สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร)
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 29 กันยายน พ.ศ. 2449 (86 ปี 194 วัน ปี) |
มรณภาพ | 10 เมษายน พ.ศ. 2536 โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | นักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม 9 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดราชผาติการาม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | พ.ศ. 2471 |
พรรษา | 65 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม วรวิหาร แม่กองธรรมสนามหลวง |
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (29 กันยายน 2449 - 10 เมษายน 2536) เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม วรวิหาร สังฆมนตรี แม่กองธรรมสนามหลวง เป็นต้น
ประวัติ
[แก้]สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีนามเดิมว่า วิน ทีปานุเคราะห์ เป็นบุตรของนายเชย – นางบุญมี ทีปานุเคราะห์ ท่านเกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2449[1] เวลา 06:20 น.[2] ที่บ้านนาพญา อำเภอขันเงิน จังหวัดหลังสวน (ปัจจุบันคือตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร)
เมื่อโตขึ้นได้เรียนที่โรงเรียนประชาบาลวัดนาบุญ หลังสวน จนจบชั้นประถมบริบูรณ์ (ป. 3) ในปี พ.ศ. 2463 แล้วศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดโตนด (โรงเรียนสวนศรีวิทยาในปัจจุบัน) แต่อยู่ได้ 6 เดือนก็ลาออก เพราะมารดาต้องการให้บวช
ในปี พ.ศ. 2466 ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโตนด โดยมีพระธรรมารามคณีสุปรีชา (หนู อชิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 จึงย้ายไปจำพรรษาที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร แล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อปี พ.ศ. 2471 โดยพระธรรมารามคณีสุปรีชา (หนู อชิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมโกศาจารย์ (เซ่ง อุตฺตโม) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า ธมฺมสาโร
ในปี พ.ศ. 2492 ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดราชผาติการามเพื่อทำการแทนเจ้าอาวาส และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชผาติการามตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2503 จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ
การศึกษาทางธรรม
[แก้]- พ.ศ. 2467 สอบได้นักธรรมชั้นตรี
- พ.ศ. 2470 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค
- พ.ศ. 2471 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค และนักธรรมชั้นโท จากสำนักเรียนวัดราชาธิวาส
- พ.ศ. 2473 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค[3] และนักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดราชาธิวาส
- พ.ศ. 2474 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค จากสำนักเรียนวัดราชาธิวาส[4]
- พ.ศ. 2475 สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค จากสำนักเรียนวัดราชาธิวาส
- พ.ศ. 2477 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค จากสำนักเรียนวัดราชาธิวาส
- พ.ศ. 2480 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดราชาธิวาส[5]
สมณศักดิ์
[แก้]- พ.ศ. 2484 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอริยเมธี[6]
- พ.ศ. 2490 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเมธี ศรีประศาธนสุตาคม อุดมปฏิปกร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
- พ.ศ. 2496 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพโมลี ตรีปิฎกธาดา มหากถิกสุนทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[8]
- พ.ศ. 2500 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ ยุตโยคญาณดิลก ไตรปิฎกธารี ธรรมวาที ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]
- พ.ศ. 2509 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ อดมคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[10]
- พ.ศ. 2518 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จาตุรงคประธานวิสุต พุทธพจนมธุรสธรรมวาที คัมภีรญาณปริยัติโกศล วิมลศีลาจารวัตรสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี[11]
ตำแหน่ง
[แก้]- สมาชิกสังฆสภา (พ.ศ. 2484 - 2504)
- กรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย (พ.ศ. 2488 - 2536)
- เจ้าคณะอำเภอดุสิต ปทุมวัน พระโขนง บางเขน บางกะปิ (ธรรมยุต)
- สังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษา ซึ่งมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) เป็นสังฆนายก[12] (พ.ศ. 2503 - 2505)
- แม่กองธรรมสนามหลวง (พ.ศ. 2503 - 2531)
- เจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม (พ.ศ. 2503 - 2536)
- กรรมการมหาเถรสมาคม (พ.ศ. 2508 - 2536)
ผลงานที่สำคัญ
[แก้]สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน) เคยได้รับพระราชทานนิมนต์ให้ไปแสดงพระธรรมเทศนาถวายแก่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเรื่องพระมหาชนก จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์ พระมหาชนกขึ้น
มรณภาพ
[แก้]สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2536 เวลา 00:10 น. สิริอายุ 87 ปี พรรษา 65[1] ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดราชผาติการาม พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานโกศมณฑปประกอบศพ และรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2536
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. หน้า 152-4. ISBN 974-417-530-3
- ↑ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์:อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร), 2536, หน้า (23)-(37)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระภิกษุสามเณรเปรียญที่ได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญ แผนกทรงตั้ง พุทธศักราช ๒๔๗๔, เล่ม 48, ตอน ง, 7 มิถุนายน 2474, หน้า 703
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายามพระภิกษุสามเณรเปรียญที่ได้รับพระราชทาน พัดเปรียญ แผนกทรงตั้ง พุทธศักราช ๒๔๗๕, เล่ม 49, ตอน ง, 22 พฤษภาคม 2475, หน้า 648
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ เรื่อง พระราชทานพัดยศเปรียญ พ.ศ. ๒๔๘๑, เล่ม 55, ตอน 0 ง, 23 พฤษภาคม 2481, หน้า 392
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 58, 11 มีนาคม 2484, หน้า 498
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 64, ตอนที่ 27, 17 มิถุนายน 2490, หน้า 1529
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 70, ตอนที่ 78, 26 ธันวาคม 2496, หน้า 5352
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 74, ตอนที่ 107, 17 ธันวาคม 2500, หน้า 2945
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 83, ตอนที่ 114, 19 ธันวาคม 2509, หน้า 1-6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, ฉบับพิเศษ, เล่ม 92, ตอนที่ 263, 26 ธันวาคม 2518, หน้า 5-7
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งคณะสังฆมนตรี, เล่ม 77, ตอนที่ 41, 17 พฤษภาคม 2503, หน้า 1437-9
ก่อนหน้า | สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารี) | แม่กองธรรมสนามหลวง (พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2531) |
พระสุธรรมาธิบดี (เพิ่ม อาภาโค) |