ข้ามไปเนื้อหา

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เจ้าสามพระยา)
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
ครองราชย์พ.ศ. 1967 – 1991 (24 ปี)
ก่อนหน้าสมเด็จพระอินทราชา
ถัดไปสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
พระราชสมภพพ.ศ. 1929
สวรรคตพ.ศ. 1994 (65 พรรษา)
คู่อภิเษกพระราชเทวี (พระราชธิดาในพระมหาธรรมราชาที่ 2)
พระราชบุตรพระนครอินทร์​ (พระอินทราชา)​
เจ้าพญาแพรก
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
พระราชบิดาสมเด็จพระอินทราชา

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา (พ.ศ. 1929 – 1994) เป็นพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา รัชกาลที่ 7 ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1967 – 1991 พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในการปกครอง และการรบ ดังจะเห็นได้จากกรณีการตีอาณาจักรล้านนาและประเทศกัมพูชา นับเป็นการขยายพระราชอาณาเขตของ อาณาจักรอยุธยาตอนต้นอย่างเป็นรูปธรรม

พระราชประวัติ

[แก้]

พระราชสมภพ

[แก้]

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 มีพระนามเดิมว่าเจ้าสามพระยา เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 3 ในสมเด็จพระนครินทราธิราชหลังจากพระราชบิดาตีได้หัวเมืองเหนือแล้ว ก็โปรดให้มีพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ทั้ง 3 พระองค์ไปครองเมืองต่าง ๆ คือ เจ้าอ้ายพระยาเป็นผู้ครองเมืองสุพรรณบุรี เจ้ายี่พระยาเป็นผู้ครองเมืองแพรกศรีราชา (อำเภอสรรคบุรี) ส่วนพระองค์ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปปกครองเมืองชัยนาท (พิษณุโลก) ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญทางเหนือ และได้อภิเษกสมรสกับพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งกรุงสุโขทัย

การขึ้นครองราชย์

[แก้]
เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยากระทำยุทธหัตถีชิงราชสมบัติที่เชิงสะพานป่าถ่านจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ เป็นเหตุให้เจ้าสามพระยาได้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาแทนพระเชษฐาทั้งสอง ภาพจากจิตรกรรมประกอบโคลงพระราชพงศาวดาร ปัจจุบันภาพต้นฉบับถูกเก็บรักษาไว้ ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระนครินทราธิราชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 1967 เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา ต่างยกทัพเข้ากรุงศรีอยุธยาเพื่อชิงราชสมบัติ ทั้งสองพระองค์ได้กระทำยุทธหัตถีกันที่เชิงสะพานป่าถ่านจนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ ขุนนางผู้ใหญ่จึงไปกราบทูลเชิญเจ้าสามพระยาขึ้นเสวยราชสมบัติ เฉลิมพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า แล้วโปรดให้ขุดพระศพพระเชษฐาทั้งสองพระองค์ไปถวายพระเพลิง แล้วสร้างวัดราชบูรณะในที่ถวายพระเพลิงนั้น ส่วนที่กระทำยุทธหัตถีให้ก่อเป็นเจดีย์ไว้ 2 องค์

สวรรคต

[แก้]

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เสด็จสวรรคต เมื่อ พ.ศ. 1994 พระองค์ครองราชสมบัติรวม 24 ปี โดยสมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสได้สืบราชสมบัติต่อ มีพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เหตุการณ์ในรัชสมัย

[แก้]
  • พ.ศ. 1959 เสด็จขึ้นครองราชย์ในปีเดียวกันสถาปนาวัดราชบูรณะ
  • พ.ศ. 1969 สร้างวัดมเหยงค์ในปีเดียวกัน พระพุทธชินราช มีน้ำพระเนตรไหลออกมาเป็นโลหิต

ปราบเมืองพิมายและพนมรุ้ง

[แก้]

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนปี พ.ศ. 1982 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ทรงให้ระดมกองทัพช้างม้า เตรียมจะยกไปตีเมืองพิมายและพนมรุ้ง เจ้าเมืองทั้งหลายจึงออกมาถวายบังคมสมเด็จพระบรมราชาธิราช พระองค์ก็โปรดพระราชทานรางวัล แล้วโปรดให้เจ้าเมืองเหล่านั้นกลับไปปกครองเมืองของตนตามเดิม[1]

พระราชพิธีโกษรกรรม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

[แก้]

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1982 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 จัดให้มีพระราชพิธีโกษรกรรม(พระราชพิธีโสกันต์) ให้กับพระบรมเชษฐาธิราช พระราชโอรส แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "สมเด็จพระราเมศวรบรมไตรโลกนารถบพิตร"[1]

ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ความว่า :-

"๏ ศักราช 801 มะแม เอกศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าก็ให้ประชุมพราหมณาจารย์แลท้าวพญาเสนามาตย์ทั้งหลายเล่นมหรสพ ตั้งพระราชพิธีโกษ(ร)...กรรมสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชกุมารท่าน แลประสาทพระนาม...สมเด็จพระราเมศวรบรมไตรโลกนารถบพิตร"[1]

  • เพลิงไหม้พระราชมณเทียร
  • พ.ศ. 1974 เสด็จยกทัพไปตีเมืองพระนครหลวงของกัมพูชา​ได้สำเร็จและสถาปนาพระนครอินทร์​พระโอรสองค์ใหญ่ให้เสวยราชย์​เป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา
  • พ.ศ. 1984 เกิดเพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข
  • พ.ศ. 1985 เสด็จยกทัพตีเชียงใหม่แต่ไม่สำเร็จ
  • พ.ศ.​ 1986 พระนครอินทร์ประชวร​สวรรคต ที่กัมพูชา​โปรดให้สถาปนาเจ้าพญาแพรก​พระโอรสองค์รองขึ้นเป็นกษัตริย์​กัมพูชาต่อจากพระนครอินทร์​
  • พ.ศ. 1987 เสด็จยกทัพปราบจราจล แลตั้งทัพหลวงที่ปะทายเขษม​ (กัมพูชา)​ ได้เชลย​120,000​ คน ทัพหลวงเสด็จกลับคืน

ราชการสงคราม

[แก้]

การศึกกับเขมร

[แก้]

ปี พ.ศ. 1974 สมเด็จพระบรมราชาธิราชได้เสด็จยกทัพไปตีเมืองนครหลวง (นครธม) ในรัชสมัยพระธรรมาโศกราชได้ ศึก​ครั้งนี้กองทัพอยุธยาล้อมเมืองพระนครหลวง​ (นครธม) ได้​​ 7​ เดือน ก่อนจะยึดเมืองได้​ พระธรรมาโศกราชประชวรและสวรรคตในเมืองพระนครหลวง​ (นครธม) ​ฝ่ายกัมพูชายอมแพ้​ สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงโปรดให้จัดงานศพและสร้างวัดบำเพ็ญกุศลถวายให้แก่พระธรรมโศกราช​ ก่อนจะสถาปนาให้พระนครอินทร์พระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็นกษัตริย์​กัมพูชา​อยู่ปกครองเมืองพระนครหลวงแทนในฐานะเมืองประเทศราช แล้วให้นำพระยาแก้วพระยาไท พร้อมทั้งพระประยูรญาติ เหล่าขุนนาง และกวาดต้อนครัวชาวกัมพูชา​ได้ 40,000​ คนกับทั้งรูปหล่อพระโคสิงห์สัตว์ต่าง ๆ​ และทรัพย์สินอื่นๆ​ กลับมากรุงศรีอยุธยาด้วย ทำให้อิทธิพลของเขมรในด้านการปกครอง ประเพณี ตลอดจนงานศิลปะมาปรากฏชัดในอยุธยา แต่พระนครอินทร์อยู่ปกครองกรุงกัมพูชาได้​ประมาณ​ 12 ปี​ ​ครั้งนั้นเจ้าญาติ​ บุตรพระรามเจ้า​ (คำขัด)​ เชื้อพระวงศ์​กัมพูชาเดิมได้ระดมมหาพรรคเขมรก่อกบฏที่เมืองจตุรมุข​ (พนมเปญ)​ พระนครอินทร์ส่งกองทัพไปปราบแต่ไม่สามารถปราบได้​เด็ดขาดจึงได้ขอกำลังช่วยเหลือจากอยุธยา​ สมเด็จพระบรมราชาธิราช จึงโปรดให้เจ้าพญาแพรก​ พระโอรสองค์รอง​ยกทัพอยุธยาไปช่วยเหลือและให้พระนครอินทร์ยกทัพเขมรเมืองพระนครหลวงอีกหนึ่งทัพร่วมกันยกไปปราบกบฏจนสามารถปราบกบฏได้สำเร็จ​ ​บรรดามหาพรรคเขมรแตกพ่าย​ จับเจ้าญาติได้จะให้ส่งตัวไปอยุธยาแต่พระนค​รอินทร์​[2]กลับประชวร​ และ​ สวรรคต​อย่างกะทันหันที่กัมพูชา​ ส่วนเจ้าญาติหลบหนีไปได้​จึงระดมมหาพรรคเขมรขึ้นต่อต้านฝ่ายอยุธยาอีกครั้ง ​ในปี​ ​พ.ศ.1986 ฝ่ายอยุธยา​สมเด็จพระบรมราชาธิราชได้สถาปนาเจ้าพญาแพรกพระโอรสองค์รองขึ้นครองกัมพูชา ต่อจากพระนครอินทร์​เมื่อเจ้าพญาแพรกปกครองกัมพูชา​พระองค์ได้พยายามส่งกองทัพไปปราบปรามฝ่ายเจ้าญาติแต่ไม่สำเร็จ​ เจ้าญาติกลับเป็นฝ่ายรบชนะและยึดเมืองต่างๆของกัมพูชาคืนได้ตามลำดับ​เมื่อได้โอกาสที่เหมาะสม​ ​เจ้าญาติจึงได้สถาปนาตัวเองขึันเป็นกษัตริย์​กัมพูชานามว่า​ พระบรมราชา​ (เจ้าพญาญาติ) ทำให้ในเวลานั้นกัมพูชามี​ กษัตริย์​ 2 พระองค์​ แต่เจ้าพญาแพรกปกครองกัมพูชาได้เพียงไม่นานพระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์​ พระบรมราชา​ (เจ้าพญาญาติ) ยึดเมืองพระนครหลวงคืนจากฝ่ายอยุธยาได้​ก่อนจะย้ายเมืองหลวงกัมพูชาไปยังเมืองบาสานและเมืองจตุรมุข​ (พนมเปญ)​ ตามลำดับ ต่อมาสมเด็จพระบรมราชาธิราช จึงเสด็จไปปราบพรรคเขมรในกัมพูชา​ ด้วยพระองค์เองเมื่อปี​ พ.ศ. 1987 ก่อนจะถอยกลับอยุธยา​ ครั้งนั้นได้เชลย​ 120,000​ คน​

