ข้ามไปเนื้อหา

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะพยาบาลศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Faculty of Nursing, Chiang Mai University
สถาปนา15 สิงหาคม พ.ศ. 2515 (52 ปี)
คณบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุภารัตน์ วังศรีคูณ
ที่อยู่
110 ถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50200
วารสารพยาบาลสาร (Nursing Journal)
สี  สีแสด
มาสคอต
ตะเกียงของฟอเรนซ์ ไนติงเกล
เว็บไซต์http://www.nurse.cmu.ac.th

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อังกฤษ: Faculty of Nursing, Chiang Mai University) เป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลศาสตร์ในสังกัดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะพยาบาลศาสตร์ได้จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก ทั้งในหลักสูตรภาษาไทย(Regular programs) และหลักสูตรนานาชาติ(International programs)

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class) ประจำปี 2562[1] และปี 2565[2] จากการประเมินคุณภาพตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติในแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 โดยมีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเผยแพร่ สนับสนุน และผลักดันให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาคการผลิตและการบริการนำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ องค์กรที่มีวิธีปฏิบัติและผลการดำเนินการในระดับมาตรฐานโลกจะได้รับการประกาศเกียรติคุณด้วยรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และองค์กรที่ได้รับรางวัลจะนำเสนอวิธีปฏิบัติที่นำองค์กรของตนไปสู่ความสำเร็จเพื่อเป็นแบบอย่างให้องค์กรอื่นๆ นำไปประยุกต์เพื่อให้ประสบผลสำเร็จเช่นเดียวกัน ซึ่งรางวัลคุณภาพแห่งชาติถือเป็นรางวัลระดับโลก (World Class) เนื่องจากมีพื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัลเช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA)[3]

ประวัติความเป็นมา[4]

[แก้]

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประวัติความเป็นมายาวนานนับตั้งแต่รัฐบาลมีดำริให้ก่อตั้ง"โรงเรียนแพทย์"ขึ้นในส่วนภูมิภาคในปีพ.ศ. 2499 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มีมติให้สร้างโรงเรียนแพทย์แห่งที่สาม(ถัดจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)ขึ้นในส่วนภูมิภาค โดยได้เลือกให้จัดตั้งโณงเรียนแพทย์แห่งใหม่นี้ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และให้อนู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยมหิดล) ในขณะนั้นเองมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้เสนอให้จัดตั้ง“โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย” ขึ้นพร้อมกัน และได้จัดเตรียมบุคคลากรทางด้านวิชาการด้วยการรับสมัครพยาบาลทั่วไปเพื่อสอบคัดเลือกไปศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยทุนจากองค์การบริหารวิเทศกิจของสหรัฐอเมริกา (United States Organization Mission; USOM)

ปี พ.ศ. 2502 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ ในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และให้โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยเป็นแผนกวิชาด้านการพยาบาลเรียกชื่อว่า “แผนกพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย” เริ่มต้นเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล ในปี พ.ศ. 2503 หลักสูตรอนุปริญญาพยาบาลและอนามัยในปี พ.ศ. 2504 และหลักสูตรประกาศนียบัตรผดุงครรภ์ ในปี พ.ศ. 2507

เมื่อรัฐบาลได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นในปีพ.ศ. 2508 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ได้ถูกโอนย้ายจากสังกัดของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ให้มาอยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แผนกวิชาการพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยจึงเปลี่ยนสถานะเป็นแผนกวิชาหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหลังจากนั้นในปีพ.ศ. 2509 แผนกวิชาการพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยได้เปิดสอนในระดับปริญญตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต(การพยาบาล) ในปีพ.ศ. 2511 แผนกวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พ.ศ. 2514 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีมติให้ภาควิชาต่างๆ ที่กำลังดำเนินการจัดตั้งเป็นคณะ ดำเนินงานในฐานะโครงการจัดตั้งคณะ เพื่อให้มีความคล่องตัวขึ้นมากกว่าเมื่อเป็นภาควิชา ภาควิชาพยาบาลฯ จึงมีชื่อว่า “โครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์” ไปด้วย (คำสั่งมหาวิทยาลัย ที่ 462/2514 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2514) และในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2515 คณะกรรมการบริหารสภาการศึกษาแห่งชาติมีมติอนุมัติให้จัดตั้งเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ถือเอาวันที่ 15 สิงหาคม 2515 เป็นวันสถาปนาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในปี พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แยกตัวออกจากส่วนราชการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล จึงทำให้คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปลี่ยนสภาพจากส่วนงานราชการเป็นส่วนงานในกำกับของรัฐบาล

