ข้ามไปเนื้อหา

อำนาจ รื่นเริง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำนาจ รื่นเริง
เกิด18 ธันวาคม พ.ศ. 2522 (45 ปี)
(บางข้อมูลระบุว่าเกิด พ.ศ. 2520[1])
สถิติเหรียญโอลิมปิก
มวยสากลสมัครเล่น
มวยสากลสมัครเล่นเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ
เหรียญทองแดง - อันดับที่ 3 สหรัฐอเมริกา 2007 ไลท์ฟลายเวท
มวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์แห่งประเทศไทย
เหรียญทอง - ชนะเลิศ กรุงเทพมหานคร 2550 ไลท์ฟลายเวท
ซีเกมส์
เหรียญทอง - ชนะเลิศ โคราช 2550 ไลท์ฟลายเวท
เหรียญทอง - ชนะเลิศ เวียงจันทน์ 2552 ฟลายเวท
เอเชียนเกมส์
เหรียญทองแดง - อันดับที่ 3 กวางโจว 2010 ไลท์ฟลายเวท

อำนาจ รื่นเริง (ชื่อเล่น เพชร; เกิด 18 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี) เป็นนักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติไทย และอดีตนักมวยไทยระดับแชมป์เวทีลุมพินี และเป็นอดีตแชมป์โลกของสหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF) ในรุ่นฟลายเวท (112 ปอนด์)

ชีวิตเบื้องต้น

[แก้]

อำนาจในวัยเด็กไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาเพราะไม่มีหลักฐานรับรองการเกิดว่าเป็นคนไทยจนกระทั่งอายุ 16 ปีจึงได้สัญชาติไทย (บางข้อมูลระบุว่าอำนาจเกิดจริงเมื่อ พ.ศ. 2520[1]) อำนาจเป็นเด็กกำพร้าไม่มีทั้งพ่อและแม่ จึงถูกเลี้ยงดูมาโดยผู้เป็นยาย[2]

มวยไทย

[แก้]

อำนาจเริ่มต้นชกมวยไทยตั้งแต่อายุได้เพียง 7 ขวบ ก่อนจะย้ายไปหลายค่ายสุดท้ายซ้อมที่ค่าย ป.บูรพา โดยใช้ชื่อว่า เพชร ต.บางแสน หรือ เพชร ป.บูรพา โดยประสบความสำเร็จได้แชมป์รุ่นฟลายเวท เวทีลุมพินี จากการเอาชนะ แดนสยาม เกียรติรุ่งโรจน์ และป้องกันตำแหน่งไว้ได้หนึ่งครั้ง ก่อนจะเสียแชมป์ในการป้องกันตำแหน่งครั้งต่อมา ค่าตัวสูงสุดของอำนาจในการชกมวยไทยอยู่ที่ 100,000-120,000 บาท[3]

ต่อมาอำนาจต้องเข้าไปรับโทษในเรือนจำนาน 18 เดือน จากคดีวิ่งราวกระเป๋า[2] ซึ่งทำไปเพราะถูกตัดขาดจากหัวหน้าคณะ ทำให้ไม่สามารถขึ้นชกมวยได้ และเป็นฝ่ายอำนาจเองที่สำนึกผิดเข้าไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ[4]

มวยสากลสมัครเล่น

[แก้]

อำนาจเริ่มหัดมวยสากลสมัครเล่นภายในเรือนจำเมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้เหรียญทองกีฬาราชทัณฑ์ 2 ปีซ้อน แล้วได้เหรียญทองรายการชิงแชมป์ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2547 หลังจากที่คว้าเหรียญทองจากการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทยได้ทั้งที่เจ้าตัวยังต้องโทษอยู่ในเรือนจำ จนกระทั่งได้รับการดึงตัวให้เข้ามาซ้อมร่วมทีมชาติในทันทีที่พ้นโทษ และเส้นทางชีวิตก็พลิกจากมุมมืดสู่ความสดใสทันที เพราะช่วงนั้นเป็นจังหวะที่ สุบรรณ พันโนน นักมวยมือหนึ่งทีมชาติไทยมีปัญหาบาดเจ็บจนต้องถอนตัวจากทีมชาติ จึงทำให้อำนาจได้กลายเป็นนักมวยทีมชาติตัวจริงทันที และยึดตำแหน่งเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

