิหารจะสร้างเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น “ชาเปลพระแม่มารี” ที่มักจะสร้างเป็นชาเปลที่อยู่ทางตะวันออกสุดของตัวโบสถ์ หรือ “โบสถ์ศีลศักดิ์สิทธิ์” ที่ตั้งติดกับตัวโบสถ์และใช้เป็นที่เก็บไวน์ และขนมปังที่ใช้ในพิธีศีลมหาสนิท ถ้าชาเปลมีขนาดค่อนข้างเล็กที่สร้างเป็นคูหาภายในทางด้านข้างหรือทางด้านหลังของมหาวิหารหรือโบสถ์ก็อาจจะเรียกว่า “คูหาสวดมนต์”

  • Chantry chapel ภาษาไทยใช้ ชาเปลสวดมนต์ หรือ ชาเปลแชนทรี ชาเปลสวดมนต์ เป็นศาสนสถานที่ที่ผู้สร้างจะเป็นผู้มีอันจะกินหรือเป็นบาทหลวงที่อุทิศเงินให้สร้างชาเปลส่วนตัว ชาเปลชนิดนี้ที่เป็นสมบัติของผู้สร้าง การสร้างจะสร้างในตัวมหาวิหารหรือโบสถ์ใหญ่ ๆ และใช้เป็นที่ที่ให้นักบวชมาสวดมนต์ให้ผู้สร้างหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ชาเปลลักษณะนี้มักจะสร้างในขณะที่ผู้อุทิศเงินยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นห้องแคบ ๆ เล็ก ๆ ภายในบางทีจะเป็นที่ตั้งของอนุสรณ์ของผู้ตาย มีประตูทางเข้าทางหนึ่งออกทางหนึ่งเพื่อให้ผู้สวดมนต์เดินเข้าออก การสร้างก็พยายามให้ใกล้แท่นบูชาเอกที่สุดเท่าที่กำลังทรัพย์จะอำนวย “Chantry chapel” มาจากภาษาละตินว่า “Cantaria” ซึ่งแปลว่า “ใบอนุญาตให้สวดมนต์” ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า “chapellenie”
  • โบสถ์น้อยแม่พระ มักจะเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิหารหรือโบสถ์ใหญ่ ๆ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของตัวโบสถ์และอุทิศให้พระนางมารีย์พรหมจารี และมักจะเป็นชาเปลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโบสถ์
  • Side chapel ภาษาไทยใช้ คูหาสวดมนต์. คูหาสวดมนต์ คือบริเวณภายในอาสนวิหารหรือโบสถ์ใหญ่ ๆ ที่อุทิศให้เป็นบริเวณแยกจากส่วนกลางซึ่งอาจจะใช้เป็นทำพิธีย่อยหรือสวดมนต์วิปัสนาเป็นการส่วนตัว ที่ตั้งอาจจะเป็นมุขยื่นออกไปจากสองข้างทางเดินข้าง หรือรอบมุขด้านตะวันออก หรือบางครั้งก็ยื่นออกไปจากแขนกางเขน
  • "โบสถ์น้อยริมทาง" คือเป็นศาสนสถานที่ใช้เป็นที่สักการะของคริสต์ศาสนิกชนที่มีขนาดเล็กและมักจะตั้งอยู่ในชนบท

อาราม

[แก้]

ภาษาไทยใช้เรียกว่า อาราม หมายถึงสถานที่ที่นักพรตหรือนักพรตหญิงมาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และถือวินัยเดียวกัน สิ่งก่อสร้างมักจะประกอบอาคารสถานหลายอาคารที่จะมีโบสถ์ใหญ่เป็นหลัก นักพรตที่เป็นหัวหน้าเรียกว่าอธิการอาราม (หากเป็นเพศหญิงเรียกว่าอธิการิณีอาราม)

  • "แอบบีย์" มาจากภาษาละติน “abbatia” ซึ่งมาจากคำว่า “abba” ในภาษาซีเรียคที่แปลว่า “คุณพ่อ” เป็นอารามหรือคอนแวนต์ชนิดหนึ่งในนิกายโรมันคาทอลิก ที่ปกครองโดยอธิการอาราม หรืออธิการิณีอาราม (Abbess) ซึ่งเปรียบเหมือนพ่อแม่ผู้เป็นผู้นำทางความศรัทธาของชุมชนที่อยู่ใต้การนำสำนัก “แอบบีย์”
  • "คอนแวนต์" คืออารามของนักพรต นักพรตหญิง ภราดาฆราวาส หรือภคินี ในนิกายโรมันคาทอลิกและแองกลิคัน แต่ความหมายในปัจจุบันมักจะจำกัดว่าเป็นอารามของภคินีเท่านั้น ขณะที่คำว่า “monastery” ใช้สำหรับนักบวชผู้ชาย แต่ในประวัติศาสตร์สองคำนี้ใช้เปลี่ยนกันได้
  • "อาศรม" หรือ เฮอร์มิเทจ ในปัจจุบัน เฮอร์มิเทจ จะหมายถึงสถานที่อยู่ของนักบวชที่ใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เฮอร์มิเทจมักจะใช้กับผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยกันอย่างสันโดษไกลจากตัวเมืองหรือหมู่บ้าน เฮอร์มิเทจเป็นคริสต์ศาสนสถานอย่างหนึ่งของอาราม
  • "มินสเตอร์" แต่เดิมเป็นคำที่ใช้เรียกอาราม หรือสาขาซึ่งปกครองโดยนักบวชนักพรตมิใช่บาทหลวง แต่ในปัจจุบันหมายถึงโบสถ์ที่เคยเป็นอารามมาก่อนหรือโบสถ์ใหญ่
  • อารามนักพรตหญิง คือสำนักชีทางคริสต์ศาสนาหรือคอนแวนต์ ที่ปกครองโดยอธิการิณี (Abbess) ซึ่งเปรียบเหมือนแม่ผู้เป็นผู้นำทางความศรัทธาของชุมชนที่อยู่ใต้การนำสำนัก “อาราม”
  • "ไพรออรี" เป็นอารามทางคริสต์ศาสนา ที่ปกครองโดย “ไพรเออร์” ซึ่งเป็นตำแหน่งต่ำกว่าอธิการอาราม (abbot)

