โตโยต้า โคโรลล่า
โตโยต้า โคโรลล่า | |
---|---|
ภาพรวม | |
บริษัทผู้ผลิต | โตโยต้า |
เริ่มผลิตเมื่อ | 2509–ปัจจุบัน |
ตัวถังและช่วงล่าง | |
ประเภท | รถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (2509–2534) รถยนต์นั่งขนาดเล็ก (2534–ปัจจุบัน) |
โครงสร้าง | เครื่องวางหน้า, ขับเคลื่อนล้อหลัง (พ.ศ. 2509-2530), (พ.ศ. 2526-2530; AE85, AE86) เครื่องวางหน้า, ขับเคลื่อนล้อหน้า (พ.ศ. 2526–ปัจจุบัน) เครื่องวางหน้า, ขับเคลื่อนสี่ล้อ (พ.ศ. 2531–2537, 2540–ปัจจุบัน) |
ระยะเหตุการณ์ | |
รุ่นก่อนหน้า | โตโยต้า พับลิกา |
โตโยต้า โคโรลล่า (Toyota Corolla) (คำว่า Corolla แปลว่า กลีบดอกไม้) เป็นรถโตโยต้ารุ่นที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการขายและการเป็นที่นิยมมายาวนาน โดยเฉพาะในเมืองไทยรู้จักรถโคโรลล่านี้มาอย่างกว้างขวางและยาวนาน โดยเฉพาะในปัจจุบัน นิยมเอารถโตโยต้า โคโรลล่า อัลติส (Toyota Corolla Altis) มาทำรถแท็กซี่ในเมืองไทย โดยรถโตโยต้า โคโรลล่า จัดอยู่ในระดับรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Subcompact) ในโฉมที่ 1-5 ส่วนโฉมที่ 6 เป็นต้นมา จัดอยู่ในระดับรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact)
โคโรลล่า เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับ ฮอนด้า ซีวิค นิสสัน ซันนี่/ทีด้า เชฟโรเลต ออพตร้า และ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ ในฐานะที่เป็นรถที่ไม่เล็กเกินไปในการใช้เป็นรถครอบครัว แต่ไม่เทอะทะสำหรับการใช้เป็นรถส่วนตัว ใช้งานได้หลากหลาย รถรุ่นโคโรลล่าเป็นรถที่พบเห็นได้ค่อนข้างมากบนท้องถนนไทยในปัจจุบัน มีวิวัฒนาการตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แบ่งเป็น 12 รูปโฉม ได้แก่
รุ่นที่ 1 (พ.ศ. 2509-2513)
[แก้]เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2509 รหัสตัวถัง KE10 โดยในช่วงแรก ผลิตเพียงตัวถังแบบ Sedan 2 ประตู แล้วตัวถังแบบ Sedan 4 ประตูเริ่มมีใน พ.ศ. 2510 และตัวถัง Station Wagon 4 ประตู ก็เริ่มผลิตใน พ.ศ. 2511 และตามด้วยรถ Coupe 2 ประตูปิดท้ายรุ่น โดยรถคูเป้ 2 ประตู โคโรลล่าได้ตั้งชื่อเฉพาะให้ว่า โคโรลล่า สปรินเตอร์ รหัสตัวถัง KE15 โดยในระหว่างโฉมแรกนี้ มี 2 ขนาดเครื่องยนต์ให้เลือก คือ 1.1 ลิตรในช่วงแรก และ 1.2 ลิตรในช่วง พ.ศ. 2512 เป็นต้นไป
ระบบเกียร์ในสมัยนั้น ไม่เน้นการประหยัดน้ำมัน และเทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้า ระบบเกียร์ในรถโคโรลล่า จึงมี 2 ระบบให้เลือก คือ เกียร์ธรรมดาเพียง 4 สปีด และเกียร์อัตโนมัติเพียง 2 สปีด แต่การที่มีเครื่องยนต์ลูกสูบขนาดเล็ก ทำให้รถประหยัดน้ำมัน ชดเชยการที่เกียร์มีไม่กี่สปีด
ในประเทศไทยมีการนำเข้ามาจำหน่ายอย่างเป็นทางการโดยโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2509 โดยเป็นรถนำเข้าจากต่างประเทศ ยังไม่มีการประกอบในประเทศไทยแต่อย่างใด
เลิกผลิตใน พ.ศ. 2513 เนื่องจากมีการเปิดตัว โคโรลล่า โฉมที่ 2
รุ่นที่ 2 (พ.ศ. 2513-2521)
[แก้]เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2513 รหัสตัวถัง KE20 โดยรถรุ่นโคโรลล่า สปรินเตอร์ (Corolla Sprinter) มีการเพิ่มรูปแบบตัวถัง Sedan เข้าไปในเมนูผลิต และมีการเปิดตัวรถรุ่น โคโรลล่า เลวิน (Corolla Levin) และ โคโรลล่า สปรินเตอร์ ทรูโน (Corolla Sprinter Trueno) โดยนำตัวถังแบบ Coupe GT มาใช้ และทางโตโยต้า เห็นว่า รถโคโรลล่าประสบความสำเร็จสูงมาก จึงแยกธุรกิจการขายรถโตโยต้า โคโรลล่า ออกเป็น 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจขายรถโคโรลล่า สปรินเตอร์ , โคโรลล่า สปรินเตอร์ ทรูโน กับ ธุรกิจขายรถโคโรลล่า , โคโรลล่า เลวิน
รูปแบบตัวถังมีความหลากหลายมากขึ้น ได้แก่ Coupe 2 ประตู , Station Wagon 3 กับ 5 ประตู , Sedan 4 ประตู และ Van 5 ประตู และมีการเพิ่มขนาดเครื่องยนต์ เป็น 1.2 , 1.4 , 1.6 ลิตรให้เลือก และรถโฉมนี้ประสบความสำเร็จสูงมาก ดังจะเห็นได้จากการที่ถึงแม้โคโรลล่าจะเปิดตัวโฉมที่ 3 ใน พ.ศ. 2517 แต่โฉมที่ 2 นี้ ผลิตอย่างต่อเนื่องไปจนถึง พ.ศ. 2521 จึงเลิกผลิต ในประเทศไทยเป็นโคโรลล่ารุ่นแรกที่ประกอบในประเทศไทย
รุ่นที่ 3 (พ.ศ. 2517-2524)
[แก้]โฉมนี้ เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2517 รหัสตัวถัง KE30 , KE40 , KE50 และ KE60 มีการเพิ่มรูปแบบตัวถัง Hardtop Coupe 2 ประตูเข้าไป ส่วนตัวถังแบบอื่นมีดังเดิม มีและเริ่มมีการพัฒนาและได้ผลิตระบบเกียร์ให้เลือกเพิ่มเป็น 4 ระบบ คืออัตโนมัติ 2 กับ 3 สปีด และ ธรรมดา 4 กับ 5 สปีด ขนาดเครื่องยนต์ 1.2 กับ 1.4 ลิตร
หลังจากการเปิดตัวรถโคโรลล่าโฉมที่ 4 ใน พ.ศ. 2522 ทั่วโลกก็เริ่มทยอยหยุดขายหยุดผลิตโฉมที่ 3 และโฉมนี้ได้หยุดผลิตอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2524
รุ่นที่ 4 (พ.ศ. 2522-2526)
[แก้]โฉมนี้ เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2522 รหัสตัวถัง KE70 ในโฉมนี้ ได้เพิ่มความหลากหลายของรูปตัวถังขึ้น โดยเพิ่มรูปตัวถัง Sedan 2 ประตู และ Liftback 3 ประตูเข้าไปเพิ่ม แต่ได้ระงับการผลิตตัวถังแบบ Coupe 2 ประตู
ระบบเกียร์ 4 ระบบดังเดิม ขนาดเครื่องยนต์ 3 ขนาด ได้แก่ 1.3 , 1.6 และ 1.8 ลิตร
