ข้ามไปเนื้อหา

โบสถ์ยิว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โบสถ์ยิวใหญ่ เมืองเปิลเซน ประเทศเช็กเกีย

ในศาสนายูดาห์ ธรรมศาลา[1] (ศัพท์โปรเตสแตนต์) หรือ ศาลาธรรม[2] (ศัพท์โรมันคาทอลิก) หรือ โบสถ์ยิว[3], สุเหร่ายิว[4] (อังกฤษ: synagogue; กรีก: συναγωγή; หมายถึง การชุมนุมหรือรวมตัว) เป็นศาสนสถานที่ใช้รวมกลุ่มกันทำการอธิษฐาน ทว่าสำหรับชาวยิวแล้ว พวกเขาไม่จำเป็นต้องไปธรรมศาลาเพื่อประกอบพิธี หากรวมตัวได้ครบองค์ประชุม (Quorum) ที่ประกอบด้วยผู้ชายที่บรรลุนิติภาวะแล้วจำนวนสิบคน เรียกว่า "องค์คณะสิบ" หรือ "มินยัน" (Minyan) ก็สามารถประกอบพิธีได้

เมื่อก่อนไม่อนุญาตให้สตรีเป็นหนึ่งในองค์คณะสิบ แต่เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2001, ยิวอนุรักษ์นิกายอนุญาตให้สตรีเป็นหนึ่งในคณะมินยันได้[5]

ในชุมชนยิวปัจจุบัน ธรรมศาลาไม่ได้มีไว้สำหรับพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น เช่น สถานที่จัดเลี้ยง โรงเรียนสอนศาสนา ห้องสมุด ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเวลากลางวัน และครัวโคเชอร์ (Kosher) ตามหลักมาตรฐานอาหารยิว

ประวัติของคำ

[แก้]

ชาวอิสราเอลจะเรียกธรรมศาลายิวโดยใช้ภาษาฮีบรูว่า "bet knesset" หมายถึงสถานที่ชุมนุม ในขณะที่ชาวยิวอัชเคนาซิจะใช้ศัพท์ภาษายิดดิช ว่า "shul" ที่มีรากศัพท์เดียวกับคำว่า Schule ในภาษาเยอรมัน แปลว่าโรงเรียน ส่วนชาวยิวในสเปนหรือโปรตุเกสจะเรียกธรรมศาลาว่า "esnoga" ส่วนชาวยิวเปอร์เซียและคาไรต์จะใช้คำว่า "kenesa" ที่มีรากศัพท์มาจากภาษาแอราเมอิก ในขณะที่ชาวยิวที่พูดภาษาอาหรับจะเรียกธรรมศาลาว่า "knis"

ชาวยิวนิกายปฏิรูปและนิกายอนุรักษ์บางคนจะใช้คำว่า "temple"[6] คำว่า "synagogue" ในภาษากรีกดูจะครอบคลุมความหมายได้ทั้งหมด[7] และยังใช้ในภาษาอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศสด้วย

ประวัติ

[แก้]
พลับพลาจำลองในทิมนาพาร์ก ประเทศอิสราเอล

แรกเริ่มเดิมที บรรพบุรุษของชาวยิวไม่เคยมีการสร้างโบสถ์หรือศาสนสถาน เวลาต้องการทำพิธีกรรมทางศาสนา ชาวฮีบรูจะรวมตัวกันใน "พลับพลา" หรือกระโจมนัดพบ (Tent of Meeting) ซึ่งภายในประดิษฐาน "หีบแห่งพันธสัญญา" ซึ่งภายในบรรจุแผ่นหินสองแผ่นที่จารึกบัญญัติ 10 ประการ