โบสถ์แม่

[แก้]
ดูบทความหลักที่ โบสถ์แม่

โบสถ์แม่ อาจจะเป็นตำแหน่งที่แสดงลำดับความสำคัญของโบสถ์ เช่น “มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน” ซึ่งถือเป็นโบสถ์แม่ของคริสตจักรโรมันคาทอลิก หรืออาสนวิหารประจำมุขมณฑลก็ถือว่าเป็น “โบสถ์แม่” ของมุขมณฑลนั้น ๆ คำนี้มักจะใช้กับโบสถ์ในนิกายคาทอลิกหรือแองกลิคันและจะไม่ค่อยใช้กันในนิกายโปรเตสแตนต์ ยกเว้น “First Church of Christ” ที่ บอสตัน ในรัฐแมสซาชูเซตส์ที่มักจะเรียกกันว่า “โบสถ์แม่”

ออราทอรี

[แก้]

ออราทอรี คือห้องสวดมนต์เฉพาะส่วนภายในอารามนอกจากนั้นอาจจะเป็นสถานที่สักการะแบบกึ่งสาธารณะซึ่งสร้างโดยกลุ่มคนเช่นกลุ่มช่าง ออราทอรีจะเป็นสถานที่สักการะที่เป็นส่วนตัวมากกว่าโบสถ์โดยทั่วไป เพราะโบสถ์ใครจะเข้ามาสักการะก็ได้ แต่ออราทอรีผู้มีสิทธิใช้คือผู้สร้างเท่านั้น

ออสชัวรี

[แก้]

ออสชัวรี (อังกฤษ: Ossuary) โบสถ์บรรจุกระดูก หรือ ชาเปลบรรจุกระดูก โบสถ์บรรจุกระดูก เป็นสถานที่ที่ใช้เก็บกระดูก

อนุสาวรีย์ตรีเอกภาพและอนุสาวรีย์พระแม่มารีย์

[แก้]

ภาษาไทยใช้ อนุสาวรีย์ตรีเอกภาพ หรือ อนุสาวรีย์พระแม่มารีย์ อนุสาวรีย์ตรีเอกภาพ เป็นอนุสาวรีย์ทางศาสนาสร้างเพื่ออุทิศแก่พระนางมารีย์พรหมจารีหรือพระตรีเอกภาพเพื่อแสดงความขอบคุณที่แบล็กเดทหยุดลงหรือในกรณีอื่น ๆ การสร้างอนุสาวรีย์ตรีพระแม่มารีย์มีความนิยมกันระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึง 18 และเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมบาโรก ตัวอนุสาวรีย์มักตั้งอยู่กลางเมือง

สักการสถาน

[แก้]
ดูบทความหลักที่ ศาลเจ้า

สักการสถาน (อังกฤษ: shrine) มาจากภาษาละติน “scrinium” ซึ่งแปลว่า “กล่อง” หรือโต๊ะเขียนหนังสือ ในสมัยแรกหมายถึงกล่องที่ทำด้วยอัญมณีมีค่าเป็นที่เก็บ เรลิก หรือรูปเคารพต่าง ๆ ต่อมาความหมายก็ขยายเพิ่มโดยรวมถึงสถานที่ที่เป็นที่เก็บเรลิกหรือที่ฝังศพที่อุทิศให้กับวีรบุรุษ มรณสักขี นักบุญ หรือบุคคลที่เป็นที่นับถือ

หอล้างบาป

[แก้]
ดูบทความหลักที่ หอล้างบาป

หอล้างบาป เป็นอาคารที่สร้างเป็นอิสระจากสิ่งก่อสร้างอื่นโดยมีอ่างล้างบาปเป็นศูนย์กลาง หอศีลจุ่มอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของโบสถ์หรืออาสนวิหารซึ่งมีแท่นบูชาและคูหาสวดมนต์ โบสถ์ในศาสนาคริสต์ยุคแรกจะเป็นสถานสำหรับเรียนรู้เรื่องศาสนาก่อนจะรับบัพติศมา และเป็นที่ทำพิธีบัพติศมาด้วย

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 689
  2. "การบรรยายเรื่อง กฎหมาย วัดคาทอลิก ไม่ใช่โบสถ์ โดย คุณปอ (18 ธ.ค.63) - YouTube". www.youtube.com.
  3. New Standard Encyclopedia, 1992 by Standard Educational Corporation, Chicago, Illinois; page B-262c
  4. กรมการศาสนา, รายงานการศาสนา ประจำปี ๒๕๔๓, กรมการศาสนา, 2543, หน้า 195
  5. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 183, 236

ข้อมูลเพิ่มเติม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

สมุดภาพ

[แก้]