ข้ามไปเนื้อหา

โรงพิมพ์วัดเกาะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงพิมพ์วัดเกาะ หรือ โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ เป็นโรงพิมพ์ที่มีชื่อเสียงในการพิมพ์เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ และนิทานพื้นบ้าน ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเรียกขานประเภทหนังสือเหล่านี้ว่า วรรณกรรมวัดเกาะ แม้จะจัดพิมพ์โดยโรงพิมพ์อื่น บนหน้าปกของหนังสือมีคำขวัญเชิญชวนว่า "ยี่สิบห้าสตางค์ต่างรู้ท่านผู้ซื้อ ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะหนักหนา.."[1]

ประวัติ

[แก้]

โรงพิมพ์วัดเกาะตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดเกาะหรือวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร ลักษณะโรงพิมพ์เป็นตึกแถวคูหาเดียว ซึ่งตอนนี้คือบ้านเลขที่ 472

จุดกำเนิดของโรงพิมพ์วัดเกาะเกิดจากแต่เดิมนั้น แซมมวล เจ. สมิธ (ครูสมิธ) มิชชันนารีอเมริกันในสมัยรัชกาลที่ 4 ตั้งโรงพิมพ์บุกเบิกการพิมพ์หนังสือวรรณคดีไทยออกขาย แต่ต่อมาถูกศาลกงสุลว่าผิดวิสัยมิชชันนารีที่พิมพ์หนังสือประโลมโลกนิทานจักร ๆ วงศ์ ๆ จนถึงเข้าขั้นโป๊ อย่างขุนช้างขุนแผนตอนเข้าห้องมีบทสังวาส จนทำให้ต้องหยุดพิมพ์หนังสือประเภทนี้ไป จึงได้ขายต้นฉบับให้คนอื่นเอาไปพิมพ์ต่อ มีผู้รุมซื้อไปจนเกลี้ยง

นายสิน ลมุลทรัพย์ (บางครั้งเรียก สิงห์) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2393 เป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรีที่เข้ามาเปิดร้านขายเครื่องแก้วอยู่แถววัดเกาะ ได้รับหนังสือของครูสมิธมาวางขายด้วย ต่อมาซื้อเรื่องจากครูสมิธแล้วตั้งโรงพิมพ์ พิมพ์เองขายเอง[2] โดยตั้งโรงพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. 2432

โรงพิมพ์อยู่ในตึกแถวอีกแห่งลึกเข้าไปในตรอกสะพานญวน ต่อมาย้ายไปตรอกจันทน์เมื่อ พ.ศ. 2510 เลิกกิจการช่วง พ.ศ. 2520[3]

ลักษณะงานพิมพ์

[แก้]

แม้งานที่ตีพิมพ์จะมีความหลากหลายตั้งแต่นิทานพื้นบ้าน วรรณคดี พงศาวดารจีน ชาดก สุภาษิตคำสอน ตำราประเภทต่าง ๆ แต่งานที่พิมพ์ออกมาจำนวนมากนั้นเป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เช่น ไกรทอง ปลาบู่ทอง โสนน้อยเรือนงาม พระรถเมรี พระสุธน มโนราห์ นางอุทัย และแก้วหน้าม้า เป็นต้น โดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบร้อยกรองประเภทกลอนหรือกาพย์ แต่พิมพ์เรียงบรรทัดเหมือนร้อยแก้ว

รูปเล่มเป็นแบบหนังสือฝรั่ง เข้าเล่มเป็นสมุดขนาด 8 หน้ายกพิเศษในตอนต้น และเปลี่ยนเป็นเป็น 16 หน้ายกในภายหลัง พิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์และกระดาษปรูฟ หน้าแรกมักสรุปเรื่องย่อแล้วจึงเข้าเรื่อง หากไม่ใช่เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ จะจบในเล่ม ส่วนเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ จะแบ่งเป็นเล่มเล็ก ๆ หลายเล่มต่อหนึ่งเรื่อง[4]

ผลกระทบ

[แก้]

วรรณกรรมวัดเกาะได้รับการนำไปทำเป็นละครชาตรี เพลงทรงเครื่อง ละครต่าง ๆ จนเมื่อเข้าสู่ยุควิทยุและโทรทัศน์ ก็ได้นำวรรณกรรมวัดเกาะไปปรับไปจัดแสดงเช่นกัน เป็นละครจักร ๆ วงศ์ ๆ[5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "วรรณกรรมวัดเกาะ". ฐานข้อมูลหนังสือเก่า.
  2. โรม บุนนาค. "ฝรั่งฟ้องมิชชันนารีไม่พิมพ์หนังสือศาสนา พิมพ์แต่เรื่องโป๊ขายจนรวย! ขุนแผนเข้าห้องมีบทสังวาส!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  3. "ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ผ่าหัวใจ 'กรุงเทพฯ' 100 ปีแรกตั้ง เปิดหนังสือ 'วัดเกาะ' วรรณกรรมราษฎร". มติชน.
  4. ""หนังสือวัดเกาะ" ในช่วงความนิยมเรื่องจักรๆวงศ์ๆ".
  5. "อมตะ 'นิทานวัดเกาะ' ต้นทางละครพื้นบ้านจักร ๆ วงศ์ ๆ". เดลินิวส์.