วัดศาลากุล
วัดศาลากุล | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดศาลากุล, วัดศาลากุน |
ที่ตั้ง | เลขที่ 11 หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
เจ้าอาวาส | พระสมุห์ณรงค์ชาญ กนฺตธมฺโม |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดศาลากุล บ้างเขียนว่า วัดศาลากุน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ถือเป็นวัดไทยวัดเดียวในตำบลเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี วัดมีที่ดินทั้งหมด 40 ไร่ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันชื่อ พระสมุห์ณรงค์ชาญ กนฺตธมฺโม
ประวัติ
[แก้]วัดศาลากุลน่าจะเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เดิมมีชุมชนที่มีประชากรไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่เป็นชายตลิ่งที่เป็นที่ดินงอก สัญจรไม่สะดวก เมื่อเริ่มสร้างวัดคงอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำมากนักและมีคลองวัดศาลากุลเป็นทางเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาที่ดินงอกออกไปมาก ทำให้วัดอยู่ห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยามาก
วัดถูกปล่อยทิ้งร้างตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จนกระทั่งประมาณสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีเรือสำเภามาจอดที่ปากด่านเพื่อรอรับสินค้า เช่น ครั่ง ข้าว ไม้ฝาง ฯลฯ เพื่อนำไปขายต่างประเทศ จนเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) สมุหนายกที่ได้รับราชการตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 ตัวท่านเป็นคนจีน ได้มาสร้างศาลาให้บริวารพักบริเวณใกล้วัด ชาวบ้านเรียกศาลานี้ว่า ศาลาเจ้าคุณกุน หรือ ศาลาจีนกุน[1] รวมทั้งเป็นชื่อเดิมของเกาะเกร็ดด้วย เมื่อการค้าสำเภายกเลิกไป บริเวณนี้จึงสงบเงียบจึงได้กลายมาเป็นวัด วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. 2394[2]
อาคารเสนาสนะและวัตถุโบราณ
[แก้]อุโบสถลักษณะทรงโบราณ 2 ชั้น ขนาด 5 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น มีมุขคลุมชานชาลาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และคันทวยปูนประดับกระจก หน้าบันเป็นปูนปิดทองประดับกระจก วิหารด้านใต้อุโบสถ มีวิหารประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาส ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ เจดีย์และกุฏิสงฆ์
วัดมีวัตถุโบราณได้แก่ หีบมุกและโต๊ะหมู่มุกที่หลวงพ่อสุนสร้างขึ้นมา มีการประดับมุกไฟอย่างดี ฝีมืองดงามมาก พร้อมเครื่องแก้วเจียระไนชุดใหญ่[3]
เครื่องรางของขลัง
[แก้]วัดศาลากุลมีพระเกจิอาจารย์ผู้มีความเก่งกล้าสามารถในการปลุกเสกเครื่องรางของขลังที่มีชื่อเสียงในยุคเก่า อย่างหลวงพ่อสุ่น ได้รับสมญาว่า ขุนกระบี่วานร ฤทธิเกริกไกร หนึ่งในสยาม ในวงการพระเครื่อง หนุมาน หลวงพ่อสุ่น ถือว่าเป็นสุดยอดของขลังหนึ่งในชุดเบญจภาคี ที่นักสะสมต้องหามาไว้ครอบครองบูชา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ปั่นจักรยานไหว้พระ 5 วัดเก่าแก่บนเกาะเกร็ด". สินมั่นคง.
- ↑ "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-10-20. สืบค้นเมื่อ 2020-10-02.
- ↑ "วัดศาลากุล หนุมานหลวงพ่อสุ่น". องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะเกร็ด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-08. สืบค้นเมื่อ 2020-10-02.