รายชื่อกลุ่มแยกในกองทัพไทย
ต่อไปนี้คือรายชื่อกลุ่มแยกในกองทัพไทย หมายถึงกลุ่มที่มีความมุ่งหมายทางการเมืองร่วมกัน หรือรักษาฐานอํานาจในกองทัพเอาไว้ โดยการจับมือกันเป็นวิธีบรรลุเป้าหมาย ผลักดันวาระ และฐานะของพวกตน
รายการ
[แก้]จปร.5
[แก้]จปร.5 (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 5) สมาชิกในกลุ่มนี้อาทิ พล.อ.สุจินดา คราประยูร พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล และ พล.ร.อ.ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปราบกบฏทหารนอกราชการ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ต่อมานายทหารกลุ่มนี้เป็นแกนนำสำคัญในการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ต่อมา พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้ประชาชนไม่พอใจจนกลายเป็นพฤษภาทมิฬ ในเวลาต่อมา
ปัจจุบันนายทหารกลุ่ม จปร.5 ได้ยุติบทบาททางการเมืองไปแล้วภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
จปร.7
[แก้]จปร.7 หรือ กลุ่มยังเติร์ก (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7) ซึ่งเป็นกลุ่มนายทหารหนุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ โดยสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งในปี พ.ศ. 2520 แต่ในปี พ.ศ. 2523 กดดันให้ลาออก จนสนับสนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา สมาชิกในกลุ่ม อาทิ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร อดีตประธานวุฒิสภาและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์, พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคชาติไทย เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร รวมถึง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น
กลุ่มนี้พยายามรัฐประหาร 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จทั้ง 2 ครั้ง คือ กบฏเมษาฮาวาย ในปี พ.ศ. 2524 และ กบฏ 9 กันยา ในปี พ.ศ. 2528 ด้วยในช่วงเวลานั้นหลายคนมีตำแหน่งคุมกำลังพล และหลายคนได้ผ่านสงครามครั้งสำคัญๆ มามาก เช่น สงครามเกาหลี, สงครามเวียดนาม, สงครามกลางเมืองลาว ฯลฯ
เตรียมทหาร 10
[แก้]เตรียมทหาร 10 หรือ ตท.10 (โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10) รุ่นเดียวกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 บุคคลสำคัญอื่นในรุ่นนี้ เช่น พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้บัญชาการทหารบก, พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.ต.อ.ชลอ ชูวงษ์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.อ.ฉัตรชัย ถาวรบุตร อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองบัญชาการกองทัพไทย, พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม , พล.อ.ศานิต พรหมาศ อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์, พล.อ.จิรสิทธิ เกษะโกมล อดีตแม่ทัพน้อยที่ 1, พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ประเทศไทย) พ.ศ. 2557, พล.ท.มะ โพธิ์งาม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี, พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2, พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง อดีตเสนาธิการทหารบก, พล.อ.พรชัย กรานเลิศ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, พล.อ.อ.หม่อมหลวงสุทธิรัตน์ เกษมสันต์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.อ.เรืองศักดิ์ ทองดี[1] อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน พล.อ.อำนวย ถิระชุณหะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง อดีตรักษาการเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนันตร์ บุญรำไพ อดีตรองหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาและอดีตหัวหน้าพรรคพลังศรัทธา พล.อ.ไตรศักดิ์ อินทรรัสมี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22, พล.อ.วรวัฒน์ อินทรทัต อดีตเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, พล.ต.สุริโย อินทร์บำรุง อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33, พล.อ.ท.วันชัย ธนสุกาญจน์ อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ[2]
ปลายปี พ.ศ. 2552 มีข่าวว่า พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อ.ย.) ประกาศเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และแถลงว่าจะมีเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 อีกจำนวนมากเข้าร่วมพรรคด้วย[3]
วงศ์เทวัญ
[แก้]วงศ์เทวัญ ใช้เรียกทหารบกที่รับราชการในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (กรม ทม.ที่ 1 มหด.รอ.) และกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.) ซึ่งมีฐานอำนาจที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีหน้าที่หลักในการถวายความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ ดูแลความสงบเรียบร้อยทั้งพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งต่อมาจะได้เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยระดับคุมกำลังพลที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติ[4] บุคคลสําคัญที่สื่อมวลชนมักกล่าวถึงตั้งแต่ในอดีต ได้แก่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา, พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์, พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้