และรูปโฉมนี้ เป็นรูปโฉมสุดท้ายที่รถโคโรลล่าขับเคลื่อนล้อหลังเพียงอย่างเดียว ซึ่งโฉมต่อจากนี้ จะค่อยๆ ยกเลิกระบบขับเคลื่อนล้อหลังของโคโรลล่าไป และจะแทนที่ด้วยระบบขับเคลื่อนล้อหน้า
และโฉมนี้ก็เป็นโฉมสุดท้ายที่มีการผลิตระบบเกียร์อัตโนมัติ 2 สปีด และระบบเกียร์ธรรมดา 4 สปีดด้วยเช่นกัน
โฉมนี้ เลิกผลิตในปีเดียวกับการเปิดตัวรถโคโรลล่าโฉมที่ 5 ใน พ.ศ. 2526
รุ่นที่ 5 (พ.ศ. 2527-2530)
[แก้]โฉมนี้ เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2526 เป็นโฉมแรกของโคโรลล่า ที่ขับเคลื่อนล้อหน้า รหัสเครื่องยนต์ AE80 แต่ยกเว้น โคโรลล่า เลวิน และโคโรลล่า สปรินเตอร์ ทรูโน ที่ยังเป็นขับเคลื่อนล้อหลัง ใช้รหัสตัวถัง AE86 โฉมนี้ โคโรลล่าได้ปรับรูปแบบตัวถังใหม่ ได้แก่ Coupe 2 ประตู , Hatchback 3 ประตู , Sedan และ Station Wagon 4 ประตู , Liftback 5 ประตู และโฉมนี้ เป็นโฉมแรกที่โคโรลล่า มีการผลิตรถที่ใช้น้ำมันดีเซล (สำหรับเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร) และใช้เบนซิน (สำหรับเครื่องยนต์ 1.3 และ 1.6 ลิตร) พร้อมๆ กัน โดยโฉมนี้ มีระบบเกียร์เหลือให้เลือก 2 ระบบ คือ อัตโนมัติ 3 สปีด และธรรมดา 5 สปีด ลักษณะโฉมแบบนี้ วงการรถไทยมักเรียกว่า "โฉมท้ายตัด"
โฉมนี้ ได้รับการออกแบบทั้งสมรรถนะ การขับเคลื่อน 3 แบบให้เลือก (ล้อหน้า,ล้อหลัง,4 ล้อ) ในช่วงนี้ รถขับเคลื่อนล้อหลังเริ่มมียอดขายลดลง เพราะคนเริ่มไปซื้อรถขับเคลื่อนล้อหน้า แต่ในภาพรวมทั้งหมด เทคโนโลยีต่างๆในรถและรูปทรงที่ล้ำสมัยมากในยุคนั้น ทำให้ในปัจจุบัน โฉมนี้ไม่ถือเป็นสิ่งล้าสมัย ยอดขายรถโคโรลล่าโฉมนี้ รวมยอดผลิตได้มากกว่า 3.3 ล้านคัน ในขณะที่รถโคโรลล่าทั้ง 10 โฉมรวมกันแล้ว ได้ยอดขาย 31 ล้านคัน และจนถึงปัจจุบัน นักเลงรถในญี่ปุ่น ก็จะยังรู้จักและขับรถโคโรลล่าโฉมนี้อยู่ โดยไม่ถือว่าล้าสมัย และโฉมนี้ ก็เป็นโฉมสุดท้ายที่จัดเป็นรถขนาด Subcompact ที่อยู่ในตระกูลโคโรลล่า
โฉมนี้ เลิกผลิตในปีเดียวกับการเปิดตัวรถโคโรลล่าโฉมที่ 6 ใน พ.ศ. 2530
โฉมนี้มีจำหน่ายในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2527 - 2531
รุ่นที่ 6 (พ.ศ. 2530-2536)
[แก้]เมื่อความนิยมในการซื้อรถโคโรลล่าโฉมที่ 5 ไปถึงจุดอิ่มตัว ก็ได้มีการเปิดตัวรถโคโรลล่า โฉมที่ 6 ใน พ.ศ. 2530 และส่งเข้าตีตลาดขายแทนโฉมที่ 5 ในปีพ.ศ. 2531 โฉมนี้ เป็นโฉมที่รถโคโรลล่า ได้เลื่อนขั้นจากรถขนาดเล็กมาก (Subcompact) เป็นรถขนาดเล็ก (Compact) โฉมนี้ ระบบขับเคลื่อนล้อหลังหายไป ได้มีการเพิ่มการผลิตรูปแบบตัวถัง Hatchback 5 ประตู
โฉมนี้ ผลิตในช่วงที่ระบบเกียร์อัตโนมัติถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รถโฉมนี้ ได้เริ่มมีการผลิตเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด มา แต่ก็ยังผลิตรถรุ่นเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีดอยู่ เครื่องยนต์ก็ยังมีทั้งระบบเบนซิน ในขนาดเครื่องยนต์ 1.3 (2E 4 สูบ OHC 12 วาล์ว 1,295 ซีซี 72 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 10.3 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที) , 1.5 (5A-F,5A-FE 1,500 ซีซี คาร์บูเรเตอร์ 85 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 12.5 กก.-ม.ที่ 3,300 รอบ/นาที และ 94 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.1 กก.-ม.ที่ 4,400 รอบ/นาที สำหรับรุ่นหัวฉีด EFI) , 1.6 ลิตร (4A-F 1,587 ซีซี 94 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.0 กก.-ม.ที่ 4,000 รอบ/นาที รวมทั้งรุ่น SPORTY ที่เปลี่ยนคาร์บูเรเตอร์ของเครื่องยนต์ 4A-F มาเป็นเวบเบอร์ ท่อคู่ดูดข้าง 106 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.9 กก.-ม.ที่ 4,200 รอบ/นาที , 4A-FE DOHC 1,587 ซีซี 102 แรงม้า (PS) ที่ 5,800 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 13.83 กก.-ม.ที่ 4,800 รอบ/นาที, 4A-GE 16V 1,587 ซีซี 130.5 แรงม้า (PS) ที่ 7,000 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 14.3 กก.-ม.ที่ 6,000 รอบ/นาที.) *เครื่องยนต์ 4A-FE มีขายในเฉพาะญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา และแบบดีเซล ในขนาดลูกสูบ 2.0 ลิตร (1C) และยังมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อด้วย
นอกจากนี้ ในช่วงโฉมนี้ โคโรลล่า เลวิน, โคโรลล่า ทรูโน และโคโรลล่า สปรินเตอร์ ได้เปลี่ยนมาเป็นระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และโฉมนี้ พ่อค้าเต๊นท์รถในประเทศไทยนิยมเรียกว่า "โฉมโดเรมอน" ด้วยรูปทรงหน้าตาที่ละม้ายคล้ายคลึงตัวการ์ตูนอย่างโดเรม่อน ผสานเครื่องยนต์ที่มีสมรรถนะที่ยอดเยี่ยม ทนทาน และล้ำสมัยในสมัยนั้น
โฉมนี้ ในเมืองไทยจะรู้จักกันดีในฐานะของโฉมที่มีเทคโนโลยีเครื่องยนต์ 16 วาล์ว (DOHC) รุ่นแรกที่มีขายในไทย ในช่วงนั้น มักมีสัญลักษณ์อักษรเขียนว่า "TWINCAM 16 VALVE" ไว้เป็นสัญลักษณ์ที่ประตูรถในรถบางคัน และเป็นเอกลักษณ์ของโคโรลล่าโฉมนี้ด้วย นอกจากนี้ รุ่นท้ายๆ ของโฉม โคโรลล่าในไทยได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ระบบหัวฉีด (เฉพาะรุ่น GTi เครื่องยนต์ 4A-GE 16V.) ซึ่งประหยัดน้ำมันกว่า และสามารถเติมแก๊สโซฮอล์ได้ รถรุ่นนี้ในปัจจุบันถือว่าหายากมาก เพราะจำนวนรถในตลาดถึอว่าน้อยพอสมควร และยังเป็นที่ต้องการของนักสะสมรถในเมืองไทยเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม โฉมโดเรมอนส่วนใหญ่ ยังเป็นคาร์บูเรเตอร์ ซึ่งไม่เหมาะกับเชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์
