ข้ามไปเนื้อหา

ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา

เกิด17 ตุลาคม พ.ศ. 2473
ตรอกตันง่วนส่วย ตำบลสีลม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร
เสียชีวิต3 มกราคม พ.ศ. 2545 (71 ปี)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพมหานคร
สาเหตุเสียชีวิตภาวะเลือดออกหลังการผ่าตัดเนื่องจากเส้นเลือดในหัวใจตีบตัน
สัญชาติไทย
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
(M.A. และ Ph.D.)
อาชีพนักวิชาการ
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 2496–2545
องค์การจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตำแหน่งอาจารย์คณะอักษรศาสตร์
คู่สมรสศรีสอางค์ ฟักเจียม (สมรส 1955)
บุตรปิยศักดิ์ แย้มนัดดา
บิดามารดาชลวิทย์ แย้มนัดดา
ช้อย แย้มนัดดา
ญาติอร่ามพรรณ จั่นแก้ว (พี่)
ครอบครัวแย้มนัดดา
รางวัลบุคคลดีเด่นในด้านอนุรักษ์ภาษาและวรรณกรรมไทย - พ.ศ. 2537
อาชีพนักเขียน
นามปากกาศักดิ์ศรี แย้มนัดดา
อาศรมศัลยา
มัลลิกา
ศัลยา
ผลงานที่สำคัญ
  • ศักดิ์ศรีนิพนธ์
  • ศักดิ์ศรีวรรณกรรม
  • วรรณวิทยา

ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา (17 ตุลาคม พ.ศ. 2473 – 3 มกราคม พ.ศ. 2545) เป็นนักวิชาการไทย เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาวรรณคดีและกวีนิพนธ์สอนภาษาไทยรวมถึงภาษาบาลีสันสกฤตในฐานะอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับวรรณคดีไทยและแปลงานวรรณกรรมภาษาสันสกฤตกว่า 100 เรื่องเป็นภาษาไทย[1]

ประวัติ

[แก้]

ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2473 ที่บ้านเลขที่ 2678 ตรอกตันง่วนส่วย (ปัจจุบันคือซอยปราโมทย์) ตำบลสีลม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนสุดท้องของนายชลวิทย์และนางช้อย แย้มนัดดา มีพี่สาว 1 คน คือ นางอร่ามพรรณ จั่นแก้ว[2]

เนื่องจากบิดารับราชการกระทรวงมหาดไทย ตอนเยาว์วัยศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีจึงติดตามไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ[2]

การศึกษา

[แก้]

ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีได้ศึกษาดังต่อไปนี้[2]

ศักดิ์ศรีนับเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จปริญญาเอกทางภาษาสันสกฤตจากสหรัฐ

พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การทำงาน

[แก้]

ก่อนรับราชการ

[แก้]

ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีเป็นครูตั้งแต่ยังเป็นนิสิต โดยเป็นครูสอนพิเศษวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสและประวัติศาสตร์ให้แก่นักเรียนประจำของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในเวลากลางคืนในฐานะที่เป็นนักเรียนทุนของโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2496 เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงสมัครเข้าเป็นครูในโรงเรียนนั้น สอนวิชาดังกล่าวจนถึงปี พ.ศ. 2501 จึงได้ลาออก[2]

การรับราชการ

[แก้]

ศักดิ์ศรีเริ่มรับราชการในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2501 ในตำแหน่งอาจารย์ตรี แผนกวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชาภาษาไทยและภาษาบาลี ครั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็กลับมาสอนภาษาไทยทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก รวมทั้งสอนวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตระดับปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์จนกระทั่งเกษียนอายุราชการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 จากนั้นได้รับเชิญเป็นอาจารย์ผู้ชำนาญการและอาจารย์พิเศษสอนที่คณะอักษรศาสตร์ตลอดมาจนถึงแก่อนิจกรรม[2]

นอกจากงานสอนแล้ว ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรียังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอก และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะอักษรศาสตร์ เช่น

  1. เลขานุการฝ่ายปริญญามหาบัณฑิต แผนก ภาษาตะวันออก
  2. หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย 2 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2524–2532

ส่วนตำแหน่งทางวิชาการนั้นได้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ตามลำดับ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2536

ตำแหน่งพิเศษ

[แก้]

