หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา)
หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) | |
---|---|
เกิด | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2427 จังหวัดพระประแดง |
เสียชีวิต | 16 มีนาคม พ.ศ. 2525 (98 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
ศาสตราจารย์ หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) (2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2427 – 16 มีนาคม พ.ศ. 2525) เป็นสถาปนิก ครูช่าง ข้าราชการ ชาวไทย มีผลงานทางด้านสถาปัตยกรรมไทยประเพณีและสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์
ครอบครัวและการศึกษา
[แก้]ศาสตราจารย์ หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) เกิดเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2427 ที่จังหวัดพระประแดง เป็นบุตรของนางทิม นางภู มีทวดคือ หลวงประสิทธิหัตถการ ซึ่งเป็นช่างหลวง หลวงวิศาลศิลปกรรมมีภรรยาชื่อนางบุษย์ มีบุตรหญิง 2 คน ชาย 3 คน เริ่มเรียนหนังสือกับบิดา ต่อมาได้เรียนหนังสือไทยและขอมที่วัดทองศาลางาม ได้เรียนช่างกับครูดำ เรียนแกะและปั้นกับครูทัต ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนวลนรดิศ จนจบชั้น 3 ประโยค 1[1]
การงาน
[แก้]ด้านการทำงาน สมัครเข้ารับราชการในกรมตำรวจ แผนกไม้สูง เมื่ออายุ 18 ปี ได้มีส่วนร่วมในการสร้างพระเมรุมาศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมาได้ลาบวช แล้วทำงานที่สโมสรช่าง มีหน้ามี่เป็นช่างเขียน จากนั้นที่กรมคลอง ได้เรียนกล้องระดับกับนายช่างฝรั่งชาวฝรั่งเศสชื่อ มองตีกุ๊ต จากนั้นลาออกมาทำงานที่สโมสรช่างตามเดิม
ท่านได้ทำงานที่โรงเรียนหัตถกรรม (ต่อมาคือโรงเรียนเพาะช่าง) ได้รับมอบหมายนำนักเรียนไปช่วยเขียนลายเทพพนม ผนังพระที่นั่งดุสิต ในงานพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยท่านลงมือเป็นตัวอย่าง หลวงวิศาลศิลปกรรมรับราชการประมาณ 17 ปี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนและหลวงตามลำดับ ผลงานการออกแบบในช่วงแรกได้ทำงานร่วมกับเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์และพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) ผลงานชิ้นแรกได้แก่ อาคารโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมกอทิก[2] และยังออกแบบงานร่วมกับพระสาโรชรัตนนิมมานก์ อีกหลายงาน อย่าง อาคารวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อาคารวชิรมงกุฎ วชิราวุธวิทยาลัย, อาคารพยาบาล วชิราวุธวิทยาลัย และอาคารจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[3]
หลังจากนั้นหลวงวิศาลศิลปกรรมได้รับแต่งตั้งเป็นนายช่างตรวจการก่อสร้างประจำกระทรวงธรรมการ ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองย้ายมาอยู่กรมศิลปากรประมาณหนึ่งปี จากนั้นย้ายมาเป็นอาจารย์ใหญ่คนแรกของโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ดำรงตำแหน่งอยู่ 2 ปี จึงลาออก แล้วเปิดสำนักงานศิลปะส่วนตัว ชื่อสำนักงาน ศิลปกรรม ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนเสาวภา ปากคลองตลาด
หลวงวิศาลศิลปกรรมได้กลับมารับราชการอีกครั้งในสังกัดกรมการศาสนาเพื่อเขียนแบบวิหารถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อนำไปสร้างที่สิงคโปร์ แต่งานนี้ไม่ได้สร้าง ในปี พ.ศ. 2519 ได้รับพระราชโองการแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต หลวงวิศาลศิลปกรรมเกษียณอายุราชการเมื่ออายุ 63 ปี ได้ช่วงบั้นปลายยังมีส่วนร่วมในการจำลองสถาปัตยกรรมไทย ณ เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ท่านเป็นอาจารย์พิเศษ 3 คณะของมหาวิทยาลัยศิลปากร คือ คณะจิตรกรรมและประติมากรรม คณะมัณฑนศิลป์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ท่านได้รับพระราชทานปริญญาศิลปะดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สถาปัตยกรรมไทย) และได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา[4]
ผลงานออกแบบ
[แก้]ออกแบบวัด ในส่วนพระอุโบสถ ออกแบบ วัดราชบูรณะ วัดไตรมิตร วัดสุนทรธรรมทาน วัดจันทรสโมสร วัดไผ่ตัน วัดอนัมนิกายาราม วัดท่าพระ วัดอมรินทรารามวรวิหาร วัดบุปผารามวรวิหาร วัดช่องลมนาเกลือ ชลบุรี วัดศรีมหาราชา วัดทุ่งสว่าง นครราชสีมา วัดสูงเนิน วัดชลประทานรังสฤษดิ์ วัดสามง่าม นครปฐม วัดทุ่งสะพาน จันทบุรี วัดบ้านกล้วย ยโสธร วัดอิติสุขโข หัวหิน วัดจุฬามณี พิษณุโลก วัดโปรดสัตว์ อยุธยา และออกแบบกุฎีสงฆ์ วิหาร ท่านเป็นทั้งสถาปนิก และวิศวกรรม ผลงานออกแบบวัดท่านทำเป็นการกุศล ไม่ได้รับค่าตอบแทน[1]
งานสถานศึกษา ออกแบบตึกวิทยาศาสตร์ ตึกจักรพงษ์ ตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ตึกมนุษย์นาค โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ตีกนภานภดล วัดเทพศิรินทร์ โรงเรียนปริยัติธรรม วัดปากน้ำ ท่านออกแบบโรงพยาบาลตึกอัษฎางค์ ตึกหอพักนางพยาบาล ศาลาท่าน้ำ โรงพยาบาลศิริราช ส่วนงานที่เมืองโบราณ ได้จำลองแบบจากโบราณสถานทั่วประเทศ
-
อุโบสถวัดโปรดสัตว์
-
ศาลาท่าน้ำ โรงพยาบาลศิริราช
-
ตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-
อุโบสถวัดไตรมิตร
-
อุโบสถวัดสุนทรธรรมทาน
-
พระอุโบสถวัดราชบุรณราชวรวิหาร
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2524 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[5]
- พ.ศ. 2516 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)[6]
- พ.ศ. 2512 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[7]
- พ.ศ. 2509 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ))[8]
- พ.ศ. 2485 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[9]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 หลวงวิศาลศิลปกรรม (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จันวาณิชย์, 2525), ไม่ปรากฏเลขหน้า
- ↑ เฉลิมพล โตสารเดช. "การศึกษาผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมของหลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา)" (PDF).
- ↑ ปฐมฤกษ์ วงศ์แสงขำ. "งานออกแบบสถาปัตยกรรมไทยของพระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) แนวคิดเรื่องบริบทของที่ตั้ง และ สถาปัตยกรรมต้นแบบ".
- ↑ วรชาติ มีชูบท. "งานกรีฑา (๔)". วชิราวุธวิทยาลัย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-18. สืบค้นเมื่อ 2020-08-24.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๖๑, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๐ ตอนที่ ๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๔, ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๑๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๖ ตอนที่ ๑๑๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๘๔๔, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา[ลิงก์เสีย], เล่ม ๘๓ ตอนที่ ๑๐๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒, ๑ ธันวาคม ๒๕๐๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๖๑ ง หน้า ๒๔๙๔, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๕