คู่แข่งโดยตรงที่สำคัญของโคโรลล่าในโฉมนี้คือ ฮอนด้า ซีวิค/แอคคอร์ด, นิสสัน ซันนี่/บลูเบิร์ด, มิตซูบิชิ แลนเซอร์/กาแลนต์, มาสด้า 323/626,
โฉมนี้ เลิกผลิตใน พ.ศ. 2535 ในประเทศไทย หนึ่งปีหลังจากการเปิดตัวรถโคโรลล่า โฉมที่ 7 และในสหรัฐอเมริกาเลิกผลิตใน พ.ศ. 2536
โฉมนี้มีจำหน่ายในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2531 - 2535
รุ่นที่ 7 (พ.ศ. 2534-2540)
[แก้]โฉมนี้ เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2534 โฉมนี้ ได้เริ่มมีการผลิตเกียร์ธรรมดา 6 สปีดขึ้น ควบคู่กับการผลิตรถเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 และ 3 สปีด เครื่องยนต์ยังมีระบบดีเซล (2.0 ลิตร) และเบนซิน (1.3 , 1.5 , 1.6 , 1.8 ลิตร) โดยโฉมนี้ได้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2534 แต่มีการเปิดตัวและจำหน่ายอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 ทันทีที่เปิดตัวในไทย โคโรลล่าโฉมนี้ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ยอดการจองรถทะลุ 10,000 คันอย่างรวดเร็วกว่าที่โรงงานคิดไว้มาก และยอดจองยังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้โรงงานโตโยต้าสำโรงจะเร่งผลิตเต็มที่ งัดแผนสำรองมาใช้ แม้กระทั่งสั่งนำเข้ารุ่น LX Limited จากญี่ปุ่นมา 1,000 คัน และเพิ่มราคาขายคันละ 5,000 บาท เพื่อลดการจองซื้อ ก็ยังไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า จนสุดท้ายต้องมีการก่อสร้างโรงงานโตโยต้าเกตเวย์ สำหรับทำการประกอบรถยนต์นั่งโดยเฉพาะ
รูปแบบตัวถังมี 6 รูปแบบ เหมือนโฉมโดเรมอน ได้แก่ Sedan 4 ประตู , Hatchback 3 กับ 5 ประตู , Coupe 2 ประตู , Liftback 3 ประตู และ Station Wagon 4 ประตู โฉมนี้ พ่อค้ารถในไทย เรียกว่า "โฉมสามห่วง" เพราะเป็นโฉมแรกของโคโรลล่า ที่ตราสัญลักษณ์วงรีไขว้สามวง (สามห่วง) ถูกนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของโตโยต้า (ก่อนหน้านี้ใช้เขียนเป็นอักษร TOYOTA ไม่ใช่สัญลักษณ์สามห่วง) โฉมสามห่วง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตระกูลโคโรลล่า เพราะก่อนนี้ โคโรลล่าจะมีลักษณะเป็นรูปทรงเหลี่ยมๆ แต่โฉมนี้ จะเริ่มเปลี่ยนจากความเหลี่ยม เป็นความโค้งมน และโคโรลล่าโฉมนี้ เครื่องยนต์แบบคาร์บูเรเตอร์ในรถเก๋งค่อยๆ หายไป จนในที่สุดก็เลิกผลิตไป กลายเป็นแบบหัวฉีดทั้งหมด และถือเป็นโฉมแรกที่มีการติดตั้งระบบความปลอดภัยอย่างถุงลมนิรภัย แต่ในประเทศไทยกลับไม่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยมาด้วย
ในประเทศไทย โฉมที่ 7 ได้มีการปรับโฉม (Minor Change) 1 ครั้งในปี พ.ศ. 2536
โฉมสามห่วง เลิกผลิตในปี พ.ศ. 2540 ในสหรัฐอเมริกา สองปีหลังการเปิดตัวรถโคโรลล่า โฉมที่ 8 แต่โฉมสามห่วงในประเทศไทย เลิกผลิตหนึ่งปีหลังการเปิดตัวโคโรลล่า โฉมที่ 8
โฉมนี้มีจำหน่ายในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2535 - 2539
รุ่นที่ 8 (พ.ศ. 2538-2545)
[แก้]โฉมนี้ เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2538 โดยรูปแบบตัวถังของโฉมนี้กลับมาเป็นรูปทรงเหลี่ยมอีกครั้งหนึ่ง ลักษณะตัวถังโดยทั่วไปคล้ายๆ กับโฉมที่ 6 (โฉมโดเรม่อน) แต่ตัวถังจะมีขนาดใหญ่กว่าโฉมที่ 6 เล็กน้อย โฉมนี้มีชื่อเรียกโดยรวมๆ ว่า โฉมตองหนึ่ง ตามเลขรหัสตัวรถ แต่กว่าจะได้โด่งดังแทนที่โฉมสามห่วง ก็ล่วงไปถึง พ.ศ. 2541 ทางโตโยต้า ต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้มีความหลากหลายและสร้างความเป็นที่นิยมให้ประสบความสำเร็จสูงเหมือนโฉมสามห่วง ดังนั้น ผลการปรับปรุงคือ โฉมตองหนึ่งได้แตกแขนงออกเป็น 2 รุ่นย่อย คือ รุ่นตูดเป็ด ผลิตระหว่าง พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2541 (ในประเทศไทย เข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2539) และ รุ่นไฮทอร์ก (Hi-Torque) เริ่มผลิตเมื่อ พ.ศ. 2541 - พ.ศ. 2544 ในรุ่นไฮทอร์ก มีการยกระดับความปลอดภัยของตัวถังรถด้วยโครงสร้างนิรภัย GOA และเพิ่มความหรูหราด้วยไฟหน้าแบบมัลติรีเฟลกเตอร์ โดยมี ดอม เหตระกูล และ ปิ่น เก็จมณี เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งรุ่นไฮทอร์กนี้ได้สร้างความนิยมโดยมีคนซื้อไปทำแท็กซี่เป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกัน ยอดขายของโฉมที่ 8 โดยเฉพาะรุ่นตูดเป็ด ก็มียอดขายที่น้อยกว่าโฉมก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 รวมถึงการออกแบบภายในของรถก็ไม่ค่อยหรูหราเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับรถที่จำหน่ายในช่วงเดียวกันอย่างฮอนด้า ซีวิค และมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าวจะมีการออกแบบภายในของรถได้หรูหรากว่ามาก จึงทำให้ทั้ง 2 รุ่นดังกล่าวมียอดขายดีกว่า นั่นจึงเป็นสาเหตุทำให้โตโยต้าพัฒนาโคโรลล่าโฉมที่ 8 เป็นรุ่นไฮทอร์คออกมาขายแทนที่ในปี พ.ศ. 2541 ถึงแม้ว่ารุ่นไฮทอร์คจะมีการปรับโฉมภายนอกและและออกแบบภายในให้ดูหรูหรากว่ารุ่นตูดเป็ด แต่การออกแบบโดยรวมก็ยังสู้ฮอนด้า ซีวิค และมิตซูบิชิ แลนเซอร์ ไม่ได้ จึงถือได้ว่าโคโรลล่าโฉมนี้เป็นโฉมที่ทำยอดขายได้น้อยที่สุดนับตั้งแต่โตโยต้าผลิตรุ่นโคโรลล่าจำหน่ายมานานกว่า 30 ปี และนอกจากนี้ ในช่วงรุ่นไฮทอร์ก โคโรลล่า ยังได้เปิดตัวเนื้อหน่อใหม่ในตระกูลโคโรลล่า ที่เป็นที่นิยมในไทยจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ โคโรลล่า อัลติส (Corolla Altis) ซึ่งเปิดตัวเมื่อต้นปี พ.ศ. 2543 โดย Altis จะเป็นรถที่มีความหรูหรา มีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย Options ต่างๆ ดีกว่า รูปโฉมตัวรถจะเหมือนกับโคโรลล่าทั่วไป สำหรับในไทย โคโรลล่า อัลติส จะมีรุ่นย่อย 2 รุ่นคือ
