ข้ามไปเนื้อหา

อ้ายซินเจว๋หลัว ฮุ่ยเซิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าหญิงฮุ่ยเซิง
เจ้าหญิงแห่งแมนจู
ประสูติ26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481
ซินจิง ประเทศแมนจู
สิ้นพระชนม์4 ธันวาคม พ.ศ. 2500 (19 ปี)
ภูเขาอามางิ ประเทศญี่ปุ่น
ราชวงศ์ชิง
พระบิดาอ้ายซินเจว๋หลัว ผู่เจี๋ย
พระมารดาซางะ ฮิโระ

อ้ายซินเจว๋หลัว ฮุ่ยเซิง (จีนตัวย่อ: 爱新觉罗•慧生; จีนตัวเต็ม: 愛新覺羅•慧生; พินอิน: Àixīn-Juéluó Huìshēng) หรือ ไอชินกากูระ เอเซ (ญี่ปุ่น: 愛新覚羅慧生โรมาจิAishinkakura Eisei; 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 — 4 ธันวาคม พ.ศ. 2500) เป็นเจ้านายจากราชวงศ์ชิง เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ของอ้ายซินเจว๋หลัว ผู่เจี๋ย พระราชอนุชาในจักรพรรดิผู่อี๋ กับซางะ ฮิโระ สุภาพสตรีชาวญี่ปุ่น

พระประวัติ

[แก้]

เจ้าหญิงฮุ่ยเซิงประสูติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ณ เมืองซินจิง เมืองหลวงของประเทศแมนจู (ปัจจุบันคือเมืองฉางชุน มณฑลจี๋หลิน ประเทศจีน) เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ของอ้ายซินเจว๋หลัว ผู่เจี๋ย กับซางะ ฮิโระ สุภาพสตรีชาวญี่ปุ่น และเป็นพระภาคิไนยในจักรพรรดิผู่อี๋ผู้ครองราชบัลลังก์แมนจูภายใต้การการควบคุมของจักรวรรดิญี่ปุ่นช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง (2480–2488) พระองค์ประทับอยู่ในประเทศแมนจูจนถึง พ.ศ. 2486 จึงย้ายไปประทับ ณ ประเทศญี่ปุ่นร่วมกับพระอัยกาและพระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี ทรงเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนต่าง ๆ ก่อนเข้าศึกษาที่โรงเรียนกากูชูอิง ทั้งนี้ทรงสนพระทัยวรรณคดีจีนและญี่ปุ่น

หลังสิ้นสุดสงคราม ผู่เจี๋ยพระชนกถูกกองกำลังโซเวียตควบคุมพระองค์และถูกจองจำในทัณฑสถานเป็นเวลาห้าปีก่อนถูกส่งตัวไปยังประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2493 ซึ่งทรงถูกควบคุมตัวอยู่ภายในศูนย์จัดการอาชญากรสงครามฝู่ฉุน (Fushun War Criminals Management Centre) ส่วนฮิโระพระชนนี และฮู่เซิง (嫮生) พระขนิษฐาถูกควบคุมตัวในเซี่ยงไฮ้ก่อนถูกส่งกลับประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2490 แต่ผู่เจี๋ยพระชนกนั้นยังถูกคุมขังและขาดการติดต่อ ในช่วงเวลาดังกล่าวพระองค์ได้มีลายพระหัตถ์ถึงนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เพื่อทรงขออนุญาตติดต่อกับพระชนกในทัณฑสถาน ซึ่งโจวอนุญาตในกาลต่อมา

เจ้าหญิงฮุ่ยเซิงทรงมีความสัมพันธ์พิเศษกับโอกูโบะ ทาเกมิชิ (大久保武道) บุตรชายผู้บริหารการรถไฟ ทั้งสองหายตัวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ภายหลังจึงถูกพบว่าเป็นศพบนภูเขาอามางิที่คาบสมุทรอิซุ สภาพศพเจ้าหญิงฮุ่ยเซิงสวมพระธำมรงค์คล้องแขนซ้ายของนายโอกูโบะ ส่วนนายโอกูโบะถือปืนด้วยมือขวา เหนือศีรษะของทั้งสองพบกระดาษทิชชูบิด ที่ภายในมีเศษเส้นผมและเล็บซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมก่ออัตวินิบาตกรรมอันมีที่มาจากความรักของชาวญี่ปุ่น สาเหตุหลักเกิดจากการที่ฮิโระ พระชนนีคัดค้านการที่เจ้าหญิงฮุ่ยเซิงปรารถนาจะเสกสมรสกับนายโอกุโบะอย่างแข็งขัน เพราะเจ้าหญิงฮุ่ยเซิงเหมาะควร และมีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับการเป็นพระชายาในมกุฎราชกุมารอากิฮิโตะมากกว่า

หลังพิธีปลงพระศพเสร็จสิ้น บิดาของนายโอกุโบะได้ขอร้องให้มีการนำพระอัฐิของเจ้าหญิงฮุ่ยเซิงและอัฐิของนายโอกูโบะใส่รวมกันในช่องโกศประจำตระกูลซางะภายในวัดนิซง ต่อมาได้เคลื่อนย้ายไปเก็บในช่องโกศประจำตระกูลอ้ายซินเจว๋หลัวที่ชิโมโนเซกิ จังหวัดยามางูจิ