แบล็ค ฮอว์ค ดาวน์: ฝ่าสมรภูมินรกโซมาเลีย
หน้าปกของหนังสือ แบล็ค ฮอว์ค ดาวน์ ฝ่าสมรภูมินรกโซมาเลีย | |
ผู้ประพันธ์ | มาร์ค โบว์เดน |
---|---|
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | Black Hawk Down: A Story of Modern War |
ผู้แปล | พันเอก พีรพล สงนุ้ย |
ประเทศ | สหรัฐ |
ภาษา | ภาษาอังกฤษ |
หัวเรื่อง | ยุทธการที่โมกาดิชู (พ.ศ. 2536) |
ประเภท | สงคราม ประวัติศาสตร์ สารคดี |
สำนักพิมพ์ |
|
พิมพ์ในภาษาอังกฤษ | 10 กุมภาพันธ์ 2542 |
พิมพ์ในภาษาไทย | พ.ศ. 2557 |
ชนิดสื่อ | หนังสือปกแข็ง หนังสือปกอ่อน |
หน้า | 392 342 (ไทย) |
ISBN | 978-0-87113-738-8 |
แบล็ค ฮอว์ค ดาวน์: ฝ่าสมรภูมินรกโซมาเลีย (อังกฤษ: Black Hawk Down: A Story of Modern War) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดย มาร์ค โบว์เดน ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งบันทึกความพยายามของหน่วยเฉพาะกิจรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน (Unified Task Force) ในการเข้าจับกุม โมฮัมเมด ฟาราห์ ไอดิด ผู้นำของฝ่ายโซมาเลียในปี พ.ศ. 2536 และผลลัพธ์ที่เกิดตามขึ้นมาหลังจากการปฏิบัติการคือการสู้รบในโมกาดิชูระหว่างกองกำลังสหรัฐ และกองกำลังติดอาวุธของไอดิด จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ยูเอช-60 แบล็กฮอว์กของสหรัฐถูกยิงตก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ และความพยายามที่จะเข้าช่วยเหลือลูกเรือของเฮลิคอปเตอร์ที่ตกทั้งสองลำนั้น โดยกองกำลังสหรัฐได้จัดกำลัง ประกอบไปด้วย กองพันจู่โจมที่ 3 สังกัดกรมทหารจู่โจมที่ 75, กรมอากาศยาน ปฏิบัติการพิเศษที่ 160 (160th SOAR), กองกำลังเดลตา, ฝูงบินยุทธวิธีพิเศษที่ 24, เดฟกรู เนวีซีลสหรัฐ, กองพลภูเขาที่ 10 (10th Mountain Division) พร้อมทั้งกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติของมาเลเซียและปากีสถาน
การจู่โจมในครั้งนี้ กลายเป็นการต่อสู้ระยะประชิดที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การทหารของสหรัฐนับตั้งแต่สงครามเวียดนาม ซึ่งแม้ว่าชื่อปฏิบัติการในการเข้าจับกุมไอดิดจะมีชื่อรหัสอย่างเป็นทางการว่า ปฏิบัติการโกธิคเซอร์เพนท์ (Operation Gothic Serpent) แต่สื่อมวลชนต่างเรียกขานปฏิบัติการนี้ว่า ยุทธการที่โมกาดิชู (Battle of Mogadishu) และยุทธการที่ทะเลดำ (Battle of the Black Sea)[1]
ประวัติ
[แก้]แบล็ค ฮอว์ค ดาวน์: ฝ่าสมรภูมินรกโซมาเลีย สร้างขึ้นมาจากบทความจำนวน 29 ตอนที่เขียนโดย มาร์ค โบว์เดน นักข่าวของหนังสือพิมพ์ The Philadelphia Inquirer เขาได้ทำการศึกษาค้นคว้าอย่างหนักในบันทึกของกองทัพสหรัฐ สัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมเหตุการณ์จากทั้งสองฝ่ายในความขัดแย้ง ตรวจสอบภาพและบันทึกวีดีโอต่าง ๆ จากเครื่องบินตรวจการณ์รวมไปถึงฟังบันทึกการสั่งการและการจราจรทางวิทยุ ก่อนหนังสือเล่มนี้จะถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ ซีรีส์บทความของเขาก็เริ่มเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอยู่ก่อนแล้ว โดยได้มีการใช้แผ่นซีดีรอมที่มีข้อมูลวีดีโอความยาวหนึ่งชั่วโมง และการเผยแพร่ซีรีส์ภาพและเสียงบนเว็บไซต์ของ The Inquirer เอง[1]