การศึกกับล้านนา

[แก้]

ในปี พ.ศ. 1985 พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้รบกับท้าวช้อยผู้เป็นพระอนุชา ท้าวช้อยแพ้หนีไป เจ้าเมืองเทิงได้มาขอสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยาและขอให้ส่งกองทัพไปช่วยรบ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่​ 2 จึงทรงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ของอาณาจักรล้านนาแต่ก็ตีไม่สำเร็จประกอบกับทรงพระประชวรจึงทรงยกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา

ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อ พ.ศ. 1987 ทรงตั้งทัพหลวงที่ตำบลปะทายเขษม ครั้งนี้ได้หัวเมืองชายแดนของเชียงใหม่กับเชลยอีก 120,000 คน จึงยกทัพหลวงกลับพระนคร แต่ศึกครั้งนี้ไม่ปรากฏในหลักฐานฝ่ายล้านนา ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ กล่าวเพียงแค่เสด็จไปปราบพรรค ตั้งทัพหลวงที่ตำบลปะทายเขษม ได้เชลย 120,000 คน เท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงเมืองเชียงใหม่

จากข้อมูลอื่นใน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับปลีกหมายเลข 223,2/ก.125 กล่าวว่า เจ้าอยาด บุตรพระรามเจ้า (พระรามาธิบดี (คำขัด)) ที่ถูกส่งไปอยู่จัตุรมุข (พนมเปญ) นั้น ได้ก่อกบฏต่อพระอินทราชา ชักชวนชาวเขมรให้แข็งเมืองขึ้นจนใหญ่โตเป็นมหาพรรค พระอินทราชายกทัพไปตีเจ้าอยาดแตกพ่าย จับเจ้าอยาดส่งไปกรุงศรีอยุธยา แต่ขุนนครไชยกลับแอบปล่อยตัวให้เจ้าอยาดหนีไป เจ้าอยาดเลยระดมกองทัพมหาพรรคชาวเขมรขึ้นใหม่ ในขณะนั้นพระอินทราชาเกิดประชวรสวรรคต เจ้าสามพระยาจึงส่งเจ้าพระยาแพรก ราชบุตรอีกองค์ไปครองพระนครธม และยกทัพใหญ่เข้ามายังกัมพูชาเพื่อปราบพรรคในปี พ.ศ. 1987 จึงน่าจะเป็นเหตุการณ์นี้มากกว่าสงครามกับล้านนา และเมื่อพิจารณาจากชื่อสถานที่ตั้งทัพคือปะทายเขษม คำว่าปะทายน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาเขมรคือ บันทาย (បន្ទាយ) ซึ่งมักพบเป็นชื่อสถานที่หรือชื่อเมืองในกัมพูชา

พระราชกรณียกิจ

[แก้]

ด้านการพระศาสนา

[แก้]
วัดราชบูรณะในปัจจุบัน

เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จขึ้นครองราชย์ โปรดให้สถาปนาเจดีย์ใหญ่ สองพระองค์ ไว้ตรงบริเวณที่เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาชนช้างสู้รบกันถึงสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ ณ ตำบลป่าถ่าน พร้อมกับได้โปรดให้สถาปนาวัดราชบูรณะ ประกอบด้วยพระธาตุ และพระวิหาร โดยสร้างไว้ ณ บริเวณที่ถวายพระเพลิงศพเจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาและสร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้นเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลแด่สมเด็จพระอินทราชา พระราชบิดาในวาระนั้นด้วย

