ข้ามไปเนื้อหา

แคโรไลน์ น็อกซ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แคโรไลน์ น็อกซ์
Caroline Knox
เกิดแคโรไลน์ อีซาเบล น็อกซ์
26 มิถุนายน พ.ศ. 2400
จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม
เสียชีวิต17 มิถุนายน พ.ศ. 2436 (35 ปี)
จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม
สุสานสุสานโปรเตสแตนต์ กรุงเทพมหานคร
สัญชาติสหราชอาณาจักร
ชื่ออื่นดวงแข
คู่สมรสหลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ (พ.ศ. 2427–2436)
บุตรทอมัส น็อกซ์ ลีโอโนเวนส์
แอนนา แฮร์เรียต โมนาแฮน
บิดามารดา

แคโรไลน์ อีซาเบล ลีโอโนเวนส์ (อังกฤษ: Caroline Isabell Leonowens) สกุลเดิม น็อกซ์ (Knox, 26 มิถุนายน พ.ศ. 2400 – 17 มิถุนายน พ.ศ. 2436) มีชื่อไทยว่า ดวงแข เป็นบุตรคนที่สองของโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลใหญ่ชาวสหราชอาณาจักรประจำกรุงเทพฯ กับปราง ภรรยา เธอสมรสกับหลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ บุตรชายของแอนนา ลีโอโนเวนส์ สตรีชาวสหราชอาณาจักร ซึ่งเข้ามาถวายงานเป็นพระอาจารย์ในราชสำนักสยาม ระหว่างปี พ.ศ. 2405–2410

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

แคโรไลน์เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2400 เป็นบุตรคนที่สองของโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ (Thomas George Knox) กงสุลใหญ่ชาวสหราชอาณาจักรประจำกรุงสยาม กับปราง[1] ภรรยาเชื้อสายทวายที่ได้รับพระราชทานจากวังหน้า[2] แม้จะสมรสชาวตะวันตกไปแล้วแต่ปรางยังคงนับถือศาสนาพุทธ[3] แคโรไลน์มีพี่สาวคือ แฟนนี น็อกซ์ (ต่อมาเป็นภรรยาพระปรีชากลการ) และน้องชายชื่อ ทอมัส น็อกซ์

บิดา-มารดาให้บุตรสาวคนโตคือแฟนนี ซึ่งมีผิวขาวผ่อง อุปนิสัยร่าเริง มีรูปพรรณสวยงามอย่างฝรั่ง ใช้ชีวิตอย่างชาวตะวันตก ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ เมื่อกลับแผ่นดินสยามก็เป็นสาวสะพรั่งเต็มตัว[4] ขณะที่แคโรไลน์ผู้น้องให้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เธอมีดวงหน้าคมคายอย่างชาวสยาม คือมีคิ้วหนา ผมดำ จมูกโด่ง มีผิวกายขาว และมีอุปนิสัยเงียบ ๆ ไม่ค่อยออกงานกับผู้ชายอย่างออกหน้า หรือมีชีวิตโลดโผนเท่า[5] แคโรไลน์มีนามในภาษาสยามว่า ดวงแข[6] ในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวระบุว่า "...แต่คนเล็กนั้นอยู่ที่กรุงนี้ เป็นฝรั่งครึ่งหนึ่งไทยครึ่งหนึ่ง รูปพรรณสัณฐานเป็นไทยมาก..."[7]

ทอมัส ยอร์ช น็อกซ์ ซึ่งเคยรับราชการเป็นนายทหารรับราชการอยู่ในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ก่อนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลใหญ่สหราชอาณาจักรประจำกรุงเทพฯ ครอบครัวของท่านรวมทั้งภรรยาและบุตรีล้วนสนิทสมาคมกันกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งน็อกซ์เต็มใจที่จะยกแคโรไลน์ขึ้นถวายเป็นบาทบริจาริกาแก่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ[7] บางแห่งก็ว่าบิดาเคยถวายตัวให้เป็นหม่อมในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญไปแล้ว[8] เพราะมีพฤติกรรมที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ระบุว่า "...ไปมานอนค้างอยู่ในวัง จนคนว่ากงสุลถวายวังหน้าก็มีมาแต่ก่อน แต่พูดกันแต่ไทย ๆ คนฝรั่งไม่พูด..."[7] ซึ่งเล่ากันว่าคุณปราง ผู้มารดา เคยวาดฝันไว้ว่า "...ถ้าวังหน้าเป็นเจ้าแล้ว ลูกสาวจะเป็นสมเด็จพระนาง ผัวจะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ถ้ามีหลานจะให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไปด้วย..."[9] แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงรับสั่งว่าเป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น เท็จจริงอย่างไรไม่เป็นที่แจ้งชัด[10]

สมรส

[แก้]

แคโรไลน์สมรสกับหลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ (หรือ มิตซ่าหลุย) บุตรชายของแอนนา ลีโอโนเวนส์ สตรีชาวสหราชอาณาจักร ซึ่งเข้ามาถวายงานเป็นพระอาจารย์ในราชสำนักสยาม ระหว่างปี พ.ศ. 2405–2410 ซึ่งหลุยส์เดินทางกลับเข้ากรุงสยามเพื่อทำการค้าไม้สักทางภาคเหนือของสยาม พิธีสมรสถูกจัดขึ้นในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2427[11] ทั้งสองมีบุตรด้วยกันสองคน คือ[12]