พอล อาร์. โฮว์ หนึ่งในสมาชิกของกองกำลังเดลตาได้ให้ข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับปฏิบัติการของกองกำลังเดลตาในการเขียนหนังสือเล่มนี้[2] โดยมาร์คได้พบกับโฮว์ในปี พ.ศ. 2540 หลังจากเขาได้เคลียร์กับผู้บังคับบัญชาของเขาแล้วเกี่ยวกับขอบเขตข้อมูลที่จะให้ได้ นอกจากนั้นยังมีสมาชิกของหน่วยคนอื่น ๆ ร่วมให้ข้อมูลและเป็นที่ปรึกษาให้กับหนังสือเล่มนี้อีกด้วย แต่ไม่อนุญาตให้เปิดเผยชื่อจริงของพวกเขา และวิจารณ์โฮว์ที่อนุญาตให้ผู้เขียนใช้ชื่อจริงของโฮว์ในงานเขียน[3]
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2534 กลุ่มติดอาวุธได้เข้าโค่นล้มการปกครองของประธานาธิบดี ไซอัด บาร์รี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่สงครามกลางเมืองโซมาเลีย ต่อมาองค์การสหประชาชาติได้ดำเนินการเข้าแทรกแซง นำโดยสหรัฐใจการเข้ามาสร้างรัฐบาลขึ้นมาใหม่และดำเนินการให้กองกำลังติดอาวุธกระจายอำนาจและเริ่มตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา ต่อมาประธานาธิบดี จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ได้ส่งกำลังนาวิกโยธินสหรัฐเข้าไปยังโซมาเลียในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2535 เพื่อบรรลุความพยายามของสหประชาชาติในการรักษาเส้นทางคมนาคมสิ่งของบรรเทาทุกข์และอาหาร ซึ่งถูกขัดขวางและโจมตีโดยกองกำลังติดอาวุธในท้องถิ่น[1]
ในขณะเดียวกัน โมฮัมเมด ฟาราห์ ไอดิด ได้มองว่าภารกิจบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อตน และไม่สนใจกระบวนการสันติภาพในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จึงได้ดำเนินการซุ่มโจมตีขบวนรถของกองกำลังรักษาสันติภาพในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2536 ทำให้มีทหารปากีสถานจำนวน 24 นายเสียชีวิต เป็นเหตุให้พลเรือเอก โจนาธาน โฮว์ ของสหรัฐประกาศให้ไอดิดเป็นบุคคลนอกกฎหมาย รวมไปถึงกองกำลังของไอดิดเองและกลุ่มผู้สนับสนุนของเขา
การปฏิบัติการตามล่าตัวไอดิดนั้น ร่วมไปถึงการบุกเข้าจู่โจมบ้านของสมาชิกกลุ่มที่เป็นผู้ต่อต้าน ส่งผลให้มีพลเรือนโซมาเลียบาดเจ็บล้มตาย ทำให้เริ่มมีกลุ่มผู้ต่อต้านภารกิจและการปฏิบัติการของสหประชาชาติเพิ่มมากขึ้น ทำให้การบรรเทาทุกข์ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติการด้วยเฮลิคอปเตอร์[1] ส่งผลให้ประธานาธิบดี บิล คลินตัน อนุมัติปฏิบัติการโกธิคเซอร์เพนท์ (Operation Gothic Serpent) ซึ่งเป็นปฏิบัติการของหน่วยบัญชาการยุทธการพิเศษร่วม (JOSC) ในการเข้าจับกุมไอดิด[4] ประกอบไปด้วย กองพันจู่โจมที่ 3 สังกัดกรมทหารจู่โจมที่ 75 (3rd Ranger Battalion, 75th Ranger Regiment), กรมอากาศยาน ปฏิบัติการพิเศษที่ 160 (160th Special Operations Aviation Regiment: 160th SOAR), กองกำลังเดลตา, ฝูงบินยุทธวิธีพิเศษที่ 24 (24th Special Tactics Squadron), เดฟกรู เนวีซีลสหรัฐ (DEVGRU Navy SEALs) [5] หนึ่งในภารกิจของปฏิบัติการนี้ส่งผลให้เฮลิคอปเตอร์แบบแบล็คฮอว์กหลายลำถูกยิงตก และเกิดการสู้รบติดพันยืดเยื้อระหว่างกองกำลังเฉพาะกิจและกองกำลังสหประชาชาติในการต่อต้านกองทหารอาสาของโซมาเลีย ซึ่งหลังจากยุทธการดังกล่าว การตามล่าตัวไอดิดก็ถูกยกเลิก และกองทัพสหรัฐได้ถอนตัวออกมาจากพื้นที่โซมาเลียตามมาด้วยกองกำลังสหประชาชาติในอีกไม่กี่เดือนหลังจากสหรัฐ
