ข้ามไปเนื้อหา

ศิลปะรัตนโกสินทร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์)
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระปรางค์วัดอรุณ
วัดราชโอรสาราม สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เรียกว่า แบบพระราชนิยม
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
พระพุทธตรีโลกเชษฐ์
จิตรกรรมฝาผนังวัดไชยทิศ
จิตรกรรมฝาผนังแห่งวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร

ศิลปะรัตนโกสินทร์ หมายถึงศิลปะในสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มต้นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร ขึ้นเป็นราชธานีตั้งแต่ พ.ศ. 2325 จนถึงสมัยปัจจุบัน

สถาปัตยกรรม

[แก้]

สถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ช่วงต้นเน้นการเลียนแบบอย่างหรือสืบต่อสายสกุลช่างจากอยุธยาตอนปลาย ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากสมัยอยุธยาตอนปลายอย่างชัดเจน ได้แก่ คตินิยมในการสร้างระเบียงคดล้อมรอบพระอุโบสถ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในสมัยอยุธยา การยกพระแก้วมรกตขึ้นเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญที่สุดของราชอาณาจักร ความนิยมในการสร้างหน้าบันให้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมากกว่าที่จะสร้างเป็นรูปพระนารยณ์ทรงครุฑ ตลอดจนภาพเขียนที่นิยมเขียนเกี่ยวกับประวัติพระอินทร์มากอย่างมีนัยสำคัญ และความนิยมที่จะเลือกพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ แตกต่างจากคตินิยมเดิมในสมัยอยุธยาที่นิยมพระพุทธรูปปางมารวิชัย[1]

สถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระสถูปเจดีย์ซึ่งสร้างในรัชกาลที่ 1–3 นิยมสร้างพระปรางค์กับพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเป็นหลัก เจดีย์ทรงเครื่อง เป็นอีกรูปแบบของเจดีย์ที่สร้างมาแต่สมัยอยุธยา ถูกนำมาสร้างโดยสามารถกำหนดได้อย่างแน่ชัดว่านิยมสร้างในสมัย รัชกาลที่ 1–3 เท่านั้น[2] เจดีย์ในสมัยรัตนโกสินทร์พบเพียง 4 รูปแบบ คือ เจดีย์ทรงปรางค์ เจดีย์ทรงเครื่อง เจดีย์ทรงระฆัง และเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง

ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดสุทัศน์เทพวราราม และให้บูรณะปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างในวัดอื่น ๆ ซึ่งมีมาก่อนสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงดำริเริ่มสร้างพระปรางค์วัดอรุณมาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 3

สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีความโดดเด่นในการรับอิทธิพลทางศิลปะจีน จนเกิดเป็นรูปแบบที่เรียกว่า แบบพระราชนิยม ลักษณะสำคัญของพระอุโบสถและพระวิหารคือ อาคารที่มีขนาดใหญ่ หน้าบันส่วนหนึ่งเป็นแบบก่ออิฐถือปูน และที่สำคัญคือการมีเสาพาไลแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ อันเป็นตัวรองรับน้ำหนักที่สำคัญ ลวดลายประดับหน้าบันที่ไม่นิยมใช้ไม้แกะสลัก แต่จะเป็นปูนปั้นลายพรรณพฤกษา เช่น ดอกโบตั๋น วัดที่สร้างตามแบบพระราชนิยมจะไม่มี คันทวย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และไขราหน้าจั่ว เป็นเครื่องหลังคาตามอย่างวัดที่สร้างแบบประเพณี[3]

สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 กลับนิยมแบบดั้งเดิมอย่างคตินิยมสมัยอยุธยา เช่น นิยมมีวิหารอยู่ทางด้านหน้า มีระเบียงคดต่อจากวิหารล้อมรอบเจดีย์ โบสถ์ตั้งขวางอยู่ด้านหลัง เจดีย์ยุคนี้นิยมเจดีย์ทรงกลม ซุ้มประตูหน้าต่างมักทำเป็นรูปปรมาภิไธย สถาปัตยกรรมแบบยุโรปได้เริ่มแพร่หลายในสมัยนี้ เช่น พระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี เช่นเดียวกันในสมัยรัชกาลที่ 5 สถานราชการเปลี่ยนเป็นสร้างแบบยุโรป ตลอดจนวังเจ้านาย สถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียง เช่น พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท[4] ยังมีวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหารที่ออกแบบอย่างวิหารในสถาปัตยกรรมตะวันตกศิลปะแบบกอทิก[5]

สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6 ยังปรากฏความนิยมในการก่อสร้างอาคารตามแบบไทยประเพณี แม้จะมีการออกแบบโดยช่างชาวต่างชาติ แต่ก็มีข้อกำหนดว่าจะนำรูปแบบไทยมาเป็นหลักในการออกแบบเสมอ[6] เป็นการประยุกต์แบบจารีตเข้ากับพื้นที่ใช้สอยแบบอาคารตะวันตก ดังจะเห็นได้จากการสร้างอาคารในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และตึกบัญชาการ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันคือ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยรัชกาลที่ 7 ไม่มีการสร้างพระอารามหลวงขึ้นมาใหม่ มีการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าโดยมีบริษัทดอร์แมนลอง ประเทศอังกฤษ ออกแบบและก่อสร้าง ตลอดรัชสมัย มีการก่อสร้างวังเพียงแห่งเดียว คือ วังไกลกังวลที่หัวหิน รูปแบบงานสถาปัตยกรรมมีลักษณะเรียบง่าย แผนผังไม่ซับซ้อน แตกต่างจากสมัยรัชกาลก่อน แสดงออกให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่มีลักษณะเรียบง่ายที่สุดเพราะตระหนักถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ[7]

ประติมากรรม

[แก้]

ประติมากรรมสมัยรัตนโกสินทร์แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ ประติมากรรมแบบดั้งเดิม ประติมากรรมระยะปรับตัว และประติมากรรมร่วมสมัย

ประติมากรรมแบบดั้งเดิมอยู่ในช่วงระหว่างรัชกาลที่ 1–3 งานเป็นการดำเนินรอยตามแบบประเพณีนิยม ที่ทำกันมาแต่อดีตของไทย ในสมัยรัชกาลที่ 1 มีการสร้างพระพุทธรูปน้อยมาก เนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ สร้างบ้านเมืองใหม่ พระพุทธรูปส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมาจากสุโขทัย และจังหวัดทางภาคกลาง ที่องค์พระพุทธรูปเหล่านี้ถูกทอดทิ้งอยู่ ตามโบราณสถานที่ปรักหักพัง และนำมาบูรณะใหม่กว่า 1,200 องค์ และส่งไปเป็นประธานตามวัดต่าง ๆ ในกรุงเทพ ที่เหลือนำมาประดิษฐานไว้ ณ ระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามพันกว่าองค์ ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการสร้างหล่อพระประธานขนาดใหญ่ ตามวัดที่สร้างใหม่ เช่น พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ วัดสุทัศนเทพวราราม มีการสร้างพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางห้ามญาติขนาดใหญ่ นิยมสร้างไว้เป็นจำนวนมาก ถือเป็นพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมัยรัชกาลที่ 4–5 เป็นยุคสมัยของการปรับตัว เปิดประเทศ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริปั้นรูปเหมือนแบบตะวันตกขึ้น เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เช่น พระสยามเทวาธิราช เดิมปั้นรูปราชานุสรณ์ โดยใช้การสร้างพระพุทธรูป หรือเทวรูปแทน มาสู่การปั้นรูปราชานุสรณ์เหมือนรูปคนจริงขึ้น และจากจุดนี้เอง ส่งผลให้มีการปรับตัวทางประติมากรรมไปสู่ประติมากรรมสมัยใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ระยะต้นรัชกาลมีการปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาลที่ 1, 2 และ 3 เป็นการสร้างรูปให้มีความงามแบบพระหรือเทวรูป ที่ต้องการความเกลี้ยงเกลากลมกลึงของรูปทรง และมีการสร้างพระพุทธรูป ขึ้นใหม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือ พระพุทธนฤมลธรรมโมภาส พระประธานวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน เป็นศิลปะที่มีผลสืบเนื่องมาจากความเจริญแบบตะวันตก สมัยรัชกาลที่ 6 งานประติมากรรมไทยที่ทำขึ้นเพื่อศาสนาถึงจุดเสื่อมโทรมลง แม้จะมีการทำกันอยู่ก็เป็นระดับพื้นบ้าน ที่พยายามลอกเลียนสิ่งดีงามในยุคเก่า ๆ ที่ตนนิยม ขาดอารมณ์ความรู้สึกทางการสร้างสรรค์ และไม่มีรูปลักษณะที่เป็นแบบแผนเฉพาะยุคสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงหันมาส่งเสริมศิลปะการช่างสมัยใหม่ การสร้างงานศิลปะระดับชาติได้จ้างฝรั่งมาออกแบบ ในสมัยปัจจุบันมีลัทธิทางศิลปะเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา และได้แพร่หลายเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยด้วย ประติมากรรมจึงเข้าสู่รูปแบบของศิลปะร่วมสมัย[8]

