คาซูโตะ อิโอกะ
คาซูโตะ อิโอกะ | |
---|---|
เกิด | คาซูโตะ อิโอกะ 24 มีนาคม พ.ศ. 2532 |
คาซูโตะ อิโอกะ (ญี่ปุ่น: 井岡 一翔; โรมาจิ: Ioka Kazuto) นักมวยสากลชาวญี่ปุ่น เป็นนักมวยสากลชายของญี่ปุ่นคนแรกที่ครองแชมป์โลกได้ 4 รุ่น จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โตเกียว
ประวัติ
[แก้]คาซูโตะ อิโอกะ เป็นบุตรชายของคัตสึโนริ อิโอกะ ผู้เป็นพี่ชายของฮิโรกิ อิโอกะ อดีตแชมป์โลก WBC ในรุ่นสตอร์วเวท ของสภามวยโลก และของสมาคมมวยโลก (WBA) รุ่นจูเนียร์ฟลายเวท
เริ่มชกมวยอาชีพในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 ด้วยการเอาชนะ ทองไทเล็ก ส.ธนะภิญโญ นักมวยชาวไทยไปได้ จากนั้นทำการชกเคลื่อนไหวอีกทั้งหมด 5 ครั้ง เป็นการชนะทั้งหมด ไม่มีแพ้หรือเสมอ ซึ่งก่อนหน้านั้นคาซูโตะได้เคยชกมวยสากลสมัครเล่นมาก่อน[1]อย่างโชกโชน โดยมีสถิติการชกถึง 100 ครั้ง ชนะ 95 แพ้ 5 ครั้ง
จากนั้น คาซูโตะ อิโอกะ ได้มีโอกาสชิงแชมป์โลก WBC ในรุ่นมินิมัมเวท ของ กับ โอเล่ห์ดง ศักดิ์เสมอชัย แชมป์โลกชาวไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ที่โคเบะ ซึ่งถ้าหากทำได้ คาซูโตะ จะกลายเป็นนักมวยสากลชาวญี่ปุ่นที่ทำสถิติการชกน้อยที่สุดแล้วได้เป็นแชมป์โลก โดยทำลายสถิติของโจอิจิโร ทัตสึโยชิ[2] ซึ่งคาซูโตะเป็นฝ่ายเอาชนะทีเคโอ โอเล่ห์ดงที่ลดน้ำหนักมาก ไปได้ในยกที่ 5[3] (ปัจจุบันสถิตินี้ถูกทำลายลงโดย นาโอยะ อิโนอูเอะ ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 2014 เมื่อเป็นฝ่ายชนะทีเคโอยก 6 อาเดรียน เอร์นันเดซ ได้แชมป์โลก WBC ในรุ่นไลท์ฟลายเวท ด้วยการชกเพียง 6 ครั้ง[4])
หลังจากที่ได้เดิมพันตำแหน่งแชมป์โลกกับแชมป์โลก ของ WBA ในรุ่นเดียวกันกับอากิระ ยาเองาชิ นักมวยชาวญี่ปุ่นด้วยกัน และเลื่อนรุ่นไปได้แชมป์โลก WBA ในรุ่นไลท์ฟลายเวท ของ และป้องกันตำแหน่งได้ 3 ครั้งแล้ว อิโอกะตัดสินใจที่จะเลื่อนรุ่นขึ้นไปชกในรุ่นฟลายเวท และเซ็นสัญญาชิงแชมป์โลกกับ อำนาจ รื่นเริง แชมป์โลกในรุ่นนี้ของสหพันธ์มวยนานาชาติ (IBF) ชาวไทย ในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 ซึ่งอิโอกะเมื่อครั้งยังชกมวยสากลสมัครเล่นเคยพ่ายแพ้ต่ออำนาจมาแล้ว 7-1 หมัด ในการคัดเลือกตัวไปสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งถ้าหากอิโอกะสามารถเอาชนะได้ ก็จะสร้างประวัติศาสตร์เป็นแชมป์โลก 3 รุ่นเป็นคนแรกของญี่ปุ่นทันที หลังจากที่ฮิโรกิ อิโอกะ ผู้เป็นอา ทำไม่สำเร็จมาแล้วในอดีต เมื่อขึ้นชิงแชมป์โลกในรุ่นเดียวกันนี้ของ WBA แต่เป็นฝ่ายแพ้ทีเคโอยก 10 ต่อ แสน ส.เพลินจิต เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2538[5]