อันดับโลก

[แก้]

การจัดอันดับของ QS world university ranking by subject

ผลการจัดอันดับ ประจำปี 2023

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย และอันดับที่ 101-151 ของโลก[5]

- สาขา Nursing

หลักสูตร

[แก้]
หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่[6]
ระดับปริญญาบัณฑิต
ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

หลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต (พย.บ.)

  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์

หลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ)

  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (พย.ม.) 

  • สาขาวิชาการพยาบาลเด็ก
  • สาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต
  • สาขาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุ
  • สาขาวิชาการบริหรการพยาบาล
  • สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ
  • สาขาวิชาการพยาบาลอาชีวอนามัย
  • สาขาวิชาการพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อและการควบคุมการติดเชื้อ
  • สาขาวิชาการผดุงครรภ์
  • สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (นานาชาติ) 

  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ จำนวน 3 แขนงวิชา

หลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ (หลักสูตรปกติ)
  • สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
หลักสูตรอื่นๆ
หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต หลักสูตรเฉพาะทาง

หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล

หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง

  • สาขาการพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อและการควบคุมการติดเชื้อ
  • สาขาเวชปฏิบัติทั่วไป
  • สาขาการพยาบาลอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม
  • สาขาบริหารการพยาบาล
  • สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติทางตา
  • สาขาการพยาบาลผู้ป่วยมะเร็ง
  • สาขาการพยาบาลผู้สูงอายุ

หน่วยงานและภาควิชา

[แก้]

ในปัจจุบัน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้แบ่งส่วนงานออกเป็น 4 ส่วนงานหลัก ได้แก่

  • สำนักงานคณะพยาบาลศาสตร์

- งานการเงิน การคลัง และพัสดุ

- งานนโยบายและแผน และการประกันคุณภาพการศึกษา

- งานบริการการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนักศึกษา

- งานบริหารงานวิจัย บริการวิชาการ และวิเทศสัมพันธ์

- งานบริการทั่วไป

  • สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มวิชา ได้แก่

- กลุ่มวิชาการพยาบาลศัลยศาสตร์

- กลุ่มวิชาการพยาบาลสาธารณสุข

- กลุ่มวิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์

- กลุ่มวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต

- กลุ่มวิชาการพยาบาลพื้นฐาน

- กลุ่มวิชาการพยาบาลสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

- กลุ่มวิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์

- กลุ่มวิชาบริหารการพยาบาล

  • ศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล

- ศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาพยาบาลและนวัตกรรม (Center for Quality Development in Nursing Education and Innovation: CNEI)

- ศูนย์วิจัยทางการผดุงครรภ์  (Midwifery Research Center: MRC)

- ศูนย์พัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(Center of Community Health System Development: CCSD )

- ศูนย์สร้างเสริมสุขภาพ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในคนทำงานภาคเหนือ (The Center for Occupational Health and Safety for Workers in the Northern Region: COHSN)

- ศูนย์การดูแลทางสุขภาพจิต (Center for Mental Health and Psychiatric Care: MHCC)

- ศูนย์นโยบายและผลลัพธ์ทางการพยาบาล (Nursing Policy and Outcome Center: NPOC)

- ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมด้านการดูแลผู้สูงอายุ (Center for Research and Innovation in Elderly Care: CRIEC )

- ศูนย์พัฒนางานวิจัยด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ (Center for Developing Research on Sexual and     Reproductive Health: SH-RH )

- ศูนย์พัฒนาระบบและกลไกการดูแลเด็กและวัยรุ่น (Center of system and mechanism development for children       and adolescents care: CdCaC )