สมัยก่อน ไม่ว่าชาวยิวจะเดินทางไปที่แห่งหนใด พวกเขาจะแบกหีบดังกล่าวไปด้วยเสมอ เสมือนมีพระเจ้าใกล้ตัว ที่นอกจากทำให้อุ่นใจแล้ว ยังเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ทำบาปด้วย คราใดที่หยุดพัก ชาวฮีบรูจะตั้งพลับพลาสำหรับหีบพันธสัญญา ที่แยกต่างหากจากที่พัก เพื่อใช้เป็นที่นัดพบและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนสวดมนต์ร่วมกัน

ในพระคัมภีร์กล่าวว่า พระเจ้าซาโลมอน กษัตริย์แห่งอิสราเอล เป็นผู้สร้างพระวิหารซาโลมอน (Solomon's Temple) ณ กรุงเยรูซาเล็ม ที่ถือกันว่าเป็นพระวิหารแห่งเยรูซาเล็มหลังแรก (The First Temple) ลักษณะคล้ายวิหารคานาอัน

หลังจากพระวิหารโซโลมอนถูกทำลาย ชาวยิวเริ่มสร้างสถานชุมนุมและประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามแบบฉบับของตัวเอง และเรียกขานว่าเป็น "สถานที่นมัสการ"[8]

อิทธิพลของศาสนายูดาห์ในสมัยเฮเลนนิสติค

[แก้]

คำว่า "synagogue" มาจากภาษากรีกคอยเน (Koine Greek) ที่ใช้กันในหมู่ชาวยิวเฮเลนนิสติกทั่วยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ (มาซิโดเนีย เทรซ และทางตอนเหนือของกรีซ) รวมถึงฝั่งตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ ลูกหลานของชาวยิวเฮเลนนิสติกที่อาศัยอยู่บนเกาะกรีก ซิลิเซีย อิสราเอลทางตอนเหนือ ซีเรียตะวันตกเฉียงเหนือและซีเรียตะวันออก ได้ร่วมกันสร้างธรรมศาลาขึ้นมาหลายแห่ง ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นธรรมศาลาแห่งเดลอส (Delos Synagogue) และธรรมศาลาที่สร้างในเมืองแอนติออก อเล็กซานเดร็ตตา กาลิลี และดูร่า-ยูโรโปส

ทว่าเพราะในธรรมศาลาสมัยนั้นประดับประดาด้วยรูปปั้นของเทพปกรณัมกรีก และรูปเคารพตามคัมภีร์ไบเบิล ในช่วงแรกๆ จึงมักถูกเข้าใจผิด คิดว่าเป็นวิหารกรีก หรือโบสถ์ของกรีกนิกายออร์ธอด็อกซ์ และเมื่อสิ้นสุดยุคของพระวิหารที่สอง (Second Temple Era) นักบวชยิว ราไบ โยคานัน เบน ซาคาอิ (Yochanan ben Zakai) จึงมีดำริให้มีการสร้างธรรมศาลาขึ้นในทุกแห่งที่ชาวยิวอยู่รวมกันเป็นชุมชน

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับมาตรฐาน 2011. กรุงเทพฯ : สมาคมพระคริสตธรรมไทย, 2011. 2,695 หน้า. ISBN 978-616-721-871-7
  2. พระคัมภีร์คาทอลิก ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อคริสตศาสนธรรม แผนกพระคัมภีร์, 2014. 2495 หน้า. ISBN 978-616-361-361-5
  3. https://dictionary.sanook.com/search/dict-en-th-lexitron/synagogue
  4. https://dict.longdo.com/search/synagogue
  5. [[https://web.archive.org/web/20150921024354/http://www.jewishchronicle.org/article.php?article_id=291 เก็บถาวร 2015-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Women can count in minyans, lead services at Beth Israel]]
  6. ตัวอย่างการใช้คำว่า temple ในศาสนายิว
  7. "Judaism 101: Synagogues, Shuls and Temples". Jewfaq.org.
  8. "DF404 ศาสนศึกษา บทที่ 11 ศาสนายิว". สถานที่ทำพิธีกรรมและนักบวช. หนังสือเรียน+สื่อประกอบการเรียน มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-18. สืบค้นเมื่อ 2013-02-21.