ซึ่งในการชกจริงอิโอกะไม่สามารถอะไรอำนาจได้เป็นชิ้นเป็นอันตลอดการชกทั้ง 12 ยก ซ้ำเมื่อระหว่างพักยกให้น้ำ อำนาจยังเป็นฝ่ายยืนให้น้ำโดยไม่นั่งอีกต่างหาก ผลคะแนนเมื่อครบ 12 ยกออกมาปรากฏว่า อิโอกะเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไม่เป็นเอกฉันท์ ไปด้วยคะแนน 113-114, 119-108 และ 115-112 [6]
ในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558 อิโอกะขึ้นชิงแชมป์โลกสมาคมมวยโลก (WBA) ในรุ่นฟลายเวท ที่โรงยิมเนเซียมจังหวัดโอซากะ ปรากฏว่าอิโอกะเป็นฝ่ายเอาชนะคะแนน ฆวน การ์โลส เรเบโก แชมป์โลกชาวอาร์เจนตินา ไปได้อย่างไม่เป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 114-114,115-113 และ 116-113 ทำให้ได้เป็นแชมป์โลกในรุ่นที่ 3 [7]
แต่ในต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 หลังจากป้องกันตำแหน่งไว้ได้ทั้งหมด 5 ครั้ง อิโอกะก็ขอสละตำแหน่ง เนื่องจากไม่พร้อมชกป้องกันตำแหน่งในไฟท์บังคับกับ อาร์เต็ม ดาลาเคียน นักมวยชาวยูเครนรองแชมป์โลก WBA อันดับ 1 และแชมป์ WBA Continental รุ่นฟลายเวท สถิติไร้พ่ายไร้เสมอ ที่กำหนดชกในวันสิ้นปี 2560 หลังจากได้แต่งงานกับนานะ ทามิมูระ นักร้องเจป็อปสาวชื่อดังเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้ก่อให้เกิดเป็นความขัดแย้งกับคัตสึโนริ อิโอกะ ผู้เป็นพ่อและหัวหน้าค่ายอิโอกะยิมซึ่งเป็นต้นสังกัดด้วย [8] แต่เวลาต่อมาอิโอกะกับทานิมูระได้หย่าร้างกันภายหลัง และอิโอกะได้เปลี่ยนไปสังกัดค่ายแอมบิชัน (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นชิเซ) ค่ายมวยที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ในโตเกียว แทนที่ค่ายของพ่อตัวเองที่เคยสังกัดอยู่ในอดีต
ต่อมาอิโอกะได้ชิงแชมป์โลกที่ว่างของ WBO รุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท กับ แอสตัน ปาลิกเต รองแชมป์โลก WBO อันดับ 1 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ที่เมืองชิบะ หลังจากที่ดอนนี เนียเตสสละแชมป์โลก WBO รุ่นนี้ ซึ่งทางอิโอกะเคยชิงแชมป์โลกในรุ่นนี้และสถาบันนี้กับเนียเตสในวันสิ้นปี 2561 แต่เป็นฝ่ายอิโอกะแพ้คะแนนไม่เอกฉันท์คือ 116-112,118-110 และ 112-116
ผลการชกอิโอกะชนะทีเคโอปาลิกเตในยก 10 ได้แชมป์โลกที่ว่างมาครอง ส่งผลให้อิโอกะเป็นนักมวยสากลที่สามารถครองแชมป์โลกได้ 4 รุ่น เป็นคนแรกของประเทศ และนับเป็นนักมวยสากลชายญี่ปุ่นที่ครองแชมป์โลกมากรุ่นที่สุดในปัจจุบัน[9]
เกียรติประวัติ
[แก้]- แชมป์โลก WBC รุ่นมินิมัมเวท