ศักดิ์ศรีมีตำแหน่งนอกจากตำแหน่งทางราชการ ดังนี้

  1. อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏนครราชสีมา สถาบันราชภัฏมหาสารคาม สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ สถาบันราชภัฏนครปฐม โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ (จังหวัดฉะเชิงเทรา) โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นต้น
  2. กรรมการประเมินผลงานวิชาการ เพื่อเลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ และรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันราชภัฏทั่วประเทศ
  3. ราชบัณฑิต สาขาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยกรอง พ.ศ. 2529[3]
  4. ที่ปรึกษาการใช้ภาษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. กรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน
  6. กรรมการทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทยของราชบัณฑิตยสถาน
  7. กรรมการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน
  8. อนุกรรมการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเขียนทับศัพท์ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
  9. ประธานสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน[4]
  10. ประธานกรรมการธนาคารศรีนคร
  11. ประธานกรรมการบางกอกสหประกันภัย
  12. กรรมการทุนธนชาต
  13. กรรมการธนาคารทหารไทย
  14. กรรมการธนาคารดีบีเอสไทยทนุ
  15. กรรมการธนาคารสหธนาคาร

ผลงาน

[แก้]

ผลงานของศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีมีเป็นจำนวนมากทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองส่วนใหญ่จะใช้นามจริงในการแต่งหนังสือ นอกจากนั้นเคยใช้นามปากกาบ้างเป็นบางครั้ง

มีผลงานที่เป็นร้อยแก้วมีทั้งที่เป็นงานวิจัย ตำรา บทความ ภารตนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล รวมแล้วกว่า 500 เรื่อง เช่น คำกร่อนในวรรณคดีไทย หนังสือเรียนภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายวิชาประวัติวรรณคดีไทย และ วิชาการพินิจวรรณคดีมรดกเฉพาะเรื่อง หนังสือเรื่องสำนวนไทยที่มาจากวรรณคดี เช่น วรรณคดีพระพุทธศาสนาพาทย์ไทย

ส่วนผลงานที่เป็นร้อยกรองกว่า 100 เรื่อง โดยเฉพาะบทอาศิรวาทในวโรกาสเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีแต่งอย่างสม่ำเสมอและเป็นเวลายาวนาน ทั้งได้ประดิษฐ์ฉันท์ขึ้นใหม่ถึง 4 แบบ คือ จันทรการตฉันท์ 16 และสูรยกานตฉันท์ 16 ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อร้อยกรองถวายชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมัยเมื่อทรงตั้งวิทยุ อ.ส. ขึ้นในระยะแรก สุรัสวดีเทวีฉันท์ 18 ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อร้อยกรองถวายชัยมงคลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2524 และรัตนราชินีฉันท์ 16 ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อแต่งบทอาศิรวาทถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2527[2]

ผลงานวิชาการ

[แก้]
  1. เป็นประธานอบรมครูภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศ ตามนโยบายการให้บริการทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 6 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528–2533
  2. เผยแพร่ความรู้ทางภาษาไทยแก่สื่อมวลชน ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ ปาฐกถา พิมพ์บทความในวาระครบ 700 ปี ลายสือไท และในโอกาสอื่นๆ
  3. ปาฐกถาทางวิชาการเกี่ยวกับภาษาและวรรณคดีไทย บาลีและสันสกฤตในสถาบันต่างๆ อีกหลายแห่ง
  4. รวบรวมบทความวิชาการและวรรณคดี รวมตีพิมพ์แล้ว 3 เล่ม
  5. อธิบายคำในสารานุกรมไทย ราชบัณฑิตยสถานและสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสิ้นประมาณ 100 คำ
  6. ภาษาไทย 5 นาที ประมาณ 250 ตอน มอบให้สถานีวิทยุศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

งานแปล

[แก้]
  1. แปลวรรณกรรมสันสกฤตเป็นพาทย์ไทย กว่า 100 เรื่องรวมเป็นชุดภารตะนิยายและยังมีเรื่องวิกรมจริต ตอน เวตาลปัญจวิงศติ
  2. แปลประวัติศาสตร์จีนฉบับสังเขป
  3. แปลวรรณกรรมบางเรื่องของรพินทรนาถ ฐากูร

ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการด้านอักษรศาสตร์ ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชบัณฑิต สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยกรอง สำนักศิลปกรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2529[3] ได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญต่างๆ ในราชบัณฑิตยสถาน[4]