อำนาจ ถือเป็นนักมวยที่มีพรสวรรค์และทักษะลีลาดี สามารถปรับทักษะจากมวยไทยมาเป็นมวยสากลสมัครเล่นได้อย่างรวดเร็ว เคยสร้างชื่อเสียงมาแล้วด้วยการสามารถเอาชนะ โจว ซื่อหมิง (เจ้าของเหรียญทองในรุ่นไลท์ฟลายเวท โอลิมปิก 2008 และโอลิมปิก 2012 และแชมป์มวยสากลสมัครเล่นโลก 3 สมัย) นักมวยชาวจีนในรายการคิงส์คัพ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ก่อนจะเดินทางไปคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันเวิลด์แชมเปี้ยนชิพที่สหรัฐอเมริกามาได้สำเร็จ ซึ่งนั่นก็ทำให้อำนาจได้รับรางวัล นักกีฬาหน้าใหม่ยอดเยี่ยม สยามกีฬาอวอร์ดส์ มาครองได้อย่างน่าทึ่ง [5]

โอลิมปิก 2008

[แก้]

ก่อนการแข่งขัน อำนาจได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ว่าเป็น 1 ใน 100 นักกีฬาที่น่าจับตามองในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้[6] ในรอบแรกอำนาจเอาชนะ แจ็ค วิลลี่ นักมวยปาปัวนิวกินีไปได้ 14-2 หมัด ในรอบสองเอาชนะ เนสตัน มอนเตโร่ จากโดมินิกัน ขาดลอย 7-3 หมัด แต่ในรอบชิงเหรียญทองแดงอำนาจเป็นฝ่ายแพ้ให้กับ เซอร์ดัมบา ปูเรฟดอร์จ นักมวยมองโกเลีย (ต่อมาได้ชิงเหรียญทองแต่แพ้ให้กับ โจว ซื่อหมิง) ไป 3-5 หมัด ซึ่งการชกครั้งนี้ได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าอำนาจชกแล้วคะแนนไม่ขึ้น พร้อมทั้งมีการตั้งข้อกังขาเรื่องการให้คะแนนของกรรมการด้วย[7]

หวนมาชกมวยสากลสมัครเล่นอีกครั้ง

[แก้]

หลังจากเสียแชมป์โลกมวยสากลอาชีพไปแล้วไม่นาน อำนาจได้เข้าค่ายฝึกซ้อมด้วยตนเองต่อที่จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเป็นบ้านของภรรยา อำนาจได้ตัดสินใจหวนกลับมาชกมวยสากลสมัครเล่นอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายอยู่การติดทีมชาติเข้าแข่งขันโอลิมปิก 2016 ที่ประเทศบราซิล ทั้งนี้เพราะสหพันธ์มวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ (AIBA) ได้เปลี่ยนกติกาให้นักมวยสากลอาชีพ สามารถเข้าร่วมชกในรายการแข่งขันของมวยสากลสมัครเล่นได้ ถึงแม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากสถาบันมวยสากลอาชีพต่าง ๆ ก็ตาม โดยเข้าร่วมการแข่งขันคัดตัวที่โฮเซมาเรียบาร์กัสโดม รัฐบาร์กัส ประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งถือเป็นการคัดตัวรอบสุดท้าย โดยเป็นการคัดเลือกในโควต้านักมวยสากลอาชีพ ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2559 และได้เลื่อนน้ำหนักขึ้นเป็นรุ่นไลท์เวท เนื่องจากไม่สามารถทำน้ำหนักให้อยู่ในพิกัดฟลายเวทได้อีกแล้ว[8]

และอำนาจก็ทำได้สำเร็จเมื่อขึ้นชกเพียง 2 ครั้ง ก็ได้สิทธิไปแข่งขันโอลิมปิก โดยในรอบที่ 2 สามารถเอาชนะ คาร์มีเน ตอมมาโซเน นักมวยชาวอิตาลีไปได้ ด้วยคะแนนเป็นเอกฉันท์ 0-3 โดยถือเป็นนักมวยไทยคนที่ 5 และคนสุดท้ายที่ได้สิทธิ์ในการแข่งขันโอลิมปิกคราวนี้ [9]

ในรอบชิงชนะเลิศกับ ลินดอลโฟ เดลกาโด กราซา นักมวยชาวเม็กซิกัน อำนาจเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอไปก่อนขึ้นยกที่ 2 เนื่องจากขอยอมแพ้ จากการมีอาการเจ็บที่หัวไหล่ซ้าย จึงได้เหรียญเงิน [10]