- ชิง, 11 ก.พ. 2554 ชนะทีเคโอยก 5 โอเล่ห์ดง ศักดิ์เสมอชัย ( ไทย) ยก 5 ที่หออนุสรณ์โลก, โคเบะ, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 10 ส.ค. 2554 ชนะคะแนน ฮวน เอร์นันเดซ ( เม็กซิโก) โครากูเอ็งฮอล, โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 31 ธ.ค. 2554 ชนะทีเคโอยก 1 ยอดเงิน ซีพีเฟรชมาร์ท ( ไทย) ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3 และชิงแชมป์ในรุ่นเดียวกันของ สมาคมมวยโลก (WBA), 20 มิ.ย. 2555 ชนะคะแนน 12 ยก อากิระ ยาเองาชิ ( ญี่ปุ่น) ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- แชมป์โลก WBA รุ่นไลท์ฟลายเวท
- ชิง (ที่ว่าง), 31 ธ.ค. 2555 ชนะทีเคโอยก 6 โฮเซ อัลเฟรโด โรดริเกซ ( เม็กซิโก) ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 8 พ.ค. 2556 ชนะน็อคยก 9 วิษณุ ก่อเกียรติยิม ( ไทย) ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 11 ก.ย. 2556 ชนะน็อคยก 7 ขวัญไทย ศิษย์หมอเส็ง ( ไทย) ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3, 31 ธ.ค. 2556 ชนะคะแนน เฟลิกซ์ อัลบาราโด ( นิการากัว) ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- แชมป์โลก WBA รุ่นฟลายเวท
- ชิง, 22 เม.ย. 2558 ชนะคะแนน ฆวน การ์โลส เรเบโก ( อาร์เจนตินา) ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 27 ก.ย. 2558 ชนะคะแนน โรเบร์โต โดมิงโก โซซา ( อาร์เจนตินา) ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 31 ธ.ค. 2558 ชนะทีเคโอยก 11 ฆวน การ์โลส เรเบโก ( อาร์เจนตินา) ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3, 20 ก.ค. 2559 ชนะน็อกยก 11 เกบิน ลารา ( นิการากัว) ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- 14 กันยายน 2559 ฆวน ฟรันซิสโก เอสตราดา สละแชมป์โลก WBA ซูเปอร์แชมป์รุ่นฟลายเวท ทำให้อิโอกะเป็นแชมป์โลก WBA รุ่นฟลายเวทแต่เพียงผู้เดียว
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 4, 31 ธ.ค. 2559 ชนะทีเคโอยก 7 แสตมป์ เกียรตินิวัฒน์ ( ไทย) ชิมัตซูอารีนา, เกียวโต, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 5, 23 เม.ย. 2560 ชนะคะแนน นกน้อย สิทธิประเสริฐ ( ไทย) ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- 9 พฤศจิกายน 2560 สละแชมป์
- แชมป์ WBC Silver รุ่นซูเปอร์ฟลายเวท
- ชิง , 8 กันยายน 2561 ชนะคะแนน แม็กวิลเลียม อาร์โรโย ( ปวยร์โตรีโก) ที่ เดอะฟอรัม, อิงเกิลวูด, สหรัฐ
- แชมป์โลก WBO รุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท
- ชิง (ที่ว่าง) , 19 มิ.ย. 2562 ชนะทีเคโอยก 10 แอสตัน ปาลิกเต ( ฟิลิปปินส์) ที่ มากูฮาริ เมซเซ, ชิบะ, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1 , 31 ธ.ค. 2562 ชนะคะแนน เฆย์บิเอร์ ซินตรอน ( ปวยร์โตรีโก) ที่ ศูนย์กีฬาในร่มอเนกประสงค์เขตโอตะ, โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2 , 31 ธ.ค. 2563 ชนะทีเคโอยก 8 โคเซ ทานากะ ( ญี่ปุ่น) ที่ ศูนย์กีฬาในร่มอเนกประสงค์เขตโอตะ, โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันครั้งที่ 3 , 1 ก.ย. 2564 ชนะคะแนน ฟรันซิสโก โรดริเกซ ยูนิออร์ ( เม็กซิโก) ที่ ศูนย์กีฬาในร่มอเนกประสงค์เขตโอตะ, โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันครั้งที่ 4 , 31 ธ.ค. 2564 ชนะคะแนน เรียวจิ ฟูกูนางะ ( ญี่ปุ่น) ที่ ศูนย์กีฬาในร่มอเนกประสงค์เขตโอตะ, โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันครั้งที่ 5 , 13 ก.ค. 2565 ชนะคะแนน ดอนนี เนียเตส ( ฟิลิปปินส์) ที่ ศูนย์กีฬาในร่มอเนกประสงค์เขตโอตะ, โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น
- ป้องกันครั้งที่ 6 และ ชิงแชมป์ในรุ่นเดียวกันของ สมาคมมวยโลก (WBA), 31 ธ.ค. 2565 เสมอกับ โจซัว ฟรังโก้ ( สหรัฐ) ที่ศูนย์กีฬาในร่มอเนกประสงค์เขตโอตะ, โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น
- 15 เมษายน 2566 สละแชมป์ เนื่องจากไม่ต้องการป้องกันแชมป์ไฟต์บังคับกับ จุนโตะ นากาตานิ และ ต้องการรีแมตช์กับ โจซัว ฟรังโก้
- ชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
- ชิงแชมป์โลก IBF รุ่นฟลายเวท, 7 พ.ค. 2557 แพ้คะแนน (ไม่เป็นเอกฉันท์) อำนาจ รื่นเริง ( ไทย) ที่ ศูนย์กีฬาในร่มจังหวัดโอซากะ, โอซากะ, ประเทศญี่ปุ่น
- ชิงแชมป์โลก WBO รุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท, 31 ธ.ค. 2561 แพ้คะแนน ดอนนี เนียเตส ( ฟิลิปปินส์) ที่ โรงแรมวินน์ พาเลซ, มาเก๊า, ประเทศจีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Kazuto Ioka". boxrec.
- ↑ ""เจ้ากร" เตือน "โอเล่ห์ดง" ดาวรุ่งซามูไรสุดอันตราย". สยามสปอร์ต.
- ↑ โอเล่ห์ดงแพ้น็อก!เสียแชมป์โลกเพราะรีดน้ำหนัก จากแนวหน้า
- ↑ "Naoya Inoue Crushes Adrian Hernandez". boxing.com. 6 April 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-12. สืบค้นเมื่อ 11 April 2014.
- ↑ "'อิโอกะ'ซ่าประกาศล้างแค้นอำนาจ". เดลินิวส์. 30 March 2014. สืบค้นเมื่อ 2 April 2014.
- ↑ หน้า 17 ต่อ 19 กีฬา, 'อำนาจ'เฮชนะ'อิโอกะ' . เดลินิวส์ฉบับที่ 23,583: วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย
- ↑ "Ioka beats Reveco to win WBA flyweight title". riotersports. 22 April 2015. สืบค้นเมื่อ 23 April 2015.[ลิงก์เสีย]
- ↑ หน้า 19 ต่อจากหน้า 17 กีฬา, อิโอกะไม่ชก กิ๊กรอรับโชค ชิงแชมป์ว่าง. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,866: วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 แรม 8 ค่ำ เดือน 12 ปีระกา
- ↑ คาซึโตะ อิโอกะ คว้าแชมป์โลก 4 รุ่น กลายเป็นตำนานมวยโลก ซามูไร ข่าวสด