เจ้าชายนารูฮิโกะ ฮิงาชิกูนิโนะมิยะ
เจ้าฮิงาชิกูนิ | |
---|---|
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น | |
ก่อนหน้า | คันตะโร ซุซุกิ |
ถัดไป | จิจูโร ชิเดฮาระ |
วาระ | 17 สิงหาคม-9 ตุลาคม ค.ศ. 1945 |
จักรพรรดิ | จักรพรรดิโชวะ |
ประสูติ | 3 ธันวาคม ค.ศ. 1887 เกียวโต จักรวรรดิญี่ปุ่น |
สิ้นพระชนม์ | 20 มกราคม ค.ศ. 1990 (ชันษา 102) โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น |
พระราชบุตร | โมริฮิโระ ฮิงาชิกูนิ โมโรมาซะ ฮิงาชิกูนิ อากิตสึเนะ ฮิงาชิกูนิ โทชิฮิโกะ ฮิงาชิกูนิ |
ราชวงศ์ | ราชสกุลฮิงาชิกูนิ |
พระราชบิดา | เจ้าชายอาซาฮิโกะ เจ้าคูนิ |
ลายพระอภิไธย |
พลเอก เจ้าชายนารูฮิโกะ ฮิงาชิกูนิโนะมิยะ (ญี่ปุ่น: 東久邇宮稔彦王; โรมาจิ: Higashikuni-no-miya Naruhiko Ō) ทรงเป็นพระอนุวงศ์ญี่ปุ่นและพลเอกแห่งกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น และทรงได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดือนก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะยอมจำนนในสงครามโลกครั้งที่สอง และทรงลาออกหลังญี่ปุ่นยอมจำนนได้เจ็ดวัน นอกจากนี้ยังทรงเป็นพระสสุระ (พ่อสามี) ในเจ้าหญิงชิเงโกะ เจ้าเทรุ พระราชธิดาองค์ใหญ่ในจักรพรรดิโชวะ
เจ้าชายฮิงาชิกูนิถือเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นที่เป็นสมาชิกพระราชวงศ์ และยังเป็นนายทหารคนสุดท้ายจากกองทัพที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เจ้าชายฮิงาชิกูนิยังทรงเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีชิบะ
พระประวัติ
[แก้]เจ้าชายนารูฮิโกะประสูติในนครเกียวโต เป็นโอรสของเจ้าชายอาซาฮิโกะ เจ้าคูนิ ที่เกิดกับท่านหญิงเทราโอะ อูตาโกะ นางข้าหลวงในราชสำนัก เจ้าคูนิพระบิดาของพระองค์นั้นเป็นโอรสของเจ้าชายคูนิอิเอะ ซึ่งเป็นเจ้าฟุชิมิองค์ที่ 20 ซึ่งเป็นหนึ่งในตำแหน่งเจ้าสืบตระกูลที่เก่าแก่ที่สุด เจ้าฮิงาชิกูนิเป็นพี่น้องต่างมารดากับเจ้าชายคุนิโยะชิ เจ้าคุนิ พระบิดาในสมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุงผู้เป็นพระอัครมเหสีในจักรพรรดิโชวะและพระชนนีของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ
เจ้าชายนารูฮิโกะได้รับพระราชทานราชทินนามจากจักรพรรดิโชวะเป็น เจ้าฮิงาชิกูนิ (東久邇宮) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1906
ครอบครัว
[แก้]เจ้าฮิงาชิกูนิเสกสมรสกับเจ้าหญิงโทชิโกะ เจ้ายาซุ พระราชธิดาองค์ที่ 9 ในจักรพรรดิเมจิเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1915 มีพระโอรสด้วยกัน 4 พระองค์คือ:
- เจ้าชายโมริฮิโระ (盛厚王) (6 พฤษภาคม 1916 – 1 กุมภาพันธ์ 1969); เสกสมรสกับเจ้าหญิงชิเงโกะ เจ้าเทรุ พระราชธิดาองค์ใหญ่ในจักรพรรดิโชวะ