โอลิมปิก 2016

[แก้]

ในรอบแรก หรือรอบ 32 คน อำนาจขึ้นชกในมุมแดง พบกับ อิกนาซิโอ เปร์ริน นักมวยชาวอาร์เจนตินา อำนาจเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 3-0 เสียง ด้วยคะแนน 30-27, 29-28 และ 30-27[11]

ในรอบที่สอง อำนาจขึ้นชกในมุมน้ำเงิน พบกับ โซฟิยาน อูมิอา นักมวยชาวฝรั่งเศส ที่อายุน้อยกว่าและช่วงชกได้เปรียบกว่า อำนาจเป็นฝ่ายถูกนับ 8 ถึง 2 ครั้งในยกที่ 2 และเป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอไปในยกที่ 3 ตกรอบเป็นคนแรกของทีมมักมวยไทย[12]

มวยสากลอาชีพ

[แก้]

ในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 อำนาจเทิร์นโปรขึ้นชกมวยสากลอาชีพครั้งแรกด้วยวัย 35 ปี ในสังกัดเกียรติกรีรินทร์โปรโมชั่น โดยขึ้นชกกับ ริโน ยูครู นักมวยอินโดนีเซีย ร่วมรายการเดียวกับ แท่งทอง เกียรติทวีสุข ชกเพื่อคัดเลือกตัวไปชิงแชมป์โลก IBF รุ่นแบนตั้มเวท กับ มาทูเบ ซินยาบี นักมวยชาวแอฟริกาใต้ ที่ จังหวัดนครราชสีมา ผลปรากฏว่า อำนาจสามารถเอาชนะน็อกได้ในยก 4 ต่อจากนั้น ทำสถิติชกชนะรวดต่อเนื่องจนได้ชิงแชมป์ IBF ASIA รุ่นฟลายเวทที่ว่างกับ ไมเคิล โรดริเกวซ นักมวยชาวฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ปรากฏว่า อำนาจชนะคะแนน ได้แชมป์ IBF ASIA ในรุ่นฟลายเวทไปครอง ต่อจากนั้นก็ป้องกันแชมป์ไว้ได้ 3 ครั้ง

ต่อมาในต้นปี พ.ศ. 2557 ได้แชมป์โลกของสหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF) ในรุ่นฟลายเวท ด้วยการชิงแชมป์ว่าง ด้วยการเอาชนะคะแนน ร็อคกี้ ฟูเอนเตส นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ไปได้อย่างเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 117-111, 116-112 และ 116-112 ที่จังหวัดนครราชสีมา[13] ซึ่งหลังการชกครั้งนี้อำนาจได้รับการยกย่องจากที่ประชุม IBF ที่แอตแลนติกซิตี รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ให้เป็นนักมวยยอดเยี่ยมของทวีปเอเชียด้วย[14] โดยทุกครั้งที่อำนาจจะชกจะทำการฝึกซ้อมภายในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ตำบลองครักษ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก[3]

อำนาจมีความต้องการจะพบกับ โจว ซื่อหมิง ซึ่งเป็นคู่ปรับเก่าที่ได้หันมาชกมวยสากลอาชีพเช่นเดียวกันหลังจบโอลิมปิก 2012 ก่อนที่จะแขวนนวมไปในที่สุด[15]ซึ่งอำนาจเคยชนะ โจว ซื่อหมิง ได้ 1 ครั้ง และแพ้ไป 2 ครั้ง โดยทั้งคู่มีกำหนดชกกันที่โคไทอารีนา ภายในเดอะเวเนเชี่ยนมาเก๊า เขตปกครองพิเศษมาเก๊า ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2558[16] โดยถือเป็นรายการใหญ่ที่จัดโดย บ็อบ แอรัม โปรโมเตอร์ระดับโลกชาวอเมริกัน ในชื่อรายการว่า โชว์ดาวน์แอตแซนด์ (Showdown at Sands) ผลปรากฏว่าอำนาจเป็นฝ่ายดักชก และสามารถเอาชนะคะแนนไปได้อย่างขาดลอยด้วยคะแนน 116-111 ของกรรมการทั้ง 3 เสียง แม้จะเป็นฝ่ายโดนนับ 8 ในยกที่ 2 จากจังหวะที่ทั้งคู่กอดรัดกันก็ตาม อีกทั้งระหว่างช่วงพักยกให้น้ำ อำนาจยังเป็นฝ่ายยืนอีกด้วย โดยไม่ขอนั่งเหมือนกับการชกกับ คาซูโตะ อิโอกะ ที่ประเทศญี่ปุ่น[17]

ในการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 6 กับ จอห์น ริเอล คาซิเมโร นักมวยชาวฟิลิปปินส์ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นการชกในการประชุมประจำปีของ IBF เป็นครั้งแรกในทวีปเอเชียด้วย ซึ่งอำนาจเคยเอาชนะมาแล้วในการป้องกันตำแหน่งครั้งที่ 4 ปรากฏว่าอำนาจไม่สามารถลดน้ำหนักให้อยู่ในพิกัด 112 ปอนด์ได้ตามกำหนด โดยมีพิธีการชั่งน้ำหนักตัวกันบนกำแพงเมืองจีน อำนาจทำน้ำหนักครั้งสุดท้ายได้ถึง 116.11 ปอนด์ ทำให้ต้องเสียแชมป์โลกไปเนื่องจากเหตุนี้ (แต่คาซิเมโรก็ทำน้ำหนักไม่ผ่านเช่นกัน โดยชั่งครั้งสุดท้ายได้ 113.10 ปอนด์) และยังต้องโดนปรับเงินประมาณ 20,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 700,000 บาท) เนื่องจากน้ำหนักเกินอีกด้วย (กำหนดอัตราปอนด์ละ 5,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 175,000 บาท) [18] แต่ภายหลัง ทาง IBF สั่งเรียกประชุมเร่งด่วน พบว่า การชั่งน้ำหนักเกิดความผิดปกติใน 2 ประเด็น ดังนี้

  1. การชั่งน้ำหนักบนกำแพงเมืองจีน ซึ่งมีความกดอากาศต่ำ ทำให้ยากต่อการทำน้ำหนักให้เท่าพิกัด
  2. ตาชั่งที่ใช้ในการชั่งน้ำหนัก อาจมีความคลาดเคลื่อนอันเนื่องมาจากการขนย้าย

ทั้งนี้ ฝ่ายอำนาจและคาซิเมโร ต่างก็สอบน้ำหนักก่อนเดินทางมาชั่งน้ำหนักแล้ว โดยใช้เวลาเดินทางถึงสองชั่วโมง ด้วยสาเหตุสองประการข้างต้น ทาง IBF จึงมีคำสั่งให้ผลการชั่งน้ำหนักครั้งแรกเป็นโมฆะ และสั่งให้ชั่งน้ำหนักกันใหม่ในเวลาเช้าก่อนวันชกที่โรงแรมนูโอ ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ IBF โดยตั้งพิกัดให้ไม่เกิน 10 ปอนด์ [19] [20]

และเมื่อชั่งใหม่ ปรากฏว่าทั้งคู่ชั่งได้ 122 ปอนด์ (เท่ากับพิกัดน้ำหนักในรุ่นซูเปอร์แบนตั้มเวท) เกินจากพิกัดน้ำหนักในรุ่นฟลายเวท 10 ปอนด์ แต่เป็นไปตามกติกาของ IBF ที่กำหนดให้น้ำหนักได้ไม่เกิน 10 ปอนด์ของรุ่น การชกป้องกันตำแหน่งจึงเป็นไปตามปกติ[21]

แต่เมื่อขึ้นชกกัน ในยกที่ 4 อำนาจพลาดโดนหมัดฮุกซ้ายของคาซิเมโรเข้าเต็มหน้าในจังหวะบวก ถูกนับ 8 และเมื่อลุกขึ้นมาก็ทำท่าว่าจะเอาตัวรอดผ่านพ้นยกนี้ไปได้แล้ว แต่ปรากฏว่าก็ถูกหมัดซ้ายตัดลำตัวลงไปนอนกับพื้นเวทีอีก กรรมการนับไม่ถึง 10 ก็โบกมือยุติการชกไปทันที เสียตำแหน่งแชมป์โลกในการป้องกันครั้งที่ 6 นี้ไปอย่างไม่คาดฝัน[22]