จิตรกรรม

[แก้]

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ส่วนใหญ่เขียนขึ้นในอุโบสถ วิหาร และหอไตร เป็นหลัก จิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัชกาลที่ 1–2 คงเหลืออยู่น้อยเนื่องจากมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 หลักฐานที่เหลืออยู่เป็นงานไทยประเพณีที่สืบทอดมาจากศิลปะอยุธยาตอนปลาย ส่วนหนึ่งพบในวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายและได้รับการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 เช่น วัดราชสิทธาราม วัดไชยทิศ วัดใหม่เทพนิมิตร เป็นต้น ส่วนจิตรกรรมที่เขียนใหม่สมัยรัชกาลที่ 1 เช่น พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 2 แทบไม่เหลืออยู่เลย[9]

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 มีอิทธิพลจากศิลปะจีน ทั้งที่เป็นงานที่เขียนขึ้นใหม่ เช่น จิตรกรรมเครื่องมงคลอย่างจีน หรือ เครื่องตั้ง ในพระอุโบสถวัดราชโอรสาราม วัดนาคปรก กับลักษณะงานที่ยังสืบทอดแบบประเพณี เช่น วัดสุวรรณาราม และงานเขียนเพิ่มเติมจากการบูรณะในสมัยดังกล่าว โดยหากไม่นับจิตรกรรมในรูปแบบจีนที่เขียนโดยช่างชาวจีนแล้ว เรื่องราวที่ใช้ถ่ายทอดในงานจิตรกรรมยังคงสืบทอดขนบนิยมปรัมปราคติด้วยเรื่อง อดีตพุทธเจ้า นิทานชาดก พุทธประวัติ และเรื่องไตรภูมิโลกสัณฐาน กับอีกส่วนที่เป็นปรัมปราคติแนวใหม่ที่เป็นผลจากพัฒนาการทางสังคมจากทั้งภายในและภายนอก[3]

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา มีการติดต่อกับต่างประเทศทางตะวันตกมากขึ้น อิทธิพลของจิตรกรรมต่างประเทศทางตะวันตกก็เข้ามาปนอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังของไทย ดังอาจเห็นได้จากภาพเขียนบนผนังพระอุโบสถที่วัดมหาพฤฒาราม จากเดิมลักษณะจิตรกรรมซึ่งเป็นภาพแบนราบกลับมามีความลึกไกล เป็นภาพ 3 มิติ และมีลักษณะเหมือนจริงมากขึ้นกว่าแบบเดิม ซึ่งเขียนขึ้นตามแบบอุดมคติ ช่างเขียนที่สำคัญในรัชกาลที่ 4 คือ ขรัวอินโข่ง[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ศิลปะ-สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1: แนวคิด คติสัญลักษณ์ และความหมาย ทางสังคมยุคต้นรัตนโกสินทร์". วารสารวิจิตรศิลป์.
  2. ศักดิ์ชัย สายสิงค์. งานช่างสมัยพระนั่งเกล้าฯ. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2551) หน้า 91
  3. 3.0 3.1 "ศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ขอบเขต 1" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-10. สืบค้นเมื่อ 2021-06-10.
  4. "ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 - ปัจจุบัน". หน้าจั่ว.
  5. ""วัดนิเวศธรรมประวัติ" วัดไทยสไตล์ฝรั่ง งามแปลกหนึ่งเดียวในไทย". ผู้จัดการออนไลน์.
  6. ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัยไทยประยุกต์ ชาตินิยม. (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550), หน้า 213
  7. ชาตรี ประกิตนนทการ, เรื่องเดิม, หน้า 250.
  8. "ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-30. สืบค้นเมื่อ 2021-06-10.
  9. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. "พุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ (พิมพ์ครั้งที่ 2)".
  10. "ตัวอย่างงานช่างในรัชกาลที่ ๔ : หันรีหันขวาง". ศิลปวัฒนธรรม.