ในปี พ.ศ. 2539 ไอดิดเสียชีวิตจากบาดแผลที่ได้รับจากการต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายตรงข้ามของขั้วอำนาจภายในโซมาเลีย[6] และในท้ายที่สุด รัฐบาลเปลี่ยนผ่านแห่งชาติได้ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 หนึ่งปีหลังจากหนังสือของมาร์คได้รับการตีพิมพ์
แปลภาษาไทย
[แก้]หนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นฉบับภาษาไทย ภายใต้ลิขสิทธิ์ของกองทัพบกไทย โดยศูนย์พัฒนาหลักนิยมและยุทธศาสตร์ กรมยุทธศึกษาทหารบก กระทรวงกลาโหม แปลและเรียบเรียงโดย พันเอก พีรพล สงนุ้ย มีจำนวน 342 หน้า ตีพิมพ์ครั้งที่ 1 จำนวน 1,500 เล่ม และได้รับรหัสมาตรฐานทางบรรณานุกรมของสำนักหอสมุดแห่งชาติหมายเลข 978-974-9752-78-4[7]
กระแสตอบรับ
[แก้]งานเขียนของเขาเป็นที่ยอมรับอยู่แล้วโดยเฉพาะในแง่ของความพยายามที่จะอธิบายในเรื่องของบริบททางการเมืองท้องถิ่น และบริบทของการเมืองระหว่างประเทศ รวมไปถึงอธิบายว่าจากภารกิจเพื่อรักษาสันติภาพธรรมดาทั่วไปทำไมถึงพัฒนาขึ้นไปสู่ความขัดแย้งที่ต้องใช้อาวุธ ซึ่งต่อมามันถูกเรียกว่า โมกาดิชูไลน์ (Mogadishu Line)[1] จากรายงานของ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ชิ้นหนึ่ง พบว่ามาร์คสามารถถ่ายทอดการต่อสู้ครั้งนี้ได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในระดับนาทีต่อนาทีของปฏิบัติการโดยกองกำลังสหรัฐในโมกาดิชู หรือที่รู้จักกันใจชื่อของยุทธการที่ทะเลดำ โดยรายงานของนิวยอร์กไทมส์ได้เสริมอีกว่ามาร์คได้เปลี่ยนมุมมองของเรื่องอย่างรวดเร็วหลังจากที่กองกำลังทางพื้นดินของสหรัฐเดินทางเข้ามายังเขตเมือง และพยายามแยกตัวผู้นำของไอดิดออกมา จนกระทั่งเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้น ภารกิจนั้นจึงเปลี่ยนเป็นการกู้ภัยกองกำลังของสหรัฐเอง[1] นอกจากนี้รายงานระบุว่า มาร์คสามารถบรรยายได้ถึงอารมณ์และความรู้สึกวิตกกังวลทั้งของทหารและพลเรือนในสถานการณ์ที่กดดันจากการปิดล้อม และรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ที่รู้สึกไม่พอใจและกล่าวโทษกลุ่มทหารเรนเจอร์ว่าเป็นสาเหตุของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จากการปะทะ[1]
หนังสือเล่มนี้ได้เข้าสู่รอบสุดท้ายในการประกวดรางวัลหนังสือแห่งชาติสาขาสารคดีของสหรัฐในปี พ.ศ. 2552[8]
การดัดแปลง
[แก้]- เรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 ในรูปแบบของซีรีส์บนหนังสือพิมพ์จำนวน 29 ตอน และถูกดัดแปลงเป็นชุดมัลติมีเดียออนไลน์ชิ้นแรกของ The Philadelphia Inquirer[9] โดยผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลประกอบต่าง ๆ จำนวนมาก คือบันทึกย่อ เทปเสียง เอกสาร รูปภาพ และบันทึกการติดต่อวิทยุสื่อสาร และนำขึ้นเผยแพร่ทางออนไลน์เพื่อประกอบกับบทความ ซึ่งถือเป็นสิ่งใหม่มากที่บทความที่เขียนขึ้นโดยสำนักข่าว[10]ที่จะมีการเชื่อมโยงมัลติมีเดียต่าง ๆ ในการอ้างอิงข้อมูลและเชื่อมโยงไปยังแหล่งข้อมูลภายนอกได้[11]