อำนาจ รื่นเริง ถือเป็นนักมวยที่ไม่ได้มีหมัดหนัก หรือเป็นมวยในรูปแบบเดินหน้าเข้าปะทะ แต่เป็นนักมวยที่ชกแบบจังหวะฝีมือ ถนัดในการชกวงนอก รอจังหวะบวกและป้องกันตัวด้วยการดึงตัวโยกหลบหรือผวาเข้ากอดและล็อกแขนของคู่ต่อสู้จนเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว ซึ่งการชกในรูปแบบนี้ มักทำให้อำนาจเสี่ยงต่อการถูกตักเตือนหรือถูกตัดคะแนนบ่อย ๆ เนื่องจากถือเป็นจังหวะฟาวล์ แต่ก็ถือได้ว่ามีรูปแบบการชกที่คล้ายคลึงกับ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ อดีตแชมป์โลกชาวอเมริกันชื่อดังผู้ไม่เคยแพ้ใคร

เกียรติประวัติมวยสากลอาชีพ

[แก้]

ผลงาน

[แก้]
  • เหรียญทองมวยสากลสมัครเล่นชิงแชมป์ประเทศไทย พ.ศ. 2550
  • เหรียญเงินคิงส์คัพ 2007 (กรุงเทพ)
  • เหรียญทองแดงเวิลด์แชมเปี้ยนชิพ 2007 (สหรัฐอเมริกา)
  • เหรียญทองซีเกมส์ 2007 (นครราชสีมา)
  • เหรียญทองซีเกมส์ 2009 (เวียงจันทร์)
  • เหรียญทองแดงเอเชียนเกมส์ 2010 (กวางโจว)
  • แชมป์ฟลายเวทแพนเอเชีย สหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF)
  • แชมป์โลกฟลายเวท สหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF)
  • นักมวยยอดเยี่ยมของทวีปเอเชีย สหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF)
  • นักมวยที่เก่งที่สุดของโลกอันดับที่ 37 เมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ของนิตยสารเดอะริง ประจำปี 2014[26]
  • นักกีฬาอาชีพยอดเยี่ยม สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ประจำปี 2557 [27]
  • นักมวยที่เก่งที่สุดของโลกอันดับที่ 18 เมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ของนิตยสารเดอะริง ประจำปี 2015[28]
  • นักกีฬาอาชีพดีเด่น วันกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2558 [29]
  • นักมวยสากลอาชีพดีเด่นชาย รางวัลเกียรติยศบุคคลในวงการมวย ประจำปี 2559[30]
  • นักมวยผู้ทรงเกียรติ สหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF) ประจำปี 2015[31]