บูรพาพยัคฆ์
[แก้]บูรพาพยัคฆ์ ใช้เรียกทหารบกที่รับราชการในกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) และกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) เดิมเป็นฉายานามของหน่วยกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ที่สัญลักษณ์ของหน่วยมีคำว่า "บูรพาพยัคฆ์" อยู่ใต้รูปเสือกับดาบ เพราะในสมัยก่อนผู้บังคับการกรมทหาราบที่ 2 รักษาพระองค์ จะเป็นผู้บัญชาการกองกำลังบูรพารับผิดชอบพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันออกทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นมีสถานการณ์การรบกับเขมร (เวียดนามสนับสนุน) ที่รุนแรงมาก เหล่านักรบบูรพาพยัคฆ์ได้ต่อสู้อย่างห้าวหาญ ดุเดือด เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ ยุทธการที่ทำให้เหล่านักรบบูรพาพยัคฆ์จดจำไม่ลืม คือ ยุทธการบ้านโนนหมากมุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2523 และต่อมาก็ได้ขยายรวมไปถึงใช้เรียกกลุ่มทหารกองทัพบกที่รับราชการในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 รวมทั้งยังถือเป็นขั้วอำนาจสำคัญทางฝ่ายทหารที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลในระหว่างการรัฐประหารทั้งสองครั้งดังกล่าว บุคคลสำคัญของกลุ่มที่มีสื่อมวลชนมักกล่าวถึงตั้งแต่ในอดีต ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และ พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์[5]
ทหารเสือราชินี ใช้เรียกทหารบกที่รับราชการในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) เป็นกลุ่มย่อยหนึ่งในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) บุคคลสำคัญของกลุ่มที่มีสื่อมวลชนมักกล่าวถึงตั้งแต่ในอดีต ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และ พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์
หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ที่โค่นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรแล้ว ขั้วอำนาจในกองทัพถูกเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มเตรียมทหาร 10 มาสู่กลุ่มบูรพาพยัคฆ์ คือ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) (ทหารเสือราชินี) และกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ที่มีฐานอํานาจอยู่ที่ภาคตะวันออกมากกว่า เพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในรัฐประหารและมีบทบาททางการเมือง ต่อมามีการวางสายผู้บัญชาการทหารบกให้กลุ่มบูรพาพยัคฆ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ ซึ่งอาจจะยังมีเสนาธิการจากกลุ่มบูรพาพยัคฆ์อีก ทำให้ในปี พ.ศ. 2553 มีเสียงร่ำลือกันว่า ยังความไม่พอใจมาสู่ทหารกลุ่มวงศ์เทวัญที่เดิมเคยกุมอำนาจมาก่อน จนกลายเป็นความขัดแย้งกันลึกๆ ในกองทัพบก[6]
รบพิเศษ
[แก้]รบพิเศษ หรือ ทหารหมวกแดง ใช้เรียกทหารบกที่รับราชการในกองพลรบพิเศษที่ 1 (พล.รพศ. 1) และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) ซึ่งมีฐานอํานาจทั่วประเทศ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) ถือเป็นหน่วยที่เป็นเขี้ยวเล็บของกองทัพบก มีหน้าที่หลักในการเกี่ยวกับการสงครามพิเศษทั้งปวง ตั้งแต่การวางแผน อำนวยการ กำกับการทั้งด้านการฝึก ศึกษา และการปฏิบัติงาน เป็นหน่วยหวังผลทางยุทธศาสตร์มีบทบาทในการออมกำลัง และชดเชยอำนาจกำลังรบที่เสียเปรียบ ตลอดจนเข้าแก้ไขวิกฤตการณ์ต่างๆ ของบ้านเมือง ซึ่งต่อมาผู้บังคับบัญชาในหน่วยจะได้เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยระดับคุมกำลังพลที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติ บุคคลสําคัญที่สื่อมวลชนมักกล่าวถึงตั้งแต่ในอดีต ได้แก่ พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์, พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พระราชทานยศทหาร พ.ศ. 2553
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้นายทหารรับราชการ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอน 34 ง หน้า 32 วันที่ 28 เมษายน 2548
- ↑ พลอากาศเอก สุเมธ โพธิ์มณีจากไทยรัฐ
- ↑ "วงศ์เทวัญ-บูรพาพยัคฆ์" ร้าวลึก!
- ↑ Marwaan Macan-Markar, “On top at last, in civilian clothes” in The Edge Review, edition of August 22-28. อ้างใน Bangkok Pundit. In post-coup Thailand, what is happening with Prem? เก็บถาวร 2015-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Asian Correspondent. (Sep 09, 2014). สืบค้น 11-9-2014.
- ↑ "วงศ์เทวัญ-บูรพาพยัคฆ์" ร้าวลึก!