- 1.8 SE.G เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร (7A-FE DOHC 16-วาล์ว Hi-Torq 120 แรงม้า) มีอุปกรณ์มาตรฐานโดยคร่าวๆ ก็คือ กระจกมองข้างเป็นแบบปรับไฟฟ้าพร้อมปุ่มกดสำหรับพับกระจก เบาะนั่งเป็นแบบหนังแท้ พวงมาลัยแบบ 4 ก้านหุ้มหนังแท้ เกียร์อัตโนมัติแบบ Super ECT 4 สปีด เครื่องปรับอากาศภายในรถเป็นแบบปุ่มกดไฟฟ้า ควบคุมอุณหภูมิได้
- 1.6 SE.G เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร (4A-FE DOHC 16-วาล์ว EFI 110 แรงม้า) มีอุปกรณ์มาตรฐานโดยคร่าวๆ ก็คือ กระจกมองข้างเป็นแบบปรับไฟฟ้าพร้อมปุ่มกดสำหรับพับกระจก เบาะนั่งเป็นแบบผ้ากำมะหยี่ทั้งเบาะ (มีเบาะนั่งแบบหนังแท้ให้เลือก แต่ราคาจะสูงขึ้นเล็กน้อยจากส่วนต่างของราคาเบาะนั่ง) พวงมาลัยแบบ 3 ก้านหุ้มหนังแท้ เกียร์อัตโนมัติแบบ 4 สปีด และเกียร์ธรรมดาแบบ 5 สปีด เครื่องปรับอากาศภายในรถเป็นแบบสวิตช์หมุน
ส่วนรุ่นย่อย 1.6 GXi จะใช้ชื่อว่า โคโรลล่า เช่นเดิม ซึ่งอุปกรณ์มาตรฐานของรุ่นย่อยนี้ บางอย่างจะถูกลดทอนลงไป มีอุปกรณ์มาตรฐานโดยคร่าวๆ ก็คือ กระจกมองข้างเป็นแบบปรับด้วยมือ โดยการขยับคันก้านปรับจากภายในรถ เบาะนั่งเป็นแบบผ้ากำมะหยี่สลับหนังเทียม (ไวนิล) (มีเบาะนั่งแบบผ้ากำมะหยี่ทั้งเบาะและเบาะนั่งแบบหนังแท้ให้เลือก แต่ราคาจะสูงขึ้นเล็กน้อยจากส่วนต่างของราคาเบาะนั่ง) พวงมาลัยแบบ 4 ก้านหุ้มยูรีเทน เกียร์อัตโนมัติแบบ 4 สปีด และเกียร์ธรรมดาแบบ 5 สปีด เครื่องปรับอากาศภายในรถเป็นแบบสวิตช์หมุน แต่เมื่อโคโรลล่า อัลติส ทั้ง 2 รุ่นย่อย (1.8 SE.G และ 1.6 SE.G) เริ่มจำหน่ายในไทย ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ทั้งที่อุปกรณ์มาตรฐานโดยรวมนั้นดีกว่ามาก เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ยังคงคุ้นกับชื่อ โคโรลล่า และรุ่นย่อย 1.6 GXi ก็ยังคงได้รับความนิยมมากกว่า แม้ว่าอุปกรณ์มาตรฐานบางอย่างจะถูกลดทอนลงไปก็ตาม และจะต้องจ่ายค่าส่วนต่างเมื่อต้องการอุปกรณ์บางอย่างที่ต้องการติดตั้งภายในรถเพิ่มเติม และที่สำคัญ คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักชื่อโคโรลล่า อัลติส ก็ตั้งแต่โฉมที่ 9 ไปแล้ว เมื่อหาข้อมูลและรูปภาพเกี่ยวกับโคโรลล่า อัลติส รุ่นแรก ซึ่งก็คือรุ่นไฮทอร์คในอินเทอร์เน็ต จะมีข้อมูลปรากฏขึ้นมาค่อนข้างน้อย รวมทั้งโคโรลล่า อัลติส รุ่นไฮทอร์ค ก็ยังพบเห็นวิ่งไปมาตามท้องถนนในเมืองไทยน้อยมากจนแทบจะไม่เห็นเลย ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่า โคโรลล่า อัลติส เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโฉมที่ 9
โฉมที่ 8 นี้ ระงับการผลิตรูปแบบตัวถังประเภท Hatchback 5 ประตู Liftback 3 ประตู และ Station Wagon 4 ประตู แต่ได้เอา Liftback , Hatchback และ Station Wagon 5 ประตูมาผลิตแทน โดยในโฉมที่ 8 นี้ โตโยต้า ได้เปิดตัวโคโรลล่า WRC สำหรับการแข่งขันเวิลด์แรลลี่แชมเปี้ยนชิพโดยเฉพาะ เมื่อ พ.ศ. 2540 โดยมีคู่แข่งคือซูบารุ อิมเพรสซ่า เปอโยต์ 206 WRC ฟอร์ด เอสคอร์ท RS Cosworth/โฟกัส WRC และ มิตซูบิชิ แลนเซอร์ อีโวลูชัน เป็นคู่แข่งรายสำคัญ และในปีพ.ศ. 2542 โตโยต้าก็คว้าแชมป์ เวิลด์แรลลี่แชมเปี้ยนชิพ ในประเภทผู้ผลิต แต่โตโยต้ากลับถอนตัวจากเวิลด์แรลลี่แชมเปี้ยนชิพ เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันรถสูตรหนึ่งในปีพ.ศ. 2545 แทน
โฉมที่ 8 นี้ถือเป็นโฉมแรกในประเทศไทยที่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยมาให้ โดยในรุ่นตูดเป็ด จะมีการติดตั้งมาให้เฉพาะรุ่น เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร รหัส 4A-FE รุ่น 1.6 SE.G, 1.6 GXi และ เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร รหัส 5A-FE รุ่น 1.5 GXi เท่านั้น ส่วนรุ่น 1.5 DXi ไม่มีการติดตั้งมาให้เพราะถือเป็นรุ่นเกรดล่างสุด จนเมื่อถึงรุ่นไฮทอร์ก จึงได้มีการติดตั้งถุงลมนิรภัยในทุกรุ่นย่อย
โฉมที่ 8 เลิกผลิตในปี พ.ศ. 2545 ในสหรัฐอเมริกา สองปีหลังการเปิดตัวของรถโคโรลล่า โฉมที่ 9 แบบแคบในญี่ปุ่น และหนี่งปีหลังการเปิดตัวของโคโรลล่า โฉมที่ 9 แบบกว้างที่เรียกว่า โคโรลล่า อัลติส ในประเทศไทย
โฉมนี้มีจำหน่ายในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2539 - 2544 (รุ่นตูดเป็ด จำหน่ายในช่วงปี พ.ศ. 2539 - 2541 ; รุ่นไฮทอร์ก จำหน่ายในช่วงปี พ.ศ. 2541 - 2544)
รุ่นที่ 9 (พ.ศ. 2543-2550)