- หนังสือเล่มนี้มาพร้อมกับวีดีโอที่ชื่อว่า Somalia: Good Intentions, Deadly Results ผลิตโดย KVR Video หลังจากนั้นมันได้ออกอากาศทางซีเอ็นเอ็นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2542 ในเวอร์ชันความยาว 57 นาที ในชื่อ Black Hawk Down: A Story of Modern War และได้รับรางวัลเอ็มมีในเวลาต่อมา[12]
- หนังสือเล่มนี้ได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2544 ชื่อว่า ยุทธการฝ่ารหัสทมิฬ กำกับโดย ริดลีย์ สกอต และอำนวยการสร้างโดย เจอร์รี บรักไฮเมอร์
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 Finnegan, William (14 March 1999). "A Million Enemies". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 October 2000.
- ↑ Hunter, Stephen (18 January 2002). "Shock Troops". The Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 December 2021. สืบค้นเมื่อ 2 January 2022.
- ↑ Shepard, Alicia C. (March 2002). "Appointment in Somalia". American Journalism Review. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 July 2022. สืบค้นเมื่อ 2 January 2022.
- ↑ Bowden 1999, p. 95.
- ↑ Bowden 1999, p. 5.
- ↑ Bowden 1999, p. 333.
- ↑ โบว์เดน, มาร์ค (2557). แบล็ค ฮอว์ค ดาวน์: ฝ่าสมรภูมินรกโซมาเลีย [พีรพล สงนุ้ย]. กรุงเทพฯ: ศูนย์พัฒนาหลักนิยมและยุทธศาสตร์ กรมยุทธศึกษาทหารบก กระทรวงกลาโหม. p. 342. ISBN 978-974-9752-78-4.
- ↑ "National Book Awards – 1999". National Book Foundation. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 October 2018. สืบค้นเมื่อ 1 July 2018.
- ↑ Hernandez, Richard; Rue, Jeremy (2016). "Chapter 2: Evolution of the Digital News Package". Principles of Multimedia. Routledge. pp. 59–60. ISBN 978-0-415-73815-6.
- ↑ Bowden, Mark (2000). "Narrative Journalism Goes Multimedia". Nieman Reports. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2015. สืบค้นเมื่อ 22 May 2017.
- ↑ Bowden, Mark (1997). "Black Hawk Down Newspaper Series Online". The Philadelphia Inquirer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 April 2011. สืบค้นเมื่อ 22 May 2017.
- ↑ "Black Hawk Down: A Story of Modern War". The Philadelphia Inquirer. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 February 2011. สืบค้นเมื่อ 18 September 2014.
ผลงานที่อ้างถึง
[แก้]- Bowden, Mark (1999). Black Hawk Down: A Story of Modern War. Berkeley, CA: Atlantic Monthly Press. ISBN 978-0-87113-738-8.
- โบว์เดน, มาร์ค (2557). แบล็ค ฮอว์ค ดาวน์: ฝ่าสมรภูมินรกโซมาเลีย [พีรพล สงนุ้ย]. กรุงเทพฯ: ศูนย์พัฒนาหลักนิยมและยุทธศาสตร์ กรมยุทธศึกษาทหารบก กระทรวงกลาโหม. p. 342. ISBN 978-974-9752-78-4.