ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระนครคีรี)
พระราชวังพระนครคีรี
วัดพระแก้วน้อยและพระสุทธเสลเจดีย์ หนึ่งในสัญลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระราชวังในอดีต
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมจีนผสมฟื้นฟูคลาสสิก[1]
เมืองอำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
ประเทศประเทศไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2402
ปรับปรุงพ.ศ. 2522
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การออกแบบและการก่อสร้าง
วิศวกรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี โดยทั่วไปเรียก เขาวัง[2] เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นพระราชวังฤดูร้อนที่สร้างขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งอยู่ที่ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี

ประวัติ

[แก้]

พระนครคีรีเป็นพระราชวังที่ประทับในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยเป็นพระราชวังฤดูร้อนโดยมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้างโดยก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2405 โดยพระนครคีรีแบ่งออกเป็นเขตพระราชฐานต่าง ๆ ดังนี้

เขตพระราชฐานชั้นนอก เป็นยอดเขาด้านหน้าเป็นที่ตั้งของกรมกองต่าง ๆ ของทางราชการซึ่งตามเสด็จ เขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน เป็นยอดเขาตรงกลางและด้านในเป็นที่ตั้งของพระราชมณเฑียรที่ประทับของทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในรวมทั้งข้าราชบริพาร

พระที่นั่งในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี

[แก้]

พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์

[แก้]
พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567

พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นพระที่นั่งองค์แรกของพระราชวังโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยทรงเสด็จมาวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เองในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2402 เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ ในพระราชวัง ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรปผสมไทยและจีน ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีมุขยื่นออกไปด้านข้างสองด้านทั้งซ้ายและขวา ภายในแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ดัดแปลงท้องพระโรงหลังเป็นห้องพระบรรทม ท้องพระโรงหน้าดัดแปลงเป็นห้องเสวยมุข ด้านทิศตะวันออกดัดแปลงเป็นห้องทรงพระสำราญและมุขด้านทิศตะวันตกดัดแปลงเป็นห้องลงพระบังคน ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุและเครื่องเรือนต่าง ๆ โดยพระที่นั่งองค์นี้เคยเป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะ เช่น ดยุกโยฮัน อัลเบร็ชท์แห่งเมคเลินบวร์คและเจ้าหญิงเอลีซาเบ็ทแห่งสโตลเบิร์ก–รอซซาลา พระชายา

พระนครคีรี เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486

พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์

[แก้]

พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ ตั้งอยู่ติดกับพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ มีฐานและหลังคาเชื่อมต่อกันมีลักษณะแบบเก๋งจีน 2 ชั้น ชั้นบนมีห้องบรรทม 2 ห้อง ชั้นล่างมีห้องโถง 2 ห้อง ทางขึ้นอยู่ด้านหน้ามีชายคาคลุมเป็นบันไดแนบตึก 2 ด้าน ปัจจุบันจัดแสดงพระแท่นบรรทมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

[แก้]
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556
พระธาตุจอมเพชร เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2552

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทจตุรมุข ยอดปรางค์ 5 ยอด ตามพระราชนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มียอดปรางค์ใหญ่อยู่กลาง และปรางค์เล็กอยู่ 4 มุม บนฐานสูงซ้อนกัน 3 ชั้น มีระเบียงแก้วโดยรอบแต่ละชั้น ระเบียงชั้นบนสุดมีโดมโปร่งที่มุมทั้งสี่ ตัวปราสาทประดับลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อด้วยสำริด ทรงฉลองพระองค์แบบตามพระราชนิยม ทรงพระมาลาสก๊อต พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายทรงสมุดหนังสือ ทรงยืนใต้นพปฎลเศวตฉัตร จากพระที่นั่งองค์นี้มีประตูออกไปสู่ พระที่นั่งราชธรรมสภา

พระที่นั่งราชธรรมสภา

[แก้]

พระที่นั่งราชธรรมสภา เป็นอาคารชั้นเดียว ศิลปะผสมระหว่างศิลปะยุโรป จีน และไทย หลังคาเป็นแบบเก๋งจีนในรัชกาลที่ 4 ทรงใช้เป็นที่ประชุมส่วนพระองค์บรรยายธรรมะ ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ดัดแปลงเป็นห้องเสวยสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ตามเสด็จ ในปัจจุบันใช้เป็นอาคารแสดงนิทรรศการ จุดเด่นจะอยู่ตรงประตูบ้านโค้งสีเขียวตัดกับผนังสีขาวที่มีลายปูนปั้นสวยงามภายในมีโต๊ะหมู่บูชาสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป

วัดพระเเก้วน้อยในยามเย็น

หมู่พระตำหนักสันถาคารสถาน

[แก้]

หมู่พระตำหนักสันถาคารสถาน เป็นหมู่พระตำหนักของพระราชวังตั้งอยู่บริเวณทางลาดขึ้นพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมอาคารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางและล้อมรอบไปด้วยอาคารขนาดเล็ก ภายในมีชานเชื่อมต่อกันบันไดทางขึ้นตั้งอยู่ด้านนอก โดยพระตำหนักเป็นอาคาร 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบประยุกต์ตะวันตก สันหลังคาเป็นแบบจีนมุงกระเบื้องกาบกล้วย พระตำหนักองค์กลางแบ่งได้ 2 ส่วน คือ

  • ส่วนหน้าทำเป็นท้องพระโรงเล็ก
  • ส่วนหลังทำเป็นห้องเล็ก ๆ 2 แถวขนาด 5 ห้องมีทางเดินตรงกลาง

สำหรับเป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน พระราชโอรส-พระราชธิดา โดยพระตำหนักองค์นี้มีมุขด้านหน้าสำหรับประทับทอดพระเนตรการแสดงละคร

หอต่าง ๆ

[แก้]

หอชัชวาลเวียงชัย

[แก้]

ลักษณะเป็นหอทรงกลมสูงคล้ายกระโจมไฟ มีบันไดเวียนสำหรับเดินขึ้น-ลง ชั้นบนรอบนอกเป็นระเบียงซึ่งประดับด้วยลูกกรงแก้ว หลังคาเป็นรูปโดมมุงด้วยกระจกโค้งภายในมีโคมไฟห้อย ซึ่งกลางคืนจะมองเห็นแสงไฟไกลไปถึงชายทะเล และเมื่อนักท่องเที่ยวขึ้นไปชมบนหอชัชวาลเวียงชัยแห่งนี้แล้ว ก็จะมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของเมืองเพชรบุรี

หอพิมานเพชรมเหศวร์

[แก้]

หอพิมานเพชรมเหศวร์ ตั้งอยู่บนยอดเขาเล็ก ๆ หน้าพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นหอขนาดเล็ก 3 หอ หอกลางมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ หอด้านขวาเป็นศาลเทพารักษ์ หรือที่เรียกกันว่าศาลพระภูมิเจ้าที่ หอด้านซ้ายใช้เป็นที่ประโคมสังคีต หอพิมานเพชรมเหศวร์นี้เคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีโสกันต์ ที่หอกลางใหญ่ได้กั้นผนังไว้สำหรับใช้เป็นห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่พระองค์ทรงถืออุโบสถศีล ขณะที่ประทับอยู่ที่พระราชวังแห่งนี้ เช่นเดียวกับหอเสถียรธรรมปริตในพระบรมมหาราชวัง โดยหอแห่งนี้เคยใช้ประกอบพระราชพิธีโสกันต์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพักตร์พิมลพรรณ พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาแพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาจันทร์

หอจตุเวทปริตพัจน์

[แก้]

หอจตุเวทปริตพัจน์ ตั้งอยู่ใกล้กับพระอุโบสถวัดพระแก้วลักษณะคล้ายกับศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล

ศาลาต่าง ๆ

[แก้]

ศาลาทัศนานักขัตฤกษ์

[แก้]

ศาลาทัศนานักขัตฤกษ์ ตั้งอยู่บนไหล่เขาด้านตะวันออกตรงข้ามกับวัดมหาสมนารามวรวิหารเป็นศาลาที่ประทับทอดพระเนตรการจัดงานนักขัตฤกษ์และประเพณี

ป้อมต่าง ๆ

[แก้]

ป้อมของพระนครคีรีมีทั้งหมด 4 ป้อมดังนี้

  • ป้อมธตรฐป้องปก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก
  • ป้อมวิรุฬหกบริรักษ์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้
  • ป้อมวิรูปักษ์ป้องกัน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก
  • ป้อมเวสสุวัณรักษา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ

ปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นป้อมเหล่านี้อยู่

เกย

[แก้]

เกยของพระนครคีรีมีอยู่ 1 เกยดังนี้

  • เกยวัชราภิบาล ตั้งอยู่บนเชิงบันไดด้านทิศตะวันตกบริเวณพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์