[แก้]โฉมนี้ เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2543 แต่กว่าจะเป็นอันดับหนึ่งแทนโฉมที่ 8 ก็ล่วงไปถึง พ.ศ. 2546 และเป็นครั้งแรกที่เวอร์ชันทำตลาดของโคโรลล่ามี 2 ตัวถังคือ แบบแคบและแบบกว้าง ในญี่ปุ่นจะใช้แบบแคบ เพื่อลดการเสียภาษี แต่สำหรับทั่วโลกจะใช้แบบกว้าง เหมือนที่เคยใช้ในการออกแบบ Toyota Camry Generation ที่ 3 เมื่อได้รับความนิยมแล้ว ก็มีชื่อเสียงมาถึงปัจจุบัน เมื่อทางโตโยต้า ตัดสินใจผลิตโคโรลล่า อัลติสต่อในโฉมที่ 9 และยังมีการปรับปรุงทั้งขนาด ความสะดวก และสิ่งอื่นๆ อีกมาก โดยรุ่นที่เป็นที่นิยมในเมืองไทยมากที่สุดก็ยังเป็น อัลติส และโฉมที่ 9 ยกเลิกการผลิตเกียร์อัตโนมัติ 3 สปีด และยกเลิกการผลิตตัวถัง Coupe 2 ประตู และ Liftback 5 ประตู แล้วเอาแบบ Van และ Hatchback 5 ประตูมาผลิตแทน และยังคงผลิตรุ่นเครื่องดีเซล ขนาดเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร รหัส 3C-E (ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย) ส่วนรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน ก็เป็น 1.4 รหัส 4ZZ-FE , 1.5 รหัส 1NZ-FE , 1.6 รหัส 3ZZ-FE / 1ZR-FE , 1.8 ลิตร รหัส 1ZZ-FE / 2ZZ-GE เหมือนเดิม โฉมนี้ กลุ่มพ่อค้ารถในไทยมักเรียก "โฉมหน้าหมู" หรือ "โฉมตาถั่ว" เพราะไฟหน้ามีลักษณะคล้าย เมล็ดถั่ว โดยในประเทศไทยมีนักแสดงชื่อดัง แบรด พิตต์ (อังกฤษ: Brad Pitt) เป็นพรีเซ็นเตอร์อีกด้วย โฉมนี้เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2544
ในประเทศไทย โคโรลล่าได้มีการออกรุ่นใหม่ คือ LIMO (ลิโม่) โดยจะเป็นรถโคโรลล่า ที่มี Options ต่างๆ น้อย เช่น กระจกหน้าต่างเป็นแบบมือหมุน เกียร์ธรรมดา ไม่มีมาตรวัดรอบเครื่องยนต์ แต่รถจะมีราคาถูกกว่าโคโรลล่าทั่วไป และโคโรลล่า อัลติส อย่างมาก อย่างไรก็ตาม LIMO จะไม่มีขายเป็นรถนั่งส่วนบุคคล โตโยต้าประเทศไทย ขาย LIMO โฉมนี้ เพื่อทำเป็นแท็กซี่เท่านั้น ซึ่งรุ่น LIMO มีการเปิดตัวในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2546 เพียงแต่รุ่น LIMO จะใช้เครื่องยนต์รุ่น 4A-FE ความจุ 1.6 ลิตร แบบเดียวกันกับที่ใช้ในโฉมที่ 7 และ 8
สำหรับโฉมที่ 9 นี้ มีการจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2544 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 โดยเริ่มแรกมีการจำหน่ายทั้งหมด 4 รุ่น ดังนี้
- 1.6 J ระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด Super ECT และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ใช้ชื่อรุ่นว่า Corolla
- 1.6 E ระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด Super ECT และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ใช้ชื่อรุ่นว่า Corolla Altis
- 1.8 E ระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด Super ECT แบบ Gate-Type ใช้ชื่อรุ่นว่า Corolla Altis
- 1.8 G VSC ระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด Super ECT แบบ Gate-Type ใช้ชื่อรุ่นว่า Corolla Altis
และในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการเพิ่ม Corolla Altis รุ่น 1.6 G ระบบเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด Super ECT เข้าไปด้วย
ปัจจุบันโฉมที่ 9 ยังมีการผลิตขายอยู่ที่ประเทศจีนในชื่อรุ่น Corolla EX ใช้เครื่องยนต์ Dual VVT-I บล็อก 4ZR-FE 1.6 ลิตร
โฉมนี้ในประเทศไทยมีการปรับโฉม (Minor Change) ทั้งหมด 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2549
รุ่นที่ 10 (พ.ศ. 2551-2556; E140/E150)
[แก้]โฉมนี้ เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2549 แต่ใช้เวลาค่อนข้างนานในการพิชิตตลาดต่างๆ เพื่อไปแทนโฉมที่ 9 โดยเฉพาะในไทย โฉมที่ 10 เพิ่งเข้ามาในไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 กลุ่มผู้ค้ารถมือสองจะเรียกโฉมนี้ว่า "โฉมหน้าแบน" หรือ "โฉม 5 รู" เพราะเป็นโฉมแรกที่ใช้ล้ออัลลอยแบบ 5 รู เวอร์ชันที่ทำตลาดของโคโรลล่ามี 2 ตัวถังเหมือนโฉมที่แล้วคือ แบบแคบ (E140) และแบบกว้าง (E150) ระบบเกียร์ในครั้งนี้ จะผลิตระบบเกียร์แบบธรรมดา 5 หรือ 6 สปีด สำหรับเกียร์อัตโนมัติ จะเป็นระบบเกียร์อัตโนมัติแบบใหม่ 4 สปีด (U140E Super ECT) หรือ 5 สปีด (U150E) และ Super CVT-i 7 สปีด ซึ่งมี พัชฏะ นามปาน และ พัชราภา ไชยเชื้อ เป็น Presenter
โฉมนี้ เครื่องยนต์ดีเซลยังผลิตอยู่ในบางประเทศประเทศขนาด 1.4 ลิตร 1ND-TV D-4D turbodiesel และมีเครื่องเบนซินขนาด 1.5 , 1.6 , 1.8 , 2.0 , 2.4 ลิตร (รหัสมีตั้งแต่ 1NZ-FE / 1NZ-FE Turbo, 3ZZ-FE / 1ZR-FE, 1ZZ-FE / 2ZR-FE / 2ZR-FBE, 3ZR-FE และ 2AZ-FE) และได้ยกเลิกรูปแบบตัวถังออกไปมาก เหลือแต่แบบ Sedan Station Wagon 4 ประตู และ Hatchback 5 ประตู ในออสเตรเลีย จะใช้ชื่อในการทำตลาดคือ Corolla Hatchback นอกนั้นเช่นในญี่ปุน,ยุโรปและในบางประเทศจะใช้ชื่อในการทำตลาดคือ Toyota Auris แต่ไม่มีจัดจำหน่ายในไทย
ส่วน LIMO ในโฉมนี้ มีการผลิตรถรุ่น LIMO CNG ซึ่งเป็นรถลิโม่ ที่ติดระบบการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ มาตั้งแต่ในโรงงานโตโยต้า และ LIMO โฉมนี้ ได้เปิดขายให้กับประชาชนทั่วไปอยู่ช่วงหนึ่งด้วย ก่อนที่จะกลับไปขายทำแท็กซี่โดยเฉพาะเหมือนเดิม โดยโตโยต้าได้ทำรถรุ่น Advanced CNG มาขายให้ประชาชนทั่วไปแทน LIMO CNG
รุ่น TRD Sportivo ผลิตจำนวนจำกัดโดยผลิตออกมา 3 โฉม โดยโฉมแรกนั้นมีทั้งเครื่องยนต์ 1.6 และ 1.8 ลิตร และโฉมที่ 2 และ 3 ได้ผลิตจากรุ่น 1.8E เครื่องยนต์ใหม่รุ่น 2ZR-FBE ที่รองรับการใช้เชื้อเพลิง E85 และมีรุ่นพิเศษอีกคือรุ่น 50 ปี ที่ตกแต่งภายในสีดำจากรุ่น 1.8E อีกด้วย นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2555 ทางโตโยต้าได้ตัดระบบเกียร์อัตโนมัติและระะบบกุญแจรีโมทออกจากรุ่น 1.6 J
รุ่นที่ 11 (พ.ศ. 2557-2562; E170/E180)
