สกลจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยา
สกลจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยา | |
---|---|
เกิด | 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2463 กรุงเทพมหานคร |
เสียชีวิต | 19 มกราคม พ.ศ. 2533 (70 ปี) |
สัญชาติ | ไทย |
คู่สมรส | ร.อ. พญ.ประภา พนมวัน ณ อยุธยา และ นางอรพรรณ พนมวัน ณ อยุธยา |
บุตร | อัครจิต พนมวัน ณ อยุธยา, สุรพงศ์ พนมวัน ณ อยุธยา, สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา และ กัญญามาศ พนมวัน ณ อยุธยา |
บิดามารดา | ม.ล. เฉลิม พนมวัน สุดจิตต์ วราหสิน |
ญาติ | สลวยเกษ เปรมกมล (พี่สาว) และ ไสลกาญจน์ พนมวัน ณ อยุธยา (พี่ชาย) |
นายสกลจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยา อดีตอธิบดีกรมโยธาธิการ ปัจจุบันรวมกับกรมผังเมืองเป็น กรมโยธาธิการและผังเมือง อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และตำแหน่งอื่นๆ อีกหลายตำแหน่งในกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม
ประวัติ
[แก้]นายสกลจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยา เกิดวันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2462 ที่วังกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ วังท้ายหับเผย วังที่ 1 แขวงพระราชวัง อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ หลวงสกลมณเฑียร (หม่อมหลวงเฉลิม พนมวัน) กับ นางสุดจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยา เป็นหลานปู่ของ พระพิชัยพาชี (หม่อมราชวงศ์ไกร พนมวัน) บุตรของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชิดเชื้อพงศ์ พระโอรสใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ และเป็นหลานตาของนายอากรตือ วราหสิน (นายอากรบ่อนเบี้ยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) โดยมีพี่สาวและพี่ชายร่วมบิดามารดาคือ นางสลวยเกษ เปรมกมล และ นายไสลกาญจน์ พนมวัน ณ อยุธยา
นายสกลจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยา สมรสกับร้อยเอก แพทย์หญิงประภา พนมวัน ณ อยุธยา บุตรสาวของ พ.ท. นพ.พระสัมฤทธิ์เวชศาสตร์ (เจิม หุตะดิลก) กับ นางปรารมณ์ สัมฤทธิ์เวชศาสตร์ และเป็นหลานตาของเจ้าสัวเปา เสงี่ยมพงษ์ เจ้าของซอยเปาประสิทธิ์ ถนนทรงวาดในปัจจุบัน มีบุตรด้วยกันสองคนคือ นายอัครจิต พนมวัน ณ อยุธยา และ นายสุรพงศ์ พนมวัน ณ อยุธยา หลังจาก ร้อยเอก แพทย์หญิงประภา เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2502 และในปี พ.ศ. 2505 จึงได้สมรสกับนางอรพรรณ พนมวัน ณ อยุธยา บุตรสาวของ พระรังสฤษดิ์สุขการ (หม่อมหลวงสด พนมวัน) กับ นางมิ่งมาศ พนมวัน ณ อยุธยา มีบุตรีอีกสองคนคือ นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา และ นางกัญญามาศ ชัยสังฆะ
นายสกลจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยา นับได้ว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในงานประปาภูมิภาคของประเทศไทยคนหนึ่ง เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆใน กองประปาภูมิภาค กรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย หลายตำแหน่ง โดยในปี พ.ศ. 2486 เข้ารับราชการเป็น นายช่างตรี กองประปาภูมิภาค รักษาการหัวหน้ากองประปาภูมิภาคและดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองประปาภูมิภาคในปี พ.ศ. 2499 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2509 จึงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองประปาภูมิภาค กรมโยธาเทศบาล ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กรมโยธาธิการ นอกจากตำแหน่งประจำแล้ว นายสกลจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยายังได้รับเกียรติเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2521-2522 อีกด้วย
สำหรับงานด้านการปกครอง นายสกลจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยา เป็น ผู้ริเริ่มและผลักดันโครงการ โยธาธิการจังหวัด ในสมัยที่ดำรงดำแหน่ง นายช่างใหญ่ กรมโยธาธิการ และในระหว่างที่ก้าวขื้นเป็นรองอธิบดี และ อธิบดี กรมโยธาธิการ ก็ยังมีโครงการอื่นๆที่ได้ผลักดันและรับผิดชอบ เช่น โครงการสะพานพระปิ่นเกล้า โครงการสะพานสาธร โครงการซ่อมแซมบูรณะพระปฐมเจดีย์ พ.ศ. 2518-2524 (ขั้นที่ 1 และ 2) และโครงการพุทธมณฑล เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2520 ขณะดำรงตำแหน่งรองอธิบดี กรมโยธาธิการ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ไปช่วยงานบริหารกรุงเทพมหานคร ในฐานะรองผู้ว่าราชการ ฝ่ายโยธา และในปี พ.ศ. 2521 จึงได้รับแต่งตั้งให้ตำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมโยธาธิการ อีกตำแหน่งหนึ่ง จนเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2524 รวมอายุราชการได้ 40 ปี
