ข้ามไปเนื้อหา

เฟรเดอริก กาวแลนด์ ฮ็อปกินส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เฟรเดอริก กาวแลนด์ ฮ็อปกินส์
เกิด20 มิถุนายน ค.ศ. 1861(1861-06-20)
อีสต์บอร์น, ซัสเซกซ์,
อังกฤษ, สหราชอาณาจักร
เสียชีวิต16 พฤษภาคม ค.ศ. 1947(1947-05-16) (85 ปี)
เคมบริดจ์, เคมบริดจ์เชอร์,
อังกฤษ, สหราชอาณาจักร
สัญชาติอังกฤษ
ศิษย์เก่าวิทยาลัยคิงส์ ลอนดอน
โรงพยาบาลกายส์
มีชื่อเสียงจากวิตามิน, ทริปโตเฟน, กลูตาไธโอน
รางวัลรางวัลโนเบล (ค.ศ. 1929)
เหรียญรอยัล (ค.ศ. 1918)
เหรียญโคพลีย์ (ค.ศ. 1926)
เหรียญอัลเบิร์ต (ค.ศ. 1934)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์สหราชอาณาจักร (ค.ศ. 1935)
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สาขาชีวเคมี
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
อาจารย์ที่ปรึกษาทอมัส สตีเวนสัน
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอกยูดาห์ เฮิร์ช ควอสเทล
มัลคอล์ม ดิกสัน

เซอร์ เฟรเดอริก กาวแลนด์ ฮ็อปกินส์ (อังกฤษ: Frederick Gowland Hopkins; 20 มิถุนายน ค.ศ. 186116 พฤษภาคม ค.ศ. 1947) เป็นนักชีวเคมีชาวอังกฤษ เป็นหนึ่งในผู้ค้นพบวิตามินและค้นพบทริปโตเฟนในปี ค.ศ. 1901[1] เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ร่วมกับคริสตียาน ไอก์มัน ในปี ค.ศ. 1929[2]

ประวัติ

[แก้]

เฟรเดอริก กาวแลนด์ ฮ็อปกินส์เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1861 ที่เมืองอีสต์บอร์น ประเทศอังกฤษ เรียนที่โรงเรียนนครลอนดอน ก่อนจะเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน หลักสูตรนานาชาติและโรงเรียนแพทย์ของโรงพยาบาลกายส์ หลังเรียนจบเขาเป็นอาจารย์สอนสรีรวิทยาและพิษวิทยาที่โรงพยาบาลกายส์

ในปี ค.ศ. 1898 ฮ็อปกินส์แต่งงานกับเจสซี แอนน์ สตีเฟนส์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน[3] ในปีเดียวกันเขาได้รับคำเชิญจากเซอร์ ไมเคิล ฟอสเตอร์ให้มาร่วมงานที่ห้องปฏิบัติการในเคมบริดจ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1914 ฮ็อปกินส์ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ด้านชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขาเป็นศาสตราจารย์คนแรกของสาขาวิชานี้[3]

ฮ็อปกินส์เป็นผู้หนึ่งที่ศึกษาว่าเซลล์ได้รับพลังงานอย่างไรจากกระบวนการเมตาบอลิซึม การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกรดแล็กติกกับการหดตัวของกล้ามเนื้อในปี ค.ศ. 1907 ร่วมกับเซอร์ วอลเตอร์ มอร์ลีย์ เฟล็ตเชอร์ ทำให้ทราบว่าการลดลงของออกซิเจนมีผลต่อการสะสมของกรดแล็กติกในกล้ามเนื้อ ผลงานนี้ช่วยให้อาร์คิบัลด์ ฮิลล์และออตโต ฟริตซ์ เมเยอร์ฮอฟค้นพบวัฏจักรของคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของกล้ามเนื้อ[4]

ในปี ค.ศ. 1912 ฮ็อปกินส์ตีพิมพ์ผลงานการทดลองให้อาหารสัตว์ด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แร่ธาตุและน้ำบริสุทธิ์ เขาพบว่าสารบริสุทธิ์เหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้สัตว์เจริญเติบโตและตั้งสมมติฐานว่าน่าจะมีสารอาหารชนิดหนึ่งที่มีปริมาณเล็กน้อยแต่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต ต่อมาสารดังกล่าวคือ "วิตามิน"[5] จากการทดลองนี้ ทำให้ฮ็อปกินส์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ร่วมกับคริสตียาน ไอก์มัน ในปี ค.ศ. 1929[6]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฮ็อปกินส์ได้ศึกษาเนยเทียมและแนะนำให้ผสมวิตามินลงในเนยเทียมเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ[7]

ในปี ค.ศ. 1921 ฮ็อปกินส์ค้นพบกลูตาไธโอนในเนื้อเยื่อสัตว์[8] ในครั้งแรกเขาเสนอว่ากลูตาไธโอนเป็นสารประกอบระหว่างกรดกลูตามิกชนิดไดเพปไทด์กับซิสตีอีน แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1929 เขาเสนอใหม่ว่าเป็นกรดกลูตามิกชนิดไตรเพปไทด์ ซิสตีอีนและไกลซีน[9] ข้อเสนอนี้ได้รับการยืนยันจากงานของเอ็ดเวิร์ด แคลวิน เคนดัลล์[10]

เฟรเดอริก กาวแลนด์ ฮ็อปกินส์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1947 ที่เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hopkins FG, Cole SW (Dec 1901). "A contribution to the chemistry of proteids: Part I. A preliminary study of a hitherto undescribed product of tryptic digestion". The Journal of Physiology. 27 (4–5): 418–28. doi:10.1113/jphysiol.1901.sp000880. PMC 1540554. PMID 16992614.{{cite journal}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  2. Sir Frederick Gowland Hopkins | Britannica.com
  3. 3.0 3.1 "Frederick Hopkins - NNDB". สืบค้นเมื่อ 23 ธันวาคม 2015.
  4. Exercise Physiology: For Health and Sports Performance by Nick Draper,Helen Marshall
  5. Hopkins, F. G. (1912). "Feeding experiments illustrating the importance of accessory factors in normal dietaries". The Journal of physiology. 44 (5–6): 425–460. doi:10.1113/jphysiol.1912.sp001524. PMC 1512834. PMID 16993143.
  6. Sir Frederick Gowland Hopkins - Oxford Reference
  7. Frederick Gowland Hopkins - Encyclopedia.com
  8. Simoni, R. D.; Hill, R. L.; Vaughan, M. (2002). "On glutathione. II. A thermostable oxidation-reduction system (Hopkins, F. G., and Dixon, M. (1922) J. Biol. Chem. 54, 527-563)". The Journal of Biological Chemistry. 277 (24): e13. PMID 12055201.
  9. Hopkins, Frederick Gowland (1929). "On Glutathione: A Reinvestigation" (PDF). J. Biol. Chem. 84: 269–320.
  10. Kendall, Edward C.; McKenzie, Bernard F.; Mason, Harold L. (1929). "A Study of Glutathione. I. Its Preparation in Crystalline Form and its Identification". J. Biol. Chem. 84: 657–674. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-12-23.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]