[แก้]โคโรลล่าโฉมนี้ ได้ทำการเปิดตัวในรอบสื่อมวลชนในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557 โดยมีสโลแกนใหม่ "So Excited" โดยทางด้านโตโยต้าได้ทำการปรับปรุงโฉมให้ดูทันสมัยและหรูหรายิ่งขึ้น ในวงการรถมือสอง โฉมนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น โฉมหน้าแมว โฉมหน้ากบ โฉมหน้าฉลาม โฉมหน้าแหลม เป็นต้น โตโยต้า โคโรลล่า โฉมนี้มีเฉดสีใหม่ให้เลือกทั้งหมด 6 สีได้แก่
- 1. สีเงิน Silver Metallic
- 2. สีขาวมุก White Pearl Mica (1.8 ลิตร) ราคาเพิ่มขึ้น 10,000 บาท
- 3. สีขาว Super White ll (1.6 ลิตร)
- 4. สีดำ Attitude Black Mica
- 5. สีเทาดำ Gray Metallic (สีใหม่)
- 6. สีน้ำตาล Dark Brown Mica Metallic (สีใหม่)
และได้ทำการจำหน่ายออกเป็นรุ่นปลีกย่อย และสเปคภายใน ดังนี้
- รุ่น 1.6J MT ราคาที่จำหน่าย 769,000 บาท
- ธรรมดา 6 สปีด - ชุดไฟหน้าฮาโลเจน - เครื่องเสียง AM/FM/CD/MP3/WMA 4 ลำโพง
- รุ่น 1.6J CNG MT ราคาที่จำหน่าย 819,000 บาท
- ธรรมดา 6 สปีด - ชุดไฟหน้าฮาโลเจน - เครื่องเสียง AM/FM/CD/MP3/WMA 4 ลำโพง - ระบบจ่ายเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ CNG แบบหัวฉีด - ถังก๊าซธรรมชาติ CNG ขนาด 75 ลิตร
- รุ่น 1.6E CNG ราคาที่จำหน่าย 889,000 บาท
- อัตโนมัติ Super CVT-i 7 สปีด แบบ Gate-type พร้อม Sequential - ชุดไฟหน้าฮาโลเจน - เครื่องเสียง AM/FM/CD/MP3/WMA 4 ลำโพง - แผงบังแดดพร้อมกระจก และฝาปิด - ระบบจ่ายเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ CNG แบบหัวฉีด - ถังก๊าซธรรมชาติ CNG ขนาด 75 ลิตร
- รุ่น 1.6G ราคาที่จำหน่าย 829,000 บาท
- อัตโนมัติ Super CVT-i 7 สปีด แบบ Gate-type พร้อม Sequential - ชุดไฟหน้าฮาโลเจน - เครื่องเสียง AM/FM/CD/MP3/WMA 6 ลำโพง - แผงบังแดดพร้อมกระจก ฝาปิดและไฟส่องสว่าง
- รุ่น 1.8E ราคาที่จำหน่าย 839,000 บาท
- อัตโนมัติ Super CVT-i 7 สปีด แบบ Gate-type พร้อม Sequential - ชุดไฟหน้าฮาโลเจน - เครื่องเสียง AM/FM/CD/MP3/WMA 4 ลำโพง - แผงบังแดดพร้อมกระจก และฝาปิด
- รุ่น 1.8S (ESPORT) ราคาที่จำหน่าย 899,000 บาท
- อัตโนมัติ Super CVT-i 7 สปีด แบบ Gate-type พร้อม Sequential - ชุดไฟหน้า LED Projector พร้อมแถบ Gun Metallic - โคมไฟใช้งานกลางวัน - กระจังหน้าโครเมียมพร้อมแถบ Gun Metallic - สเกิร์ตหน้า/ข้าง/หลัง และสปอยเลอร์หลัง -ท่อไอเสียแบบสปอร์ต - เบาะนั่งด้านหน้าแบบสปอร์ต - เครื่องเสียง AM/FM/CD/MP3/WMA 6 ลำโพง - ระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย - ระบบเซ็นทรัลล็อก - ไฟเบรกดวงที่สาม LED ที่สปอยเลอร์หลัง
- รุ่น 1.8G ราคาที่จำหน่าย 979,000 บาท
- อัตโนมัติ Super CVT-i 7 สปีด แบบ Gate-type พร้อม Sequential - ชุดไฟหน้าแบบฮาโลเจน - เบาะนั่งด้านคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมฟังก์ชันปรับเบาะดันหลังไฟฟ้า - เครื่องเสียง AM/FM/CD/MP3/WMA 6 ลำโพง - ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ - มาตรวัดเรืองแสงแบบ Optitron - กระจกมองหลังแบบปรับลดแสงสะท้อนแบบอัตโนมัติ พร้อมแสดงภาพจากกล้องมองหลัง - กล้องมองหลัง - ม่านบังแดดหลัง - ระบบเปิดประตูอัจฉริยะ - ระบบสตาร์ทอัจฉริยะ - กระจกบังลมหน้าอัดซ้อนนิรภัยพร้อม Top Shade - ไฟตัดหมอกหน้า
- รุ่น 1.8V Navi ราคาที่จำหน่าย 1,069,000 บาท
- อัตโนมัติ Super CVT-i 7 สปีด แบบ Gate-type พร้อม Sequential - ชุดไฟหน้า LED Projector - โคมไฟใช้งานกลางวัน - ระบบควบคุมการเปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ - เบาะนั่งด้านคนขับปรับไฟฟ้า 8 ทิศทาง พร้อมฟังก์ชันปรับเบาะดันหลังไฟฟ้า - เครื่องเสียง DVD/CD/MP3/WMA จอสัมผัส 6.1 นิ้ว 6 ลำโพง รองรับบริการ Smart G-BOOK - ระบบนำทางในรถยนต์ - ระบบควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ที่พวงมาลัย - ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ - ระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย - กระจกมองหลังแบบปรับลดแสงสะท้อนแบบอัตโนมัติ - กล้องมองหลัง - ม่านบังแดดหลัง - ระบบเปิดประตูอัจฉริยะ - ระบบสตาร์ทอัจฉริยะ - ระบบควบคุมการทรงตัว VSC + TRC - กระจกบังลมหน้าอัดซ้อนนิรภัยพร้อม Top Shade - ไฟตัดหมอกหน้า
- เกียร์อัตโนมัติ CVT 7 สปีด มีตั้งแต่รุ่น 1.6E CNG เป็นต้นไป
- PADDLE SHIFT มีเฉพาะรุ่น 1.8V และ 1.8S (ESPORT)
ราคา ณ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557
ในปีพ.ศ 2559 ได้มีการปรับปรุงออฟชั่นและระบบความปลอดให้กับโคโรลล่าทุกรุ่น โดยมีการใส่อุปกรณ์มาตรฐานไว้ดังนี้ - ยกเลิกรุ่น 1.6 CNG สำหรับเกียร์ MT - เพิ่มระบบควบคุมการทรงตัว VSC และป้องกันล้อหมุนฟรี TRC ในทุกรุ่น - เครื่องยนต์ 1.6 รองรับการใช้น้ำมัน E85
รุ่นปรับโฉม
[แก้]ในปี พ.ศ. 2559 ได้มีการปรับปรุงรูปร่างภายนอกให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น โดยมีการเปลี่ยนการออกแบบกระจังหน้าและไฟหน้าแบบใหม่เป็นไฟหน้า Bi-Beam Projector และไฟส่องสว่างในเวลากลางวันแบบ LED อีกทั้งยังเพิ่มออฟชั่นและระบบความปลอดให้กับโคโรลล่ารุ่นปรับโฉมทุกรุ่นย่อย โดยมีการใส่อุปกรณ์มาตรฐานไว้ดังนี้
- เพิ่มระบบควบคุมการทรงตัว VSC และป้องกันล้อหมุนฟรี TRC ในทุกรุ่น
- เครื่องยนต์ 1.6 รองรับการใช้น้ำมัน E85
- ถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่งในทุกรุ่นย่อย
- เพิ่มกุญแจรีโมทให้มีในรุ่นย่อยทุกรุ่น พร้อมระบบสัญญาณกันขโมย TDS ยกเว้นรุ่น 1.6J ที่ไม่มีสัญญาณกันขโมย TDS
ทั้งนี้ Toyota Corolla Altis รุ่นปรับโฉมนั้นจะยกเลิกรุ่นย่อย 1.8 G และเพิ่มเติมรุ่นย่อย ESport Option โดยจะมีรุ่นย่อยให้เลือกทั้งหมดรวม 7 รุ่น ดังนี้
- 1.8 V Navi เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i ราคา 1,079,000 บาท
- 1.8 ESPORT OPTION (ใหม่) เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i ราคา 979,000 บาท
- 1.8 ESPORT เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i ราคา 939,000 บาท
- 1.8E เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i ราคา 874,000 บาท
- 1.6G เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i ราคา 869,000 บาท
- 1.6E CNG เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i ราคา 969,000 บาท
- 1.6J เกียร์ธรรมดา ราคา 799,000 บาท
และได้มีการเพิ่มและปรับรุ่นย่อยใหม่เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดและปรับราคาให้ชนกับคู่แข่งขันในช่วงต้นปี พ.ศ. 2561
- 1.8S เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i ราคา 959,000 บาท โดยจะได้อุปกรณ์เหมือนรุ่น 1.8 ESPORT OPTION ไม่มีชุดแต่งรอบคัน แต่ช่วงล่างพร้อมทั้งชุดล้อและยางจะได้เหมือนกัน ส่วนภายในจะได้กล้องบันทึกภาพหน้ารถจากโรงงาน ในขณะที่รุ่นย่อยอื่นไม่มีให้
- 1.8V Navi เกียร์อัตโนมัติ Super CVT-i ราคา 1,093,000 บาท เพิ่มระบบ T-Connect Telematics ให้ (ในราคาที่ปรับเพิ่ม 14,000 คือราคาของระบบ Telematics)
รุ่นที่ 12 (พ.ศ. 2561-ปัจจุบัน; E210)
[แก้]โตโยต้า โคโรลล่า (E210) รุ่นที่สิบสอง สร้างจากพื้นฐาน Toyota New Global Architecture (TNGA) มีรูปแบบตัวถังทั้งหมด 3 ตัวถังดังนี้
แฮทช์แบ็ก
[แก้]โตโยต้า โคโรลล่า รุ่นที่สิบสองในรูปแบบแฮทช์แบ็ก ได้เผยโฉมตัวรถคันก่อนเริ่มผลิตจริงที่งานแสดงรถยนต์เจนีวา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ในชื่อว่า ออริส[1] ต่อมารุ่นโคโรลล่า แฮทช์แบ็ก รุ่นผลิตจริงสำหรับตลาดอเมริกาเหนือ ได้เผยโฉมที่งานแสดงรถยนต์นานาชาตินิวยอร์ก ประจำปี ค.ศ. 2018 อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2561 โคโรลล่า แฮทช์แบ็ก เปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ในชื่อว่า โคโรลล่า สปอร์ต โคโรลล่า แฮทช์แบ็ก เริ่มจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกากลางเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 และต่อมาได้เปิดตัวในออสเตรเลียในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ในประเทศโซนยุโรปได้เริ่มผลิตโคโรลล่า แฮทช์แบ็กเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562 และจำหน่ายในสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 และทยอยเปิดตัวในประเทศในยุโรปช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562[2]
ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 โตโยต้า โคโรลล่า แฮทช์แบ็ก รุ่นสมรรถนะสูงได้เปิดตัวในชื่อว่า จีอาร์ โคโรลล่า โดยได้เพิ่มอุปกรณ์ภายนอกของรถคันนี้ อาทิ แก้มด้านข้าง รวมถึงสเกิร์ตใต้ขอบประตู จะถูกตีโป่งออกมาให้กว้างกว่าปกติ รับกับความกว้างช่วงล้อหน้าหลังที่เพิ่มขึ้น เสริมประสิทธิด้านอากาศพลศาสตร์ด้วยการออกแบบช่องระบายอากาศที่อยู่ถัดจากซุ้มล้อคู่หน้า[3] ด้านระบบขับเคลื่อนได้ใช้เครื่องยนต์บล็อกเดียวกันกับ จีอาร์ ยาริส เป็นเครื่องยนต์รหัส G16E-GTS เบนซิน 3 สูบ DOHC 12 วาล์ว ขนาด 1.6 ลิตร กระบอกสูบ x ระยะช่วงชัก : 87.5 x 89.7 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.5 : 1 ฉีดจ่ายน้ำมันแบบ D-4S Direct Injection พ่วงระบบอัดอากาศเทอร์โบชาร์จ แต่ได้ปรับพละกำลังให้สูงขึ้น เป็น 300 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุดที่ 370 นิวตัน-เมตร จับคู่กับเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ iMT และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ GR-FOUR พร้อมระบบล็อกเฟืองท้ายแบบ Limited Slip Differential
ส่วนในประเทศไทย ได้เปิดตัว จีอาร์ โคโรลล่า ที่ประเทศไทย ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีของโตโยต้าประเทศไทย[4] โควต้าในไทย 9 คัน ซึ่งนำเข้าทั้งคันจากประเทศญี่ปุ่น[5]
สเตชั่นแวกอน
[แก้]โตโยต้า โคโรลล่า รุ่นสเตชั่นวากอนเรียกว่า โคโรลล่า ทัวริ่ง สปอร์ต ถูกเปิดตัวที่งานแสดงรถยนต์ปารีสประจำปี 2018[6][7] รูปภาพอย่างเป็นทางการของโคโรลล่า ทัวริ่ง สปอร์ต เผยโฉมเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2561 รูปแบบตัวถังนี้ไม่ถูกขายในทวีปอเมริกาเหนือ ออสเตรเลียและเอเชีย รวมถึงจีนด้วย โดยส่วนประกอบรวมถึงโครงสร้างตั้งแต่หลังเสาบีเป็นต้นไป ได้ถูกพัฒนาที่ยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักของตัวถังนี้
ในทวีปยุโรป โตโยต้า โคโรลล่า ในตัวถังสเตชั่นแวกอนได้ถูกนำมาเปลี่ยนตราจำหน่ายโดยซูซูกิในชื่อว่า สเวซ[8]
เก๋ง