  • ศูนย์บริการพยาบาล

- หอพักนักศึกษาในกำกับ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

- หลักสูตรอบรมระยะสั้นและระยะยาว

ทำเนียบคณบดี

[แก้]
ทำเนียบคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รายนามคณบดี ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ทวีลาภ[7] พ.ศ. 2502 - 2507 (หัวหน้าแผนกวิชาพยาบาลฯ)
พ.ศ. 2507 - 2515 (หัวหน้าภาควิชาพยาบาลฯ)
รองศาสตราจารย์ เปรียบ กูรมะโรหิต[8] พ.ศ. 2515 - 2521
ศาสตราจารย์ สมจิตต์  ภาติกร[9] พ.ศ. 2521 - 2529
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ[10] พ.ศ. 2529 - 2536
รองศาสตราจารย์ วิลาวัณย์ เสนารัตน์[11] พ.ศ. 2536 - 2544
ศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล[12] พ.ศ. 2544 - 2551
รองศาสตราจารย์  ดร.ธนารักษ์ สุวรรณประพิศ[13] พ.ศ. 2551 - 2555
ศาสตราจารย์ (เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล[14] พ.ศ. 2555 - 2563
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล[15] พ.ศ. 2563 - 2567
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุภารัตน์ วังศรีคูณ พ.ศ. 2567 - ปัจจุบัน

สถานที่ภายในคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[แก้]

อาคาร 1 คณะพยาบาลศาสตร์ (N1)

[แก้]

เป็นอาคารสูง 6 ชั้น อยู่บริเวณติดกับถนนสุเทพและหอผู้ป่วยฟื้นฟู และอาคารศรีพัฒน์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ภายในอาคารประกอบไปด้วยห้องประชุม ห้องบรรยาย สำนักงานกลุ่มวิชาต่างๆ และสำนักงานสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สาขาภาคเหนือ

อาคาร 2 คณะพยาบาลศาสตร์ (N2)

[แก้]

เป็นอาคารสูง 6 ชั้น ภายในอาคารประกอบไปด้วยพิพิธพันธ์ประวัติคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธิพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร้านกาแฟ ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ ศูนย์ ITSC ห้องประชุมวิจิตร ศรีสุพรรณ ห้องบรรยายศตวรรษที่21 และห้องฝึกปฏิบัติการพยาบาลสำหรับการเรียนการสอนในรายวิชาปฏิบัติการ

อาคาร 3 คณะพยาบาลศาสตร์ (N3) หรือ อาคารเทพกวี

[แก้]

เป็นอาคารสูง 6 ชั้น อยู่บริเวณเดียวกับอาคาร1 และอาคารNT ภายในประกอบไปด้วยห้องบรรยาย สมาคมศิษย์เก่าคณะพยาบาลศาสตร์ และสำนักงานกลุ่มวิชาต่างๆของคณะ

อาคาร 4 คณะพยาบาลศาสตร์ (N4)

[แก้]

เป็นอาคารสูง 5 ชั้น ภายในอาคารประกอบไปด้วยสำนักงานคณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ สำนักงานศูนย์บริการพยาบาล สำนักงานศูนย์ความเป็นเลิศทางการพยาบาล ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องประชุม ห้องบรรยายกลุ่มเล็ก ลานกิจกรรม และลานจอดรถสำหรับบุคคลากร

อาคารเรียนรวมคณะพยาบาลศาสตร์-เทคนิคการแพทย์ (NT)

[แก้]

เป็นอาคารสูง 5 ชั้น อยู่บริเวณเดียวกันกับอาคาร1 และอาคาร3 และใกล้กับอาคารสงฆ์อาพาตและหอผู้ป่วยฟื้นฟู มีทางเดินยกระดับเชื่อมกับอาคาร1 อาคาร3 และอาคารเรียนของคณะเทคนิคการแพทย์ และภายในอาคารประกอบไปด้วยห้องบรรยาย สโมสรนักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์ และสำนักงานกลุ่มวิชาการพยาบาลสาธารณสุข

หอพักนักศึกษาพยาบาล 1

[แก้]