งานอดิเรก

[แก้]

ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีนอกจากอ่านและเขียนหนังสือแล้ว ยังสะสมหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สนใจมวยไทย รำไทย เพลงไทย ดนตรีไทย หมากรุกไทย ชอบดูเพชรนิลจินดา และสะสมพระเครื่องเกือบทุกชนิด[2]

ปั้นปลายชีวิต

[แก้]

โดยปรกติศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีมีสุขภาพแข็งแรง ต่อมามีอาการของโรคเบาหวานอยู่แต่ไม่รุนแรง ยังคงไปปฏิบัติงานสอนอยู่เป็นประจำ ต่อมากลางเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2544 เกิดอาการปวดท้องจึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแพทย์พบว่ามีอาการกล้ามเนื้อหัวใจไม่ทำงาน ต้องรับการผ่าตัด ความทราบถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายมารักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และรับเป็นคนรับในพระราชานุเคราะห์ ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีมีกำลังใจดีมากและสุขภาพก็ดีตามลำดับ ยังพูดคุยกับศิษย์และผู้มาเยี่ยมเสมอว่า หลังผ่าตัดแล้ววันที่ 15 มกราคมก็จะไปสอน ครั้นวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2545 เข้ารับการผ่าตัดหัวใจ หลังการผ่าตัดปรากฏว่าโลหิตออกไม่หยุด จึงถึงแก่อนิจกรรมในคืนนั้น สิริอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 17 วัน[2]

วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2545 เวลา 16.43 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากวังสระปทุม ไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดโสมนัสวิหาร[5]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดตระกูลต่าง ดังนี้[2][5]

รางวัล

[แก้]

ด้วยผลงานทางวิชาการที่มีคุณค่าเป็นจำนวนมากดังกล่าว ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีจึงได้รับรางวัลต่างๆ ดังนี้[2][11]

  1. บุคคลดีเด่นในการอนุรักษ์ภาษาและวรรณกรรมไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2537
  2. รางวัลพระเกี้ยวทองคำของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ. 2534
  3. เกียรติบัตรเชิดชูเกียรติผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทยของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี พ.ศ. 2534
  4. รางวัลเชิดชูเกียรติครูภาษาไทยดีเด่นอุดมศึกษาระดับอุดมศึกษา ประเภทมหาวิทยาลัยของรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2532
  5. รางวัลชนะเลิศประกวดเรียงความของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 ปีซ้อน พ.ศ. 2494–2495
  6. รางวัลชนะเลิศประกวดเรียงความงานพระราชนิพนธ์ประเภทร้อยกรองในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2494
  7. รางวัลชนะเลิศแต่งคำประพันธ์งาน “วันแม่” ปีแรกของกระทรวงวัฒนธรรม พ.ศ. 2492
  8. รางวัลชนะเลิศแต่งโคลงประเภทปฏิภาณในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2491

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา" (PDF). Pali–Sanskrit Section website. Faculty of Arts, Chulalongkorn University. Retrieved 9 February 2018. Excerpt from ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. ชีวิตและผลงานของศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. ใน วิทยา รัตนากร: รวมบทความวิชาการอักษรศาสตร์ ของศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา, หน้า 219-223. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2545
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 "หนังสือประวัติครู 16 มกราคม 2546" (PDF). elibrary.ksp. หอสมุดคุรุสภา. สืบค้นเมื่อ 12 Mar 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. 3.0 3.1 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิต, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๐๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๙
  4. 4.0 4.1 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดราชบัณฑิตประจำสาขาวิชา, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๒๘ ง หน้า ๖๔๔๔, ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๙
  5. 5.0 5.1 ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวในพระราชสำนัก พระบรมมหาราชวัง วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๕ เก็บถาวร 2022-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๓๕ ง หน้า ๑๑๒, ๓๐ เมษายน ๒๕๔๕
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๙, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2010-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๑๘, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๘ ข หน้า ๓, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๑
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี ๒๕๔๔ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๗ ข หน้า ๑, ๑๑ เมษายน ๒๕๔๖
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๐๐ ตอนที่ ๒๐๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๑๗๘, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๖
  11. "ประวัติ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา" (PDF). arts.chula.ac.th. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 12 Mar 2022.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

บรรณานุกรม

[แก้]