ประตู

[แก้]

ประตูต่างๆในพระนครคีรีมีทั้งหมด 8 ประตูโดยแบ่งเป็นประตูรอบ ๆ พระราชวังหรือประตูชั้นกลาง

  • ประตูนารีประเวศ
  • ประตูวิเศษราชกิจ
  • ประตูราชฤทธิแรงปราบ
  • ประตูอานุภาพเจริญ

ประตูในพระมหามณเฑียรหรือประตูชั้นใน

  • ประตูดำเนินทางสวรรค์
  • ประตูจันทร์แจ่มจำรูญ
  • ประตูสูรย์แจ่มจำรัส

สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ

[แก้]
  • โรงรถและโรงม้า ตั้งอยู่ทางลาดเขาเหนือวัดมหาสมนารามด้านหน้าเปิดโล่งมีชายคายื่นออกมา
  • ราชวัลลภาคาร ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นใกล้กับโรงม้าสำหรับเป็นที่พักของมหาดเล็กและข้าราชบริพาร
  • ศาลาลูกขุน ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นใกล้กับโรงม้าเป็นที่ทำการของคณะลูกขุนเพื่อพิจารณาคดี
  • ศาลาเย็นใจ ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลาด่านหน้าใช้เป็นที่พักผ่อนของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
  • โรงมหรสพหรือโรงโขน ตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งสันถาคารสถานมีลักษณะเป็นอาคารโถงมีเวทีรูปอัฒจันทร์กว้าง8เมตร
  • ศาลาด่านหน้า ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นใกล้กับโรงมหรสพเป็นที่ทำการของกรมพระตำรวจหลวง
  • ทิมดาบองครักษ์ ตั้งอยู่ลาดเหนือโรงโขนขึ้นไปเป็นที่ทำการของสมุหองครักษ์
  • โรงสูทกรรม ตั้งอยู่ทางแยกขึ้นวัดพระแก้วเป็นโรงครัวสำหรับทำอาหารเลี้ยงข้าราชบริพาร
  • ศาลาด่านหลัง ตั้งอยู่ริมทางแยกที่จะลงไปวัดพระนอนสำหรับเป็นที่พักของนายด่านตรวจตรา

วัดมหาสมณารามราชวรวิหาร

[แก้]

วัดมหาสมณาราม ตั้งอยู่ในเขตตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองฯ เดิมชื่อวัดสมณะ หรือวัดมหาสมณ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาประทับเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ ต่อมาเมื่อได้สร้างพระนครคีรีแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะวัดแห่งนี้ พระราชทานนามว่า วัดมหาสมณาราม แต่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า วัดเขาวัง เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร อุโบสถวัดมหาสมณารามฯ ภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถเขียนด้วยสีฝุ่น กล่าวกันว่าเป็นฝีมือของ ขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเขียนภาพของขรัวอินโข่งมีลักษณะเฉพาะตัวคือ จะวางภาพเต็มพื้นที่ทั้งหมด ไม่มีภาพเทพชุมนุมเรียงเป็นแถวแบบเดิม มีแต่ภาพเหล่าเทวดานางฟ้า ปรากฏตามก้อนเมฆบ้าง ภาพที่เขียนจะอยู่ในเนื้อเดียวกันทั้งหมด จะมีการแบ่งภาพเป็นตอน ๆ ฉากหลังมักเป็นภาพธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ผนังหน้าพระอุโบสถ เขียนภาพการเดินทางไปนมัสการพระพุทธบาท ถือว่าเป็นภาพชิ้นเยี่ยมของพระอุโบสถประกอบด้วยทิวทัศน์อันงดงาม มณฑปพระพุทธบาทตั้งอยู่บนไหล่เขาซึ่งอุดมไกด้วยต้นไม้นานาชนิด เบื้องล่างเป็นภาพที่มีความงามตามธรรมชาติ มีการจัดภาพอย่างงดงามลงตัว เป็นประโยชน์ในการศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณี

ระเบียงภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. บางประภา, มงคล (15 May 2024). "Historical park to receive Unesco push". บางกอกโพสต์ (ภาษาอังกฤษ). Vol. LXXVII no. 136. บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน). p. 3. สืบค้นเมื่อ 15 May 2024. The compound encompasses a palace, a temple and various groups of buildings and showcases a mix of neoclassical and Chinese architecture
  2. "อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)". thai.tourismthailand.org.