เมื่อวันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2533 นายสกลจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยาได้ถึงแก่อนิจกรรมที่โรงพยาบาลกรุงเทพ กรุงเทพมหานครด้วยโรคเบาหวาน ปอดอักเสบ และมีโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในกระแสเลือด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์น้ำหลวงอาบศพ พระราชทานโกศแปดเหลี่ยม ฉัตรเบณจาตั้งประดับเกียรติยศ ปี่ กลองชนะประโคม พิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน กำหนด 3 คืน ณ วัดธาตุทอง กรุงเทพมหานคร และพระราชทานเพลิงศพในวันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้มีพระกรุณาธิคุณเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทร์ฯ และประทานอนุญาตให้นำหนังสือโลกและชีวิตในพุทธธรรมมาพิมพ์เผยแพร่ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพครั้งนี้
ประวัติการศึกษา
[แก้]- ระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพมหานคร
- ระดับปริญญาตรี วิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ระดับประกาศนียบัตร วิศวกรรมบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแอครอน ประเทศสหรัฐอเมริกา
- วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 14
ประวัติการรับราชการ
[แก้]- พ.ศ. 2486 นายช่างตรี แผนคำนวณ กองประปาภูมิภาค กรมโยธาเทศบาล
- พ.ศ. 2493 หัวหน้าแผนกควบคุมสัมปทาน กองประปาภูมิภาค กรมโยธาเทศบาล
- พ.ศ. 2499 ห้วหน้ากองประปาภูมิภาค กรมโยธาเทศบาล
- พ.ศ. 2509 ผู้อำนวยการกองประปาภูมิภาค กรมโยธาเทศบาล
- พ.ศ. 2513 นายช่างใหญ่ กรมโยธาเทศบาล
- พ.ศ. 2517 รองอธิบดี กรมโยธาธิการ
- พ.ศ. 2520-2522 รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร
- พ.ศ. 2521 อธิบดี กรมโยธาธิการ
การดำรงตำแหน่งอื่นๆ
[แก้]- ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติการประปาภูมิภาค พ.ศ. 2521-2522 [[1]]
- ผู้แทนราชสกุลพนมวัน และคณะกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- นายกสโมสรไลออน์ อินเตอร์เนชั่นแนล
- อุปนายกสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
- คณะกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย
- คณะกรรมการการประปานครหลวง
- คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง
การทำงานในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
[แก้]เนื่องจากภาระหน้าที่หลักของกรมโยธาธิการ นายสกลจิตต์ พนมวัน ณ อยุธยา จึงใช้เวลาประมาณยี่สิบนาทีรับประทานอาหารกลางวันหลังเที่ยง แล้วจึงปฏิบัติงานของกรุงเทพมหานครจนประมาณสองทุ่มครึ่ง โดยจะไม่นั่งเจรจากับผู้ใดที่ไม่เกี่ยวกับงานราชการ จะพบแต่ข้าราชการที่นำเสนองานสำคัญๆ สำหรับพ่อค้าและผู้รับเหมาหากมีเรื่องร้องทุกข์ต้องนำพยานมานัดหมายผ่านผู้ช่วยผู้ว่าการ ซึ่งจะทำหน้าที่นัดข้าราชการที่ถูกอ้างอิงมาชี้แจง จึงจะให้เข้าพบพร้อมกัน
เกียรติคุณ
[แก้]- หอเกียรติยศนักเรียนเก่า พิพิธภัณฑ์เพื่อการศืกษา โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพมหานคร [2] เก็บถาวร 2020-08-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2524 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[1]
- พ.ศ. 2521 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)[2]
- พ.ศ. 2478 – เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ธ.)[3]
- พ.ศ. 2511 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[4]
- พ.ศ. 2520 – เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 (เหรียญทอง)
กิจการส่วนตัว
[แก้]ก่อตั้งอาคารพนมวัน ถนนเพชรบุรี ตัดใหม่ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร และศูนย์กีฬาบนที่ดินเกือบ ๕ ไร่ในซอยปรีดี พนมยงค์ 42 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
การศาสนา
[แก้]- พ.ศ. 2513 ประธานซ่อมพระอุโบสถ สร้างพระประธานในพระอุโบสถ ปางมารวิชัย และสร้างพระพุทธชินราชจำลองไว้บนศาลาการเปรียญ วัดเขาทะโมน อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี [3]
- พ.ศ. 2515 ประธานสร้างพระอุโบสถ วัดรัตนวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา [4]
- หลวงพ่อแสนหลวง พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน สิงห์ 1 ปางมารวิชัย พระพุทธรูปคู่บารมี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๕, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๖ ตอนที่ ๑๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘, ๓๑ มกราคม ๒๕๒๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนาม ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๗๖๔, ๘ มีนาคม ๒๔๗๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๒๓๖, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑
- เว็ปของราชสกุลพนมวัน [[5]]
- หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ นายสกลจืตต์ พนมวัน ณ อยุธยา ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- [6] เก็บถาวร 2013-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บุคคลที่เกิดในปี พ.ศ. 2462
- ราชสกุลพนมวัน
- ณ อยุธยา
- ข้าราชการพลเรือนชาวไทย
- บุคคลจากโรงเรียนเทพศิรินทร์
- นิสิตเก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- บุคคลจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.ว.ม.
- ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ป.ช.
- ผู้ได้รับเหรียญจักรพรรดิมาลา
- บทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์