  1. ทอมัส "จอร์จ" น็อกซ์ ลีโอโนเวนส์ (พ.ศ. 2431–2496) เขามีบุตรสองคน คือ หลุยส์ ลีโอโนเวนส์ อาศัยอยู่ที่ประเทศกัวเตมาลา กับเคนเนท ลีโอโนเวนส์ อาศัยอยู่ที่ประเทศแคนาดา
  2. แอนนา แฮร์เรียต โมนาแฮน (เกิด พ.ศ. 2433) สมรสกับริชาร์ด โมนาแฮน อาศัยอยู่ที่ประเทศแคนาดา[13]

ในจดหมายของเอวิส ฟิช พี่สาวของหลุยส์ที่เขียนถึงเพื่อนคนหนึ่ง มีเนื้อหากล่าวถึงแคโรไลน์ น้องสะใภ้ของตนไว้ ความว่า "...เรามีภาพประทับใจจากจดหมายของแคโรลีนว่า เธอคงเป็นสตรีที่อ่อนโยนน่าค้นหา ภาษาอังกฤษของเธอก็ไม่มีที่ติทั้ง ๆ ที่เกิดและโตในสยาม แม่รู้สึกสบายใจที่หลุยส์ทำท่าจะปักหลักอยู่บริษัทบอร์เนียว โดยที่ไม่คิดจะร่อนเร่ไปเรื่อย ๆ แบบแต่ก่อน..."[3] และในระหว่างที่หลุยส์ทำงานอยู่ในภาคเหนือและใช้ชีวิตกับบรรดาอนุภรรยาหลายต่อหลายคนร่วมกันในบ้านของนายแพทย์แมเรียน อาลอนโซ ชีก (หรือ หมอชิต) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ย่านหลังวัดมหาวัน ขณะที่แคโรไลน์ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับลูก ๆ ในกรุงเทพฯ ต่อไป ด้วยยังยึดมั่นในรักของสามี[14]

เสียชีวิต

[แก้]

แคโรไลน์พาลูก ๆ มาเยี่ยมหลุยส์ที่เชียงใหม่ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2434 ซึ่งหลุยส์ก็ต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี จนเป็นที่กล่าวถึงในหมู่ชาวบ้านเรื่องความโรแมนติก ทว่าแคโรไลน์เริ่มสำแดงอาการป่วยกระเสาะกระแสะให้เห็นอยู่เนือง ๆ นายแพทย์แมเรียน อาลอนโซ ชีก วิเคราะห์อาการป่วยจึงพบว่าเธอป่วยเป็นโรคไตและส่งเธอกลับไปรักษาที่กรุงเทพฯ อย่างเหมาะสมต่อไป[15] หลังแคโรไลน์เดินทางกลับจากภาคเหนือ เข้าพักที่โรงแรมโอเรียนเต็ลเพียงไม่กี่วันก็มีอาการปวดท้อง หลุยส์ให้ให้แพทย์ชาวอังกฤษทำการรักษาหลายคนแต่อาการไม่ดีขึ้น[12] หลังจากนั้นมีจดหมายถึงหลุยส์ ระบุว่า "...เหลือเวลาอีกเพียงสองสามสัปดาห์เท่านั้น สำหรับชีวิตอันงดงามของเธอ"[16] หลุยส์รีบเดินทางออกจากเชียงใหม่ล่องไปกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2436 โดยใช้เวลาเพียงสิบกว่าวัน ขณะนั้นมีการผ่าตัดแคโรไลน์ที่หน้าท้อง ทว่าหลังการผ่าตัดเสร็จสิ้น แคโรไลน์ก็มีอาการปอดบวมและถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2436 เมื่ออายุได้ 35 ปี[12] เขาไปทันดูใจภรรยาก่อนจากกันชั่วนิรันดร์ ร่างของเธอถูกฝังที่สุสานโปรเตสแตนต์ หรือป่าช้าฝรั่ง กรุงเทพมหานคร[17]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Alec Waugh, Bangkok: Story of a City (W. H. Allen, 1970), pages 84-85
  2. พิมาน แจ่มจรัส. รักในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2554, หน้า 293
  3. 3.0 3.1 จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 123
  4. วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542, หน้า 335
  5. วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542, หน้า 323
  6. จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 120
  7. 7.0 7.1 7.2 วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542, หน้า 326
  8. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558, หน้า 21
  9. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเจ้านาย เล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558, หน้า 22
  10. วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542, หน้า 331
  11. จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 82
  12. 12.0 12.1 12.2 วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542, หน้า 332
  13. The Wheaton College Archives & Special Collections: Margaret and Kenneth Landon Papers, 1824–2000, "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-06. สืบค้นเมื่อ 2010-01-31.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  14. จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 139
  15. จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 144
  16. จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 150
  17. จิระนันท์ พิตรปรีชา. ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 151