ข้ามไปเนื้อหา

เซอร์รัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
A photograph showing many types of cirrus clouds all jumbled together floating above a plain
เมฆเซอร์รัส

ซีร์รัส / เซอร์รัส (อังกฤษ: cirrus) เป็นเมฆสกุลหนึ่งที่มีลักษณะเป็นริ้วบาง ๆ คล้ายปอยผม จึงได้ชื่อมาจากภาษาละติน cirrus ปอยผม (a lock of hair) [1] เมื่อมองจากพื้นโลกจะเห็นเป็นสีขาวถึงเทา เซอร์รัสมีอักษรย่อคือ Ci และบางครั้งรู้จักในชื่อ "เมฆหางม้า" (mares' tails) ตามลักษณะที่ปรากฏ[2]

เมฆเซอร์รัสเป็นเมฆระดับสูง ก่อตัวในชั้นโทรโพสเฟียร์ที่ระดับความสูงประมาณ 20,000–40,000 ฟุต (6,000–12,000 เมตร) ในช่วงที่มีสภาพอากาศแห้ง ทำให้ไอน้ำเกิดการระเหิดกลับไปเป็นผลึกน้ำแข็ง[3] นอกจากนี้ยังสามารถเกิดจากคอนเทรล เมฆคิวมูโลนิมบัส และพายุหมุนเขตร้อน เนื่องจากเซอร์รัสเกิดจากสภาพอากาศที่ไม่เสถียร ทำให้บางครั้งสามารถใช้พยากรณ์ได้ว่าสภาพอากาศจะไม่ดี โดยทั่วไปเมฆเซอร์รัสไม่ก่อให้เกิดฝนตก แต่อาจก่อให้เกิดน้ำโปรยฐานเมฆ ซึ่งเป็นหยาดน้ำฟ้าที่ระเหยไปก่อนจะตกถึงพื้น เมฆเซอร์รัสสามารถแสดงปรากฏการณ์ทางแสง เช่น ซันด็อก และเฮโล เมื่อแสงอาทิตย์ส่องกระทบเมฆแล้วเกิดการเลี้ยวเบนของแสง เกิดเป็นวงแหวนสีรุ้ง[4]

เมื่อเซอร์รัสแต่ละก้อนขยายรวมกันเป็นเนื้อเดียวจะกลายสภาพเป็นเมฆเซอร์โรสเตรตัส ซึ่งเป็นเมฆที่เกิดจากผลึกน้ำแข็ง ปรากฏเป็นผืนบาง ๆ บนท้องฟ้า[5] หากเกิดการถ่ายเทความร้อนในชั้นบรรยากาศ เมฆเซอร์รัสสามารถกลายสภาพเป็นเมฆเซอร์โรคิวมูลัส ซึ่งเป็นเมฆที่เกิดจากผลึกน้ำในสถานะเย็นยวดยิ่ง มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Funk, Ted. "Cloud Classifications and Characteristics" (PDF). The Science Corner. National Oceanic and Atmospheric Administration. p. 1. สืบค้นเมื่อ 30 January 2011.
  2. Palmer, Chad (16 October 2005). "USA Today: Cirrus Clouds". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-01. สืบค้นเมื่อ 13 September 2008.
  3. "ชนิดของเมฆ ไขข้อสงสัย เมฆมีกี่ประเภท". National Geographic Thailand. July 21, 2017. สืบค้นเมื่อ September 2, 2019.
  4. "Cirrus clouds". Met Office. สืบค้นเมื่อ September 2, 2019.
  5. "Cirrostratus clouds". Met Office. สืบค้นเมื่อ September 2, 2019.
  6. "Weather Facts: Cirrocumulus". weatheronline.co.uk. สืบค้นเมื่อ September 2, 2019.