[แก้]รุ่นเก๋งของโตโยต้า โคโรลล่า ได้เผยโฉมเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่เมืองคาร์เมล-บาย-เดอะ-ซี แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ที่งานแสดงรถยนต์นานาชาติกวางโจว โดยพร้อมกัน โดยแบ่งจำหน่ายเป็นสองรุ่น คือ เพรสทีช (Prestige) และรุ่น สปอร์ตตี้ (Sporty)[9][10][11][12][13][14] ในรุ่นเพรสทีช จะใช้กระจังหน้าที่แตกต่างจากรุ่นอื่น ซึ่งไปคล้ายกับกระจังหน้าของ คัมรี่ รหัส XV70 รุ่นนี้จำหน่ายในประเทศจีน (ในชื่อว่าโคโรลล่า) ยุโรป และประเทศอื่นๆ โดยประเทศไทยและไต้หวัน จะเรียนว่าโคโรลล่า อัลติส ซึ่งรุ่นนี้ได้เปิดตัวในประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2562 ส่วนรุ่นสปอร์ตตี้ ได้ใช้กระจังหน้าเหมือนกับรุ่นแฮทช์แบ็ก และรุ่นสเตชั่นวากอน รุ่นนี้ได้จำหน่ายในประเทศจีน (ในชื่อว่าโตโยต้า เลวิน) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ[15] รุ่นนี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้นำรุ่นไฮบริดมาทำตลาดในสหรัฐอเมริกาด้วย [16]
รุ่นอื่น ๆ
[แก้]โตโยต้า โคโรลล่า ครอส
[แก้]โตโยต้า โคโรลล่า ครอสเป็นรุ่นอเนกประสงค์สมรรถสูงของโคโรลล่า รหัส E210
สรุปยอดขาย
[แก้]ตลอดเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2509 - พ.ศ. 2550 รถโคโรลล่าถูกขายไปมากกว่า 30 ล้านคัน เฉลี่ยแล้ว จะมีรถโคโรลล่า 1 คัน ถูกซื้อทุกๆ 40 วินาที นับเป็นรถที่ประสบความสำเร็จสูงมากของโตโยต้า
เกร็ด
[แก้]- โตโยต้า โคโรลล่า Generation ที่ 7 มีการออกแบบในรูปแบบไฟท้ายสองชั้น มีทั้งหมด 3 แบบ คือ 1.ท้ายแดง 2.ท้ายเทา 3.ท้ายแดงเหลือง ซึ่งแบบที่นิยมที่สุด คือ ท้ายแดง ซึ่งทางล้อแม็กมีการออกแบบเป็นรูปดอกไม้ โดยวงการรถไทยมักเรียกว่า "โฉมสามห่วง" ซึ่งนิยมมากในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ รวมไปถึง สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ประเทศอื่นๆ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Szymkowski, Sean (26 กุมภาพันธ์ 2018). "Toyota to debut 2019 Corolla hatchback at Geneva motor show". Motor Authority. Australia. สืบค้นเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2018.
- ↑ Marinov, Boyan (7 ธันวาคม 2018). "2019 Toyota Corolla price, specs and release date". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 ธันวาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2019.
- ↑ "Official Teaser : Toyota GR Corolla เตรียมเปิดตัวในตลาดโลก 31 มีนาคม 2022 นี้ !". HeadLight Magazine. 28 มีนาคม 2022.
- ↑ A, Moo Teerapat (18 ตุลาคม 2022). "Toyota ประเทศไทย เตรียมเปิดตัว GR Corolla ในไทยเร็วๆนี้ ! 3 สูบ 1.6 เทอร์โบ 300 แรงม้า เกียร์ธรรมดา 6 iMT ขับ4 GR-FOUR". Autolifethailand.tv (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ QCXLOFT (30 พฤศจิกายน 2022). "ราคาอย่างเป็นทางการ Toyota GR Corolla : 3,949,000 บาท | เบนซิน 3 สูบ 1.6 Turbo 300 แรงม้า เกียร์ธรรมดา 6iMT". Headlightmag.
- ↑ "Toyota Corolla enters an exciting new era". Toyota (Press release). UK. 28 สิงหาคม 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 สิงหาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2018.
- ↑ "An exciting new era for Corolla". Toyota (Press release). Europe. 28 สิงหาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 31 สิงหาคม 2018.
- ↑ Mihalascu, Dan (15 กันยายน 2020). "2021 Suzuki Swace Is Another Toyota Corolla Touring Sports For Europe". Carscoops. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 มกราคม 2021. สืบค้นเมื่อ 19 กันยายน 2020.
- ↑ CORPORATION., TOYOTA MOTOR. "Toyota Unveils New Corolla Sedans at China's Guangzhou International Automobile Exhibition | TOYOTA | TOYOTA Global Newsroom". TOYOTA Global Newsroom (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2018.
- ↑ "All-New 2020 Toyota Corolla Ready to Rock the Sedan World | Toyota". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2018. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2018.
- ↑ "New 2019 Toyota Corolla Saloon joins hatch and estate". Auto Express (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2018.
- ↑ "New 2020 Toyota Corolla Sedan Is Here, All Sharpened Up | Carscoops". Carscoops (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 15 พฤศจิกายน 2018. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2018.
- ↑ Newton, Bruce (16 พฤศจิกายน 2018). "New Toyota Corolla sedan revealed - motoring.com.au". motoring.com.au (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2018.
- ↑ "Introducing the all-new Toyota Corolla sedan". Top Gear (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2018.
- ↑ CORPORATION., TOYOTA MOTOR. "Toyota to Unveil New Corolla and New Levin Sedans at China's Guangzhou International Automobile Exhibition | TOYOTA | TOYOTA Global Newsroom". TOYOTA Global Newsroom (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2018.
- ↑ Holmes, Jake (15 พฤศจิกายน 2018). "2020 Toyota Corolla Hybrid to debut at LA auto show". CNET. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2018.