ชื่ออื่น

[แก้]
  • อำนาจ เกษตรพัฒนา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "ศึกนี้พลาดไม่ได้! "อำนาจ-ซู ชิหมิง" / ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์". ผู้จัดการออนไลน์. 3 March 2015. สืบค้นเมื่อ 7 August 2015.[ลิงก์เสีย]
  2. 2.0 2.1 "สื่อจีนทึ่ง'อำนาจ'แต่บ่อนมาเก๊าให้หมิงเป็นต่อ". เดลินิวส์. 18 February 2015. สืบค้นเมื่อ 20 February 2015.
  3. 3.0 3.1 "อำนาจ เกษตรพัฒนา ซ้อมเข้มเตรียมป้องแชมป์โลก". MuaythaiDaily SMMTV. 26 August 2014. สืบค้นเมื่อ 30 August 2014.
  4. หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, 'อำนาจ'ร้อนแรงแฟนแห่รุมกรี๊ด. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,883: วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม
  5. "ประวัติจากเว็บไซต์สยามสปอร์ต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-06. สืบค้นเมื่อ 2010-07-15.
  6. 100 นักกีฬาที่น่าจับตาปักกิ่งเกมส์จากสนุกดอตคอม
  7. "อำนาจเซ็งต่อยแต้มไม่ขึ้นเสธ.วีปขอรอแฉหลังอลป". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-05. สืบค้นเมื่อ 2021-10-04.
  8. หน้า 18 ต่อจากหน้า 17, อำนาจเต็มร้อย ล่าตั๋วริโอเกมส์ รายงานตัว 29 มิ.ย.. ไทยรัฐปีที่ 67 ฉบับที่ 21342: วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2559 แรม 8 ค่ำ เดือน 7 ปีวอก
  9. "'อำนาจ รื่นเริง' รับ2ล้าน กู้ชื่อคว้าตั๋วโอลิมปิก". กรุงเทพธุรกิจ. July 8, 2016. สืบค้นเมื่อ July 8, 2016.
  10. หน้า 14 กีฬา, อำนาจพ่ายจังโก้ได้เหรียญเงิน. "ย่อยข่าวกีฬา". เดลินิวส์ฉบับที่ 24,377: วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก
  11. "สายตาเฉียบ "อำนาจ" ดักต่อยฟ้าขาว ชนะแต้มเอกฉันท์". ผู้จัดการออนไลน์. August 8, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-11. สืบค้นเมื่อ August 8, 2016.
  12. ""อำนาจ" เจอหมัดชุดพ่าย TKO ร่วง อลป". ผู้จัดการออนไลน์. August 10, 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-08-13. สืบค้นเมื่อ August 10, 2016.
  13. ""อำนาจ" ชนะใสครองแชมป์ IBF". ผู้จัดการออนไลน์. 22 January 2014. สืบค้นเมื่อ 22 January 2014.[ลิงก์เสีย]
  14. หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, IBFยกอำนาจ ยอดมวยเอเชีย. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,598: วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 แรม 10 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย
  15. ""อำนาจ" มั่นล้างแค้น "ซู ชิหมิง" เชื่อกลัวกำปั้นไทย". ผู้จัดการออนไลน์. 23 April 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 23 April 2014.
  16. หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, 'อำนาจ'กร้าวดับ'ซูชิหมิง' . เดลินิวส์ฉบับที่ 23,812: วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 2 ปีมะเมีย
  17. หน้า 16 ต่อ 14 กีฬา, 'อำนาจ'สุดเจ๋งดับซ่า'ซูชิหมิง' . เดลินิวส์ฉบับที่ 23,887: วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2558 แรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีมะแม
  18. "ช็อก! "อำนาจ" น้ำหนักเกิน เสียแชมป์โลกแล้ว". ผู้จัดการออนไลน์. 24 May 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-27. สืบค้นเมื่อ 24 May 2016.
  19. เข็มขัดยังอยู่! ด่วน IBF ให้อำนาจ-คาซิเมโร ชั่งน้ำหนักใหม่, เอสเอ็มเอ็มสปอร์ต
  20. "อำนาจ" เกือบเสียแชมป์โลก, ไทยรัฐทีวี
  21. ""อำนาจ"ผ่านชั่งหน 2 พร้อมชกค่ำนี้". เดลินิวส์. 25 May 2016. สืบค้นเมื่อ 25 May 2016.
  22. "เข็มขัดหลุดลอย "อำนาจ" เจอตัดลำตัว แพ้น็อคยก 4". ผู้จัดการออนไลน์. 25 May 2016. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-29. สืบค้นเมื่อ 26 May 2016.
  23. อำนาจชนะแต้มปินส์คว้าแชมป์ไอบีเอฟเอเชีย จากสยามสปอร์ต
  24. "'อิโอกะ'ซ่าประกาศล้างแค้นอำนาจ". เดลินิวส์. 30 March 2014. สืบค้นเมื่อ 2 April 2014.
  25. หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, 'อำนาจ'เฮชนะ'อิโอกะ' . เดลินิวส์ฉบับที่ 23,583: วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย
  26. "สุดยอด!เดอะริง ยก อำนาจ ติดอันดับ37นักชกดีที่สุดปอนด์ต่อปอนด์". เอ็มไทย. 27 January 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-10. สืบค้นเมื่อ 28 January 2015.
  27. "'ญาณพล-จุฑาธิป-อำนาจ' คว้านักกีฬายอดเยี่ยมปี57". กรุงเทพธุรกิจ. 29 March 2015. สืบค้นเมื่อ 2 April 2015.
  28. "'เดอะริง'ยก 'อำนาจ'อันดับ18 ของโลก ให้'กอนซาเลส'เป็นเบอร์1". ไทยรัฐ. 2 November 2015. สืบค้นเมื่อ 2 November 2015.
  29. "'สุภัค-สุธิยา'ซิวนักกีฬายอดเยี่ยม". กรุงเทพธุรกิจ. 29 December 2015. สืบค้นเมื่อ 29 December 2015.
  30. หน้า 14 ต่อ 16 กีฬา, วุฒิชัยควงทัศมาลีรับรางวัลเกียรติยศ. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,223: วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 แรม 15 ค่ำ เดือน 2 ปีวอก
  31. ""อำนาจ"รับถ้วยเกียรติยศIBFไฟต์ป้องแชมป์ที่จีน". เดลินิวส์. 22 May 2016. สืบค้นเมื่อ 28 May 2016.
  32. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๓ เก็บถาวร 2022-08-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๓ ข หน้า ๔๑, ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]