หอพักนักศึกษาพยาบาล 1 เป็นอาคารหอพักนักศึกษา 4 ชั้น เปิดให้สำหรับนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 2, 3 และ4 พักอาศัย มีทั้งห้องแบบ3คน 4คน และ2คน เดิมเป็นอาคารหอพักพยาบาล1 โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ อยู่บริเวณใกล้เคียงกับอาคารเฉลิมพระบารมี ศูนย์บริการเทคนิคการแพทย์คลินิก อาคาร2 อาคาร4 คณะพยาบาลศาสตร์ และกลุ่มอาคารหอพักพยาบาลของโรงพยาบาล ภายในชั้นล่างประกอบไปด้วยร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ สโมสรนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ศูนย์ITSC ห้องอาหารคณะพยาบาลศาสตร์ สนามบาสเกตบอลคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และบุคคลากรของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่(โรงพยาบาลสวนดอก) มีประเพณีสำคัญคือประเพณีเดินหอซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อต้อนรับนักศึกษาใหม่ในระดับปริญญาตรีในวันแรกเข้า

หอพักนักศึกษาในกำกับ 2 (หอพยาบาล)

[แก้]

เป็นอาคารหอพักความสูง 7 ชั้นในกำกับของคณะพยาบาลศาสตร์ที่ดำเนินการบริการโดยศูนย์บริการพยาบาล มีการบริหารงานที่เป็นอิสระจากคณะพยาบาลศาสตร์ เปิดให้บริการแก่นักศึกษาเพศหญิงจากทุกคณะวิชาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้บริการห้องพักแบบ3คน ทั้งห้องพัดลมและห้องปรับอากาศ เป็นโครงการหอพักชุดเดียวกับหอพักนักศึกษาในกำกับ1 (หอสีชมพู) และหอพักนักศึกษาในกำกับ3 (หอแม่เหียะ) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริเวณชั้น 1 ประกอบไปด้วยร้านค้า ศูนย์บริการไปรษณีย์ ร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหาร เป็นที่นิยมของผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และบุคคลากรของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เช่นเดียวกันกับหอพักนักศึกษาพยาบาล 1

หอพักพยาบาล 3

[แก้]

เป็นอาคารหอพักสูง 4 ชั้น อยู่บริเวณติดกับหอพักนักศึกษาพยาบาล 1 ใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับอาจารย์พยาบาล บริเวณชั้น 1 จะมีทางเชื่อมติดกับส่วนหอพักนักศึกษาชาย

แฟลตพยาบาล

[แก้]

เป็นอาคารหอพักสูง 4 ชั้น ใช้เป็นที่พักอาศัยสำหรับอาจารย์พยาบาลและครอบครัว อยู่บริเวณเดียวกับกลุ่มอาคารหอพักพยาบาลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่ชั้น 1 มีศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ (Fitness) ของคณะพยาบาลศาสตร์ไว้ให้บริการ

อาคาร 55 ปี พยาบาล มช.

[แก้]

เป็นอาคารหอพักความสูง 4 ชั้น สำหรับนักศึกษาในหลักสูตรนานาชาติพักอาศัย อยู่บริเวณระหว่างหอพักในกำกับ 2 และกลุ่มอาคารหอพักพยาบาลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ลานดอกปีบ

[แก้]

คือลานระหว่างอาคาร1 อาคาร3 อาคารเรียนรวมคณะพยาบาลศาสตร์และคณะเทคนิคการแพทย์ มักใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมสำคัญ เช่น งานรดน้ำดำหัวอาจารย์อาวุโส

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ปี 2562". Thailand Quality Award สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-02-05.
  2. "ปี 2565". Thailand Quality Award สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2023-02-24.
  3. "ความเป็นมารางวัลคุณภาพแห่งชาติ". Thailand Quality Award สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-11. สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
  5. "QS World University Rankings for Nursing 2023". Top Universities (ภาษาอังกฤษ).
  6. หลักสูตร
  7. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-29. สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
  8. "ประวัติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-11. สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
  9. "ประวัติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-11. สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
  10. "ประวัติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-11. สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
  11. "ประวัติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-11. สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
  12. "ประวัติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-11. สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
  13. "ประวัติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-11. สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
  14. "ประวัติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-11. สืบค้นเมื่อ 2018-03-31.
  15. "คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่". www.nurse.cmu.ac.th.