- เจ้าชายมาโรมาซะ (師正王) (ค.ศ. 1917 – 1 กันยายน 1923); สิ้นพระชนม์ในเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในคันโต
- เจ้าชายอากิสึเนะ (彰常王) (13 พฤษภาคม 1920 – 30 สิงหาคม 2006); ลาออกจากฐานันดรในปี 1940 และได้บรรดาศักดิ์เป็น มาร์ควิส อาวาตะ อากิตสึเนะ
- เจ้าชายโทชิฮิโกะ (俊彦王) (24 มีนาคม 1929 – 15 เมษายน 2015); ลาออกจากฐานันดรในปี 1943 และได้บรรดาศักดิ์เป็น เคานต์ ทามาระ โทชิฮิโกะ
หน้าที่การงาน
[แก้]นายกรัฐมนตรี
[แก้]หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในศึกต่างๆและการทิ้งระเบิดปรมาณู พลเอกเจ้าฮิงาชิกูนิก็เริ่มเป็นฝ่ายต่อต้านนโยบายสู้ตายของกองทัพ เขาพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับปฏิญญาพ็อทซ์ดัมของฝ่ายสัมพันธมิตร ได้รับโปรดเกล้าจากจักรพรรดิโชวะให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 แทนที่พลเรือเอก คันตาโร ซูซูกิ โดยรัฐบาลฮิงาชิกูนิมีภารกิจอยู่สองประการคือ ประการแรกคือกองทัพทั้งหมดยุติความเป็นศัตรูและถอนกำลังทหาร และประการที่สองคือ ทำให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นวางใจว่าสถาบันจักรพรรดิจะได้รับความคุ้มครองและอยู่รอดปลอดภัย อย่างไรก็ตาม เจ้าฮิงาชิกูนิลาออกจากตำแหน่งหลังยอมจำนนได้เจ็ดวันเนื่องจากข้อพิพาทเรื่องกองทัพสหรัฐจะให้ญี่ปุ่นยกเลิกกฎหมายรักษาความสงบ ค.ศ. 1925
หลังการลาออกฯ
[แก้]หลังจากที่ทรงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้นปี ค.ศ. 1946 ได้ทรงให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โยมิอูริโฮจิและเดอะนิวยอร์กไทมส์ว่า สมาชิกพระราชวงศ์ต่างยินยอมที่จะให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะสละราชสมบัติ โดยที่เจ้าทากามัตสึจะทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปจนกว่ามกุฎราชกุมารอากิฮิโตะจะเจริญพระชันษา อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ถูกคัดค้านจากนายกรัฐมนตรีจิจูโร ชิเดฮาระและรัฐมนตรีกระทรวงวัง
ในค.ศ. 1946 เจ้าฮิงาชิกูนิได้ทูลขอลาออกจากพระราชวงศ์ไปเป็นสามัญชนแต่องค์จักรพรรดิไม่ทรงยินยอม อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1947 สหรัฐอเมริกาได้ล้มเลิกระบอบคาโซกุของญี่ปุ่น ทำให้สมาชิกราชสกุลต่างๆรวมถึงเจ้าฮิงาชิกูนิถูกถอดยศและฐานันดรรวมถึงถูกริบทรัพย์บางส่วน
อดีตเจ้าฮิงาชิกูนิถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1990 ในกรุงโตเกียว ขณะมีพระชันษา 102 ปี 48 วัน
ฐานันดรศักดิ์
[แก้]- ค.ศ. 1887 - 1906 : เจ้าชายนารูฮิโกะ
- ค.ศ. 1906 - 1947 : เจ้าชายนารูฮิโกะ ฮิงาชิกูนิโนะมิยะ
- ค.ศ. 1947 - 1990 : นายนารูฮิโกะ ฮิงาชิกูนิ