พ.ศ. 1969 สมเด็จพระบรมราชาธิราชได้ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์

ด้านการปกครอง

[แก้]

ทรงตรากฎหมายลักษณะอาญาศึก (อยู่ในลักษณะกบฏศึก) ขึ้น

การรวมสุโขทัยกับอยุธยา

[แก้]

พระเจ้าติโลกราชเป็นผู้นำที่เข้มแข็งในการสงคราม ได้พยายามที่จะขยายอาณาเขตของเมืองเชียงใหม่ลงมาทางใต้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชทรงเห็นว่าหากปล่อยให้เชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ปกครองสุโขทัยในฐานะเมืองประเทศราชอยู่เช่นนั้นแล้ว จะทำให้ผู้คนในหัวเมืองพากันไปเข้ากับล้านนา หรือไม่ก็ถูกล้านนาลงมารุกราน ด้วยสุโขทัยนั้นอ่อนแอลงไม่เข้มแข็งพอ ที่จะดูแลหัวเมืองต่าง ๆ นั้นได้

เพื่อให้หัวเมืองฝ่ายเหนือหรืออาณาจักรสุโขทัยในการดูแลของเมืองพิษณุโลก อยู่ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ ดังนั้นใน พ.ศ. 1981 เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 4 ได้สวรรคตลง สมเด็จพระบรมราชาธิราชจึงทรงให้รวบรวมหัวเมืองเหนือที่เคยแยกการปกครองเป็นสองเขตนั้น รวมเป็นเขตเดียวกัน แล้วแต่งตั้งพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระราชเทวี (ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระมหาธรรมราชาที่ 2) เป็นสมเด็จพระราเมศวรเจ้า ให้ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกเพื่อกำกับดูแลหัวเมืองเหนือทั้งหมด ทำให้ราชวงศ์พระร่วงหมดอำนาจในการปกครองสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัยจึงค่อย ๆ ถูกรวมกับกรุงศรีอยุธยา

พระราชสันตติวงศ์

[แก้]

พระองค์มีพระราชโอรส 3 พระองค์ ได้แก่

  1. พระนครอินทร์ โปรดให้ไปครองเมืองนครหลวงได้​ 12​ ปี จนกระทั่งประชวรหนักจนสวรรคต​ที่กัมพูชา​
  2. เจ้าพญาแพรก โปรดให้ไปครองเมืองนครหลวง ต่อจากพระนครอินทร์ ได้​ 1 ปีแต่ต่อมาถูกพระบรมราชา (เจ้าพระยาญาติ) ส่งคนมาลอบปลงพระชนม์และชิงเมืองพระนครหลวงคืน
  3. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ประสูติแต่พระราชเทวีที่เป็นพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 2 แห่งกรุงสุโขทัย​ทรงสถาปนาให้ครองเมืองพิษณุโลก​ปกครองหัวเมืองเหนือ​ ​7​ ​แห่ง​แทนที่​ สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่​ 4 (บรมปาล)​ ที่เสด็จสวรรคต​ในปี 1981

พระองค์​มีพระธิดา​ 1 พระองค์​

  1. ​ พระอินทมิตรา​หรือนางเกสร ​เดิมเป็นมเหสีของเจ้าพญาแพรก​ ​ต่อมาได้เป็นมเหสีฝ่ายซ้ายของพระบรมราชา​ (เจ้าพญาญาติ)​ พงศาวดารเขมรฉบับนักองค์เองกล่าวว่า​ พระอินทมิตราเป็นน้องร่วมบิดากับเจ้าพญาแพรก​

พงศาวลี

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ปกรณ์ ทรงม่วง. 2539. ปริญญานิพนธ์ เรื่อง การวิเคราะห์พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.  
  2. "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ", วิกิพีเดีย, 2023-02-20, สืบค้นเมื่อ 2024-11-26

บรรณานุกรม

[แก้]
  • ตรงใจ หุตางกูร. การปรับแก้เทียบศักราชและอธิบายความพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร, 2561. 200 หน้า. ISBN 978-616-7154-73-2
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554. 264 หน้า. ISBN 978-616-7308-25-8
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9

ดูเพิ่ม

[แก้]
ก่อนหน้า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ถัดไป
สมเด็จพระนครินทราธิราช
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1938 - พ.ศ. 1959)

พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรอยุธยา
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1959 - พ.ศ. 1994)
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
(ราชวงศ์สุพรรณภูมิ)

(พ.ศ. 1994 - พ.ศ. 2032)